Interview

“สิรพัฐ พิพัฒน์วีรวัฒน์” จบถาปัตย์มาทำเพชรจนโกอินเตอร์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ถึงครอบครัวจะไม่เคยบังคับว่าต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจ แต่ในฐานะลูกชายคนรองของ คุณพ่อสุนทรและคุณแม่สายสมร พิพัฒน์วีรวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ เดอ มอนด์ (Der Mond) เครื่องประดับเพชรชั้นนำที่อยู่คู่คนไทยมาร่วม 30 ปี ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นแรงผลักดันให้ “จอน-สิรพัฐ พิพัฒน์วีรวัฒน์” อยากกลับมาช่วยบริหารธุรกิจที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมากับมือ​ด้วยความตั้งใจ จนวันนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในกลุ่มลูกค้าชาวไทย แต่ยังเป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ

หนุ่มหล่อไฟแรง บอกเล่าอย่างออกรสว่า ถึงจะพอเห็นภาพอนาคต แต่เขาก็ไม่ได้เลือกเรียนในสาขาวิชาที่จะมาต่อยอดธุรกิจโดยตรง อย่าง จิวเวลรี ดีไซน์ เพราะคุณพ่อคุณแม่เองก็อยากให้เรียนในสาขาที่ได้มีวิชาชีพติดตัวมากกว่า หลังจากจบมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขาจึงเลือกสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาดที่ Aston University เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

“ผมไม่เคยคิดว่าจะไปทำอาชีพอื่น โชคดีที่ผมเลือกเรียนสถาปัตย์ก็จริง แต่มาสาย Industrial Design หรือ ออกแบบเชิงอุตสาหกรรม ไม่ได้เน้นว่าจบมาเป็นสถาปนิก แต่เป็นสายแบรนดิง ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำกราฟิก ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจ หลังจากเรียนจบผมไปทำงานด้านแบรนดิงอยู่ปีกว่าๆ ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโท แล้วถึงกลับมาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัว จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ 9 ปีแล้ว” จอนบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตก่อนจะมาสวมบท Head Marketing and Creative ของ เดอ มอนด์ อย่างออกรส


แน่นอนว่า เมื่อต้องเข้ามาทำงานในบริษัทของคุณพ่อคุณแม่ โดยมีฐานะลูกเจ้าของพ่วงท้ายมาด้วย นับเป็นความกดดันและท้าทายที่ใครไม่เจอกับตัวไม่มีวันเข้าใจ

“ผมโตมากับธุรกิจจิวเวลรีก็จริง แต่พอวันที่เข้ามาทำงานจริง ต้องมาทำงานกับผู้ใหญ่ที่เห็นผมมาตั้งแต่เด็กๆ แบกคำว่าลูกเจ้าของอยู่บนสองบ่า การพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจ เป็นโจทย์ที่ยากมาก ซึ่งผมเชื่อว่าบรรดาทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจต้องเจอ โดยเฉพาะ ช่วงที่เขามา อายุประมาณ 25-26 ปี ไฟกำลังแรงสุดๆ เข้ามาแล้วอยากเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง อยากลงทุนขยายธุรกิจเพิ่ม แต่บางครั้งก็เจอเบรก ผมเองก็เป็นครับ ตอนนั้นสิ่งที่ทำได้คือค่อยๆ เรียนรู้ บางครั้งถ้าอยากลอง อยากพิสูจน์ว่าไอเดียที่คิดเป็นจริงได้ ก็อาจจะต้องเลือกโปรเจกต์ที่ถ้าเสี่ยงแล้วล้มเหลวไม่กระทบกับบริษัทมากนัก”

ด้วยความไฟแรงนี้เอง ทำให้หลังจากเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวไม่นาน นอกจากจอนจะไปร่วมหุ้นทำบริษัทด้านแบรนดิงกับรุ่นพี่ที่เคยทำงานด้วยกัน ก่อนไปเรียนปริญญาโท ยังตัดสินใจแตกแบรนด์ลูก เป็นแบรนด์สร้อยข้อมือหินและเครื่องเงินอย่าง Another Way We Speak

