Event

Rethink Pink We Care ร่วมต้านภัยมะเร็งเต้านม ตรวจพบเร็วรักษาหาย เช็คได้ด้วยตนเอง

Pinterest LinkedIn Tumblr

ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง ART for CANCER
ในเดือนตุลาคมของทุกปีนับเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม โรคร้ายที่นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย โรคร้ายแรงนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากในแต่ละปี ตอกย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการตระหนักรู้ด้านการป้องกันปัญหาทางสุขภาพที่เร่งด่วน ด้วยไม่เพียงเป็นโรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อบุคคล กระทบต่อภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวและสังคม แต่ยังส่งผลในวงกว้างต่อระบบการดูแลสุขภาพในการวินิจฉัย และการดูแลรักษาในระดับประเทศ


มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอกขึ้น และโตขึ้นกระจายสู่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ สมอง และกระดูก ทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต สัญญาณเตือนที่สามารถตรวจพบได้คือ การคลำพบก้อนที่เต้านม หัวนมบุ๋ม หรือมีเลือดไหลออกจากหัวนม และมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม เช่น บุ๋ม บวม แดง มีแผล ในปัจจุบัน หากไม่มีประวัติในครอบครัวว่าเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจโดยการทำแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ในช่วงอายุประมาณ 40 ปี แต่หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ควรมีการตรวจวินิจฉัย 5 ปีก่อนที่คนในครอบครัวตรวจพบ อาทิ หากมีประวัติว่ามารดาเป็นมะเร็งเต้านมขณะที่อายุ 35 ปี การตรวจของบุตรในช่วงอายุ 30 ปี จึงนับเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันได้

มะเร็งเต้านม เป็นได้ ก็รักษาหายได้

นพ. พรสิระ หงสกุล ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นพ. พรสิระ หงสกุล ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้หญิงไทยเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ พันธุกรรม ยาฮอร์โมน หรือการได้รับรังสีก็ตาม แต่อยากให้ทุกคนตรวจด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน เนื่องจากระยะการเติบโตของโรคนั้นมีลักษณะการเติบโตเป็นเดือน การรอตรวจสุขภาพประจำปีอาจจะช้าและไม่ทันท่วงที ดังนั้น การตรวจด้วยตนเองในทุกเดือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ “เมื่อคลำพบสิ่งแปลกปลอมในเต้านมควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยหากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม และรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม โอกาสในการรักษาหายจะมีสูงมาก ซึ่งปัจจุบัน แนวทางและยาในการรักษามะเร็งเต้านมมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า หรือว่าการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ในการรักษาของคนไข้แต่ละคน และมีการนอนพักรักษาในโรงพยาบาลที่สั้นลง แผลเป็นลดลง ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการผ่าตัดที่ผู้ป่วยอาจมีความกังวลนั้น นวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบัน ผลข้างเคียงจากการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหรือการใช้ยาในการรักษาลดลง โดยผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นหรือระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้มากกว่า 90%”

อ.นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โดย อ.นพ. วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองว่า ควรตรวจในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เนื่องจากช่วงที่มีประจำเดือนจะมีอาหารคัดตึงเต้านม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงหมดรอบประจำเดือนประมาณ 7- 10 วัน โดยแนะนำให้ตรวจช่วงหลังอาบน้ำ อาทิ ช่วงที่ทาครีมตามร่างกายและตรวจไปด้วย ซึ่งผู้ตรวจจะรู้ถึงสรีระและความผิดปกติในตัวเราได้ดีที่สุด ศ.พญ. พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวเสริมถึงวิธีการตรวจด้วยตนเองว่า “การตรวจด้วยตนเองสามารถทำได้ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ วิธีที่ 1 – เริ่มจากการคลำบริเวณตรงกลางนมแล้วคลำวนเป็นวงกลมออกไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณ และแบบที่ 2 – คือการตรวจทีละส่วนของเต้านม เช่น การตรวจด้านในส่วนบนลงมาด้านในส่วนล่าง จากนั้นเปลี่ยนเป็นด้านนอกส่วนบนและด้านนอกส่วนล่าง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการตรวจโดยใช้นิ้วเนื่องจากจะทำให้มีความรู้สึกระหว่างตรวจที่ชัดเจน”

กินอาหารดี สุขภาพดี สู้มะเร็งเต้านม

ผศ.ภญ. เจนนิษฐ์ มีนวัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ภญ. เจนนิษฐ์ มีนวัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อาหารมีบทบาทเป็นอย่างมากในการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เป็นโรค และกลุ่มคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคแนะนำให้ลดอาหารกลุ่มที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพิ่มผักสีสันต่าง ๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และกำจัดพวกอนุมูลอิสระต่าง ๆ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกลุ่มอาหารที่ประกอบไปด้วยโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน หรือปลาทู ในส่วนของคนไข้ที่เป็นมะเร็งและกำลังอยู่ระหว่างการรักษา เซลล์ในร่างกายจะมีความอ่อนแอ จึงมีความจำเป็นในการเสริมโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอและหลากหลาย ที่สำคัญ อาหารต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกมื้อต่อมื้อ และสะอาด จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด

ศ.พญ. พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นอกจากนี้ การออกกำลังกายก็มีความสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งลดโอกาสการเกิดโรคอ้วน และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ สำหรับผู้ป่วยในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัดหรือรับการรักษาอาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย หากวันที่รู้สึกว่าเริ่มฟื้นตัวแล้ว การออกกำลังกายเบา ๆ ถือเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในบริเวณชุมชน เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง

Comments are closed.

Pin It