Interview

แก่ไปไม่กลัว! “ดร.รัชดา ธนาดิเรก” เตรียมรับมือกับ “วิถีชีวิตผู้หญิงสูงวัย”

Pinterest LinkedIn Tumblr


คนที่ติดตามเรื่องการเมืองอาจจะคุ้นหน้าเธอเป็นอย่างดี ในฐานะรองโฆษกรัฐบาล ที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลการทำงานของรัฐบาล ให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง บุคคลผู้นี้คือ “ดร.รัชดา ธนาดิเรก” ที่วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับมุมอื่นๆ ที่อาจยังไม่เคยรู้ รวมไปถึงไอเดียและมุมมองเรื่องสังคมผู้สูงวัย กับการเตรียมตัวรับมือกับคำว่า “แก่” ที่แค่ได้ยินก็จี๊ดใจ! แต่ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ รับรอง…เจ็บจริงตอนแก่แน่นอน


“สังคมผู้สูงวัย” ฟังดูอาจจะห่างไกลตัวสำหรับกลุ่มวัยรุ่น แต่สำหรับกลุ่มคนวัยทำงานที่อายุเกิน 40 ขึ้นไปคงต้องชะงักกันหน่อย เพราะจากการสำรวจขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ กับคำถามว่า “หลังเกษียณคุณจะใช้ชีวิตอย่างไร?” ในฐานะ สส.กทม.การลงพื้นที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนมาตลอดหลายปี ทำให้ได้เห็นปัญหาที่แท้จริงที่ผู้สูงวัยต้องเผชิญ ในมุมมองของ ดร.รัชดา การเตรียมตัวรับมือไม่ต้องรอเวลาให้แก่ แต่ต้องเป็นการวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน


“คำว่า สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) มันไม่ใช่แค่ประเด็นที่คนอายุ 60 ขึ้นไปแล้วค่อยมาตื่นตัว แต่เป็นสิ่งที่คนทุกวัยต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้ เพราะถ้ามีคนที่อายุ 60 ขึ้นไป 20% ของประชากร เท่ากับทุกๆ 5 คนเราจะเจอคนเกษียณ 1 คน คำว่าเกษียณคือเราไม่ต้องทำงานแล้ว ไม่มีรายได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่า 5 ปี 10 ปีตาย อายุเฉลี่ยคนไทยเพิ่มไปเป็น 84-86 ปี คิดกันหรือยังว่าเราจะอยู่อย่างไร เพราะอีก 26 ปีที่เราต้องอยู่ต่อ ถ้าต้องอยู่แบบไม่มีรายได้มันน่ากลัวนะ แล้วบั้นปลายชีวิตในช่วงท้ายๆ เราจะเจ็บป่วยบ่อย แบบที่เราดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องเสี่ยงกับโรคเรื้อรัง ฉะนั้น เราจะมีค่าใช้จ่าย ต้องพึ่งพิงคนอื่นอีก

เราเคยทำเรื่องผู้ป่วยติดเตียง เดินเยี่ยมชุมชน แจกผ้าอ้อม จะเห็นว่าชีวิตมันหดหู่มาก เป็นปรากฏการณ์ที่เจอตลอดเวลา บางบ้านแม่อายุ 80 กว่า ลูกก็ 60 กว่า หลานก็ไปทำงาน บางบ้านติดเตียงหมดเลย 4 คน มีคนดูแล 1 คน ทีนี้ถ้าเรารอให้อายุ 60 แล้วค่อยคิดเรื่องนี้มันไม่ทัน มันต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้


ข้อแรก ต้องเตรียมว่าถ้าอยู่กับคนแก่ในบ้านต้องรู้จักปฐมพยาบาล รู้จักบีบนวด ต้องดูแลคนแก่ในบ้านอย่างไร ดูแลคนแก่นอกบ้านอย่างไร ไปเดินในท้องถิ่นคุณเจอคนแก่เราต้องเข้าไปดูแลเขา ข้อสองคนที่อยู่ในวัยทำงาน เมื่อทำงานปุ๊บต้องวางแผนเก็บเงิน ต้องฉายภาพตัวเองให้ได้ว่า ถ้าวันนี้คุณมีเงินบาทแรกที่เข้ากระเป๋า แล้วพออายุ 60 คุณจะไม่มีเงินแล้ว คุณจะอยู่อย่างไรให้ได้ถึงอายุ 86 ปีที่เป็นอายุเฉลี่ยของคนไทย ต้องสร้างนิสัยวางแผนการเงินและดูแลสุขภาพ เพราะสุขภาพคือภาระ ถ้าเราแก่แล้วเราเจ็บป่วยเราจะเป็นภาระกับคนที่เรารัก แล้วเงินที่เราออมมามันก็หมด ลูกหลานก็ต้องมาดูแลเรา ซึ่งมันไม่แฟร์กับเขา

