>>แอร์เมส (Hermes) ชวน Celeb Online และทุกท่านไปสัมผัสแก่นแท้ของงานหัตถศิลป์ที่รังสรรค์ขึ้นจากช่างฝีมือชั้นครู ในงานนิทรรศการ “Crafting Time” ที่จัดเวียนไปตามประเทศต่างๆ และครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียที่ แอร์เมส บูติก ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี โดยในงานมีการจัดแสดงศิลปะงานช่าง 9 อย่าง ผ่านตู้ที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งด้านในจะแบ่งเป็นช่องเล็กๆ แสดงขั้นตอนต่างๆ ของงานศิลปะที่มีความเป็นมายาวนาน
งานแสดงเรือนเวลาสุดหรูครั้งนี้จัดแสดงขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่ออกแบบโดย “กีโยม ไอรีโอด์” (Guillaume Airiaud) นักออกแบบชาวฝรั่งเศส โดยกล่องต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเสมือนการเชื้อเชิญให้เข้าไปค้นหาเรื่องราวอันน่าหลงใหล ทำให้เห็นภาพมิติที่เกินคาด หรือเผยให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ ในจุดเล็กๆ โดยอาศัยภาพสะท้อนจากกระจกเงา ทั้งเครื่องมือแบบดั้งเดิมไปจนถึงลวดลายอันเป็นชิ้นส่วนของวัฒนธรรมการออกแบบกราฟิกของแอร์เมส ความลับแห่งเวลาเหล่านี้ได้ก่อกำเนิดเรือนเวลาพิเศษขึ้นหลายรุ่น ด้วยการผสมผสานสีสันอันหลากหลายเข้ากับวัสดุอันเลอค่า มือของช่างผู้เชี่ยวชาญก็ได้สร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่ขึ้นแบบ แกะสลักลวดลาย ประกอบชิ้นส่วน ตัดเย็บ และเคลือบเงาชิ้นงานเหล่านี้ได้อย่างประณีตในทุกขั้นตอน
ด้วยทักษะความชำนาญในการประดิษฐ์อานม้าและเครื่องเทียมม้ามาแต่ครั้งอดีต ปัจจุบันแอร์เมสยังคงสืบทอดศิลปะการผลิตเครื่องหนังชั้นเยี่ยมจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรือนนาฬิกาแบบพกพาหรือแบบประดับข้อมือ หรือทั้งสองแบบในเรือนเดียวกันก็ตาม ผลงานที่แอร์เมสนำมาจัดแสดงล้วนขับเคลื่อนการทำงานบอกเวลาด้วยระบบกลไกเฉพาะของแอร์เมส สะท้อนให้เห็นทักษะฝีมืออันโดดเด่นของแอร์เมสในการผลิตเครื่องหนังและการสร้างสรรค์เครื่องบอกเวลาไปพร้อมกัน
บนหน้าปัดเรือนเวลา คริสตัลได้กลายรูปมาเป็นดอกไม้งาม กระเบื้องพอร์ซเลนถูกนำมาใช้เป็นพื้นหน้าปัดสำหรับตกแต่งภาพศิลป์ ในขณะที่เม็ดสีก็มีชีวิตชีวาขึ้นด้วยน้ำมันเคลือบเงา หรือเส้นใบต่างๆ ที่นำมาถักทอ สะท้อนถึงศิลปะเครื่องสาน การลงยาประเภทต่างๆ อาทิ Champlevé, cloisonné, plique-à-jour, paillonné รวมทั้งศิลปะหัตถกรรมงานขนาดจิ๋ว (Miniature) ล้วนแล้วแต่เป็นเทคนิคที่ทำให้ชิ้นงานเคลือบมีสีสันสวยงามและเด่นชัดขึ้น
เมื่อผ่านการเผาอย่างต่อเนื่อง ฝาตลับเรือนเวลาที่ผ่านการทำลายฉลุและแกะสลักลวดลาย ซึ่งต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นเวลานานหลายชั่วโมงแล้ว จะถูกนำไปเคลือบด้วยทอง จนกลายเป็นชิ้นงานรูปทิวทัศน์ทะเล หรือลายกราฟิกดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวของแอร์เมส
ขณะเดียวกัน นายช่างจะบรรจงร้อยเรียงเพชรน้ำงามแต่ละเม็ดลงบนเรือนเวลาชิ้นพิเศษ กลายเป็นเรือนเวลาประดับอัญมณีที่ส่องประกายความสง่างามทั้งบนตัวเรือน หน้าปัด และฝาตลับเรือนเวลา ทักษะฝีมือด้านการผลิตเครื่องหนัง รวมถึงศิลปะการรังสรรค์เครื่องบอกเวลาชั้นสูง แก้ว การเคลือบเงา ศิลปะเครื่องสาน การตกแต่งด้วยอัญมณี การแกะสลักลวดลาย และการลงสีเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลน
