Art Eye View

หรือเราตะกละกันมากขึ้น คำถามผ่านภาพ “อาหารมื้อสุดท้าย”

Pinterest LinkedIn Tumblr



โดย…ฮักก้า

เป็นภาพอาหารมื้อสุดท้าย แต่คิดว่าคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่ต้องถูกหยิบมาเป็นประเด็นพูดถึงกัน สำหรับภาพ The Last Supper ที่ถ่ายทอดช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์กำลังร่วมรับประทานกับบรรดาสาวก 12 คน เป็นมื้อสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตไป

ล่าสุดไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการกิน ทั้ง The Last Supper ชิ้นที่เขียนขึ้นโดย Leonardo da Vinci และที่เขียนขึ้นโดยจิตรกรรายอื่นๆ

หลายคนคงบอกว่าไม่เห็นจะแปลกอะไรเพราะทั้งชื่อและเรื่องราวที่ปรากฎในภาพก็เกี่ยวข้องกับการกินอยู่แล้ว

เรื่องของเรื่องมีนักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของ Cornell University นามว่า Brian Wansink และคณะได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากอดีต โดยการนำภาพเขียน The Last Supper จำนวน 52 ภาพ ของจิตรกรหลายๆคนที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ Last Supper พิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2000 โดยสำนักพิมพ์ Phaidon หนึ่งในจำนวนนั้นมีภาพเขียน The Last Supper ของ Leonardo da Vinci รวมอยู่ด้วย มาทำการสแกน จับพลิกจับหมุนและคำนวณ ผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัยของคอมพิวเตอร์ โดยที่ไม่ต้องห่วงหรือคำนึงถึงความเสียหายเพราะไม่ได้ใช้ภาพชิ้นจริงมาทำการศึกษา



ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้ Brian Wansink ได้ใช้ข้อมูลในคัมภีร์ไบเบิ้ลมาช่วยอ้างอิงร่วมกับภาพเขียนของจิตรกรด้วยและส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก Craig Wansink ผู้เป็นพี่ชายซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาศึกษาและเป็นนักบวชของศาสนาคริสต์นิกาย Presbyterian

ในคัมภีร์ไบเบิลได้มีข้อมูลระบุเอาไว้ว่าอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์อยู่ช่วงเวลาเย็นของเทศกาล Passover ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวยิว แม้ในคัมภีร์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาหารไว้น้อยมาก นอกจากขนมปังและไวน์แล้ว ก็ไม่ได้มีกล่าวถึงอาหารอื่นๆเอาไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ เค้กแครอท หรือแม้แต่ปลา ปลาไหล เนื้อแกะ เนื้อหมู ที่มีปรากฎอยู่ในภาพเขียนThe Last Supper ของจิตกรหลายๆคน

แต่สิ่งสำคัญคือเขาสนใจปริมาณอาหารที่พอเหมาะสำหรับคนๆหนึ่งจะรับประมาณ กับขนาดศรีษะของคนที่ปรากฏในภาพทุกภาพ หากภาพเขียนเหล่านี้เขียนขึ้นตามความเป็นจริง หรือเลียนแบบชีวิตจริงในยุคที่พระเยซูยังมีชีวิตอยู่ แสดงว่าคนในปัจจุบันเริ่มน่าเป็นห่วง เพราะ ปริมาณอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในปัจจุบัน มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากในภาพหลายเท่า โดยอาหารจานหลักมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ขนมปังมีปริมาณเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ขนาดของจานใหญ่ขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์

การบริโภคอาหารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นนี้ และในภาชนะที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ Brian Wansink มองว่าเป็นปรากฎการณ์หนึ่งของยุคโมเดิร์น และข้อมูลหลายๆอย่างจากการศึกษาของเขาจะถูกนำเสนอผ่าน International Journal of Obesity วารสารด้านโรคอ้วน ฉบับเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ด้าน Matin Binks นักจิตวิทยาด้ายพฤติกรรมสุขภาพและที่ปรึกษาของ Duke University Medical Center ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อการศึกษาของ Brian Wansink ว่า การศึกษานี้ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรมากในเชิงวิทยาศาสตร์นักหรอก เพราะปริมาณที่เพิ่มขึ้นของปริมาณอาหารที่แต่ละคนรับประทาน เรามีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วในชีวิตจริงอยู่ พร้อมทั้งเสนอแนะว่า

“ลองสังเกตดูสิว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น สำหรับอาหารที่ขายกันอยู่ในร้าน Fast – Food ทั้งหลาย หรืออาจจะลองวิเคราะห์จากช่วงโฆษณาของการแข่งขันกีฬาเบสบอล Sup Bowl ก็ได้ มันน่าจะให้ข้อมูลที่ร่วมสมัยมากกว่า ว่าปริมาณการบริโภคอาหารของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

แต่ว่าไปแล้ว การศึกษาของ Brian Wansink ก็มีผลดีอยู่เยอะ เพราะถ้าไม่ทำให้หลายคนสนุกกับการสังเกตรายละเอียดในภาพเขียนเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องรอบๆตัว ด้านหนึ่งมันน่าจะเป็นการเรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบัน กระตุกให้เรารู้สึกว่า โอ้…ปัจจุบันนี้ เราตะกละกันมากขึ้นหรือเปล่า ต้องเตือนตัวเองให้กินน้อยลงบ้างแล้ว


Comments are closed.

Pin It