Beauty

นาทีทองพัฒนาสมองลูก ต้องทำใน 1,000 วันแรกของชีวิต

Pinterest LinkedIn Tumblr


>>กุมารแพทย์ชี้ 1,000 วันแรกของชีวิตลูกนับตั้งแต่ปฏิสนธิถึง 2 ขวบ ช่วงเวลานาทีทองสำหรับกำหนดศักยภาพในชีวิตของลูก เพราะเป็นช่วงที่สมองเจริญเติบโตและการทำงานของสมองส่วนการเรียนรู้ ความจำพัฒนารวดเร็วที่สุด แนะ “แอลฟา-แล็คตัลบูมิน” สารอาหารที่พบในนมแม่ สามารถช่วยสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยในการทำงานของสมอง ในช่วง 1,000 วันสำคัญนี้

ปัจจุบันการเลี้ยงลูกให้ฉลาด ดี และมีคุณธรรม นับเป็นเป้าหมายของการทำหน้าที่ของพ่อและแม่ที่สมบูรณ์แบบเพื่อลูกน้อย การเลี้ยงลูกอย่างไรให้ลูกฉลาด แพทย์หญิงเกศินี โอวาสิทธิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้ ให้ข้อมูลสำคัญเรื่องการพัฒนาศักยภาพของสมอง

คุณหมอกล่าวว่าความฉลาดมีองค์ประกอบ 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. พันธุกรรมที่ได้รับมาจากคุณพ่อคุณแม่ คือ เรื่องของคู่ครอง 2. การเลี้ยงดู ซึ่งเชื่อมโยงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการศึกษา และ 3. โภชนาการ คือ การได้รับอาหารหลัก 5 หมู่ รวมถึงน้ำและอากาศบริสุทธ์

“งานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า 1,000 วันแรกของชีวิตลูกน้อย เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์จนกระทั่งลูกมีอายุครบ 2 ขวบปี เป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งกระบวนการสร้างพัฒนาการสมอง เนื่องจากเป็นกระบวนการสร้างเซลล์สมอง โดยการเพิ่มเซลล์สมองควบคู่กับการสร้างเส้นใยประสาททำงานอย่างรวดเร็วที่สุดของชีวิต” คุณหมอกล่าว

“ลูกน้อยอยู่ในครรภ์เป็นเวลา 270 วัน แค่เพียง 18 วันแรก หลังจากการปฏิสนธิกระบวนการทำงานของเซลล์สมองของลูกน้อยได้เริ่มขึ้นแล้ว เซลล์สมองพัฒนาเชื่อมโยงและแบ่งตัวไปเรื่อยๆ ระยะเวลา 2-4 เดือนของการตั้งครรภ์ เซลล์สมองแบ่งตัวสูงถึง 200,000 ตัวต่อนาที พอตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน การทำงานของสมองมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนมากขึ้น มีการเชื่อมโยงการทำงาน สื่อสารระหว่างเซลล์อย่างเป็นระบบ คุณพ่อคุณแม่จึงได้รับคำแนะนำให้เริ่มเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหรือส่องไฟ ที่สำคัญคุณแม่ต้องอารมณ์ดี ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ขณะเดียวกันคุณพ่อต้องช่วยดูแลคุณแม่ด้วย เพราะทั้งหมดล้วนมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพสมองของลูกรัก” คุณหมอกล่าวเสริม

ภายหลังคลอดเซลล์สมองยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายขนาด ที่สำคัญขยายโครงข่ายส่วนที่เป็นเส้นใยประสาท ทำให้การพัฒนาสมองสมบูรณ์และมีคุณภาพมาก ทั้งนี้เพราะเส้นใยประสาทมีหน้าที่ช่วยในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้และการกระตุ้นทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อพัฒนาการหลายๆ ด้านของลูกน้อย เช่น เรื่องภาษา ความจำ การทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เมื่อครบ 1,000 วัน สมองจะมีขนาดประมาณ 75-80% เมื่อเทียบกับน้ำหนักสมองของผู้ใหญ่ เด็กจะเรียนรู้ได้ง่ายกว่าช่วงอื่นๆ เซลล์สมอง 1 เซลล์ สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายของสารสื่อประสาทได้เป็นหมื่นเซลล์ใน 1,000 วัน ร่างกายจะสร้างเซลล์สมองมากถึง 100,000 ล้านเซลล์ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญมากในการพัฒนาสมองลูกในช่วง 1,000 วันสำคัญแรกนี้ เพราะเหมือนเป็นช่วงที่กำหนดศักยภาพสมองลูกไปตอดชีวิต