“จริงๆ จิวเวลรีผมก็ชอบนะครับ แต่อาจจะไม่ใช่ตัวผมมากขนาดนั้น พอมีโอกาสผมเลยตัดสินใจแตกแบรนด์ออกมา ที่เลือกเป็นเครื่องเงิน เพราะจริงๆ แล้ว ต่อให้ทำธุรกิจเพชร ทอง ก็ต้องมีความรู้เรื่องเครื่องเงินด้วย เพราะเครื่องเพชรแต่ละชิ้นที่ทำ ต้นทุนสูงมาก ฉะนั้น เราต้องขึ้นรูปด้วยเงินก่อน ทำให้เรามีช่างฝีมือที่ทำเครื่องเงินได้ดีด้วยบวกกับผมเองเป็นคนชอบเครื่องประดับ และสนุกกับการแต่งตัวอยู่แล้ว จำได้ว่าตอนนั้นผมอยากได้กำไลหินมาใส่ ซึ่งถ้าย้อนไป 7 ปีที่แล้ว ยังไม่เป็นที่นิยมเลยด้วยซ้ำ เลยให้ช่างช่วยทำให้ พอเอามาใส่เพื่อนเห็นแล้วชอบ แรกๆ ผมก็ทำแจก จนเพื่อนเริ่มอยากได้หลายอัน เลยเสนอให้ทำขาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ เริ่มจากขายออนไลน์ก่อน ​จนมีพี่ที่รู้จักชวนมาเปิดที่ สยามดิสคัฟเวอรี่ เลยมาลองเปิดสาขาแรก และทำแบรนด์มาจนถึงวันนี้ ล่าสุด เพิ่มทำเป็นกรอบพระแบบเท่ๆ ออกมาตอบโจทย์สายมูเตลู”


งานนี้ ถึงเจ้าตัวจะเล่าแบบชิลๆ แต่นับไปนับมาก็เท่ากับว่า ตอนนี้หนุ่มจอนต้องดูแลถึง 3 ธุรกิจ แถมยังพ่วงดีกรีคุณพ่อลูกอ่อน เพราะลูกสาวเพิ่งจะอายุได้เพียงขวบครึ่งเท่านั้น ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมเจ้าตัวถึงต้องมีวิธีบริหารจัดการเวลาขั้นเทพ เพื่อให้งานหลักไม่ให้พลาด งานรองไม่ให้พร่อง และที่สำคัญ ยังมีเวลาให้ครอบครัว เป็นทั้งสามีและคุณพ่อที่ดี

“โชคดีที่ทั้งสามธุรกิจ เราอยู่ในระดับผู้บริหาร เลยไม่ต้องตอกบัตร สามารถบริหารจัดการเวลาตัวเองได้ บางครั้งอาจจะต้องเลิกงานดึกหน่อย แต่ก็ยังบาลานซ์ชีวิตได้ ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความสำคัญในทุกงาน รวมไปถึงเรื่องส่วนตัว อันไหนด่วนต้องทำก่อนก็ทำ อันไหนรอได้ก็รอ อย่างงานที่รับผิดชอบ ผมคิดเสมอว่างานทำอย่างไรก็ไม่มีวันเคลียร์ได้หมดในวันเดียว เพราะฉะนั้น เราทำให้ดีที่สุดตามไทม์ไลน์ อย่างที่บอกว่า บางครั้งต้องทำงานหลังเลิกงาน เพราะลูกน้องเขาก็จะส่งงานผมตอน 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่เขาเลิกงาน ผมเองก็ต้องมาตรวจดูให้เรียบร้อย เพื่อวันรุ่งขึ้นลูกน้องมา เขาก็จะได้ทำงานต่อไปได้”

มองย้อนกลับไป​ เกือบ 10 ปีแล้วที่จอนเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของ เดอ มอนด์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ตั้งแต่การรีแบรนด์ เปลี่ยนโลโก้ พัฒนาการออกแบบ เน้นนำเสนอสิ่งที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์ ในการดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำของลูกค้า

