Interview

อัปเดตชีวิต “เต้-พันชนะ วัฒนเสถียร” เจ้าของ “เป็นลาว เขาใหญ่” ที่วันนี้ไปไกลกว่าที่คิด!

Pinterest LinkedIn Tumblr


สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบในธรรมชาติ ครั้งหนึ่งของชีวิตคงต้องหาโอกาสไปเที่ยวเขาใหญ่ให้ได้ เพราะที่นี่นอกจากจะเต็มไปด้วยป่าผืนใหญ่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘แหล่งโอโซนสำคัญของประเทศ’ แล้ว การเดินทางไปเขาใหญ่ในแต่ละครั้ง เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับนักธุรกิจและผู้ประกอบการแล้ว เขาใหญ่ได้ชื่อว่า ‘ปราบเซียน’ ด้วยคาแรกเตอร์ของแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าทำนอง ‘ฝน 8 แดด 4’ ที่แม้จะมีไฮซีซันส์ในช่วงสั้นๆ แต่ก็เลี้ยงพนักงานไปได้ทั้งปีเช่นกัน

“ทำธุรกิจที่เขาใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติของพื้นที่ ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดนะคะ” เต้-พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้ง เชฟแห่งความสุข และ บริษัท ออน เดอะ พลาโต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านเป็นลาว เขาใหญ่ และหัวหิน รวมถึง “อันหยังก็ได้ บาย เป็นลาว” ที่สิงคโปร์ เกริ่นนำให้ฟังถึงการทำธุรกิจที่เขาใหญ่ เพราะด้วยประสบการณ์ที่เธอสร้างร้านเป็นลาวจากศูนย์ กว่า 20 ปีที่เธอปั้นมากับมือ จึงกล้าพูดได้เต็มปาก


ด้านหนึ่ง เต้อาจเป็นเพียงนักธุรกิจชื่อดัง ที่บรรดาผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดนี้ จะรู้จักเธอเป็นอย่างดีแล้ว ในอีกด้านหนึ่งเธอต้องสวมหัวโขนเป็น นายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ ซึ่งเธอรับตำแหน่งนี้เป็นวาระที่ 2 แล้ว ฉะนั้น เรื่องความจัดเจนและชำนาญพื้นที่คงไม่ต้องแนะนำให้มากความ

“หน้าที่ของนายกสมาคมท่องเที่ยวก็เหมือนกระโถนนะ (หัวเราะ) เราเป็นเสมือนแกนกลางในการรวบรวมผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อมาวางแผน ปรึกษาหารือ ประสานงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน ฯลฯ เรียกได้ว่า ต้องทำทุกอย่างที่จะดันการท่องเที่ยวเขาใหญ่ให้โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดทำฐานข้อมูล การทำกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ โฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำทุกอย่าง เพื่อไม่ให้เขาใหญ่เงียบ แต่พี่ไม่ได้ทำคนเดียวนะ มีทีมที่แข็งแกร่งช่วยอยู่หลายคน ปัจจุบันพี่ดูแลงานด้านนี้มา 3 ปีแล้ว

เขาใหญ่บูมมาได้สักพัก แต่มาบูมมากๆ ตอนช่วงเกิดโควิด-19 ระบาดหนักๆ เพราะคนไปไหนไม่ได้ แต่ที่นี่มักจะเป็นบ้านหลังที่สองของบรรดาเศรษฐีเมืองไทย จะเรียกได้ว่า 100 ตระกูลดังมีบ้านที่นี่หมด ตอนโควิด-19 กำลังพีคๆ ที่นี่จึงตรงกันข้ามกับที่อื่น เพราะในขณะที่ที่อื่นๆ เงียบฉี่ แต่ร้านอาหารที่นี่เต็มทุกวัน ถือเป็นช่วงกราฟพุ่งมากๆ แต่มาปีนี้สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ก็คืนสู่สามัญเหมือนที่เคยเป็น ซึ่งนั่นทำให้เราหันมาสนใจเรื่องคน เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”


