ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม ที่เข็มสั้นของนาฬิกาค่อยๆ เดินเข้าหาเลข 12 ช่วงเวลาแห่งการก้าวเข้าสู่พุทธศักราชใหม่ สำหรับคนไทยเรา บางบ้านอาจจะล้อมวงปาร์ตี้ หรือหามุมเหมาะๆ รอชมพลุไฟ หรือไม่ก็เข้าวัดสวดมนต์ข้ามปีแบบสงบสุข ซึ่งในประเทศอื่นๆ ก็ล้วนแต่นิยมเฉลิมฉลองและต้อนรับวันใหม่ของปีที่กำลังจะมาถึง ด้วยความสุขสำราญคล้ายกัน แต่อาจต่างกันตรงธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ ประเทศไหนฉลองแบบไหน และมีความเชื่อในเรื่องของการผลัดเปลี่ยนปีอย่างไร เราไปดูกัน?
:: สเปน
ในสเปน องุ่นเป็นส่วนหนึ่งของวันส่งท้ายปีเก่า เชื่อกันว่ามันจะนำโชคดีและช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสียงระฆังเที่ยงคืน 12 ครั้งที่ดังขึ้นในปีใหม่ จะเป็นช่วงเวลากินองุ่นและขอพร และองุ่นต้องหมดภายในเสียงระฆังครั้งที่สิบสอง ไม่เช่นนั้น จะมีความเสี่ยงมาให้ท้าทายในปีใหม่ ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปยังมีองุ่นบรรจุกระป๋องจำนวน 12 ลูก สำหรับวันส่งท้ายปีเก่าขายเสมอ
:: ฝรั่งเศส
ตามกฎแล้วชาวฝรั่งเศสไม่นิยมฉลองปีใหม่ด้วยปาร์ตี้ใหญ่ยักษ์ พวกเขาชอบสังสรรค์กับเพื่อนฝูงคนสนิทอย่างเรียบง่ายและสงบ แทนที่จะจุดประทัดหรือพลุไฟ พวกเขาชอบที่จะต้อนรับปีใหม่กันด้วยแชมเปญ ฟัวกราส์ หรือหอยนางรมมากกว่า
:: อิตาลี
ในอิตาลีมีความเชื่อคล้ายสเปน ตรงเรื่องชุดชั้นในสีแดงต้อนรับปีใหม่ ว่ากันว่ามันจะนำโชคดีมาให้ และตามธรรมเนียม-หากใครโยนแหวนทองคำลงในแก้วแชมเปญ (หรือสปาร์กลิงไวน์) ใครคนนั้นจะพบกับความโชคดีในปีใหม่
:: กรีซ
ชาวกรีกนิยมเล่นการพนันในช่วงสิ้นปี ไม่ว่าที่บ้านหรือในคาสิโน และไม่ว่าด้วยเกมลูกเต๋าหรือไพ่ การพนันใหญ่มักจะเริ่มกันในตอนเย็นของวันที่ 31 ธันวาคม และจะเล่นกันไปจนถึงเช้าของวันที่ 1 มกราคม ใครชนะก็จะโชคดีตลอดทั้งปี แต่ถ้าแพ้อย่างน้อยก็ยังหวังโชคในเรื่องของความรักได้อยู่
:: ตุรเกีย
ชาวเติร์กนิยมอวยพรปีใหม่กันด้วยคำว่า “Mutlu yillar!” และเช่นเดียวกับในอิตาลีหรือสเปน ที่เชื่อว่า การสวมชุดชั้นในสีแดงจะนำโชคดีมาให้ ประเพณีที่น่าพิศวงอีกอย่างหนึ่งคือ ใครก็ตามที่เปิดก๊อกน้ำทั้งหมดในบ้านทิ้งไว้ จะนำความมั่งคั่งและพรปีใหม่มาสู่ ฟังดูไม่เป็นมิตรกับระบบนิเวศน์มากนัก แต่ถ้ามันสัมฤทธิ์ผลจริงก็น่าลอง
:: บัลแกเรีย
ชาวบัลแกเรียเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการทุบหลัง เชื่อกันว่าจะนำสุขภาพที่ดีและความมั่งคั่งมาให้ ในวันส่งท้ายปีเก่าและวันปีใหม่ เด็กๆ จะเดินเคาะประตูบ้านทุกหลัง และใช้มือหรือไม้ทุบแผ่นหลังเจ้าของบ้านเบาๆ พร้อมอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข และประสบความสำเร็จในปีใหม่ แล้วเด็กๆ จะได้รับของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทน เช่น ขนมหวาน เค้ก ผลไม้ หรือเศษเงิน
:: ฟินแลนด์
ประเพณีส่งท้ายปีเก่าในฟินแลนด์คือ การหลอมเกือกม้าทั้งอัน แล้วหย่อนลงในน้ำเย็นจัดให้มันแข็งตัวใหม่ เพื่อทำนายอนาคต
:: สวีเดน
