Art Eye View

“ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพาน” ภาพที่ “มาโนชญ์” เขียนนาน 8 เดือน วันละ 18 ชม.

Pinterest LinkedIn Tumblr


รายงานโดย…ฮักก้า

ต้องม้วนแล้วนำไปขึงเฟรมใหม่บนห้องแสดงงาน เพราะภาพขนาด 240x 290 ซม.ที่เขียนด้วยเทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ ชื่อ “ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ผลงานของ มาโนชญ์ เพ็งทอง ศิลปินชาว อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะสามารถผ่านช่องประตูของหอศิลป์

ครั้นจะตัดความยุ่งยากด้วยการเก็บเอาไว้ที่บ้านไม่นำออกมาแสดงเสียเลย ก็ดูจะน่าเสียดาย เพราะผลงานชิ้นใหญ่ชิ้นนี้ที่มาโนชญ์ใช้เวลาสร้างสรรค์นานถึง 8 เดือน วันละ 18 ชั่วโมง และไม่เคยนำออกแสดงที่ไหนมาก่อน ควรจะได้เคลื่อนย้ายมาจัดแสดงในนิทรรศการ“ภาพปริศนาธรรมไทย” นิทรรศการแสดงเดี่ยวผลงานศิลปะ ในรอบ 10 ปี ของเขาซึ่งจัดแสดงให้ชมระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 2 หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่เพียงภาพจะประกอบไปด้วย เหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ คือ ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน แต่ในภาพยังปรากฎโครงร่างของพระพุทธองค์ในความว่าง และคำว่า “ตถาตา” ในบึงบัว เพื่อให้ขณะที่ผู้ชมจ้องมองไปที่ภาพ สัมผัสกับสิ่งที่พระพุทธองค์พร่ำสอนมานานว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง” และขณะเดียวกันหากว่าเราค้นหาความว่างในจิตใจพบ พุทธะก็จะปรากฎต่อเราเช่นกัน

มาโนชญ์เขียนภาพนี้ขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2548-2549 เขาจำได้ว่าวันที่เขียนภาพชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์ เป็นวันที่วงการวรรณกรรมไทยได้สูญเสีย กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2539 และเขาก็ได้ละจากงานที่ทำมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน เดินทางไปร่วมงานศพ

ทำไมภาพเขียนชิ้นนี้จะต้องใช้เวลาสร้างสรรค์ นานถึง 8 เดือน และต้องขลุกอยู่กับมันตั้งวันละ 18 ชั่วโมง นอกจากมาโนชญ์จะให้เหตุผลว่า มันเป็นภาพเขียนในแนวเหมือนจริงที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรายละเอียดสูง และเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่ เขายังได้ถือโอกาสใช้ช่วงเวลาของการทำงานชิ้นนี้ขัดเกลาจิตใจของตัวเองไปด้วย โดยก่อนหน้านี้เขาได้ยินได้ฟังมาว่าพระพุทธเจ้ารวมทั้งท่านพุทธทาส ที่ชาวพุทธหลายคนศรัทธาและเลื่อมใส ต่างใช้เวลาทำงานวันละ 18 ชั่วโมง

“เราทำงานศิลปะเพื่อขัดเกลาจิตใจตัวเอง เพราะฉนั้นขณะที่ทำงาน เราจะไม่ไปสนใจอย่างอื่น เราจะอยู่กับจิตตัวเองไปตลอด แล้วเราก็จะไม่ให้อะไรจรเข้ามา เราจะอยู่กับความรู้สึกตัวตลอด แล้วเราก็เรียนรู้แล้วด้วยว่า เวลามันไม่ได้มีอยู่จริง เมื่ออะไรที่มันไม่มีอยู่จริง แม้กระทั่งตัวเราไม่มีอยู่จริง ข้างนอก และเวลาก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะฉนั้นเราจะอยู่กับจิตของเราล้วนๆแล้วก็ทำหน้าที่ไปตามทักษะที่เรามี เช้าขึ้นมาก็นั่งทำงาน อาบน้ำ กินข้าวเสร็จ ก็นั่งทำงาน ง่วงตอนไหนก็งีบไปสักสิบนาที ตื่นขึ้นมาเขียนต่อ หิวก็ไปกินข้าว ง่วงตอนไหนก็หลับตอนนั้น ไม่มีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง มันมีแต่เรื่องของวิถีชีวิตกับการทำงาน นั่งทำไปๆด้วยความตั้งอกตั้งใจ พอดูวันที่เราถึงจะรู้ว่าเราลุมา แปดเดือนแล้ว”

มาโนชญ์ เป็นอดีตบรรณาธิการ นิตยสาร ไฮ – คลาสและเจ้าของผลงานหนังสือ “ลมหายใจในไพรพฤกษ์” และ “สู่แดนพุทธภูมิ” ขณะที่ผลงานศิลปะของเขาตัวอย่างเช่นผลงานชุดล่าสุดนี้ ได้นำหลักคิดทางพระพุทธศาสนามาถ่ายทอดผ่านภาพเขียน อันเป็นภาพปริศนาธรรมซึ่งมีเนื้อหาในเชิงอุปมาอุปไมย

“ภาพเขียนของผมมีความมุ่งหมายที่ใช้เป็นเสมือนเครื่องมือของการทำความเข้าใจเรื่องราวภายในของจิตมนุษย์ เพื่อการเรียนรู้ทุกข์และทำใจได้ เพื่อว่าช่วงเวลาหนึ่ง ของการเดินทางมาเยือนโลกใบนี้ ท่านจะสามารถชื่นชมโลกได้อย่างสุขใจ และจากไปด้วยใจอันผ่องแผ้ว”

บรรพบุรุษของมาโนชญ์เป็นมโนราห์และหนังตะลุง ที่เดินทางไปทุกย่านทุกตำบลเพื่อนำเอาคติชีวิตและหลักธรรมคำสอนของศาสนาไปมอบให้แก่ผู้คนผ่านการแสดงในยุคที่สังคมปักษ์ใต้ ขาดทั้งวัดและโรงเรียน

มาถึงยุคของเขาจึงมีความตั้งใจที่จะใช้ทักษะในด้านการเขียนภาพที่ตัวเองมีอยู่ สานต่อจากบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อที่ว่า การได้ช่วยให้เพื่อนมนุษย์เข้าถึง รู้แจ้งเห็นจริงเรื่องอนัตตาและดับทุกข์ได้ คือสุดยอดของศิลปิน

Comments are closed.

Pin It