“ตลาดสด–ตลาดนัด” คำนี้ฟังดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับความหรูหรา ไฮโซ ของตระกูลมหาเศรษฐี และเหล่าเซเลบริตี ที่มีไลฟสไตล์เดินห้างหรู บินเฟิร์สคลาส แต่สำหรับบางตระกูล บางครอบครัว ต้องบอกว่า 2 คำที่ว่านี้ นับเป็นสิ่งที่ผูกพันแบบตัดกันไม่ขาด แถมยังเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรรายได้ให้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนก้าวขึ้นมาร่ำรวยได้อย่างทุกวันนี้ จะมีใคร ตระกูลใด เป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ตลาดไหนกันบ้าง ลองไปดูกัน!
“ตลาดยิ่งเจริญ” ตลาดชื่อดังย่านสะพานใหม่ ที่เปิดให้บริการมายาวนานเกือบ 70 ปี ภายใต้การบริหารงานของตระกูล “ธรรมวัฒนะ” ที่หลายคนคุ้นชินนามสกุลนี้จากคดีข่าวสุดโด่งดัง และการฟ้องร้องมรดกนับหมื่นล้าน โดยธุรกิจตลาดสดของครอบครัวธรรมวัฒนะ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2498 จากการริเริ่มของ สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ รุ่นแม่ที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากอดีตแม่ค้า สู่เจ้าของตลาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านได้ โดยตอนนี้ได้เหล่าทายาทก้าวเข้ามาบริหารต่อ
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ทางตระกูลธรรมวัฒนะก็ไม่หยุดยั้งการพัฒนาธุรกิจของครอบครัว ขยายและพัฒนาอาณาจักรตลาดยิ่งเจริญอยู่ตลอด ภายใต้การบริหารของ นฤมล ธรรมวัฒนะ และอริย ธรรมวัฒนะ ได้ผลักดันให้ตลาดอายุเกือบ 70 ปีนี้ ปรับเข้ากับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ทั้งการจัดให้ทั้งตลาดสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ รวมไปถึงการสร้างระบบเดลิเวอรีรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อรับมือกับสถานการณ์ของโรคระบาดในปัจจุบัน
ถัดไปบนถนนพหลโยธินเพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งตลาดใหญ่อย่าง “ตลาดสี่มุมเมือง” ตลาดกลางสินค้าเกษตรของ “ตระกูลภัทรประสิทธิ์” ที่มีธุรกิจในมือมากมาย ตั้งแต่ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า โรงแรมห้าดาว ไปจนถึงท่าเรือยอชต์
ตลาดสี่มุมเมืองเริ่มทำการมาตั้งแต่เมื่อปี 2526 ใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปี ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของตลาดผัก-ผลไม้ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยพื้นที่ 453 ไร่ โดยมีเงินสะพัดหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 300 ล้านบาท รวมทั้งยังมีตลาดพี่น้องกันที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้ากัน อย่าง “ตลาดไท” ที่ตระกูลภัทรประสิทธิ์ถือหุ้นใหญ่ด้วยเช่นกัน
ทุกวันนี้ตลาดสี่มุมเมืองได้เจนเนอเรชันใหม่ อย่าง “น้ำ–ปณาลี ภัทรประสิทธิ์” เข้ามาช่วยบริหารงาน โดยเธอได้นำความรู้จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานในห้างใหญ่ทั่วโลก และการศึกษา MBA ที่ฮาวาร์ดเข้ามาปรับใช้ในการบริหารงานตลาด
อีกหนึ่งแห่งที่เรียกขานว่า ตลาดไฮโซได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ต้องยกให้กับ “บองมาร์เช่” หรือชื่อเต็มๆ คือ บองมาร์เช่ มาร์เก็ต พาร์ค ที่ได้รับมาตรฐานตลาดระดับเพชรจากกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นตลาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ว่าเป็นตลาดที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค
จากอดีตสนามไดร์ฟกอล์ฟเก่า ถูกปรับมาสร้างเป็นตลาดในช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่แตก โครงการ บอง มาร์เช่ จึงเกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างโครงการให้เป็นประโยชน์กับสังคม คนตกงานและผู้ด้อยโอกาส ผู้ริเริ่มโครงการจึงคิดที่จะทำ “ตลาด” เพราะเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสังคมไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องกินต้องใช้ ครั้งนั้นเน้นให้มีผู้เช่า 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ด้อยโอกาส 30% คนตกงาน 30% คนที่ถูกให้ออกจากงานก่อนเกษียณอายุ 30% และผู้มีฐานะอยากจนอีก 10% โดยตลาดได้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2542
ตลาดแห่งนี้สร้างอยู่บนพื้นที่ 17 ไร่ ย่านประชาชื่น มี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และทุกวันนี้ คุณจิทัศ ศรสงคราม บุตรชายเพียงคนเดียวของท่านผู้หญิง ก็ยังดูแลในตำแหน่งผู้จัดการตลาด
กลับไปสู่ใจกลางเมืองมีอีกหนึ่งตลาด ที่นับเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่ ที่แม้ตอนนี้ด้วยวิกฤตการณ์ของโรคโควิด-19 จะทำให้เงียบเหงาไป แต่เชื่อได้ว่าสถานการณ์กลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ ก็ทั้งวัยรุ่น นักศึกษา นักท่องเที่ยว ต้องกลับมาเดินชอปกันแน่นเหมือนเคย ต้องยกให้กับ “ตลาดนีออน” ไนท์มาร์เก็ตกลางกรุง ย่านประตูน้ำ ที่โดดเด่นด้วยสีสันของแสงไฟสะท้อนกับหลังคาของเต็นท์ผ้าใบแต่ละร้าน ทำให้ตลาดแห่งนี้โดดเด่นเปล่งประกายหลากสีสัน ตัดกับท้องฟ้ามืดมิดยามค่ำคืน
ตลาดนีออนแห่งนี้มีทั้งของกินของชอป เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของ “แพลทินัม กรุ๊ป” โดยแม้จะเริ่มต้นบริษัทมาไม่ถึง 20 ปี แต่ก็สามารถครอบครองเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากมายย่านระตูน้ำ ทั้งห้างแพลทินัม โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ แพลทินัม ประตูน้ำ ห้างเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ฯลฯ โดยทุกวันนี้ได้เซเลบริตีสาวคนเก่ง “สุฐิตา โชติจุฬางกูร” เป็นเจนเนอเรชันใหม่ ที่ก้าวขึ้นมาดูแลกิจการของครอบครัวในยุคนี้ และเดินทางเตรียมเปิดโครงการใหม่ๆ ให้เราได้ติดตามกัน
Comments are closed.