Event

เปิดบทเพลงเทิดพระเกียรติ “วรขัตติยราชนารี” แด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

Pinterest LinkedIn Tumblr


“ทั้งพ่อทั้งแม่ของพี่ สอนพี่มาว่า เกิดเป็นเจ้าต้องรับใช้ประชาชน พี่ก็อยู่เพื่องานนั้น อะไรที่จะช่วยให้คนไทยทุกข์น้อยลงพี่ก็จะทำ” พระราชดำรัส ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 63 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี วัดจุฬาภรณ์วนาราม ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมดนตรีและท่องเที่ยว สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มพสกนิกรผู้จงรักภักดี ได้จัดทำโครงการ เพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ได้ทรงสละพระวรกายทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทย เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเผยแพร่พระเกียรติคุณ รวมถึงเพื่อเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์


ในการนี้ การจัดทำโครงการเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี ได้ดำเนินการโดยกลุ่มพสกนิกรผู้จงรักภักดีทุกภาคส่วน ภายใต้การนำของพระครูวินัยธร ศุภชัย สุภชโย เจ้าอาวาสวัดจุฬาภรณ์-วนาราม ประธานฝ่ายสงฆ์, ศาสตราจารย์ ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมดนตรีและท่องเที่ยว สถาบันภาษาศาสตร์ และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมเหล่าคณะนักธุรกิจภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำฯ เช่น ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ณัฐพัชร โชติพรพันธ์ (นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ริเริ่มและจัดทำบทเพลงเฉลิมพระเกียรติ) อ.ดร.นิพัต กาญจนหุต (ผู้อำนวยการผลิต), อ.สุรพล-ธัญญวิบูลย์ (ผู้อำนวยการด้านดนตรี และผู้อำนวยเพลง), ธนภาค ไชยศร (เรียบเรียงเสียงประสาน), รองศาสตราจารย์- ดร.นัทธนัย ประสานนาม (ประพันธ์บทอาศิรวาท), สุริยน ศรีอรทัยกุล, สาลินี ปันยารชุน (อ่านบทอาศิรวาท), องอาจ วงศ์เดชา-โรจน์, นภัสนันท์ พรรณนิภา, วรมนต์ มุตตามระ, สุนี หวังวานิชกุล และ ศุภรัตน์ จงรุ่งเรือง ผู้สนับสนุน และเหล่าศิลปินชื่อดัง ณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ, หฤทัย ม่วงบุญศรี, บุษยพัชร อุ่นจิตติกุล (ขับร้อง) ฯลฯ ทางคณะผู้จัดทำฯ ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานขึ้นด้วยความประณีตทุกขึ้นตอน ด้วยความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอันหาที่สุดมิได้

การนี้ ภายใต้โครงการเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี ได้แต่งเพลงเฉลิมพระเกียรติ เพลง “วรขัตติยราชนารี” จำนวน 1 เพลง เรียบเรียงเสียงประสานและบรรเลงโดยวง เค.ยู วินด์ ซิมโฟนี (KU Wine Symphony) ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมจัดทำสื่อวิดีโอประกอบบทเพลงเฉลิมพระเกียรติเผยแพร่ตามช่องทางสื่อต่างๆ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุนสร้างอุโบสถเฉลิมพระเกียรติวัดจุฬาภรณ์วนาราม และมอบเงินให้มูลนิธิในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี (มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์, มูลนิธิจุฬาภรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง)


พระครูวินัยธร ศุภชัย สุภชโย เจ้าอาวาสวัดจุฬาภรณ์วนาราม ประธานฝ่ายสงฆ์ กล่าวว่า “วัดจุฬาภรณ์วนาราม สร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 จวบจนปัจจุบันนี้ ทางวัดยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ยังขาดปัจจัยอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าเงินที่ได้รับบริจาคจากโครงการฯ นี้ ทางวัดจะนำมาสร้างพื้นอุโบสถให้แล้วเสร็จเรียบร้อยทันกำหนดการ กราบทูลเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จเป็นประธานในพิธีงานผูกพัทธสีมา ปิดทองฝั่งลูกนิมิตและยกช่อฟ้า ในปี 2564 เป็นลำดับต่อไป”

