ใครจะคิดว่าเมกอัพอาร์ติสต์สาวเปรี้ยว อย่าง “แพรี่พาย” หรือ “แพร-อมตา จิตตะเสนีย์” จะหันมาทำเกษตรอย่างจริงๆ จังๆ แถมได้ผลผลิตดีงามสมความตั้งใจ จากที่ก่อนหน้านี้เธอทำงานในสายแฟชั่นความสวยความงาม จนเป็นไอดอลให้สาวๆ ที่รักการแต่งหน้าแต่งตัวมากว่าสิบปี ต่อมาเธอก็หันมาสนใจในเรื่องของ “ผ้าไทย” ซึ่งใกล้เคียงกับงานที่เธอถนัด เราจึงได้เห็นแฟชั่นผ้าไทยบนเรือนกายของเธอในแบบที่ล้ำสมัย วัยรุ่นก็ใส่ได้อย่างเก๋ไก๋แถมยังดูมีคุณค่า โดยเธอทุ่มเทเรียนรู้ลงพื้นที่ในชุมชนท้องถิ่นทางภาคเหนือ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ในหลายๆ ด้าน ทั้งการทอผ้า ย้อมสีผ้า แถมยังสร้างสรรค์หาสีจากใบไม้ดอกไม้ มาย้อมผ้า ทาสีปาก สีแก้ม ในแบบของเธออย่างสนุกสนาน
จนกระทั่ง มาถึงช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้เธอต้องอยู่กับบ้านนานเกือบปี “สวนผักบนดาดฟ้า” หรือ SkyGarden ของเธอจึงเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา จากการที่เธอลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยมีที่ปรึกษา อย่าง “พี่มล” หรือที่เธอตั้งชื่อว่า “พี่จอมเก่ง” (ดร. จิราวรรณ คำซาว นักจุลชีววิทยา นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) ซึ่งสาวแพรได้มีโอกาสเจอเธอครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นเสมือนครูผู้เชื่อมโยงเรื่องธรรมชาติ และสอนเรื่องการเกษตรอินทรีย์ให้กับเธอ จนทำให้การปลูกผักบนสวนดาดฟ้าของเธอประสบผลสำเร็จ ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจแถมยังเกินคาด ผักบางชนิดสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าในท้องตลาดอีกต่างหาก
ปัจจุบันเธอจึงเริ่มสนุกกับการนำผลผลิตของเธอมาปรุงอาหารเมนูต่างๆ ที่เธอใส่ทุกอย่างที่อยากกินลงไป เพราะสวนของเธอนั้นมีพืชผักมากกว่า 100 ชนิด แยกปลูกเป็นโซนๆ ทั้งพืชผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน ไม้เลื้อย พืชให้สีเพื่อนำมาย้อมผ้า วาดรูป ดอกไม้กินได้ ดอกไม้โบราณ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ พันธุ์ไม้แปลกๆ ซึ่งเธอลงมือปลูกเองและดูแลรักษาเองด้วยใจ ปัจจุบันเธอยังเลี้ยงไก่ไข่ไว้ด้านหลังลานจอดรถบริษัท แถมยังออกไข่ให้ได้กินทุกวัน เธอกระซิบว่าถ้าคุณพ่ออนุญาต เธอจะนำขึ้นไปเลี้ยงบนสวนผักดาดฟ้าซะเลย
จากผลที่เธอทุ่มเทด้านเกษตรอย่างจริงจัง เธอจึงได้มีโอกาสไปแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น ด้วยการไปเป็นวิทยากรและกระบวนกร ทำให้มีแรงใจที่จะทำต่อไปให้สมกับสิ่งที่เธอไปบรรยายในหัวข้อ “ธุรกิจยั่งยืน” ให้กับผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ GOODy FOODy ซึ่งจัดโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่จังหวัดขอนแก่น
เธอบอกว่า “สนุกมากเลยค่ะ ได้ถ่ายทอดเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำ ระบบนิเวศน์ธรรมชาติ การจัดการเกษตรอินทรีย์ต้นน้ำ การจัดการชุมชน การแปรรูปผลิตสินค้าชุมชนผ่านธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ โดย พี่มล และในส่วนของแพรนั้น เป็นการแชร์ไอเดีย มุมมอง และประสบการณ์ เรื่องปลายน้ำ เกี่ยวกับการต่อยอดสู่คนเมือง สู่ผู้บริโภคปลายน้ำ สร้างการตลาดยั่งยืน การสร้างเอกลักษณ์ตัวตนของสินค้าบริการผ่านสีสันของธรรมชาติ รวมถึงแชร์ไอเดียเรื่องสื่อสารเพื่อสร้างค่านิยมผู้บริโภคแนวใหม่ ที่สร้างสรรค์ผสมความยั่งยืน ที่สำคัญ งานนี้ผู้ประกอบการได้กลับไปเป็นเด็กๆ อีกครั้งผ่านเวิร์กชอปสีธรรมชาติ ได้เลอะเทอะ เล่นสกัดสี วาดสีกันสนุกเลยค่ะ”
