ท่ามกลางมรสุมของเศรษฐกิจกระหน่ำซ้ำต่อเนื่องจากพิษโควิด ทำเอาเจ้าของร้านอาหารทั้งหลายต่างต้องกุมขมับ รีบขยับตัว แก้ปัญหา ถ้าไม่ทันก็ต้องปิดพับล้มเลิกกิจการไปมากมาย แต่สำหรับสาวคนนี้ “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” แห่งไอเบอร์รี่ กรุ๊ป แม้จะมีซวนเซไปเล็กน้อย เพราะการล็อกดาวน์กระทบกับธุรกิจร้านอาหารที่มีสาขาทั่วประเทศของเธอ แต่ก็นับได้ว่าด้วยประสบการณ์และฝีมือของเธอ จึงตั้งหลักได้เร็ว เพราะเธอปรับแผนงานอย่างฉับไว เสริมบริการออนไลน์ แถมยังใช้เวลานี้พัฒนาแบรนด์อย่างไม่หยุด ขยับขยายมองหาตลาดใหม่ๆ ยิ่งเมื่อทุกอย่างเริ่มจะกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ ชีวิตและสังคมเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เธอก็ยิ่งพาธุรกิจก้าวกระโจนไปข้างหน้า ผุดโปรเจกต์สาขาใหม่ เปิดแบรนด์ร้านใหม่แบบรัวๆ เรียกว่าตอนนี้ใครจะร้อนแรง รุ่งเรืองเท่าสาวปลาเป็นไม่มี
อดีตสาวแอร์โฮสเตสที่ลาออกจากงานบนฟ้า มาลุยเปิดธุรกิจร้านไอศกรีมตามหัวใจเรียกร้องด้วยวัยเพียง 20 กว่าปี การก้าวกระโจนมาลงทุนเปิดกิจการของตัวเอง ทั้งๆ ที่แทบไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารหรือค้าขายมาก่อน บางคนอาจจะมองว่าเสี่ยง แต่สำหรับเธอแล้วนี่คือความเสี่ยงที่แสนคุ้มค่า เพราะร้านไอศกรีม iberry ของเธอ เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตลาดไอศกรีมโฮมเมดของไทยก็ว่าได้ เธอใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ทำให้ไอศกรีมแบรนด์ไทยแท้ของเธอก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีการครีเอทรสชาติใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร ออกมาอยู่ตลอด และขยับขยายเปิดสาขาไปทั่วกรุงเทพฯ และในหัวเมืองใหญ่
จากตลาดไอศกรีมเธอก้าวข้ามมายังธุรกิจร้านอาหาร และได้แตกแบรนด์ร้านอาหารออกมาอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จไม่น้อยหน้ากัน อย่าง ร้านกับข้าวกับปลา เสิร์ฟเมนูคาว–หวาน สไตล์โฮมเมด, ร้านรส’นิยม เสิร์ฟสตรีทฟู้ดและก๋วยเตี๋ยว, หรืออย่างการไปรวมหุ้นกับเพื่อนๆ เปิดร้านอาหารที่ก็ล้วนแต่ได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักชิม อย่าง แซ่บอีลี่ (Zaab Eli), ทองสมิทธิ์ (Thong Smith), โรงสีโภชนา (Rongsi Pochana) ซึ่งต้องบอกเลยว่า จุดเด่นสำคัญของเธอไม่ใช่แค่การเข้าครัว คิดทำเมนูต่างๆ หรือการวางแผนบริหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องยกให้กับความมีหัวครีเอทีฟของเธอ การดีไซน์คอนเซ็ปต์ ทำให้ร้านอาหารของเธอที่ออกมาเก๋ไก๋ และโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งแต่ละร้าน แต่ละแบรนด์ ก็มีเสน่ห์เฉพาะตัวแบบไม่ทับไลน์กันเลย
ทุกอย่างดูจะไปได้สวย แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และคำสั่งล็อกดาวน์ ทำเอาเธอต้องปรับตัวแบบด่วนที่สุด เพราะร้านในไอเบอร์รี่ กรุ๊ปของเธอ และร้านอาหารที่ร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในห้างและคอมมูนิตีมอลล์ ก็ต้องปิดทั้งหมด ปลาหันมาจัดการพัฒนาการเดลิเวอรี่ของร้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งอันที่จริงแล้วเธอมีบริการในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เน้นสักเท่าไหร่ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่นิยมนั่งรับประทาน เสพย์บรรยากาศของร้านที่ออกแบบมาอย่างงดงามมากกว่า