ศาสตราจารย์ ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ว่า “พสกนิกรชาวไทยรับรู้ได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้ทรงสละพระวรกายทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทย ก่อให้เกิดคุณูปการในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านสุขภาพ ด้านสัตวแพทย์ และด้านการประมง รวมถึงพระองค์สนพระทัยและทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี และทรงเป็นแบบอย่างการทรงงานด้านวัฒนธรรมเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การนี้เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 4 กรกฎาคม 2563 พสกนิกรชาวไทยทุกภาคส่วน ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเหล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ จึงได้จัดทำโครงการเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี ขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีและเผยแพร่พระเกียรติคุณ รวมถึงเพื่อเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์”


อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ ผู้อำนวยการด้านดนตรี และผู้อำนวยเพลง จากภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดในการเรียบเรียงบทเพลงว่า “ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการถวายงาน เพลง “วรขัตติยราชนารี” โจทย์ที่ได้รับมามีทำนองที่ดีฟังแล้วคุณหู ในส่วนของการเรียบเรียงจะทำอย่างไรเพื่อให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี บทเพลงเริ่มต้นจึงใช้เสียงเครื่องดนตรีกีต้าร์คลาสสิก บรรเลงคลอประกอบการอ่านบทอาศิรวาท โดย สุริยน ศรีอรทัยกุล และ สาลิณี ปันยารชุน ซึ่งประพันธ์โดย รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม เมื่อจบบทนำเสียงของวงดนตรี K.U. Wind Symphony จะรับขึ้นด้วยท่วงทำนองที่ยิ่งใหญ่และสง่างาม ในบทเพลงมีการนำเสียงเครื่องดนตรี กู่เจิง ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงโปรด สื่อให้เห็นถึงการเชื่อมวัฒนธรรมความสัมพันธ์ไทย-จีน อย่างแน่นแฟ้น จากนั้นนำซอด้วงมาบรรเลงทำนองเพลงมหาชัย สอดประสานไปกับเสียงของกู่เจิงเครื่องดนตรีจีน ซึ่งเพลงมหาชัย ถือเป็นเพลงเคารพหรือเพลงคำนับพระบรมวงศ์ เปรียบเสมือนพสกนิกรได้แสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เฉพาะในส่วนการถ่ายทำวีดิโอนี้ มีทีมงานทั้งนักร้องหลัก นักร้องเสียงประสาน นักดนตรี รวมจำนวน 63 ท่านครับ”

สุริยน ศรีอรทัยกุล ผู้อ่านบทอาศิราวาท กล่าวว่า “ ถึงแม้ในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ผมได้ไปเรียนและสอบใบผู้ประกาศข่าวมาเรียบร้อย พอได้ทราบข่าวว่าจะต้องถวายงานอ่านบทอาศิรวาทในบทเพลง “วรขัตติยราชนารี” ซึ่งเป็นงานถวายพระพรชัยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งถือเป็นงานที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก ผมหมั่นฝึกซ้อมพูดกลอนให้คล่อง อ่านแล้วเสียงคำพูดต้องไพเราะกังวาน ผมตั้งใจถวายงานนี้อย่างสุดความสามารถ รวมถึงผมตั้งใจช่วยเหลือสังคมตามรอยพระองค์เพื่อแสดงความจงรักภักดีครับ”


สาลินี ปันยารชุน ผู้อ่านบทอาศิราวาท กล่าวว่า “ได้ถวายงานอ่านบทอาศิรวาทในบทเพลง “วรขัตติยราชนารี” ถวายพระพรชัยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เป็นครั้งแรก รู้สึกภาคภูมิใจและตั้งใจถวายงานอย่างสุดความสามารค นอกจากนี้ ดิฉันมุ่งหวังและตั้งใจในการช่วยเหลือสังคมตามความสามารถเพื่อดำเนินรอยตามพระองค์ เพื่อแสดงความจงรักภักดีค่ะ”

