Interview

ชีวิตชาวสวนที่อิ่มสุข ของ "โยธิน ธรรมจำรัส" อดีตผู้บริหารเครือเซ็นทรัล

Pinterest LinkedIn Tumblr


ความสุขไม่ใช่ของหายาก และหนทางนำมาซึ่งความสุขก็ไม่ได้ซับซ้อน ใครที่กำลังไขว่คว้าหาความสุข ลองถามตัวเองว่าตั้งขีดไว้สูงไปหรือไม่ มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดหรือเปล่า ดังเช่น “โย-โยธิน ธรรมจำรัส” อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มเซ็นทรัล ที่รู้ว่าความสุขของตัวเองไม่ใช่การใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน วนเวียนกับความวิงเวียนอีกต่อไป หากแต่การได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และเรียบง่ายตามความฝันที่วางไว้ ว่าอยากเกษียณอย่างมีความสุข ก่อนที่ลาจากโลกใบนี้ไป


เมื่อมีหมุดหมายของชีวิต ตั้งแต่วันแรกของการเข้าทำงานอยู่ที่ตึกสูงระฟ้าว่าจะต้องเกษียณอายุตัวเองหลังจากที่ทำงานครบ 30 ปี และในวันที่ความฝันกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะ ทำให้โยตัดสินใจละทิ้งตำแหน่งผู้บริหารโบกมือลาชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวง แล้วหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยการไปใช้ชีวิตเป็นหนุ่มใหญ่ชาวสวนอย่างเต็มตัวที่ จ.ราชบุรี

“ตอนทำงานเราตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่า จะทำงานที่เซ็นทรัลจนถึงอายุงาน 30 ปี เพราะคิดว่าเราควรจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนเรา ที่สำคัญ ทุกวันนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ที่ทำให้น้องๆ ในทีมสามารถดำเนินงานต่อไปได้ แม้ไม่มีเรา ดังนั้น เราจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกเมื่อปีที่แล้วทั้งๆ ที่เป็นปีที่โควิดเริ่มระบาดรอบแรกพอดี มีใจหายอยู่บ้าง เพราะเจ้านายเขาก็ดูแลเราดีทุกอย่าง แต่สุดท้ายวันหนึ่งเราต้องหวนกลับมามีเส้นทางชีวิตเป็นของเราเอง พี่จึงตัดสินใจเดินออกมาอย่างหมดห่วง”


โยยอมรับว่า ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะผันตัวเองเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว เพราะก่อนหน้านี้เคยคิดอยากจะทำงานเกี่ยวกับอาหาร เพราะเป็นคนชอบชิมอาหาร แต่ภารกิจงานสุดท้ายก่อนที่จะเขาจะโบกมือลาเซ็นทรัล คือการเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือชุมชนด้านเกษตรกร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตกหลุมรักงานเกษตรกร จนนับวันรอที่จะได้ออกไปปลูกต้นไม้ใบหญ้าด้วยตัวเอง ประกอบกับ เก็บหอมรอมริบซื้อที่ดินผืนงามที่ จ.ราชบุรี ไว้จำนวนหนึ่ง ทำให้เขารีบเดินออกตามหาฝันของตัวเองทันที

“งานสุดท้ายของเราคือ การทำซีเอสอาร์เข้าไปช่วยเหลือชุมชนในจังหวัดต่างๆ ได้เห็นการทำงานของพี่น้องเกษตรกรชาวไทย อยู่กับธรรมชาติสีเขียวดูแล้วสบายตาและสบายใจ จึงมีความคิดว่าทำสวนทำเกษตรก็ดีเหมือนกัน เพราะมันมีสีเขียว และช่วงนั้นเราก็มีความคิดทุกๆ วันว่า อยากจะอำลาอยากจะกลับไปปลูกต้นไม้ รู้สึกคันไม้คันมือ อยากปลูกนั่นอยากปลูกนี่ ปีที่แล้วแม้จะมีสถานการณ์โควิดระบาด แต่เราก็ตัดสินใจเดินไปบอกเจ้านายว่า ขอไปตามความฝัน เพราะถ้าแก่ตัวไปกว่านี้แล้วจะไม่มีแรง ประกอบกับ ช่วงที่เราทำงานเราได้ซื้อที่ดินสะสมไว้ที่ราชบุรีผืนหนึ่งมีขนาด 5 ไร่ จึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรหน้าใหม่ ซึ่งวันที่ 30 สิงหาคม 2564 นี้ก็จะครบหนึ่งปีพอดี”