“จิวเวลรีไม่เหมือนสินค้าแฟชั่นที่มีซีซันส์ในการออก พอคอลเลกชันไหนเก่าก็โละแล้วทำของใหม่ออกมาได้ตลอด เพราะจิวเวลรีเป็นสินค้าที่ต้นทุนสูง จึงไม่สามารถเปลี่ยนบ่อย จึงต้องบริหารการขายให้ดี และเวลาออกแบบไม่ใช่การทำออกมาแล้ว สวยอย่างเดียว แต่ต้องรักษาความคลาสสิกของชิ้นงานให้อยู่ได้นาน หยิบมาใส่เมื่อไหร่ก็ยังสวยเสมอ ไม่ใช่วันนี้สวยอีก 5 ปีคิดว่าซื้อมาได้อย่างไร เพราะลูกค้าที่ซื้อไปใส่กันเป็นสิบปี ส่งต่อให้ลูกหลานต่อไปอีก หน้าที่ของผมและทีมคือต้องตีโจทย์นี้ให้แตก”


อย่างไรก็ตาม จอนบอกว่า แม้กลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์จะเป็นคนไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางและจีน เดอ มอนด์ยังมีส่วนที่ส่งออก และมีหน้าร้านอยู่ที่ห้างไดมารู ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มาร่วม 5 ปีแล้ว

“หนึ่งในความภูมิใจของเราคือ เราเป็นเครื่องประดับเพชรแท้แบรนด์แรกของไทยที่ไปทำตลาดในญี่ปุ่น ซึ่งปกติจะมีแต่แบรนด์จิวเวลรีของญี่ปุ่นเอง หรือไม่ก็แบรนด์จากยุโรป แต่ที่เราเข้าไปเปิดได้เพราะเคยไปงานแฟร์ แล้วปรากฏว่าได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นมากก็จริง แต่พอมาดูยอดขายกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด เลยไปหาอินไซต์จนพบว่า ถึงลูกค้าญี่ปุ่นจะชอบสินค้าของเรา แต่ด้วยพฤติกรรมการซื้อเพชรของชาวญี่ปุ่น เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย จากตรงนั้นเลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเริ่มหาช่องทางติดต่อกับเอเจนต์ที่ญี่ปุ่น เพื่อไปร่วมงานแฟร์ ปรากฏทำไปทำมา เขาสนใจนำแบรนด์เราไปขาย เราเลยไปขายที่ญี่ปุ่น ในฐานะอิมพอร์ตแบรนด์ เทียบชั้นกับแบรนด์จากฝรั่งเศส อิตาลี”

อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางการเติบโตของแบรนด์จะไปได้สวย แต่พอมาเจอวิกฤตโควิด-19 ผู้บริหารหนุ่มยอมรับอย่างไม่กั๊กว่ากระทบไม่น้อย แถมยังยืดอกสารภาพแบบแมนๆ ว่า โชคดีที่เจอเบรกไปหลายโปรเจกต์ที่อยากทำ ไม่ว่าจะเป็นขยายสาขา ขยายโรงงานไม่เช่นนั้นตอนนี้คงต้องเอามือก่ายหน้าผาก

“ธุรกิจที่กระทบจากโควิด-19 อันดับหนึ่งคือ ธุรกิจสายการบินและโรงแรม รองลงมาคือ ธุรกิจที่เป็นของฟุ่มเฟือย อย่าง แบรนด์เนม รถ และเครื่องเพชร ซึ่งผมว่า สองอย่างแรกยังพอไปได้เพราะคนยังใช้แบรนด์เนม หรือขับรถได้ในชีวิตประจำวัน แต่เครื่องเพชร เป็นของที่จะซื้อหรือใส่ต้องมีวาระ ในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน ไม่มีอีเวนต์ งานแต่งงาน งานวันเกิด ก็ไม่รู้จะใส่เครื่องเพชรไปไหน ฉะนั้น เรากระทบพอสมควร


แต่ในวิกฤตเราก็ยังมองว่าเป็นโอกาสเล็กๆ เพราะบริษัทเราอยู่กันแบบครอบครัว พนักงานส่วนใหญ่อยู่กับเรามานาน คุณพ่อผมบอกชัดเลยว่าจะดูแล ไม่ลดเงินเดือน พยายามใช้วิกฤตตอนนี้ให้เป็นโอกาสด้วยการนำสต็อกเก่าๆ มาคัด เพื่อแกะเพชรออก เอามาหลอม มาขึ้นรูปใหม่ ได้ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ใหม่ แทนที่ของค้างสต็อก