ไม่เพียงแต่การปรับปรุงระบบเดลิเวอรี่เดิมเท่านั้น แต่เธอยังคลอดแบรนด์ใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นด้านเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ ออกมานำเสนออีกต่างหาก อย่าง “เจริญแกง” (Charoengang) ที่เน้นเมนูอาหารไทยรสจัดจ้าน, “ฟ้าปลาทาน” (Fá Plā Tahń) ข้าวต้มปลาที่ถูกปากทุกคนในครอบครัว ไปจนถึง “ข้าวต้มกุ๊ย” ของร้านโรงสี เน้นเมนูทานง่ายที่ลูกค้านิยมในชีวิตประจำวัน และ “เบิร์นบุษบา” (Burn Busaba) เน้นอาหารประเภทยำและย่าง ที่เป็นของโปรดของคนยุคใหม่
ทั้งนี้ เธอใช้กลยุทธ์ คลาวด์คิทเช่น ทำครัวรวม แทนที่จะต้องเปิดทำการสาขา หรือเปิดครัวหลายๆ แห่ง ก็ใช้การรวมศูนย์ทำการปรุงอาหารในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และยังสามารถกระจายไปหลายพื้นที่ครอบคลุมการบริการ ไปจนถึงการจับมือกับ 7-11 ทำอาหารสำเร็จรูปเมนูยอดนิยม ให้คนสามารถซื้อหารับประทานกันได้สะดวกสบาย เหมาะกับสภาพสังคมที่ให้เว้นระยะห่าง
ในตอนนี้ที่เราอยู่กับโควิดมาแล้วเกือบ 3 ปี ทุกอย่างเริ่มกลับมาสู่ความปกติ ทุกคนออกไปใช้ชีวิตกัน สังคมเดินหน้าต่อ ไอเบอร์รี่กรุ๊ปของเธอก็เดินหน้าเช่นกัน ด้วยการเปิดร้านใหม่ แบรนด์ใหม่ สาขาใหม่ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เธอมุ่งที่จะเปิดร้านในแนวสแตนด์อโลน มากกว่าจะอยู่ในห้างดังอย่างในอดีต เพราะประจักษ์ด้วยข้อจำกัดหลายประการ อย่างเมื่อล็อกดาวน์ที่ผ่านมา สาขาในห้างถูกปิดแบบไม่สามารถรับเดลิเวอรี่ได้ ทำให้เธอต้องวิ่งหาเช่าสถานที่ทำเป็นครัว ไหนจะต้องแบกรับภาระค่าเช่าที่สูง ทำให้เธอคิดที่จะเปิดร้านภายนอกที่สามารถตัดสินใจจัดการสิ่งต่างๆ ได้เต็มที่กว่า
ปัจจุบันนี้ เธอโลดแล่นอยู่ในวงการอาหารมากว่า 20 ปีแล้ว ดูแลร้านอาหารทั้งหมดถึง 104 สาขา โดยแบ่งเป็น ร้านไอเบอร์รี่ 23 สาขา ร้านกับข้าวกับปลา 21 สาขา ร้านรสนิยม 18 สาขา ร้านเบิร์นบุษบา 5 สาขา ร้านโรงสี 2 สาขา ร้านทองสมิทธิ์ 13 สาขา รวมทั้งแบรนด์ที่ขายแบบเดลิเวอรี่ อย่าง ร้านเจริญแกง 12 สาขา ร้านฟ้าปลาทาน 5 สาขา และร้านข้าวต้มกุ๊ยโรงสี 5 สาขา แถมรวมไปถึงการเปิด “รวมมิตร คลาวด์ คิทเช่น” พื้นที่ครัวรวมที่สามารถเสิร์ฟความอร่อยได้หลายแบรนด์ในที่เดียวกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งเสริมการบริการแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่นั่งรับประทานที่ร้านได้อีกด้วย ดังนั้น ถ้าจะเรียกว่าเธอเป็นเจ้าแม่แห่งวงการร้านอาหารของไทย ก็คงจะไม่เกินไปนัก
แถมล่าสุด เธอก็เพิ่งจะร่วมหุ้นกับเพื่อนๆ เปิดร้านอาหารสแตนด์อโลนแห่งใหม่ ที่ต้องบอกว่าคราวนี้เธอมาแบบแตกต่าง ด้วยการรีโนเวทบ้านสมัยรัชกาลที่ 7 ให้กลายมาเป็นจุดแฮงก์เอาท์สุดเก๋ย่านกลางเมือง เนรมิตบ้านและสวนสวยๆ ขนาด 1.5 ไร่ในสาทรซอย 1 ให้กลายเป็น 2 ร้านอาหาร 2 คอนเซ็ปต์ ที่เธอไม่เคยทำมาก่อน โดย “Fran’s” (แฟรนส์) เน้นอาหารสไตล์ฝรั่ง คอนเซ็ปต์ Brunch&Green และ อันเกิม-อันก๋า (An com An ca) ร้านอาหารอาเซียน เน้นอาหารเวียดนาม ที่จัดแต่งสไตล์เก๋ ซึ่งชื่อร้านเป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า กินข้าว กินปลา รับรองได้ว่าต้องมีเมนูอร่อยถูกปากคนไทย ตามสไตล์สาวปลาที่ไม่เคยทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน โดยร้านใหม่นี้เพิ่งเปิดทำการแบบ Soft Launch ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้เอง ใครอยากลิ้มลองความอร่อย ก็ลองแวะไปเยี่ยมเยือนกันได้
Comments are closed.