จากหนุ่มฝั่งอ่าวไทยที่มาลงหลักปักฐานเป็นหนุ่มลุ่มน้ำแม่กลอง ยึดอาชีพชาวสวนเป็นหลัก โยบอกว่าการเป็นชาวสวนนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทุกอย่างต้องเริ่มฝึกฝนค่อยๆ เรียนรู้วิธีการปลูกพืชผล อาศัยคำแนะนำจากชาวสวนในพื้นที่ และประสบการณ์จากการเคยไปลงพื้นที่ช่วยเกษตรกรในหลายจังหวัด มาประยุกต์ใช้

“อย่างที่บอกว่า เรามีโอกาสได้เรียนรู้งานการทำเกษตรมาตั้งแต่สมัยที่เราทำงานอยู่ที่เซ็นทรัล เห็นพี่น้องเกษตรกรเขาปลูกผลผลิตกันอย่างไร แต่พอเรามาทำเองเข้าจริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย ได้เห็นความยากลำบาก เพราะเราไม่ได้เป็นเกษตรกรโดยสายเลือด เป็นคนจังหวัดชลบุรีแต่ตอนนี้ย้ายมาปลูกบ้านทำสวนที่ จ.ราชบุรี เราเองก็ไม่ได้มีความรู้มากพอ ต้องมาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะ เรื่องแหล่งน้ำสำคัญสุด แม้ที่ของเราจะเป็นที่ชุ่มน้ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตรได้ทั้งปี เราต้องมาขุดบ่อบาดาลเอง ต้องไปประสานหน่วยงานรัฐเพื่อให้การขุดถูกต้องตามกฎหมาย ปรับพื้นที่ให้เอื้อกับการเกษตรของเราด้วย สุดท้ายแล้วมันไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ถามว่ามันมีความสนุกและท้าทาย ใช่เพราะมันเป็นสิ่งแปลกใหม่ เมื่อก่อนทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนต้องมาสนใจค่า KPI แต่ตอนนี้เราต้องเรียนรู้ต้องอยู่กับมัน และต้องศึกษาสิ่งที่เราปลูก เช่นเราปลูกกล้วยมันก็มีผลผลิตออกมา แต่ลุงข้างสวนมาเห็นบอกว่าปลูกแบบนี้รากมันลอยมันจะอยู่ไม่ทน เดี๋ยวต้นกล้วยจะล้ม มันเป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ไปจากประสบการณ์ต่างๆ ของเกษตรกรที่เขาแลกเปลี่ยนให้เรา”


บนพื้นที่ 5 ไร่ของ “สวนลุงโย” ซึ่งอยู่ที่บ้านห้วยศาลา อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ในวันนี้ ล้วนเต็มไปด้วยผลผลิตแห่งความตั้งใจจริงของนายใหญ่ เจ้าของสวนที่ทั้งลงทุนลงแรงเพาะปลูกพืชผลทุกชนิดด้วยตัวเอง โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักยึดในการทำการเกษตร ซึ่งได้ออกดอกออกผล และพร้อมแบ่งปันผลผลิตให้กับคนในชุมชน ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ

“พอดีเห็นแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงวางแนวไว้ เรากินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น และพอมีเหลือถึงค่อยแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นในชุมชน ดังนั้น ตอนนี้ในสวนของเราปลูกทุกอย่าง ตั้งแต่กล้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด มะม่วง ต้นมะขามอ่อน พืชผักสวนครัวรั้วกินได้ แต่ที่มีเพิ่มขึ้นมาคือ ใบชะมวง เพราะพี่เป็นคนชอบทานใบชะมวง หมูต้มใบชะม่วง และผลผลิตที่เก็บเกี่ยวเหลือจากการใช้ในครัวเรือน พี่ก็แบ่งให้ชาวสวนที่อยู่บ้านติดกันให้ได้รับประทานเช่นกัน”


ผ่านมาครบ 1 ปีกับชีวิตชาวสวนของโย ที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาตลอด เขาจึงเริ่มมองเห็นเส้นทางการเป็นชาวสวนชัดเจนขึ้น ว่าตัวเองเหมาะกับการปลูกพืชสวนชนิดใดให้ได้ผลผลิตเป็นที่น่าชื่นใจ และในอนาคตอันใกล้นี้ เขาได้วางแผนการตลาดที่จะนำผลิตผลมาแปรรูปจำหน่ายในชุมชน และพร้อมถ่ายทอดเทคนิคการแปรรูป เพื่อนำมาขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“ถ้าถามว่าสิ่งที่เราปลูกหนึ่งปีวันนี้ มันตอบโจทย์ว่ามันเจริญเติบโตและคงเหลืออยู่ไหม มันยังคงเหลืออยู่แต่มันก็ตายไปเยอะ เพราะว่าเราทำไม่เป็น อย่างเช่น ทุเรียนเราปลูกเป็น 100 ต้น เหลือรอดแค่ 5 ต้นเราก็ภูมิใจแล้ว เพราะเราก็ไม่คิดว่าทุเรียนมันดูแลยากขนาดนี้ เราต้องดูแลเหมือนเด็ก ต้องดูแลน้ำปุ๋ยตลอด แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าการปลูกกล้วยน้ำหว้าเป็นทางของเรา เพราะดินที่นี่มีความแห้ง พอเราปลูกกล้วยน้ำหว้าก็จะได้เป็นกล้วยน้ำว้าแห้ง ไม่แฉะไม่เหนียว พอมันสุกก็นำเอาหวีมาขาย และก็ลองมาทำแปรรูปเป็นกล้วยตาก พอกินเองก็รู้สึกว่าดีจึงนำไปแจกให้กับเพื่อนๆ ลองชิม ซึ่งทุกคนก็บอกว่ากินดี ตอนนี้ก็เลยทำกล้วยตากแปรรูป ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปเพราะทำคนเดียว ซึ่งเราก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ที่มีด้านงานค้าปลีก กับพี่น้องเกษตรกรคนอื่น เราเห็นว่าการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นงานที่ประณีต รวมถึงต้องทำแพกเกจจิ้งให้ดูน่าสนใจ สะอาด เพื่อทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของเรา”


