Interview

“ธนิสา วีระศักดิ์ศรี” ผู้ออกแบบสร้อยข้อมือสายมู “RAVIPA” ที่ลิซ่า BLACKPINK ยังต้องใส่!

Pinterest LinkedIn Tumblr


ใครที่เป็นสายมู(เตลู) เชื่อเรื่องโชคลาง หรือสนใจเครื่องประดับ คงเคยได้ยินชื่อเสียงของแบรนด์ “ระวิภา” (RAVIPA) มาไม่น้อย เพราะแบรนด์นี้ไม่ได้ฮิตแค่ในหมู่คนรักแฟชั่น แต่หลังจากเปิดตัวคอลเลกชัน “ระวิภา รีมายเดอร์” (RAVIPA Reminder) สร้อยข้อมือเสริมที่เพิ่มฟังก์ชันจากแค่เครื่องประดับ เป็นกึ่งๆ เครื่องรางที่ช่วยเสริมมงคลในแต่ละด้าน ก็ดังเป็นพลุแตก ไม่ได้มีแค่คนดังในหลากหลายวงการบ้านเรา ที่เลือกหามาใส่ แม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ตัวแม่ระดับโลก อย่าง ลิซ่า BLACKPINK หรือ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ยังใส่ออกสื่อด้วยเช่นกัน


งานนี้ ใครที่สงสัยว่าแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ไปอยู่บนข้อมือลิซ่าได้อย่างไร อะไรทำให้แบรนด์ระวิภาสามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นไอเทมคู่ใจของใครๆ หลายคน Celeb Online จะพาไปหาคำตอบจาก “สา-ธนิสา วีระศักดิ์ศรี” ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ระวิภา ด้วยเงินลงทุนเพียง 10,000 บาท

“สาเริ่มต้นธุรกิจนี้ตอนอายุ 20 ปี ทำกับพี่สาว (ระวิภา วีระศักดิ์ศรี) ซึ่งเขาเรียนจบด้านจิวเวลรี เมกกิ้ง จาก Revere Academy of Arts ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ส่วนสาเรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลยเข้ามาเติมเต็มด้านการทำการตลาดการทำแบรนด์

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คิดอยากทำแบรนด์ เพราะสาเองเป็นคนชอบขายของอยู่แล้ว มีความฝันลึกๆ ว่าอยากทำธุรกิจของตัวเอง บวกกับอยากพิสูจน์ตัวเองว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงแต่ก็สามารถยืนบนลำแข็งของตัวเองได้ไม่แพ้ผู้ชาย เพราะถ้าย้อนไปสมัยที่เริ่มทำแบรนด์ประมาณปี 2012 สถานะของผู้หญิงในยุคนั้น ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าทุกวันนี้ สาเองด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวคนจีน ที่ยังมีค่านิยมว่าผู้ชายเป็นใหญ่กว่า เลยมีความฝันว่าอยากพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ พอโอกาสเข้ามาเลย ใช้เงินเก็บของตัวเองที่มีอยู่ 10,000 บาท เริ่มต้นธุรกิจ โดยใช้จุดแข็งของพี่สาว ซึ่งมีความสามารถในการออกแบบเครื่องประดับเป็นทุนเดิมมาต่อยอด”


สาย้อนวันวานถึงคอลเลกชันแรกที่แจ้งเกิดให้กับแบรนด์ คือ คอลเลกชันแหวนคู่ Infinity “ที่มาของคอลเลกชันนี้เกิดจากตอนที่เริ่มทำแบรนด์ สาเห็นว่าเวลาพูดถึงเครื่องประดับ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเครื่องเพชรราคาแพง ต้องใส่ออกงาน เราเลยอยากทำเครื่องประดับที่สามารถใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน เลยเริ่มต้นจากการออกแบบแหวนคู่ที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าต้องเป็นแหวนแต่งงาน แต่สามารถใช้เป็นของแทนใจของคู่รัก เน้นจับกลุ่มวัยรุ่นหรือคนทำงาน โดยเลือกเปิดตัวตอนวาเลนไทน์ ซึ่งกลายเป็นว่าสินค้ามาถูกทาง แถมเปิดตัวได้ถูกเวลา เลยทำให้ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยช่องทางหลักในการขายของเราในตอนนั้น จะเน้นทำการตลาดออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคบุกเบิกก็ว่าได้ เพราะตอนนั้นอินสตาแกรมก็เพิ่งเกิด เฟสบุ๊กมีแล้ว แต่ยังไม่มีระบบให้ซื้อ Ad เหมือนทุกวันนี้ ทุกอย่างออร์แกนิกหมด งานแฟร์ หรือสถานที่ให้ออกบูธก็ยังไม่ได้เยอะมาก”