อย่างไรก็ดี การได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาท มีความจำเป็นมาก เพราะร่างกายของเด็กไม่สามารถสร้างสารตั้งต้นของสื่อประสาทได้เองอย่างเพียงพอ โดยคุณภาพโปรตีนที่แตกต่างกันจะส่งผลโดยตรงกับการสร้างสารสื่อประสาทในสมองของเด็กที่ต่างกัน อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของเส้นใยประสาท เพราะเส้นใยประสาทประกอบด้วยไขมันและโปรตีนคุณภาพ สารอาหารอย่างแอลฟา-แลคตัลบูมิน เป็นแหล่งของโปรตีนคุณภาพ พบมากในนมแม่ มีความสำคัญคือ ช่วยสร้างสารสื่อประสาท ช่วยในการทำงานของสมอง โดยให้กรดอะมิโนจำเป็น เช่น ทริปโทเฟน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับสร้างสารสื่อประสาท และเป็นส่วนประกอบของเส้นใยประสาทของลูก
แพทย์หญิงเกศินี โอวาสิทธิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
“ผลวิจัยทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่าเด็กที่ได้รับสารอาหารแอลฟา-แลคตัลบูมินจากน้ำนมแม่นาน 6 เดือน พบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีกว่า ซึ่งส่งผลดีต่อพฤติกรรม การเรียนรู้ การพัฒนาสมองและอารมณ์ ในทางตรงกันข้ามเด็กที่ขาดสารอาหารแอลฟา-แลคตัลบูมินจะมีไอคิวต่ำและพัฒนาการที่ไม่สมวัย ดังนั้นคุณแม่ควรให้นมแม่นานที่สุด แอลฟา-แลคตัลบูมินยังมีประโยชน์กับคุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่ให้นมบุตร เพราะโปรตีนแอลฟา-แลคตัลบูมินเป็นหนึ่งในสารอาหารที่สำคัญที่สร้างการเติบโตของเซลล์ประสาทและพัฒนาการของสมองทารกในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด รวมถึงกระบวนการสร้างน้ำนม” คุณหมอกล่าว

“แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ อาจให้นมที่มีส่วนผสมของสารอาหารแอลฟา-แลคตัลบูมิน พร้อมทั้งโภชนาการที่เหมาะสม เช่น การรับประทานโปรตีนจากไข่ เนื้อ นม ชีส เป็นต้น” คุณหมอกล่าวเสริม

ดังนั้นเมื่อลูกน้อยมีต้นทุนที่ดีแล้วจากการโภชนาการที่ดี เซลล์สมองก็จะมีความสมบูรณ์ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกฉลาดก็ควรส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างเหมาะสม นั่นคือ เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลือแนะนำ การเลี้ยงดูลูกน้อยในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับการกระตุ้นฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เด็กฉลาดสามารถประเมินเบื้องต้นได้ด้วยการสังเกตทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การใช้ตาและมือร่วมกัน การเข้าใจ การพูด การคิดแก้ปัญหา การที่ลูกน้อยทำกิจกรรม 1 กิจกรรมนั้น ประกอบไปด้วยการทำงานของสมองหลายส่วน ที่ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน เช่น การร้องเพลง ลูกน้อยก็ต้องจำเนื้อร้อง-ทำนอง-จังหวะ ขยับแขนขาให้สอดคล้องกับเพลง ส่งยิ้มให้คนฟัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าความฉลาดประกอบด้วยความสมบูรณ์ของสมองและกระบวนการเรียนรู้ แสดงออกทางพฤติกรรมด้านต่างๆ ของลูกน้อย การใช้ชีวิตแก้ปัญหา เอาตัวรอดได้แล้ว แต่อีกคุณสมบัติที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความฉลาดที่คุณหมอเน้นย้ำคือ เรื่องของคุณธรรมที่ต้องอาศัยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเช่นกัน :: Text by FLASH

>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net และ ติดตาม CelebStagram ได้ที่ http://www.manager.co.th/celebonline/celebstagram/

Comments are closed.

Pin It