ทักษะเหล่านี้ล้วนได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการเดินทางของแอร์เมส สู่ดินแดนแห่งศิลปะที่ต้องขัดเกลาอย่างประณีตนี้ เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น
โดยไฮไลต์ของนาฬิกาอยู่ที่รุ่น “อาร์โซ มิเลฟิโอรี่” (Arceau MilleFiori) ที่แอร์เมสบรรจงผสานความวิจิตรของศาสตร์การผลิตเครื่องบอกเวลาและศิลปะการทำแก้วไว้บนเรือนเวลา อาร์โซ มิเลฟิโอรี่ ทั้งเครื่องบอกเวลาบนข้อมือและนาฬิกาพกของคอลเลกชันนี้เต้นไปพร้อมกับจังหวะการทำงานของเครื่องกลไกที่ผลิตขึ้นจากเวิร์กชอปของลา มองเทรอ แอร์เมส ในสวิตเซอร์แลนด์ โดดเด่นด้วยศิลปะบนหน้าปัดและหน้าตลับ ที่ได้แรงบันดาลใจจากที่ทับกระดาษในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งคริสตัลเลอรี รอยัล เดอ แซงต์-ลูอิส ได้รังสรรค์ขึ้น
จวบจนปัจจุบันและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ ทุกสิ่ง ณ แซงต์-ลูอิส เริ่มต้นจากเตาหลอมแก้ว และสำหรับนาฬิกาสุดพิเศษเรือนนี้ก็เริ่มจากการนำท่อเหล็กจุ่มเข้าไปในเตาหลอม ที่มีน้ำแก้วสีต่างๆ จากนั้นช่างก็จะกลึงแก้วอย่างระมัดระวังจนได้แก้วเนื้อเดียวปราศจากฟองอากาศ หรือที่เรียกกันว่า Gob จากนั้นงานหินของช่างแก้วก็จะเริ่มขึ้น โดยการใช้ด้ามเหล็กประคองเนื้อแก้ว และยืดดึงจนได้เป็นแท่งคริสตัลท่อนบางๆ เล็กๆ ซึ่งจะนำมาใช้สร้างเป็นลาย “Mille Fiori” ซึ่งมาจากภาษาอิตาเลียน ที่มีความหมายว่า “ดอกไม้พันดอก”
แท่งแก้วเหล่านี้อาจแลดูเหมือนลูกกวาดแคนดี้เคน แต่เมื่อนำมาวางรวมกันหลายๆ ชั้นและทำการเคลือบผิว จะเผยให้เห็นถึงสีสันอันสวยงามอย่างชัดเจน ซึ่งในบางครั้งก็อาจได้ลวดลายสุดอลังการ และไม่ว่าลวดลายจะออกมาในรูปแบบใด ขั้นตอนการทำลวดลายเหล่านี้ก็ยังคงเป็นวิธีการแบบดั้งเดิมอยู่ดี
เริ่มต้นจากการที่ช่างนำเนื้อแก้วอ่อน (Gob) ยึดไว้ที่ปลายด้ามจับ แล้วรอให้ช่างอีกคนหนึ่งนำปลายด้ามจับมายึดก๊อบไว้อีกด้านหนึ่ง จากนั้นทั้งสองจะดึงก๊อบออกห่างจากกันเป็นระยะหลายเมตร เพื่อทำการยืดแก้วเนื้ออ่อนให้ออกมาเป็นแท่งบางๆ ที่มีขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ก่อนที่จะนำมาตัดแบ่งเป็นท่อนสั้น และซอยย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นจึงนำไปวางเรียงกันในถ้วยหลุม เพื่อทำลวดลายดอกไม้
และในระหว่างที่ช่างทำแก้วคนที่หนึ่งกำลังหลอมแก้วที่ติดอยู่ที่ปลายท่อนเหล็ก ช่างทำแก้วคนที่สองจะเตรียมถ้วยที่จัดเรียงมิลลิฟิโอรี่ไว้ จากนั้น ช่างทำแก้วจะนำแก้วที่หลอมไว้ มากดลงบนลายมิลลิฟิโอรี่ที่จัดเรียงไว้ เพื่อเป็นการหุ้มลายให้เป็นชิ้นเดียวกันด้วยแก้ว จากนั้นช่างจะนำส่วนที่หลอมรวมกันกลับเข้าไปยังเตาเผา และเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปทรงที่ต้องการ จะมีการใช้แม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ หรือเครื่องมือที่ทำจากไม้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนทัพพี และถาดไม้ หรือบางกรณีอาจจะใช้กระดาษ โดยช่างทำแก้วจะสร้างส่วนที่เป็นคอเพื่อทำให้เขาสามารถตัดแก้วออกเป็นสัดส่วนที่เขาต้องการได้
ทั้งนี้ ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์นี้จะปรากฏให้เห็นในขั้นตอนการตัดแก้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งลวดลายสวนดอกไม้หลากสีสันนี้จะนำไปใช้บนหน้าปัดนาฬิกา หรือหน้าตลับของนาฬิการุ่นอาร์โซ :: Text by FLASH
Comments are closed.