Advice

โสด-ใจร้อน-เป็นโรคร้าย กลุ่มเสี่ยงปลิดชีวิตตัวเอง!?

Pinterest LinkedIn Tumblr

By Lady Manager

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต (ล่าสุดปี 2553) ออกมายืนยันว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 5.9 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO-SUPRE 2009 ) ก็ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปีละประมาณ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คนในทุกๆ 40 วินาที โดยในแต่ละปีมีผู้พยายามฆ่าตัวตายสูงถึง 10-20 ล้านคน

องค์การอนามัยโลกเห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าวถึงขนาดกำหนดให้ในทุกวันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)” เลยทีเดียว

ใครบ้างหนอคือ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย แล้วหากคนใกล้ตัวคุณฆ่าตัวตายจริงๆ จะจัดการรับมือกับเหตุการณ์กล่าวอย่างไรดี งานนี้เราได้จิตแพทย์สาวสวยประจำโรงพยาบาลศรีธัญญา หมอเบิร์ท หรือ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ อดีตนางสาวไทย พ.ศ.2542 คุณหมอทุ่มเทแรงกายแรงใจรักษาและให้คำปรึกษาผู้มีปัญหาชีวิต และผู้คิดฆ่าตัวตายมานานหลายปี โอกาสนี้ท่านนำประสบการณ์ และเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมาบอกเล่าเพียบเลยค่ะ

“การฆ่าตัวตายในคนไทยจะอยู่ที่ประมาณ 5-7 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี ถ้าเทียบกับประเทศญี่ปุ่นอาจจะ 25 ต่อ 100,000 คนเลย หรือเกือบเป็น 5 เท่าของคนไทย เกาหลีอาจจะถึง 30 คน ซึ่งตรงนี้มันยังเป็นคำถามที่นักวิจัยทั่วโลกกำลังค้นหาคำตอบ เรามักเข้าใจว่าประเทศเรายากจน สิทธิมนุษยชนก็อาจจะไม่ได้ดีมากมาย แต่ในความจริงแล้ว เรามีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำว่าประเทศที่เจริญแล้วตั้งเยอะ”

จึงยังไม่มีบทสรุปว่าอะไรทำให้คนฆ่าตัวตาย แต่เรามาดูกันค่ะว่าใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย และคนใกล้ชิดควรปรับทัศนคติ เตรียมรับมืออย่างไร
โสด/นิสัยหุนหันพลันแล่น/เป็นโรคร้าย กลุ่มเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย

“ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็เช่น คนโสด เนื่องจากไม่มี Supporting System ซึ่งตรงนี้มันเกี่ยวเนื่องกันกับเรื่องที่ว่า ผู้หญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายแล้วประสบความสำเร็จน้อยกว่าผู้ชาย แต่มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า คือ ผู้ชายจะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า เราก็เลยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ ชอบเล่า ชอบระบาย สมมุติสามีมีเมียน้อย ก็เอาไปเล่าให้เพื่อนที่ทำงานฟัง จนรู้กันทั้งออฟฟิศ แล้วพอได้ไปร้องไห้กับเพื่อน เพื่อนก็ปลอบโยน รับฟัง

แต่ในขณะที่ผู้ชายจะไม่ค่อยเล่า หมอเคยมีคนไข้คนหนึ่งที่ภรรยามีชู้ คนไข้คนนั้นมาโรงพยาบาลศรีธัญญา แล้วบอกกับเราว่าปวดหลัง แต่พอหมอได้นั่งคุยกับเขา เราก็ถามว่าทำไมปวดหลังถึงมาโรงพยาบาลศรีธัญญา ทำไมถึงพบจิตแพทย์ ถามไปถามมา เขาก็ตอบว่า หมอรู้มั้ย ถ้าตอนนี้เขามีปืน เขายิงตัวตายแล้ว… เห็นมั้ยว่ากว่าผู้ชายจะระบายออกมาได้ เขาจะมาบอกด้วยอาการอื่นก่อนว่าผมปวดหลัง อย่างนู้น อย่างนี้ เขาจะไม่มั่นใจที่จะเปิดเผยเรื่องราว แล้วพอหมอถามเขาว่ามีใครในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนรัก เพื่อนสนิท มีใครที่รับรู้มั้ยว่าคุณกำลังคิดจะฆ่าตัวตาย เขาบอกว่าเรื่องแบบนี้ผู้ชายเขาไม่พูดกันหรอกหมอ