เพราะต้องการเกษียณอย่างมีความสุข ตามปณิธานเดิมที่ตั้งไว้ ดังนั้น ทุกวันนี้โยจึงพยายามหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ มาต่อยอดพัฒนาพื้นที่การเกษตรของตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะ การไปศึกษานวัตกรรมสมัยใหม่ทางการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่งอกงาม อันเป็นการช่วยทุ่นแรงตัวเองไปในตัว ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าให้คนวัยเกษียณอีกทางหนึ่ง

“เราคิดว่ามันมีอะไรที่ง่ายขึ้นต่อการทำเกษตร และเราไม่ต้องใช้เวลาในการศึกษาเยอะ เราจึงไปเข้าคอร์สอบรมเล็กๆ อันหนึ่งของ อีอีซีไอ เขาพยายามจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมันดีขึ้น ทีนี้เราก็จะนำมาบาลานซ์ว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า พอดีว่าเราอยากจะเกษียณแบบสุข เมื่อเขามีเทคโนโลยีมาเลยตอบโจทย์ที่ว่า มันอาจจะทำให้ผลผลิตของเรามีมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น แต่เราไม่ได้มองในมุมของรายได้ แต่ว่าเราสามารถนำเทคโนโลยี มาทำให้คนที่จะเกษียณไม่ต้องใช้แรงมาก เหมือนใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้เขามีความสุขกับการทำสวน พอมีอาหารแบ่งปันได้ มีอาหารที่ปลอดภัยกินแบบนี้ มันน่าจะครบสูตร เรามาใช้ชีวิตเกษียณให้รู้สึกว่า สามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้แบบนี้พี่ว่ามันน่าจะดีกว่าครับ”


ครบ 1 ปีของการลาจากชีวิตมนุษย์เงินเดือน เพื่อแสวงหาความสุขที่ใฝ่ฝันไว้นาน วันนี้โยบอกว่า ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความสุข แม้จะต้องวนเวียนแบบเดิมซ้ำๆ ทุกวัน แต่เมื่อเห็นผลผลิตที่ลงมือปลูก ผลิดอกออกผลมาให้เห็น นั้น เปรียบเสมือนยาชูกำลังของชายวัยเกษียณเลยก็ว่าได้

“ชีวิตทุกวันนี้มีความสุขแล้ว ในหนึ่งปีของชีวิตชาวสวน เราต้องทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่ หุงข้าว ทำกับข้าวกินสามมื้อ ตอนเช้าเข้าสวนปลูกต้นไม้ ขุดดิน ทำปุ๋ยหมัก ตัดหญ้า เราต้องทำเองทุกอย่าง แต่ถ้าถามว่าดีไหมมันทำให้เรารู้สึกว่าเราแข็งแรงขึ้น เดินได้ไกลขึ้น เราต้องทำเองทุกอย่าง ไม่ได้จ้างแรงงาน ถ้าถามว่ามันวนเวียนอยู่แบบนี้ทุกวันมันก็ใช่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นคือ การที่เราได้เห็นผลผลิตทางการเกษตร ที่มันผลิดอกออกผลนั่นแหละ มันทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นยาชูใจให้เรา อย่างเช่น มะม่วงอกร่อง มันออกลูกออกดอกเต็มต้นเลยสุดท้ายแล้วเหลือแค่ลูกเดียวให้เรากิน แต่ถามว่าเราภูมิใจไหม เราภูมิใจที่ยังได้ผลผลิต เราต้องค่อยเป็นค่อยไป” โยกล่าวอย่างมีความสุข

เป็นแบบอย่างชีวิตสุขแท้ที่พอเพียง ของคนวัยเกษียณที่ใครหลายคนต้องอิจฉาที่สุด

Comments are closed.

Pin It