ฉะนั้น การคิดเรื่อง Aging ไม่ใช่คิดว่าเราจะแก่ แต่คิดว่าถ้าเราอยู่ เราจะใช้ชีวิตในแต่ละช่วงอย่างไร สุขภาพกับเงินทองเป็นเรื่องใหญ่ เพราะของอย่างนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ สร้างแล้วจะมีเลย อย่าง เงิน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะมีออม เพราะระหว่างทางก็จะมีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเกิดขึ้น ที่เราต้องเอาเงินนั้นมาใช้ อย่าง มีโควิด มีอุบัติเหตุ เรื่องทักษะการใช้ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ แต่สังคมยังไม่ค่อยตื่นตัว


ในส่วนของรัฐบาล ให้การดูแลผู้สูงอายุในลักษณะประคับประคองดูแลผู้ที่เขาลำบาก ทุกวันนี้รัฐบาลใช้เงิน 8 หมื่นล้าน ในการจ่ายเบี้ยยังชีพสูงอายุ ที่มีแนวโน้มจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งก็ต้องดูแลกันไป แต่งบประมาณที่ต้องดูแลผู้สูงอายุจะทำให้เสียโอกาสเอาเงินนั้นไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่น เราจึงอยากให้คนยุคปัจจุบันที่ยังมีแรง ที่ยังทำงานได้อยู่ วางแผนสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของตัวเอง อย่าไปรอแก่แล้วรอรับเบี้ยยังชีพ ระหว่างทางรัฐก็เน้นเรื่องของการดูแลสวัสดิการเรื่องความเจ็บป่วย เรามีระบบประกันสังคมที่ดีมากติดอันดับโลก เรามี อสม. มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องมาแออัดในเมือง และให้ท้องถิ่นมีการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุ เช่น จัดให้มีลานกีฬา ส่งเสริมเด็กในพื้นที่ให้รู้จักดูแลคนแก่ จัดคอมมูนิตีให้คนแก่มาพูดคุยกัน ทำตัวให้เป็นประโยชน์ อันนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดเขาทำกันอยู่ เพราะประเทศเรามีแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติอยู่แล้ว แต่คนในกรุงเทพฯ อาจจะไม่รู้สึก เพราะชีวิตเราต่างคนต่างอยู่”

เมื่อการเตรียมตัวต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน การปลูกฝังก็ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเรียน ดร.รัชดา มีมุมมองว่านอกจากจะปรับหลักสูตรวิชาการให้ทันสมัยกับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแล้ว ยังต้องสอนทักษะการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับทักษะการวางแผนการเงินด้วย


“ทุกวันนี้ระดับมหาวิทยาลัยเราเริ่มปรับหลักสูตรกันแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องเรียนอัดทุกวิชาแล้ว แต่จะให้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ แล้วให้ไปฝึกงานในชีวิตจริงมากขึ้น ตอนนั้นเขาจะได้รู้จักชีวิตจริง โดยระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนก็ต้องมีวิชา เช่น ทักษะการใช้ชีวิต เพื่อให้รู้ว่าการอยู่ในสังคมไม่ได้อยู่แค่ในตำรา ซึ่งเทรนด์การทำงานของเด็กยุคใหม่จะอยู่ในรูปแบบ Gig Economy คือไม่ทำงานประจำ รับงานเป็นจ๊อบๆ มีเสรีภาพในการทำงาน แต่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ฉะนั้น เขาต้องคิดว่าภายใต้รูปแบบการจ้างงานแบบนี้ เราต้องสอนเขาว่าจะสร้างความมั่นคงได้อย่างไร เรื่องทักษะการเงิน วางแผนการเงินมันต้องคู่กันมากับการเรียน เพราะชีวิตมันอยู่ยากถ้าคุณไม่รู้จักวางแผนการเงินค่ะ”