กรณีผู้ชายคนนี้ก็คือ ภรรยามีชู้ แต่ในขณะถ้าเป็นคนไข้ผู้หญิงมา เพื่อนร่วมงานจะมา ป้ามา แม่มา พี่น้องมา ทุกคนรู้เรื่องราวหมด ผู้หญิงจะค่อนข้างชอบเล่า ซึ่งตรงนั้นเป็นข้อดี ผู้หญิงจะมี Supporting System มีผู้ให้ความช่วยเหลือ มีผู้ดูแล มีผู้รับฟัง มีคนที่เป็นห่วงเป็นใย และผู้หญิงเองจะหาแหล่งความช่วยเหลือด้วย แต่ในผู้ชาย ถ้าเขาลงไปถึงขั้นซึมเศร้า ดื่มเหล้า แล้วฆ่าตัวตายแบบเด็ดขาดไปเลย ขณะที่ผู้หญิงจะขอความช่วยเหลือ คนรอบข้างรับรู้ เพราะฉะนั้นก็จะสังเกตสัญญาณเตือนได้ง่าย”

นอกจากคนโสดแล้ว อีกกลุ่มคนที่เสี่ยงนัก คือ บุคคลที่มีนิสัยหุนหันพลันแล่น ใจร้อน ใจเร็ว หากคุณๆ มีญาติสนิท มิตรสหาย เป็นคนประเภทนี้ล่ะก็..ต้องใส่ใจ หมั่นสอดส่องให้มากสักหน่อยค่ะ

“อีกกลุ่มเสี่ยงคือ คนที่มีลักษณะหุนหันพลันแล่น คนชอบเสี่ยง ประเภทนักเลงโต ทะเลาะกันปุ๊บยิง ทางการแพทย์เราเรียกว่า Impousesive พวกนี้จะสังเกตได้ง่ายๆ คือ ทำอะไร ใจร้อน ใจเร็ว อย่างเช่นขับรถเร็ว หรือว่าติดพนัน เพราะคนที่ติดพนันก็เพราะมันเย้ายวนใจ ยั้งใจไม่ได้ คือ พฤติกรรมหุนหัน พลันแล่น ซึ่งการหุนหันพลันแล่น ไม่ใช่แค่ชกต่อยอย่างเดียว แต่อย่างคนที่ไปติดยาเสพติด ติดพนัน พวกนี้มันเป็นเรื่องของการที่มีความต้องการแล้วมันยั้งใจตัวเองไม่ได้ คือ ขาดความยับยั้งชั่งใจ

นอกจากนี้ก็อาจเป็นกลุ่มคนที่มีโรคร้าย เช่น ได้ข่าวว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เป็นโรคเอดส์ ทำให้คนไข้ผิดหวัง ไม่มีทางช่วยเหลือ ไม่มีหวังว่าจะดีขึ้น พวกนี้ก็จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย”


สถิติวัยรุ่นกับวัยชราฆ่าตัวตายสูงสุด ..แนะควรใส่ใจดูแล

นอกจากคนโสด กลุ่มคนที่มีนิสัยหุนหันพลันแล่นแล้ว คุณหมอเบิร์ทกล่าวต่อถึงช่วงวัยที่เกิดการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ วัยรุ่น ที่ยังอาจขาดความยับยั้งชั่งใจ จนหุนหันพลันแล่นติดสินใจเร็ว อีกกลุ่มคือ ผู้สูงอายุ พ่อแม่ปู่ย่าตายายของคุณๆ นี่แหละค่ะ ต้องหมั่นให้ความใส่ใจดูแลจิตใจท่านเหล่านี้ด้วย