ด้วยการทำงานในตำแหน่งนี้ เธอมีการปักหมุดหมายในใจคือ อยากพาเขาใหญ่ไปสู่ World Class Destination ซึ่งถือเป็นงานหนักอึ้งที่เธอกำลังพยายามอยู่

“เป้าหมายหลักของพี่ก็คือ พาเขาใหญ่ไปปักธงให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก เพราะเขาใหญ่เป็นเมืองมรดกโลก และล่าสุดโคราชเพิ่งได้มรดกโลกจากยูเนสโก เพิ่มอีกที่หนึ่งคือ “อุทยานธรณีโคราช” หรือ “โคราชจีโอพาร์ค” ซึ่งเราถือว่าเราเป็นพื้นที่ที่ได้มรดกโลก 3 แห่งในจังหวัดเดียวกัน และเป็นจังหวัดที่ 4 ของโลก เรื่องนี้ยิ่งใหญ่มากนะคะ

ปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมาจัดอยู่ในเขตเศรษฐกิจแนวระเบียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนนี้โรงแรมเชนใหญ่อาจจะมีไม่มาก แต่จุดหมายหลักที่เราบุกเต็มกำลังคือเรื่อง wellness เพราะที่นี่มีความพร้อมใน 3 ด้านคือ “อาหารดี อากาศดี อารมณ์ดี” ตัวเขาใหญ่เป็นแหล่งผลิตโอโซนสำคัญ ก็เลยทำให้เรามีโครงการด้านนี้เยอะ อาทิ โครงการอาบป่า และอีกหลายโครงการที่ทำในเมืองอื่นๆ ไม่ได้ จะทำได้เฉพาะในเมืองที่อากาศสะอาด ปราศจากมลพิษ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่เขาใหญ่พร้อมค่ะ นั่นคือหน้าที่ของพี่ที่จะต้องผลักดัน

แต่การจะนำโคราชไปสู่ World Class Destination ให้ได้จริงๆ นั้น การเดินทางที่ครบทุกลูป (ถนน ราง สนามบิน) ก็ต้องพร้อมด้วยค่ะ ซึ่งในตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานของเราดีกว่าเดิมมาก ในอีก 3-5 ปีน่าจะสมบูรณ์ แต่ในส่วนพาร์ตของเราที่เรารับผิดชอบ เราทำได้ค่ะ นอกจากนี้ พี่มองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบ้านเราใหญ่มากนะ มากกว่า 25% ของ GDP แต่เราจะทำอย่างไรที่จะบูรณาการการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมไปถึงคนตัวเล็กตัวน้อย เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านกระบวนการของการท่องเที่ยว”


เห็นความคล่องแคล่วและวิสัยทัศน์ของเธอ หลายคนอาจกำลังคิดไปว่า เธอต้องมีพื้นฐานทางด้านบิสซิเนสที่แข็งแรงแน่ๆ แต่ผิดคาด เพราะเธอร่ำเรียนมาทางด้านกฎหมาย “ครอบครัวพี่เป็นนักกฎหมาย คุณพ่อพี่เป็นอดีตผู้พิพากษา พี่เองก็จบนิติฯจุฬาฯ แต่จบมาได้ทำงานด้านอื่น(หัวเราะ) ตอนแรกเป็นผู้จัดการฟาร์มผักอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะมาร่วมงานกับคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ทำงานกับมูลนิธิอมตะ ตั้งแต่ปี 2544 ในหน้าที่ผู้อำนวยการกองศิลปวัฒนธรรมและสื่อสิ่งพิมพ์ จนเลื่อนขั้นมาเป็นผู้จัดการมูลนิธิ ได้ทำงาน Caravan Asia ของคุณวิกรมที่เดินทางท่องโลกเอเชียนานนับเดือน นั่นเป็นงานชิ้นสุดท้ายก่อนลาออกมาทำ ‘เป็นลาว’ แบบเต็มตัว”