แต่สำหรับวันนี้ Celeb Online ได้นำผลผลิต อย่าง “เห็ด” บนสวนดาดฟ้าของเธอมาฝากกัน เพราะในมุมความเป็นอาร์ติสต์ของเธอนั้น สามารถถ่ายทอดมายังสไตล์พืชผักที่เธอปลูก เห็นภาพเห็ดของเธอแล้ว อาจจะทำให้หลายๆ คนเกิดแรงบันดาลใจ อยากไปปลูกเห็ดกินเองกันเลยทีเดียว
แพรเล่าว่า “เห็ดบนดาดฟ้าตอนนี้มีประมาณ 15 ชนิดค่ะ มีเห็ดแครง เห็ดหูหนู เห็ดนางรมทอง เห็ดนางนวลสีชมพู เห็ดนางฟ้า เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดมิลค์กี้ เห็ดโคนน้อย เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหัวลิง เห็ดขอนขาว ล่าสุด แพรเพิ่งเริ่มทดลองปลูกเห็ดฟางค่ะ สนุกดี ลุ้นทุกเช้าว่าจะเก็บทันก่อนบานมั้ย แล้วก็มีเห็ดเยื่อไผ่ลงเพาะพร้อมๆ กับเห็ดฟาง แต่ต้องรอสองเดือนกว่าจะได้กิน แล้วก็ส่วนที่ยังไม่มีแววเลยคือ เห็ดเป๋าฮื้อ คอยจนผมหงอก อย่างไรก็ตาม แพรอยากเป็น Master เรื่องเห็ดค่ะ 555 ลุ้นกันต่อค่ะ”
เพราะเธอเป็นคนทำอะไรก็ทำจริง ลงมือทำด้วยตัวเองอย่างสุดตัว เธอจึงหาความรู้มาถ่ายทอดอย่างคร่าวๆ ไว้ว่า “เห็ดที่เรากินกัน เป็นส่วนใช้สืบพันธุ์เรียกว่า Fruiting body หรือเราว่าดอกเห็ด เป็นส่วนที่ใช้สร้างสปอร์ ปลิวร่วงหล่น งอกขยายพันธุ์ ซึ่งเห็ดที่เรากินเป็นจุลินทรีย์ที่จัดอยู่ในอาณาจักรเห็ดรา (Kingdom fungi) อยู่ในคลาส Basidiomycetes เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มราที่มีวิวัฒนาการชั้นสูง (Higher fungi) โดยจะมีเส้นใย (mycelium) เมื่อโตจะงอกคลุมซากสิ่งมีชีวิตที่ย่อย จนหนาแน่น รวมตัวกันกระจุก พัฒนาเกิดเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์
เห็ดไม่ใช่ผัก ไม่มีสารสีเขียว/คลอโรฟิลล์ เลยไม่สามารถสังเคราะห์แสงหรือสร้างแหล่งอาหารของตัวเองได้ ต้องอาศัยการสร้างเอนไซม์มาย่อยซากพืช ซากสัตว์และดูดสารอาหารจากสิ่งที่เห็ดย่อยซากนั้นกลับไปใช้ เพื่อการเจริญเติบโตอีกที เห็ดที่พวกเราเพาะกินกัน ไม่ว่าจะเป็น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเข็มทอง หรือเห็ดอื่นๆ ที่ขายเป็นก้อนๆ นั้น ทำมาจากวัสดุที่เหลือใช้ในการเกษตรประเทศไทย ส่วนใหญ่ที่เราเห็นเป็นถุงก้อนๆ สีน้ำตาล คือส่วนผสมของ ขี้เลื่อย (แหล่งคาร์โบไฮเดรต) รำละเอียด (แหล่งโปรตีน) และส่วนผสมอื่นๆ เป็นวิตามินและเกลือแร่ แล้วเราก็หยอดเชื้อเห็ดลงในนั้น พอโตเส้นใยขาวๆ ขยายคลุมขี้เลื่อย (ไว้ถ้าได้ไปเรียนการทำก้อนเชื้อเห็ดด้วยตัวเอง จะรีบมาเล่าให้ฟัง) แต่จริงๆ แล้ว บทบาทของเห็ดนั้นไม่ได้มีให้เรากิน แต่เห็ดคือ “ผู้ย่อยสลาย” มันลึกซึ้งมากนะ จริงๆ แล้วเห็ดที่ขึ้นอยู่บนเศษซากพืช ซากใบ กิ่งไม้ ขอนไม้ผุ มูลสัตว์ ซากแมลงและอื่นๆ ช่วยย่อยสลายของอินทรียวัตถุต่างๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของสาร ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์”
อย่างน้อยๆ สวนผักบนดาดฟ้าคอนโดมิเนียมของเธอ ไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัวและญาติๆ เธอยังแบ่งปันให้กับผู้เช่าที่อาศัยร่วมกันในตึก ทั้งยังช่วยบำบัดจิตใจให้เธอได้เข้าถึงธรรมชาติ แถมยังช่วยสร้างอากาศดีๆ ให้กับโลกของเรา แม้เพียงเล็กๆ แต่ถ้าเราทุกคนหันมาใส่ใจไม่เพิ่มมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม โลกเราก็จะน่าอยู่กว่านี้ ฝุ่นมลพิษน่าจะน้อยลงได้
Comments are closed.