หลังจากคอลเลกชันแรก ระวิภาก็ค่อยๆ ต่อยอดมาสู่เครื่องประดับอื่นๆ อีกหลายคอลเลกชัน จนมาถึงอีกหนึ่งคอลเลกชันที่เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งให้กับแบรนด์ นั่นคือ คอลเลกชัน “ระวิภา รีมายเดอร์” (RAVIPA Reminder) ที่สามาชิมลางออกแบบเป็นครั้งแรก


“แรงบันดาลใจของคอลเลกชันนี้ ตั้งต้นมาจาก Pain Point ของสาเอง ที่บางครั้งก็อยากหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ก็ไม่อยากใส่สร้อยพระ เพราะไม่อยากให้คนอื่นรู้สึกว่าเราเป็นสายมู หรือใส่แล้วทำให้มิกซ์แอนด์แมตช์กับการแต่งตัวยาก เลยคิดว่าอยากทำไอเทมเครื่องประดับสวยๆ ที่สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ ใช้เวลาออกแบบประมาณ 3 เดือน จนออกมาเป็นสร้อยข้อมือเชือกหลากสีสัน ถักอย่างประณีต ใส่ติดตัวเวลาอาบน้ำได้เหมือนเวลาสวมสร้อยพระ ประดับด้วยองค์เทพเจ้าที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์แห่งความโชคดีสามารถช่วยเสริมลุคทุกการแต่งตัวของหนุ่มสาว

หลังจากเปิดตัวในปี 2019 คอลเลกชันนี้ นอกจากจะได้กระแสตอบรับอย่างดี เกิดกระแสบอกต่อไม่ใช่แค่ในหมู่ลูกค้า แต่รวมถึงคนดังในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะ ในวงการบันเทิงที่เลือกใส่ รวมถึง ลิซ่า BLACKPINK ซึ่งสามารู้ทีหลังว่าแฟนคลับเป็นคนซื้อให้ ที่น่าภูมิใจไม่แพ้กันคือ คอลเลกชันนี้ยังทำให้ระวิภา ได้รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมระดับประเทศ Design Excellence Award 2019 (DEmark Award) ซึ่งเป็นรางวัลที่เราอยากได้มาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำแบรนด์”


อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกตั้งใจว่า จะทำออกมาเป็นลิมิเต็ด เอดิชัน ขายในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะไม่ได้อยากให้ลูกค้ารู้สึกว่า ระวิภาเป็นแบรนด์เครื่องประดับสายมู แต่สุดท้ายก็ทนกระแสเรียกร้องไม่ไหว

“ตอนที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว มีลูกค้า Inbox มาว่าอยากได้สร้อยข้อมือคอลเลกชันนี้ อยากให้เราทำอีก เลยจุดประกายให้เราคิดว่า น่าจะฟังเสียงของลูกค้าเป็นหลัก โดยเรามีการปรับปรุงและเพิ่มเติมสัญลักษณ์มงคลเพิ่มเข้าไป ปรากฏว่ากระแสตอบรับก็ดีมาก อาจเพราะยิ่งเจอกับวิกฤตคนก็ยิ่งมองหาเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้วันนี้สร้อยข้อมือของเราไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย แต่กลายเป็นของจำเป็นสำหรับบางคน”


ถึงอย่างนั้นแม้จะดูเหมือนว่าแบรนด์ระวิภาเจอโอกาสในวิกฤต ทำให้ธุรกิจยังไปได้ในช่วงที่ทั้งโลกเจอวิกฤตโรคระบาด แต่ก็ต้องยอมรับว่า โจทย์ในการทำธุรกิจตอนนี้ของระวิภาก็หนักหนาเหมือนกัน