“จริงๆ เป็นลาว นี่เริ่มต้นมาตั้้งแต่ยังไม่ลาออกจากมูลนิธิอมตะ มันเป็นช่วงที่พี่มานั่งคิดว่า เราควรจะหางานอดิเรกทำอีกสักอย่างไว้ด้วยมั้ย แก่ๆ ไปเราจะทำอะไร ช่วงนั้นอยู่ที่เขาใหญ่เป็นหลัก ก็เริ่มทดลองทำร้านอาหารอีสานอยู่ 6 เดือน เป็นร้านเพิงๆ ข้างทางที่เขาใหญ่ ขายเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ พอทำไหวก็ค่อยๆ ขยับขยายจนมาเป็นร้านในปัจจุบันก็ 15 ปีแล้ว จุดที่ทำให้เป็นลาวดังมากๆ ก็ตอนได้ออกรายการ SME ตีแตก ตอนนั้นเปิดได้ประมาณปีหนึ่ง

ใครๆ เขาก็บอกว่าทำธุรกิจที่เขาใหญ่ยากมาก เพราะมัน ‘ฝน 8 แดด 4’ คือไฮซีซันส์ 4 โลว์ซีซันส์ 8 พี่ก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้มันอยู่รอด ก็เลยเริ่มระบบอาสาสมัครขึ้นมา ใครจะมากินมาดื่ม ฟรีนะ แต่ต้องทำงานก่อน จนกระทั่งพัฒนามาเป็น community restaurant หรือร้านอาหารเพื่อชุมชน ที่ทำงานกับคน 3 วัยคือ วัยสูงอายุ วัยทำงาน และวัยเด็กที่ต้องการหาเงินเรียนหนังสือ ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่พอออกจากงานประจำมาทำจริงจัง ธุรกิจก็เริ่มอยู่ตัว และเริ่มจดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2015 ค่ะ”


จากนั่นก็มุ่งมั่นในเส้นทางธุรกิจอย่างจริงจัง “ช่วงถัดมาอีก 2-3 ปี ได้จับมือกับหุ้นส่วนใหม่ ทำแบรนด์ใหม่ชื่อ “อันหยังก็ได้” ที่เรานิยามว่าเป็น cosy isan ตอนนั้นพี่มองว่า ถ้าจะขยายเป็นลาวจริงๆ มันต้องตายแน่ๆ เพราะเมนูถ้าต้องไปครบ มันเยอะมากนะ จะทำอย่างไรดีให้มันคล่องตัว และไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ เราก็เลยตั้งชื่อนี้ขึ้นมาที่แปลว่า “อะไรก็ได้” ตอนแรกเปิดที่เขาใหญ่นี่แหละค่ะ ใกล้ๆ กับเป็นลาว ซึ่งตอนนั้นคนนิยมเปิดแฟรนไชส์

เราก็มานั่งคิดว่าจะขายแฟรนไชส์บ้างดีมั้ย แต่ก็มีคนมาสะกิดว่า เธอขายแฟรนไชส์ไม่ได้หรอก ถ้าเธอไม่มีถึง 3 สาขา เราก็ตกใจจะเอาเงินมาจากที่ไหนมาลงทุน ตั้ง 3 ที่ แต่แล้วโชคชะตาก็พาเราไปงานแฟรนไชส์ที่สิงคโปร์ ตอนแรกตั้งใจจะไปดูงานว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง อยากศึกษาวิธีการขายของจากที่นั่น แต่คุยไปคุยมา กลายเป็นว่าเขาสนใจเรา จากที่ตั้งใจจะไปศึกษาเฉยๆ กลายเป็นว่าเราได้ขยาย “อันหยังก็ได้” ไปเปิดที่สิงคโปร์ ด้วยการ joint venture กัน ปัจจุบันเปิดมา 5 ปีแล้ว ได้บิบ กูร์มองด์ ด้วยนะคะ”