ชาวสวีเดนฉลองช่วงเปลี่ยนปีแบบคลาสสิก ด้วยทุกสิ่งที่ส่งเสียงดังและงานปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่า งานส่งท้ายปีเก่าขนาดใหญ่นิยมจัดกันในเมืองใหญ่ ส่วนพื้นที่ชนบท การเฉลิมฉลองจะเน้นการรวมตัวของญาติมิตรมากกว่า แต่ไม่ว่างานปาร์ตี้จะจัดแบบใหญ่โตหรือเงียบเชียบ สิ่งสำคัญของงานคือ อาหาร ที่จะอุดมไปด้วยกุ้งล็อบสเตอร์และหอยนางรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาหารวันส่งท้ายปีแบบดั้งเดิมของสวีเดน
:: รัสเซีย
ในวันส่งท้ายปีเก่า ความเยือกแข็งและเกล็ดหิมะ จะนำของขวัญมาให้ ทั่วประเทศ จะมีการเฉลิมฉลองเทศกาล ‘Jolka’ (ภาษารัสเซียแปลว่า ต้นสน) สมาชิกครอบครัวจะนั่งรอบๆ ต้นสน (หรือต้นคริสต์มาส) และรับประทานอาหารร่วมกัน คริสตจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย ต่างจากคริสตจักรออร์โธดอกซ์ตะวันตก ตรงที่ไม่ยึดตามปฏิทินเกรกอเรียน แต่ยึดถือปฏิทินจูเลียน วันคริสต์มาสของรัสเซียคือคืนวันที่ 7 มกราคม และวันปีใหม่จะอยู่ถึงวันที่ 13 มกราคม
:: สาธารณรัฐเช็ก
ชาวเช็กส่วนใหญ่เป็นคนสมัยใหม่ แต่ก็มีบางส่วนที่เชื่อในธรรมเนียมเก่าแก่ เรื่องการผ่าผลแอปเปิลเพื่ออ่านดวงชะตาของตน จากแกนหุ้มเมล็ดของมัน หากแกนเป็นรูปกากบาท แสดงว่าจะเกิดภัยร้าย หากเป็นรูปดาวหมายถึงโชคลาภ และยังมีความเชื่อกันอีกว่า การรับประทานถั่วเลนทิลตอนมื้อเที่ยงจะนำมาซึ่งความสำเร็จทางการเงิน เพราะถั่วเลนทิลมีลักษณะคล้ายเหรียญ
:: สหรัฐอเมริกา
น่าจะด้วยเหตุผลเดียวกับชาวเช็ก ชาวอเมริกันนิยมกินถั่วเลนทิลในวันส่งท้ายปีเก่า โดยเฉพาะ ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ในบางพื้นที่ของรัฐเพนซิลเวเนีย ที่ซึ่งชาวเยอรมันจำนวนมากเคยตั้งถิ่นฐาน จะมีซาวเออร์เคราต์ (กะหล่ำปลีดอง) บนโต๊ะอาหารส่งท้ายปีด้วย นอกจากนั้น ยังมีกฎ ‘Nothing Goes Out’ ที่ห้ามทุกคนออกจากบ้านในวันแรกของปี รวมถึงห้ามนำขยะออกไปทิ้งด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วมันจะนำโชคร้ายมาสู่
:: ญี่ปุ่น
การเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น มีความสำคัญทางวัฒนธรรมในระดับสูง การฉลองกินเวลาหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคมถึง 3 มกราคม เดิมทีปีใหม่ของญี่ปุ่นเรียกว่า “โอโชกัตสึ” เช่นเดียวกับปีใหม่จีน เกาหลี และเวียดนาม ตามปฏิทินจันทรคติ ทว่านับตั้งแต่ปี 1873 หรือ พ.ศ.2416 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนมาใช้ปฏิทินเกรกอเรียน ดังนั้น ปีใหม่จึงเริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคมเหมือนตะวันตก โดยมักจะเน้นพิธีกรรมทางศาสนา ไหว้พระที่ศาลเจ้า หรือการแห่ขบวนฉลองต่างๆ ตามแต่ละท้องถิ่น
:: เยอรมนี
ก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันส่งท้ายปีเก่า ชาวเยอรมันนิยมฉลองด้วยธงประดับ พลุกระดาษสี และมีเมนูฮิตของหลายครอบครัวคือ ฟองดู พอหลังเที่ยงคืนก็มักจะจุดประทัดและพลุไฟ แต่ปีนี้รัฐบาลออกคำสั่งห้ามจุดพลุหรือประทัด จะทำได้ก็เฉพาะในพื้นที่อนุญาตเฉพาะเท่านั้น
Comments are closed.