“ธันย่า-ธันยลักษณ์ พรหมมณี” เป็นที่รู้จักในสังคมของแฟชั่น แต่ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจ คือสนับสนุนสังคมด้วยการเป็น Soft Heart Smart Power หรือในการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมอย่างละมุน ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้การมีส่วนร่วมชุมชน พร้อมสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพการงานภาคเครือข่าย โดยเข้าศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข และหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมาภิบาล อย่างไม่ลดละ ให้เวลากับการเรียนรู้แบบบูรณาการ จนกระทั่งแบรนด์ลักชัวรีต่างๆ พากันคิดถึงไม่น้อยเลยทีเดียว
“ธันย่ายินดีกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐานวัฒนธรรม” คุณธันย่าเปิดใจกับ Celeb Online ภายใต้ใบหน้าที่ยิ้มแย้มสดใส บ่งบอกถึงความสุขที่มาจากภายใน เริ่มตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิดเห็นภาพที่น่ารักคนไทยทั้งประเทศสามัคคีร่วมใจมีแนวปฏิบัติจิตอาสาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ ลงไปสัมผัสช่วยเหลือสังคม 1 บ้าน 1 จิตอาสา ทุกคนล้วนแล้วแต่มีหัวใจของความเป็นเพื่อนมนุษย์ทำอาหารแจก แจกแอลกอฮอล์ หรือตู้ปันสุข สะท้อนภูมิศาสตร์ความเป็นพลเมือง แต่ละพื้นที่ของผู้นำในสังคม
ในการลงพื้นได้พบปะได้ช่วยเหลือกลุ่มสตรี นอกจากการอุดหนุนผลิตภัณฑ์โดยตรงแล้ว คุณธันย่านำความชื่นชอบจากแฟชั่นลักชัวรีที่ได้ไปร่วมงาน ทั้งการชมงานแฟชั่นวีก อาทิ ปารีสแฟชั่นวีก มิลานแฟชั่นวีก มาสู่ผ้าไหมไทย ชุมชนไทย ผ่านการถ่ายทอดจากตัวตนของคุณธันย่าที่รักและชื่นชอบในผ้าไหมไทย มีความโดดเด่นในตัวเอง สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย และศิลปะไทยที่งดงามเทียบเท่าระดับสากล
“เวลาธันย่าไปชมแฟชั่นที่ปารีส หรือมิลาน ก็ใส่ผ้าไทย เช่นงาน Alta Moda ของ ดอลเช่ แอนด์ กาบบาน่า เปรียบเหมือนงานโอต กูตูร์ เราเอาผ้าแพรวากับผ้ามัดหมี่ ให้โดลเช่ช่วยดีไซน์ ทีมงานเขามาช่วยกันจับเดรปผ้า เช่น เอาเสื้อท่อนบนของเขามาจับกับผ้าไทยตัวล่าง ให้เขาครีเอทจากมุมมองของดีไซเนอร์ต่างประเทศที่ไม่ได้ผูกพันกับผ้าไทยเหมือนคนไทย อยากรู้ว่าเขาคิดยังไงกับผ้าไทย”
งานเดินแฟชั่นของวาเลนติโน่ เราใส่ผ้าไทยไปแล้วบอกว่าอยากให้เขาทำชุดให้ เพราะวาเลนนิโน่เข้าใจเรื่องการออกแบบผ้าไหมได้ดี ตอนไปชมแฟชั่นของดอลเช่ แอนด์ กาบบาน่า เราก็ใส่เครื่องประดับไทย เช่น ใส่กำไลทองงานช่างทองสุโขทัย งานทิฟฟานี แอนด์ โค ที่ฝรั่งเศส ซึ่งครั้งนั้นธันย่าเลือกใส่เดรสยาวจากผ้าไหมมัดหมี่ที่ออกแบบเอง เมื่อผู้ร่วมงานเห็นก็ประทับใจกับชุด ถามว่าแบรนด์อะไร ซื้อที่ไหน คุณธันย่าก็จะประชาสัมพันธ์ว่าเป็นผ้าไหมไทยจนทุกคนร้องว้าว!