องอาจ วงศ์เดชาโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดแบรนด์มิสทิน ผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า “ผมได้เห็นแบบอย่างจาก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการเสียสละทรงงานหนักเพื่อประชาชนมาโดยตลอด โดยพระองค์ไม่ได้หวังสิ่งใดจากประชาชนเลย รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้แสดงความจงรักภักดีผ่านโครงการเพลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี ครั้งนี้ ด้วยแบบอย่างจากพระองค์ ทางมิสทินจึงได้ทำธุรกิจโดยมอบสิ่งที่ดีให้แก่ผู้บริโภคโดยไม่หวังผลกำไรเช่นกันครับ”


วรมนต์ มุตตามระ ผู้บริหาร คลินิก บางกอก ไอวีเอฟ เซ็นเตอร์ ผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี พระองค์ทรงงานหนักตามเสด็จพ่อ ร.๙ ดิฉันได้แรงบันดาลใจจากพระองค์ ในการดำเนินชีวิต โดยยึดหลัก “ปิดทองหลังพระ” ทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ความดีทำได้เรื่อยๆ และดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจมากที่มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการถวายงานในโครงการเพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี ในครั้งนี้ ที่ผ่านมาดิฉันช่วยเหลือสังคมมากมาย ถึงไม่มีใครรู้ แต่เรารู้อยู่แก่ใจก็เพียงพอแล้ว ยกตัวออย่างที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ดิฉันมีโอกาสได้ถวายงานสร้างอุโบสถเฉลิมพระเกียรติวัดจุฬาภรณ์วนารามแต่ยังไม่แล้วเสร็จค่ะ และดิฉันตั้งใจทำความดีต่อไปตามพระองค์ค่ะ”

สุนี หวังวานิชกุล ผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการถวายงานในโครงการเพลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี อีกครั้ง บทเพลงเพราะมากๆฟังเสร็จก็ส่งต่อให้เพื่อนๆ ได้ฟังทันทีค่ะ ก่อนหน้านี้ดิฉันมีโอกาสถวายงานโดยให้ลูกสาวไปร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในงานของพระองค์นอกจากนี้ได้ร่วมประมูลเครื่องประดับมุกในโครงการถักร้อยสร้อยรักค่ะ”


ศุภรัตน์ จงรุ่งเรือง ผู้สนับสนุนโครงการฯ “ดิฉันโตมากับการได้เห็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติย ราชนารีทรงงานหนักมาตลอด แม้กระทั้งประชวรพระองค์ ก็ทรงงานทำงานเพื่อราษฎรไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ปวงชนชาวไทยให้อยู่ดีมีสุข การที่เราเห็นพระองค์ทำงานหนักเพื่อประชน ทำให้ ดิฉัน ได้ซึมซับและขอเดินรอยตามพระองค์ท่านในการทำความดี ส่วนตัวดิฉันตั้งแต่เล็กจนโตได้ช่วยเหลือสังคมอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะได้มาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ นี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดค่ะ”

นอกจากนี้ ในการถ่ายทำบันทึกวีดิโอ เพลง “วรขัตติยราชนารี” อาจารย์สุรพล ธัญญวิบูลย์ ยังได้คิดค้นนำกล่องบรรจุอาหารราคาหลักสิบบาทมาทำหน้ากากเฟสชิว(Face Shield) ให้กับเครื่องดนตรี ทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงมาก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของทางภาครัฐในการรักษาระยะห่าง (Social Distance) นับเป็นปรากฏการใหม่ของวงการดนตรีไทย ซึ่งวงดนตรีที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 200 วง ก็สามารถนำแนวความคิดนี้ไปปรับประยุกต์ใช้ แถมยังประหยัดงบประมาณได้อีกด้วย

ร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคลออนไลน์ได้ที่ https://kuform.ku.ac.th/July04/main.php

Comments are closed.

Pin It