Hot Topic

นักเรียนเก่าญี่ปุ่น “อภินรา ศรีกาญจนา” แชร์วิธีเอาตัวรอดเมื่อแผ่นดินไหว!?

Pinterest LinkedIn Tumblr


ผ่านมา 1 สัปดาห์ แต่ความพารานอยด์ยังไม่ห่างหายไปจากผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือประชาชนคนไทย ขาดความรู้ความเข้าใจและการเอาตัวรอด เมื่อต้องพบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว “ปรางค์-อภินรา ศรีกาญจนา” อดีตศิษย์เก่านักเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาให้ความรู้ผ่านทางโซเชียลมีเดียของเธอ


เธอเล่าให้ฟังว่า สมัยที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดของโลก (Tohoku Jishin) เมื่อปี 2011 ความรุนแรงถึง 9.01 ริกเตอร์นั้น เธอเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และบางครั้งต้องพบกับแผ่นดินไหวถึง 13 ครั้งต่อวัน! ซึ่งตอนที่เป็นนักเรียนก็ได้ความรู้จากคุณยายที่เป็นเจ้าของหอพัก สอนตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นจึงขอนำมาแชร์ต่อ


ในสถานการณ์ที่ถ้าหากเราอยู่ในหอพักหรือในอาคาร อันดับแรกคือ “ใส่รองเท้าทันที” ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า ที่บ้านของคนญี่ปุ่นจะหันรองเท้าแตะออกจากเตียง เพื่อพร้อมกระโดดใส่รองเท้าแล้ววิ่ง ความจำเป็นที่ต้องใส่รองเท้าเพราะถ้าเท้าเป็นแผลจะวิ่งหนีไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้


ข้อ 2 ใช้หลังมือคลำตามกำแพง (ในกรณีที่มองไม่เห็นทาง) เพราะเแผ่นดินไหวมักมีไฟไหม้ ควัน และท่อน้ำแตก น้ำท่วมตามมา ถ้าหาก “ฝ่ามือ” เราได้รับบาดเจ็บ เลือดออกจะทำให้ไม่สามารถผลักเปิดประตูหนีไฟ ลูกบิด และสิ่งกีดขวางอื่นๆ ได้ ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องใช้หลังมือ


ข้อ 3 สิ่งที่ต้องเตรียมไว้ข้างเตียงและบนโต๊ะทำงานคือ เป้เล็กๆ ที่ภายในบรรจุด้วย ขวดน้ำเล็กๆ, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัก 2 ห่อ, พลาสเตอร์ปิดแผล, ยาพาราเซตามอล, ผงเกลือแร่, รองเท้าคัทชู 1 คู่, ผ้าเช็ดตัว 1 ผืน เพราะในกรณีที่ต้องหลบภัยอยู่นอกบ้าน อาจจะใช้เวลา 1-2 วัน ในการอพยพคนไปในที่ที่ปลอดภัย ฉะนั้น อาหาร น้ำ และยาสำหรับตัวเองสำคัญมาก เราต้องดูแลตัวเองอย่าเป็นภาระให้ผู้อื่นและคนในครอบครัว


ข้อ 4 ถ้าเกิดเหตุขณะอยู่ในบ้าน ให้เข้าไปหลบในห้องน้ำ ลงไปในอ่างอาบน้ำ เอาผ้าเช็ดตัวคลุมหัว เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะได้รับบาดเจ็บ และไม่น่ามีสิ่งของชิ้นใหญ่ที่จะตกใส่ศีรษะได้


ข้อ 5 ถ้าอยู่ในห้างแล้วจังหวะนั้นหนีไม่ทัน ช่องลิฟต์คือที่ๆ แข็งแรงที่สุด กดเปิดลิฟต์ค้างไว้แล้วเข้าไปอยู่ในนั้น เวลาตึกถล่มช่องลิฟต์คือช่องอากาศเดียวที่ยังคงอยู่ หรือถ้าต้องการออกจากตึกให้วิ่งลงอย่างเดียว ไม่ควรวิ่งขึ้นดาดฟ้ารอเฮลิคอปเตอร์มารับ เพราะอันตรายมากอาจตกตึกได้

ข้อ 6 กรณีที่อยู่กับผู้สูงอายุและผู้ป่วย ที่ไม่สามารถหนีทัน ให้หลบใต้โต๊ะก่อนเผื่อป้องกันสิ่งของหล่นใส่

ข้อ 7 กรณีผู้ป่วยติดเตียงอพยพไม่ทัน ให้พลิกตัวคว่ำหน้าลงบนเตียง แล้วเอาหมอนปิดศีรษะไว้ ซึ่งวิธีนี้ยังนำไปใช้ได้ในเวลาแผ่นดินไหวตอนกลางคืน แล้วตั้งตัวไม่ทันเพราะเราสะลึมสะลืออยู่


ข้อ 8 กรณีหนีลงจากตึกสูงไม่ทัน หลีกเลี่ยงการวิ่งในขณะที่แผ่นดินกำลังเขย่า เพราะบางคนอาจเสียการทรงตัวและเวียนหัว อาจเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวฟาดได้ และชั้นที่ปลอดภัยที่สุดคือชั้น 3 ถ้าลงถึงชั้นล่างสุดไม่ทันมาถึงชั้น 3 ก็ถือว่าปลอดภัย เพราะหน่วยกู้ภัยยังพอเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว กรณีไฟไหม้ตึกถล่ม

ข้อ 9 ถ้าขับรถอยู่บนท้องถนนให้จอดรถ ดับเครื่อง ใส่เบรคมือแล้วออกจากรถมายืนในที่โล่ง

ข้อ 10 ทุกตึกสำนักงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ควรมีการซ้อมหนีอพยพแผ่นดินไหว หรืออพยพหนีไฟปีละครั้ง ซึ่งผู้ที่ต้องใช้ชีวิตในบนตึกหรือโรงรียน ไม่ควรหลีกเลี่ยงการซ้อมเพราะถึงเวลาจริง เราจะไม่มีสกิลในการเอาตัวรอดได้ เพราะต่อไปเราอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อ กับการเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่มีใครสามารถรู้ได้ล่วงหน้า


ข้อ 11 วินาทีที่แผ่นดินไหว ถ้าอยู่ในบ้านให้หลบใต้โต๊ะ ปกป้องหัว หาที่ยึดเกาะ แต่ถ้าอยู่นอกบ้านให้อยู่ห่างจากเสาไฟสูง ต้นไม้ใหญ่ หรือถ้าแรงมากแบบที่พวกเราเจอ ให้นั่งแนบพื้นในท่าไหว้พระเบญจางคประดิษฐ์ รวบทุกอย่างเข้าหาตัว เป็นการนั่งที่มั่นคง


ข้อ 12 ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่จะช่วยแนะนำ หรือระบุตำแหน่งอของเราในกรณีที่ต้องอพยพ ยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น จะมีแอปที่ระบุตำแหน่ง เช่น เราอยู่ใกล้กับศูนย์อพยพแค่ไหน หรือแชร์ตำแหน่งแบบเรียลไทม์ ให้กับครอบครัวหรือเพื่อนได้ทันที เพราะอย่างน้อยคนที่เป็นห่วงเรา ก็รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน ง่ายต่อการค้นหาและลดความกังวลลงได้


สาวปรางค์ยังทิ้งท้ายถึงเรื่องระบบการเตือนภัย และการพยากรณ์ของทุกภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็น พายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ร่วมกับเครือข่ายมือถือ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้รู้สึกปลอดภัย สุดท้ายนี้เราต้องรอดไปด้วยกันค่ะ

Comments are closed.

Pin It