แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาสายตรงด้านบัญชีหรือไอที แต่เพราะเป็นคนชอบคุย ชอบซักถาม และหาความรู้ในเรื่องต่างๆ จนรู้ลึก รู้จริง จึงกลายเป็นแต้มต่อที่ช่วยเติมเต็มการทำงานของ “รริส อยู่วิทยา” ซีอีโอคนเก่งแห่ง Rapid Capital (แรพพิด แคปิตอล) ผู้ให้บริการสินเชื่อบนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“ด้วยเนื้องานที่เน้นการพัฒนาแอปฯ ผมเลยต้องไปเกี่ยวข้องกับแทบทุกแผนกในบริษัท จากตอนแรกที่มาเป็น CFO ดูแลเรื่องการเงิน เพราะเคยมีพื้นฐานทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชี ให้กับบริษัทต่างๆ อยู่เป็นสิบปี แต่พอมาทำงานจริง กลายเป็นว่าเราต้องไปดีลกับฝั่งไอที ซึ่งด้วยบทบาทของ CFO อาจจะไม่เหมาะ ตอนหลังผมเลยขยับมาเป็นซีอีโอที่ดูแลภาพรวม”
อย่างไรก็ตาม รริสออกตัวก่อนว่า แม้จะเรียนจบมาด้านการจัดการ แต่เพราะว่าพื้นฐานเป็นคนชอบคุย ชอบซักถาม เวลาอยากรู้เรื่องอะไร ก็จะศึกษาจริงจัง ซึ่งบัญชีก็เป็นหนึ่งในวิชาที่เขาได้ความรู้ติดตัวจากการศึกษาเอง
“สมัยเรียน ผมมีเรียนวิชาบัญชีพื้นฐานนะครับ แต่ผลการเรียนไม่ดีเท่าไหร่ แค่พอผ่านมาได้ แต่พอมาทำงาน ผมเริ่มศึกษาเองจนเข้าใจ และได้มาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีอยู่ร่วม 10 ปี คอยเป็นตัวกลางให้เจ้าของธุรกิจกับสำนักงานบัญชี พร้อมให้คำแนะนำเรื่องภาษีกับอาชีพเฉพาะ เช่น หมอ สถาปนิก ก็เลยมีความรู้ติดตัว”
นอกจากเรื่องบัญชี เขายังมีความสนใจในเทคโนโลยี และแกดเจ็ตต่างๆ ซึ่งเขาไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้เทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต แต่ยังสนใจศึกษาไปถึงแก่นของเทคโนโลยี
“พอต้องมาทำงาน ด้วยความที่ธุรกิจเราคือ การพัฒนาแอปพลิเคชัน ดังนั้น ผมเลยค่อนข้างเข้าใจกระบวนการพัฒนาแอปฯ ที่ต้องแก้ Pain Point บางอย่างให้กับผู้ใช้งาน ขณะเดียวกัน ก็พยายามหาโซลูชันตรงกลางที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่าย บางครั้งฝั่งบริหารอาจจะมีโจทย์ในใจว่าต้องการอะไร แต่ก็อาจจะสื่อสารกับฝั่งไอทีไม่เข้าใจ หรือบางทีฝั่งที่พัฒนาแอปฯ ก็อาจจะติดปัญหาตรงส่วนไหน ผมก็เข้าไปเป็นตัวกลางว่าจะทำอย่างไรให้ UX (User Experience) และ UI (User Interface) ออกมาใช้งานง่าย”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วแอปฯ ที่ผู้บริหารหนุ่มอยู่เบื้องหลังมีหน้าที่อย่างไร เขาสรุปให้เข้าใจง่ายว่า “แอปฯ ที่ทำเป็นบริการสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ใช้เล่มทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ลูกค้าของเราคือกลุ่มที่มีรถยนต์ โดยแอปฯ ของเราจะอำนวยความสะดวกให้ทั้งฝั่งลูกค้าที่มีสินเชื่อรถยนต์ สามารถตรวจดูข้อมูลได้ง่ายๆ ผ่านหน้าจอ ไม่ว่าต้องการเช็กข้อมูลดอกเบี้ย ยอดค้าง หรือจะปิดยอดก็ทำได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯ ขณะที่ ฝั่งให้สินเชื่อเองก็สะดวกสบาย มีแอปฯ ของเราเป็นตัวกลาง และช่วยเก็บ Data ทำให้เห็น Customer journey เอาไปต่อยอดได้ เพราะ Rapid Capital สามารถให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งขาเข้า(มากู้) และขาออก(มารับทะเบียนรถคืน) ดำเนินการทุกขั้นบนแพลตฟอร์มดิจิทัล”