ขณะเดียวกัน ยังใช้โอกาสนี้เทรนพนักงานขาย พามาทัวร์โรงงานให้เห็นกรรมวิธีการผลิต พร้อมกับนำฟีดแบคของลูกค้ามาแชร์ให้ทีมหลังบ้านฟัง ซึ่งปกติอาจจะไม่มีโอกาสแบบนี้ ได้แค่ประชุมกันเดือนละครั้ง การสื่อสารอาจจะไม่ละเอียดครบถ้วน จากทั้งหมดที่เราทำ ทำให้หลังจากโควิด -19 เราเริ่มมีเครื่องเพชรที่ราคาต่ำกว่าแสน แทนที่จะเป็นเซ็ตใหญ่แบบอลังการ เรามีคอลเลกชันที่สามารถใส่ได้ทุกวัน เครื่องเพชรขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป สามารถใส่ไปประชุม หรือใส่ในวันธรรมดา เพื่อเป็นการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ

ชวนคุยเรื่องงานมาพอสมควร พักเบรกมาชวนคุยถึงไลฟ์สไตล์วันว่างของผู้บริหารหนุ่มที่มีลูกเล็กคนนี้กันบ้าง “นอกจากงานก็ต้องให้เวลากับครอบครัวครับ วันไหนไม่ติดอะไร จะพยายามกลับบ้านเร็วหรือตื่นเช้าเพื่อใช้เวลากับลูก และด้วยความที่ผมอาจจะไม่ได้มีเวลาอยู่กับลูกเยอะ เหมือนภรรยา ฉะนั้น ผมจะมาสายเอนเตอร์เทนฯ เอาใจอย่างเดียวเลยครับ ส่วนอนาคตจะมีลูกอีกคนหรือเปล่า กำลังลังเลครับ จริงๆ ตอนแรกตั้งใจมี 2 คน แต่พอมีแล้วเหนื่อยไม่เบา(หัวเราะ) โชคดีที่บ้านก็ไม่ได้กดดันครับ เราก็สบายๆ ค่อยๆ คิดครับ ส่วนภรรยาผมก็ต้องหมั่นเติมความหวานครับ โดยเฉพาะ วันสำคัญ อย่างวันเกิด วาเลนไทน์”


อีกหนึ่งกิจกรรมที่ขาดไม่ได้คือ การออกกำลังกาย “ผมเลือกชกมวยสัปดาห์ละครั้ง แทนที่ไปเข้ายิม ซึ่งบางทีไปแล้วไปเล่นเวทได้หุ่นมากกว่าสุขภาพ แต่ชกมวยได้ครบทั้งเบิร์นและสุขภาพ ซึ่งผมมองว่า สุขภาพสำคัญมาก ถ้าเกิดป่วยไปตารางทุกอย่างทั้งงานและส่วนตัวจะรวนหมด

ปิดท้ายด้วยสไตล์การแต่งตัว ซึ่งจอนออกตัวมาตั้งแต่ต้นว่า เป็นผู้ชายที่สนุกกับการมิกซ์แอนด์แมตช์ งานนี้ จอนตอบเขินๆ ว่า “ผมให้ความสำคัญกับการแต่งตัวให้เข้ากับโอกาสต่างๆ เช่นอยู่บ้านกับลูกก็แต่งแบบหนึ่ง ไปเจอลูกค้า ไปประชุม หรือเข้าออฟฟิศ ก็แต่งอีกแบบ ผมสนุกกับการชอปปิ้งเสื้อผ้าหลากหลายแนว แต่ทั้งหมดต้องเหมาะกับผมนะ พูดง่ายๆ ผมไม่ใช่แนวมาร์ก ซักเคอเบิร์ก เจ้าพ่อเฟสบุ๊กที่แค่เสื้อยืดแบบเดียวจบ”​

นอกจากเสื้อผ้า แอกเซสซอรีก็เป็นอีกสิ่งที่จอนขาดไม่ได้ “ผมชอบใส่แหวนติดนิ้ว แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดต้องเปลี่ยนทุกวัน อย่าง แหวนวงหนึ่งก็อาจจะใส่ 2-3 เดือนกว่าจะเปลี่ยนวงใหม่ หรือบางครั้งก็ย้อนกลับไปใส่วงเก่า เพราะจิวเวลรีไม่ใช่แฟชั่น ตราบที่ชิ้นนั้นยังสามารถตอบโจทย์ความเป็นเรา ก็ยังหยิบมาใส่ได้เสมอ” จอนทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It