Event

ดีไซเนอร์ฮิญาบแชร์ไอเดีย กลุ่ม “เกื้อกูลLEs” สู่ความยั่งยืน

Pinterest LinkedIn Tumblr


สานต่อความสำเร็จในการนำพากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน “เกื้อกูล Local Enterprises” (เกื้อกูลLEs) ทุกท้องถิ่นทั่วไทยในงาน เกื้อกูล Local Enterprises Exposition 2023 มหกรรมงานวิจัยและพัฒนา ที่สร้างการยกระดับขีดความสามารถ ความสำเร็จ ในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ของผู้ประกอบการชุมชนเกื้อกูลLEs ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล กลไกสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้สังกัด สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ สถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน ณ ลานร่ำรวย ชั้น 5 เดอะ สตรีท รัชดา

ผศ.ดร. มัฮซูม สะตีแม
ทำความรู้จักกับธุรกิจชุมชน “เกื้อกูลLEs” ที่มาร่วมแบ่งปันไอเดียดีๆ ผ่านเกื้อกูลLEs Sharing Showcase ตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัยในพื้นที่ เช่น ธุรกิจฮิญาบ ภายใต้โมเดลธุรกิจ AHSAN-อาห์ซาน ภายใต้หลักคิด “จากTrademark สู่ Trustmark” โดย ผศ.ดร. มัฮซูม สะตีแม มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัตตานี ที่สะท้อนคุณค่าของผืนผ้าฮิญาบในศาสนาอิสลาม ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กลุ่มสตรีมุสลิมที่มีฝีมือในการตัดเย็บ ได้ภาคภูมิใจในตัวเอง พร้อมจัดแสดงแฟชั่นโชว์ ฮิญาบผ้าไหมไทยผืนแรกของโลกเป็นครั้งแรก โดยมหาวิทยาลัยฟาฏอนี

อับดุลมอนี เจะโซะ
อ.อับดุลมอนี เจะโซะ นักวิจัยฝ่ายส่งเสริมตลาด เผยว่า “ในแง่ของการผลิตฮิญาบ นอกจากได้วัตถุดิบที่ดีแล้ว สิ่งที่ต้องมีเพิ่มคือ ต้องสร้างดีไซเนอร์ขึ้นมา เรามีดีไซเนอร์รุ่นใหม่เข้ามาลองทำในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีให้เกิดขึ้น อย่าง ลายปักแฮนด์เมดบนเครื่องแต่งกายของสตรี ซึ่งเป็นชิ้นเดียวในโลก รวมทั้งเมื่อผ้าไหมกับชาวมุสลิมมาเจอกัน ก็ได้สร้างสรรค์เป็นคอลเลกชันแฟชั่น สำหรับสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษอีกด้วย”

นาพี พีรีซี
ด้าน นาพี พีรีซี ดีไซเนอร์รุ่นใหม่เล่าถึงคอลเลกชันนี้ว่า “สะท้อนความหมายในการออกแบบ อย่าง ลายดอกชบาที่ปักอยู่บนฮิญาบ ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของปัตตานีแล้ว กลีบดอกทั้ง 5 ของดอกชบา ยังหมายถึงการละหมาด 5 เวลา เพื่อเตือนให้พี่น้องชาวมุสลิมไม่หลงลืม หรือละเลยในการปฏิบัติศาสนกิจในศาสนาอิสลาม รวมถึงกระดุม 5 เม็ด บนเสื้อของบุรุษ ก็สื่อถึง 5 เวลาที่ต้องละหมาดในแต่ละวันด้วยเช่นกัน”

สนใจเข้าร่วมโครงการ โทร. 0-2109-5432 ต่อ บพท. หรือที่ www.nxpo.or.th/A/

Comments are closed.

Pin It