Interview

“มาริษา เจียรวนนท์” หลงใหลในศิลปะ เปลี่ยนตึกในตำนานเป็นอาร์ตสเปซแห่งใหม่

Pinterest LinkedIn Tumblr


“วันนี้เราไม่ได้มองตัวเองเป็น Collector หรือ นักสะสมงานศิลปะ แต่เป็น Art Sharer คนที่อยากแบ่งปันผลงานที่เรามีให้ทุกคนได้มาชื่นชม ได้รับแรงบันดาลใจไปด้วยกัน” ไอเดียนี้เองได้กลายเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ทำให้ “มาริษา เจียรวนนท์” ภรรยาคนสวยของ สุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ตัดสินใจเปิด บางกอก คุนส์ฮาเลอ (Bangkok Kunsthalle) อาร์ตสเปซแห่งใหม่ในประเทศไทย โดยตั้งใจว่าจะให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานสำหรับศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และศิลปินรุ่นใหม่ ทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย “ที่ผ่านมา เวลาจะทำโปรเจกต์อะไรก็ตาม หรือทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เราไม่ได้วางแผนหรือตั้งใจไว้ แต่พอมีจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม คิดว่าถ้าสังคมต้องการเรา เราก็พร้อมช่วยผลักดัน หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา”


ถ้าถามว่า อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอหลงใหลในงานศิลปะ แม้เจ้าตัวก็ยากจะหาคำตอบ เพราะตั้งแต่จำความได้ก็พบว่าสนใจด้านศิลปะและดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ เฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรม หรือเสื้อผ้า สมัยเด็กเธอสนุกกับการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคต่างๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะชื่นชอบในโลกศิลปะ แต่มาริษากลับไม่ได้วาดภาพตัวเองในฐานะศิลปิน เธอเรียนจบด้าน Finance and International Business ที่ New York University สหรัฐอเมริกา แต่สนใจและเป็นแรงผลักดันให้กับวงการศิลปะอย่างต่อเนื่อง เคยเปิดแกลอรี่ที่ฮ่องกง เพื่อสนับสนุนศิลปินร่วมสมัยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันยังเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผลงานศิลปะ ให้กับพิพิธภัณฑ์ระดับโลก เช่น Tate Modern ประเทศอังกฤษ เป็นตัวแทนผลักดันศิลปินจาก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้มีพื้นที่ในเวทีสากล


ล่าสุด มาริษาตัดสินใจซื้ออาคารขนาดใหญ่ที่ถูกปิดร้างมานาน ปรับปรุงแบบคงอัตลักษณ์เดิมไว้ เพื่อเปิดเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะแห่งใหม่ในย่านเยาวราช ตั้งชื่อว่า บางกอก คุนส์ฮาเลอ นอกจากจะจัดแสดงงานศิลปะแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการจัดนิทรรศการ เสวนา และการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “โจทย์คือเราชอบประวัติศาสตร์ ชอบตึกเก่า ตอนที่ย้ายกลับมาจากฮ่องกง ก็เลยพยายามมองหาตึกเก่าที่มีประวัติศาสตร์ แต่เรามาช้าไป ตึกสวยๆ บ้านสวยๆ ขายไปหมดแล้ว จนวันหนึ่งมีเพื่อนติดต่อมาว่า มีตึกเก่าแนะนำ แต่อาจจะไม่ได้สเปกเหมือนที่เราหา เพราะสภาพเป็นเหมือนโรงงานที่อาจจะไม่ได้สวยงาม แต่พอมาเห็นครั้งแรกแค่ดูรอบๆ ก็ชอบเลย ถึงเป็นตึกใหญ่ที่ไม่ได้ใช้มาหลายสิบปี แต่มีบริเวณรอบๆ ที่ดูมีชีวิตชีวา” มาริษาเล่าอย่างออกรสก่อนเสริมว่าผ่านไป 1 สัปดาห์ เธอกลับไปดูอีกครั้ง ความรู้สึกก็ยังเหมือนเดิม พอได้เข้าไปดูด้านในแล้วยิ่งประทับใจ เหมือนอยู่คนละโลก พอไปครั้งที่สามใช้คำว่า “รักเลย” เพราะรู้สึกว่าตึกนี้เป็นตึกที่ต้องการความสนใจ เกิดการฟื้นฟูอนุรักษ์ไว้ ก่อนจะโดนทำลายไปด้วยกาลเวลา