งานโอตกูตูร์ (งานแฟชั่นโอตกูตูรสุดยอดงานศิลปะชั้นสูงของอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ที่เรียกกันติดปากในวงการแฟชั่นที่ต้องจัดขึ้นในทุกปี) รวมไปถึงพากันไปหาซื้อผ้าไหมไทยมาสวมใส่บ้าง หรือตอนไปชมงานแฟชั่นของดิออร์ จริงๆ เวลาเข้าชมงานของใครเราก็ใส่ชุดของแบรนด์นั้น แต่วันนั้นแอบใส่เสื้อคลุมท่อนบนเป็นเครปสีฟ้าผ้าไหมมัดหมี่ทับเสื้อของดิออร์ เราบอกว่าเอาไว้กันฝน เจ้าหน้าที่บอกเวลาเข้างานขอให้ถอดออก เราก็ถอดนะแต่ตอนเดินเข้างานเราใส่อยู่ ช่างภาพก็ถ่ายไปแล้ว พอเข้างานเราก็เอาผ้าไหมไทยมาคล้องแขนไว้ คนก็มาถามว่าเสื้ออะไรทำไมไม่เคยเห็น เราก็บอกว่าผ้าไหมไทย คนก็ตื่นเต้น”
ในการถ่ายทอดความเป็นตัวตนที่โดดเด่น คุณธันย่าไม่เพียงแต่อาศัยความชื่นชอบนำทางเท่านั้น หากแต่ได้ลงมือศึกษาอย่างจริงจัง โดยได้ลงเรียนหลักสูตรเเฟชั่นเเละดีไซน์จากสถาบันอีสตีตูโตมารังโกนี (Istituto Marangoni ) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อไปมุ่งหาความรู้ มาเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมผ้าไทย และถ่ายทอดความรู้ที่ได้ให้ชาวบ้านรู้จักสร้างแบรนด์ให้มีความเด่นชัดในเรื่องขององค์ประกอบในการสร้างลายผ้า องค์ประกอบผ้า สร้างแบรนด์ให้มีคุณค่า และประยุกต์ใช้ความรู้จากการเรียนรู้ถึงกลยุทธ์ของลักชัวรีแบรนด์ที่เป็นที่นิยม สู่การประสบความสำเร็จครองใจตลาดระดับโลก
นอกจากการเรียนรู้เรื่องแฟชั่นแล้ว จากความสนใจถึงความเป็นอยู่ของชุมชน และได้ทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจังในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คุณธันย่าเป็นหนึ่งในผู้เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 11 ได้ลงพื้นที่ไปภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ รวมไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ชีวิตความเป็นอยู่ เข้าใจถึงความหลากหลายของสังคม ที่มีความคิดความเชื่อ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตระหนักถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ นำสู่การเรียนรู้ในการทำความเข้าใจความแตกต่างที่หลากหลาย และสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
ด้วยจิตวิญญานความเป็นนักบริหารที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเอง ในปีนี้คุณธันย่าได้เรียนในหลักสูตรเสริมสร้างความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมและธรรมาภิบาล รุ่นที่ 1 ของสถาบันพระปกเกล้า เป็นหลักสูตรพิเศษที่จัดทำขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมและนิเวศวัฒนธรรม
“ความหวังของธันย่าต่อจากนี้ คือ อยากสนับสนุนให้งานศิลปะของชาวบ้านได้มีการพัฒนานำไปสู่การขายในต่างประเทศ อย่างธันย่าเวลาไปติดต่อธุรกิจ หรือไปต่างประเทศ ธันย่ามักจะต้องติดตัวไปด้วยศิลปะความเป็นไทย อาทิ ผ้าไทย กระเป๋าไทย หรืออัญมณีเครื่องประดับไทยไปด้วย จนต่างชาติต้องว้าว!!
และธันย่าก็จะทำหน้าที่เป็นทูตแนะนำผลิตภัณฑ์ของไทย เปิดตลาดแนะนำ นำไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้า และการสร้างชุมชนยั่งยืน เพราะแฟชั่น คือ วิถีชีวิต ชุมชน จากภูมิปัญญา เพิ่มการประยุกต์ เพื่อต่อยอด” คุณธันย่าเล่าอย่างยิ้มแย้มสดใส เปี่ยมด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ สะท้อนความสุขจากภายในที่ได้มีส่วนช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ไทยที่พร้อมจะแบ่งปันเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
จากจุดเล็กๆ ที่คุณธันย่าเลือกที่จะใส่ผ้าไหมไทย โดยประยุกต์กับไอเดียและการออกแบบที่ดูทันสมัย กลายเป็นอีกหนึ่งแรงใจที่ทำให้ผ้าไทยกลายเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติในแวดวงแฟชั่นแบรนด์ระดับโลก คุณธันย่าเลือกที่จะแนะนำให้เพื่อนชาวต่างชาติได้รู้จักถึงศิลปะวัฒนธรรมอันงดงามของไทย ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ช่างในท้องถิ่นนั้นๆ ในทุกที่ที่ไปเยือน ซึ่งทุกคนในชุมชนเปรียบเสมือนฟันเฟือง ซึ่งฟันเฟืองเล็กๆ นี้ คือ พลังที่สามารถผลักดันและขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า
“ธันย่ากราบน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชดำริจะอนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปะเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป พร้อมช่วยรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่ให้แพร่หลายเป็นที่ยอมรับในสากล สร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างสังคมแข็งแกร่ง เมื่อรากฐานทางเศรษฐกิจดี ปัญหาสังคมก็จะลดลง ครอบครัวก็จะเข้มแข็ง เด็กและสตรีไทยก็มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ได้มีโอกาสทำงานที่ดี ได้อยู่ในครอบครัวที่มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมเป็นสุข”
#ธันย่าธันยลักษณ์พรหมมณี #ธันยลักษณ์พรหมมณี #ผ้าไทย #SoftPower #เศรษฐกิจฐานรากวัฒนธรรม #หัตถศิลป์ไทย #ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม #อนุรักษ์และสืบสาน #ศิลปวัฒนธรรมไทย
Comments are closed.