นอกจากเรื่องความตระหนักต่อสังคมที่เรารู้จากเธอมานักต่อนัก แต่ในด้านอื่นๆ ที่เราอยากจะพูดถึงเกี่ยวกับเธอก็คือ ความสุขในแบบของหญิงสาวคนหนึ่ง สำหรับ ดร.รัชดา หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในวัยเด็กเคยเป็นเจ้าของสถิติว่ายน้ำฟรีสไตล์ 1,500 เมตรในวัยเพียง 7 ขวบ และยังมีดีกรีเป็นนักกีฬาเทนนิสทีมเยาวชนไทยด้วย วิธีการเตรียมตัวแก่ในแบบของเธอ จึงเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการวางแผนการเงินที่ทำมาตลอด


“เราเป็นคนที่เตรียมตัวแก่และเป็นคนไม่กลัวแก่ค่ะ มองภาพตัวเองว่าจะอยู่ไปถึงอายุ 86 ตอนนี้ 46 ก็มีเวลาอีก 40 ปี มันมีเวลาอีกยาวมากในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นก็มีความรู้สึกว่าอยากสวยแบบวัย 50 ปี พออายุ 60 ก็อยากเป็นแชมป์กีฬาว่ายน้ำ เราไม่ได้รีบ ตอนนี้ใครเก่งใครหุ่นดีก็ไปก่อนเลย ฉันอยากหุ่นดีแบบสาววัย 50 ซึ่งมันก็ไม่ได้ต้องสวยแบบเอวเอสเป็นกล้าม ฉันสวยในแบบของฉัน แล้วก็อยากให้เพื่อนๆ รู้สึกว่า ชีวิตมีความหวัง เราดูดีและประสบความสำเร็จได้ในทุกช่วงวัย ที่ผ่านมาถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่โดดเด่น ก็อย่าไปท้อแท้ ชีวิตยังอีกยาวมีโอกาสให้เราได้ทำอะไรอีกมากมาย แต่ที่สำคัญเราต้องมีเงินก่อนนะ เก็บเงินเก็บทองแล้วเราจะได้ใช้ชีวิตในวิถีของเรา

เรื่องของการดูแลสุขภาพ ชอบว่ายน้ำกับกระโดดเชือกค่ะ โชคดีที่บ้านอยู่ใกล้สระว่ายน้ำ ก็เลยง่ายหน่อย ส่วนกระโดดเชือก เป็นกีฬาที่ดีมากเลยนะ หนึ่ง ประหยัดเงินใช้แค่เชือกเส้นเดียว สอง ใช้เวลานิดเดียวเหงื่อพลั่กแล้ว ถ้าอยากลดน้ำหนักมันเบิร์นแคลอรีได้เยอะมาก ถ้ามีเวลาน้อยหรือฝนตก ทำอะไรนอกบ้านไม่ได้ก็กระโดดเชือกที่โรงจอดรถ บางคนอาจรู้สึกว่ามันยาก แต่ถ้าได้ฝึกมันจะสนุก เราเริ่มจาก 10 นาทีก็เหนื่อยจะแย่ พัฒนามาได้ถึงครึ่งชั่วโมง ความสุขของเราคือการที่ได้เห็นพัฒนาการของตัวเองที่ดีขึ้น


เรื่องนี้อาจจะเป็นนิสัยที่ได้มาจากตอนเด็กๆ ที่เราเป็นนักกีฬา เราแข่งกับตัวเอง นักกีฬาเราคือแข่งกับตัวเองนะ เราไม่ไปโทษคู่แข่ง เราทำได้ดีขึ้นคือสำเร็จ ถ้าคู่แข่งเขาเก่งกว่าเราก็ต้องยอมรับ ทุกอย่างจะมีเป้าหมายเล็กๆ น้อยๆ เช่น วันนี้จะต้องอ่านหนังสือกี่หน้า ต้องออกกำลังกายกี่นาที เป้าหมายแค่นี้ถ้าทำได้ก็มีความสุขแล้ว ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร หรือบางวันก็เดินเล่นกับลูกหมา ไม่ก็ขี่จักรยาน จะหาจังหวะที่ให้เราได้เบิร์นแคลอรี่ตลอดเวลา จะหาอะไรทำให้หัวใจมันเต้นเร็วขึ้น วัยนี้เราไม่ได้หวังให้มีกล้ามสวยแบบดารา ถ้าเราได้ขยับให้เป็นกิจจะลักษณะ ให้เป็นนิสัย มันเป็นสิ่งดีและเพียงพอค่ะ”

Comments are closed.

Pin It