“พอเราได้รู้ประวัติศาสตร์ของตึกแห่งนี้ ว่าเดิมเป็นที่ตั้งของบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ผู้พิมพ์แบบเรียนให้เด็กไทยทุกระดับชั้น แต่พอตอนหลังผลิตหนังสือน้อยลง บริษัทย้ายไปอ่อนนุช อาคารจึงถูกทิ้งไว้ 20 ปี แถมยังเคยเกิดไฟไหม้ ซึ่งสำหรับบางคน อาจจะถือว่าเป็นตึกที่ยากจะบูรณะ แต่เรารู้สึกว่า อาคารนี้มีที่ไปที่มา เป็นตำนานการศึกษาไทย มีความผูกพันกับคนไทยทุกคน และตึกนี้เปรียบเหมือนมนุษย์ที่ผ่านช่วงเวลารุ่งโรจน์มาจนป่วยหนัก และโดนทิ้งไปเกือบตาย เรากำลังจะรีบอร์น ทำให้ตึกนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความรู้ให้กับคนไทยอีกครั้ง การที่เราได้มาเจอและรับรู้เรื่องราว เหมือนเป็นพรหมลิขิต”


เมื่อได้สถานที่ที่เหมาะสมแล้ว ภารกิจต่อไปคือ จะทำอย่างไรเพื่อเนรมิตสถานที่แห่งนี้ให้ออกมาเป็นอาร์ตสเปซในแบบที่ตั้งใจ “เราอยากให้บางกอก คุนส์ฮาเลอ เป็นแหล่งรวมของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ ที่ไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้าง เพราะมีทุกอย่างครบจบในที่เดียว ทั้งกินข้าว ซื้อของ เรียนหนังสือ หรือ เล่นกีฬา เราเลยอยากให้ที่นี่เป็นอีกเดสติเนชั่นของคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาสัมผัสกับศิลปะ ที่ไม่ใช่แค่รูปวาดหรือรูปปั้น แต่นิยามของศิลปะที่ไร้ขอบเขต” มาริษายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ผลงานศิลปะที่เลือกมาจัดแสดง มีทั้งของศิลปะชาวไทยและต่างชาติ ทำให้บางกอก คุนส์ฮาเลอ ดึงดูดทั้งคนไทยได้หลากหลายเจนฯ ครอบครัว นักศึกษา และผู้สูงอายุ รวมถึงนักท่องเที่ยว เจ้าของพิพิธภัณฑ์ ศิลปิน และเจ้าของแกลอรี่จากต่างประเทศ ก็สนใจเดินทางมาสัมผัสกับผลงานศิลปะในหลากหลายแขนงที่ประเทศไทย


“วงการศิลปะร่วมสมัยไทยยังเติบโตได้อีก ประเทศไทยจะมีศิลปินที่มีความสามารถ มีพรสวรรค์ที่โดดเด่น แต่การพัฒนาเป็นแบบโดดเดี่ยว และอ้างอิงองค์ความรู้ หรือแรงบันดาลใจที่มีในประเทศเป็นส่วนมาก ขาดการเชื่อมต่อ ไม่ได้เกิดการพัฒนางาน ให้สอดคล้องกับบริบทของโลก และไม่มีเวทีที่จะได้ไปโชว์ผลงานให้ชาวต่างชาติรู้จัก เวลานำผลงานไปขายหรือประมูลในสถาบันระดับโลก จะทำผลงานได้ไม่ดีเท่าศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ เราอยากให้ที่นี่เป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนให้ศิลปินไทย นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ ที่บราซิล สวิส อังกฤษ เปรู เพื่อร่วมพัฒนาศิลปินไทยให้ไปโชว์ผลงานในต่างประเทศ สร้างชื่อให้ศิลปินไทยเป็นที่รู้จัก แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง เราพัฒนาโปรเจกต์ Artists in Residence เชิญศิลปินต่างชาติเข้ามาอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย และให้นำแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมของเรา ไปพัฒนาเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัย ต่อยอดให้วัฒนธรรมไทยมีการส่งต่อไปทั่วโลก”


ทั้งนี้ มาริษามองว่า ประโยชน์ของศิลปะ นอกจากจะมีงานวิจัยมากมายรองรับว่าเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ช่วยบำบัดจิตใจ ทำให้คนเราโฟกัสในสิ่งที่ทำ มีสมาธิ มีความอดทน และฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผ่านหลากหลายประสาทสัมผัส ศิลปะยังเป็นหนึ่งในการแสดงออก ที่สะท้อนสังคม การเมือง เทรนด์ ประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ถ่ายทอดผ่านงานศิลปะร่วมสมัย ยังเป็นซอฟต์เพาเวอร์ให้กับประเทศไทยอีกด้วย

“เราอยากให้ บางกอก คุนส์ฮาเลอ เป็นพื้นที่สำหรับทุกคอมมิวนิตี เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นที่คนทั้งโลกอยากมา ได้มาเปิดประสบการณ์ พูดถึงเมืองไทย และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย” มาริษากล่าวทิ้งท้าย

Comments are closed.

Pin It