ส่วนในประเทศไทย เธอก็ขยับขยายไม่หยุด ทั้งเปิดร้านเป็นลาวที่หัวหิน ทั้งทำแบรนด์ใหม่ อย่าง “ม่วนเส้น by penlaos” ที่ชั้น 2 ริเวอร์ไซต์ พลาซ่า “ร้านนี้ตัดสินใจมาเปิดเพราะพอดีจังหวะที่หุ้นส่วนพี่เขาบอกว่าได้พื้นที่ตรงนี้นะ เรามาลองดูแล้วโอเค ทำเลดี คู่แข่งไม่มาก ลงทุนไม่สูงมาก ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านม่วนเส้นที่นี่ ถือเป็นการขยายกิจการเข้าสู่เมืองกรุงค่ะ ช่วงเริ่มต้นไอเดียเมื่อ 6 เดือนก่อน ตอนนั้นกำลังปวดหัวกับที่หัวหินเลย เพราะนั่นก็ปราบเซียนไม่แพ้เขาใหญ่ แต่บริบทต่างกันมาก อย่างที่เขาใหญ่เราทำแบบสบายๆ มีความเป็นชุมชน แต่ที่หัวหิน คนส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาจากกรุงเทพฯ กับฝรั่งเกษียณอายุ ซึ่งวิธีการเซ็ตเมนูก็ต้องคิดอีกแบบ

พี่เป็นคนประเภทล้อไปตามคลื่น ปรับตัวไปตามแต่สถานการณ์และโจทย์ปัญหาที่เข้ามา นั่นคือเคล็ดลับการทำธุรกิจของพี่ พี่เป็นคนไม่มีระบบคิดอะไรเลย บอกตรงๆ พี่ลูกทุ่งมา ซึ่งถ้าพี่คิดแบบนักธุรกิจ พี่อาจจะทำเป็นลาวไม่รอดก็ได้นะ เพราะคำนวณแล้วไม่คุ้มค่า กำไรไม่เท่านั้นเท่านี้ หรือยึดติดกับสูตรและส่วนผสม ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สำหรับพี่ไม่มีกรอบ ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม เพราะร้านแต่ละที่มันมีความแตกต่างกัน เขาใหญ่ก็อย่างหนึ่ง หัวหินก็อีกแบบ หรือที่สิงคโปร์ ก็ต้องปรับเยอะ ต้องคิดให้รอบคอบ วัตถุดิบเอามาจากไหน แม่ครัว คุณภาพอาหาร จิปาถะ จากที่พี่ทำมาหลายแห่งพี่สรุปได้เลยว่า การตลาดที่ดีที่สุดก็คือ การตลาดที่เราคลุกไปกับมัน ร้านอาหารต้องคุยกับคนกิน คุยเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าคนกินเขาต้องการอะไร แล้วเราก็เอาตรงนั้นมาปรับ นั่นคือการทำการตลาดที่ดีในมุมของพี่ ไม่ใช่ทำบน cloud หรือคิดเองมโนเอง

อีกหนึ่งเรื่องที่พี่อยากฝากไว้สำหรับคนทำธุรกิจเล็กๆ หรือสตาร์ทอัป ก็คือเรื่องชื่อแบรนด์ และการจดทะเบียนครื่องหมายการค้า ควรเช็กก่อนนะ ไม่ใช่ปล่อยให้ทำแบรนด์ไปจนถึงจุดที่มันดัง หรือประสบความสำเร็จมาก แล้วปรากฏว่าพอเราจะขยายสาขาไปต่างประเทศ แล้วต้องไปเจอว่าชื่อไปซ้ำกับคนอื่นๆ ถึงตอนนั้นจะกลับตัวไม่ได้ กลับตัวลำบาก ยิ่งถ้าเรามีวิสัยทัศน์ว่า วันหนึ่งธุรกิจของเราต้องไปต่างประเทศ เรายิ่งต้องไปตรวจสอบจดตั้งแต่วันแรก อย่าง เป็นลาว และ อันหยังก็ได้ นี่พี่จดทะเบียนการค้าใน 6 ประเทศตั้งแต่วันแรกนะ นั่นอาจจะเป็นเพราะพื้นฐานที่พี่เรียนกฎหมายมาก็ได้ จำไว้ว่า ‘protect is better than cure ป้องกันดีกว่าแก้ไข’ ค่าจดทะเบียนไม่แพงนะ ควรตรวจสอบและทำตั้งแต่เดย์วันค่ะ” เต้-พันชนะ กล่าวปิดท้าย

Comments are closed.

Pin It