รริสบอกว่าบริษัทใช้เวลา 2 ปี ในการพัฒนาแอปฯ มาเรื่อยๆ โดยตั้งต้นจากการมองว่าอะไรคือ Pain Point ที่เกิดขึ้น แล้วเราจะนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาได้อย่างไร ขณะเดียวกัน ก็นำเทคโนโลยีมาลด Human error ลดขั้นตอนในการทำงาน
“สโลแกนของบริษัทเราคือ Faster, Better, Cheaper และ Smarter ซึ่งเหมือนกับองค์กรของเราที่ใช้คนน้อย ได้ปริมาณงานที่เยอะ มีประสิทธิภาพ แถมรวดเร็ว แม่นยำ เพราะเราเน้นเอาเทคโนโลยีมาช่วย ผมมองว่าการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เหมือนการเขียนสมการ ถ้ามีเทคโนโลยีที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ผลลัพธ์ของ 1+1 จะเท่ากับ 2 เสมอ แต่ถ้าใช้คนเมื่อไหร่ บางครั้งผลผลลัพธ์อาจจะเป็นอย่างอื่น”
มาถึงสไตล์การทำงานของเขา เจ้าตัวบอกว่าเป็นซีอีโอที่ใจดี ไม่ดุ ถ้ามีปัญหา ขอแค่ยอมรับแล้วมาช่วยกันหาทางแก้ไข อาจเพราะเขาเองก็เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างให้อิสระ สมัยเรียนก็ไม่ใช่เด็กเรียน มีแอบเที่ยวบ้างตามประสา
“ผมมองว่า การที่ได้ลองทำอะไรหลายอย่างตั้งแต่เด็ก เหมือนได้เติมประสบการณ์ให้ชีวิตนะ ไม่ต้องกลัวว่าจะมาเสียคนตอนแก่ (หัวเราะ)”
สำหรับไลฟ์สไตล์วันว่างของเขา ถ้าเป็นก่อนโควิด-19 ก็ชอบแข่งรถและ จัดทริปไปเล่นสโนว์บอร์ดที่ต่างประเทศ แต่พอสถานการณ์ไม่อำนวยก็เปลี่ยนมาเที่ยวในประเทศ บวกกับเพิ่งมีลูก เลยต้องรับหน้าที่คุณพ่อป้ายแดง
“ผมกับภรรยาช่วยกันเลี้ยงลูกเอง โดยไม่มีพี่เลี้ยง ฉะนั้น ช่วงโควิด-19 เวลาส่วนใหญ่เลยเน้นให้กับลูก ถ้าจะมีเวลาส่วนตัวนั่งจิบไวน์กับเพื่อน ก็คือต้องหลังส่งลูกเข้านอนเรียบร้อย นอกจากจิบไวน์ งานอดิเรกอีกอย่างที่เริ่มทำหลังโควิด-19 คือ ดื่มกาแฟ เดิมทีผมไม่ดื่ม แต่พาร์ตเนอร์ที่ไปงานไวน์ที่สเปนชวนให้ดื่มเลยติดใจ พอช่วงโควิด-19 เลยไปซื้อเครื่องมาชงเองที่บ้าน ผมว่ากาแฟกับไวน์เหมือนกัน มีอรรถรสเรื่องของกลิ่น ผมก็เลยเพลินกับการหาเมล็ดดีๆ มาชงดื่ม”
ปิดท้ายด้วยเป้าหมายในอนาคต เขาทิ้งท้ายว่า เขาอยากพัฒนาบริษัทให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
“วันนี้เราอาจเป็นเหมือนไอโฟนรุ่นแรก ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ตราบที่โลกเทคโนโลยีไม่มีวันหยุด เราต้องพัฒนาแอปฯ ไปเรื่อยๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด”
Comments are closed.