“ตอนที่ผ่านโควิดระลอกแรกมาได้ ก็เหมือนว่าได้ผ่านโจทย์ที่ยากมาแล้ว แต่ครั้งนี้บอกเลยยากกว่า ตอนนี้สิ่งที่ทำได้คือ พยายามประคับประคองธุรกิจ เพื่อดูแลพนักงานกว่า 30 ชีวิต ส่วนแผนขยายธุรกิจในอนาคต อาจจะต้องรอดูสถานการณ์ อย่างล่าสุด เราเพิ่งไปเปิดมินิช็อปในศูนย์การค้าที่อู่ฮั่น ประเทศจีน เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ก็ไม่คิดว่า โควิด-19 ในบ้านเราจะยังไม่จบ

ส่วนแผนที่จะขยายช็อปไปยังประเทศในอาเซียน อาจจะชะลอไปก่อน ส่วนเป้าหมายของแบรนด์นอกจากจะอยากให้แบรนด์แข็งแรง สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง ยังอยากเห็นระวิภาเป็น Tourist Destination เป็นแบรนด์เครื่องประดับที่เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว ต้องแวะมาเช็กอิน ซึ่งถ้าถึงวันนั้น สาคิดว่าจะมีเวลามากขึ้นเพื่อไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่าง การขี่ม้า”


ไหนๆ ก็เกริ่นถึงงานอดิเรก อย่าง การขี่ม้า ทั้งที เลยถือโอกาสพักเรื่องธุรกิจเปลี่ยนมาสำรวจไลฟ์สไตล์ของเวิร์กกิงวูแมนคนเก่งกันบ้าง สาบอกว่า ถ้ามีเวลาเธอจะใช้เวลาว่างกับครอบครัว คนรัก และสุนัขชิบะตัวโปรด แต่ถ้ามีวันว่างช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ต้องไปชาร์จแบตฯ เติมพลังที่หัวหิน

“สาชอบขี่ม้าค่ะ ขี่มาตั้งแต่อยู่ ป.3 เคยเป็นนักกีฬาขี่ม้าข้ามสิ่งกีดขวาง แข่งรายการเล็กๆ ของสโมสร แต่เพราะเคยประสบอุบัติเหตุเลยเลิกเล่นไป ทุกวันนี้เวลาไปหัวหิน กิจกรรมโปรดคือไปขี่ม้าเล่นริมหาด เพราะเวลาอยู่บนหลังม้าทำให้รู้สึกเป็นอิสระ ได้โฟกัสกับตัวเองจริงๆ ได้ตัดขาดออกจากโลกภายนอก หรือถ้าเป็นช่วงที่ไม่มีโควิด-19 ก็จะเดินทางตลอด มีโอกาสต้องเก็บกระเป๋าไปเที่ยวต่างประเทศแทบทุกเดือน”


สุดท้ายนี้ สายังทิ้งท้ายถึงมุมมองการใช้ชีวิต และการก้าวข้ามทุกอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาทักทาย “สาเป็นคนเจอปัญหาแล้วสู้ เป็นคนแพ้ไม่เป็น มีเลือดนักสู้สูงมาก ไม่ว่าเจอปัญหาหรืออุปสรรค จะรู้สึกว่าอยากเอาชนะให้ได้ บางครั้งเจอโจทย์ที่ยากมากๆ จนไหลออกมาเอง แต่สาเลือกจะไม่เสียเวลาไปกับการร้องไห้นะ คิดอย่างเดียวว่าต้องไปต่อ อย่าง การทำธุรกิจมีโจทย์ยากขึ้นตลอด แต่ต่อให้โจทย์จะยากแค่ไหน เราจะส่งกระดาษเปล่าไม่ได้ ต่อให้ได้ได้คะแนนน้อยก็ต้องทำ ขณะเดียวกัน พยายามมองว่าทุกวิกฤตมีข้อดีของมันอยู่ อย่างน้อยในเวลาที่เราเจอปัญหา ก็ยังมีคนที่พร้อมให้กำลังใจ เคียงข้างสู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือพนักงาน ทำให้เรามีกำลังใจว่าอย่างน้อยเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียวค่ะ”

Comments are closed.

Pin It