“กลุ่มที่ฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมากคือ กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับกลุ่มวัยรุ่นแน่นอน เรื่องของความหุนหันพลันแล่น เช่น อาจเป็นคนไม่มีปัญหาอะไร เรียนดี สนุกสนานเฮฮากับเพื่อน แต่เมื่อเจอปัญหาปุ๊บก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เลย เช่น สมมุติไปฉลองรับปริญญาด้วยซ้ำ แต่กลับมาทะเลาะกับแฟนปุ๊บ ฆ่าตัวตายเลย เป็นเรื่องของความหุนหันพลันแล่น

แต่สำหรับคนสูงอายุ จากการศึกษาพบว่า เหมือนเขารู้สึกว่ามันคือบั้นปลายชีวิตแล้ว มาเจอเหตุการณ์สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือเป็นโรคร้าย เขาจะมีความรู้สึกว่าหมดหวัง

ถ้าญาติผู้ใหญ่ของใครมีพฤติกรรม อย่างเช่นเป็นโรคร้ายแรง เบาหวานมะเร็ง แล้วไม่กินยา ไม่ไปพบแพทย์ ตระหนักไว้เลยว่าเขากำลังพยายามฆ่าตัวตาย คือ มันเหมือนเบื่อ ไม่รู้สึกว่าชีวิตจะอยู่ไปทำไม จะอยู่เพื่อใคร ก็กินเหล้าเมายาซะ กินอาหารให้น้ำตาลขึ้น ให้โรคเบาหวานมันร้ายแรงขึ้น อยู่โรงพยาบาล เข้าแล้วเข้าอีก กรณีอย่างนี้ บางทีแพทย์ผู้รักษาก็จะส่งพบจิตแพทย์เหมือนกัน เพื่อตรวจว่ามีภาวะของโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ทำไมคนไข้ไม่ร่วมมือในการรักษาเลย รู้ว่าวิธีนี้ทำให้หัวใจวาย ทำให้ไตวาย แต่ก็ทำอยู่นั้นแหละ ก็อาจเป็นการพยายามฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่งก็ได้”
“พยายามฆ่าตัวตาย” สัญญาณขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่เรียกร้องความสนใจ!

หากคนใกล้ตัวพยายามฆ่าตัวตายขึ้นมาล่ะ เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร คุณหมอเบิร์ทมีคำแนะนำดีๆ มาดังนี้ค่ะ

“อย่างแรกเลยคือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติ อย่ามองว่าการฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความสนใจ call for attention แต่มันคือการ call for help เขาพยายามร้องขอความช่วยเหลือแล้ว ช่วยฉันด้วย ฉันมาถึงขีดสุดแล้ว หาทางแก้ไขไม่ได้แล้ว ฉันก็เลยฆ่าตัวตาย คือ ให้คนรอบข้างรู้ว่าเขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว การปรับทัศนคติในลักษณะเชิงบวกนี้ มันทำให้เรามีท่าทีช่วยเหลือเขาได้มากขึ้น

สอง-ต้องทำความเข้าใจ และช่วยกันประกาศออกไปด้วยว่า การฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ โดยการสังเกตสัญญาณอันตรายทั้งหลายว่าเขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมั้ย เป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ถ้าดูแล้วน่าจะมีการป่วยของโรคซึมเศร้าก็ต้องไปรักษา หรือถ้าเขามีคำพูดแปลกๆ เช่นว่า อยากจะไปไหนไกลๆ อยากจะไปอยู่กับพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่รู้จะเกิดมาทำไม เมื่อไหร่จะตายๆ ซักที แบบนี้ญาติต้องหูไว แล้วก็เข้าไปถาม ทำไมถึงพูดอย่างนั้น

ถ้าเจอสัญญาณอันตรายพวกนี้ ต้องคุยต้องเข้าไปถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรให้เราช่วยเหลือได้มั้ย แสดงให้คนไข้ได้รับรู้ว่า ครอบครัวก็เจ็บปวดไปกับเขาด้วย เช่นบอกว่า การที่แม่ได้เห็นลูกฆ่าตัวตาย มันก็ทำให้แม่เจ็บปวดไปกับลูก มีอะไรที่แม่จะช่วยได้บ้าง แทนที่จะต่อว่าแกทำไมโง่อย่างนี้ ผู้ชายคนเดียว จะต้องถึงกับตายเชียวเหรอ ไม่รักพ่อรักแม่แล้วเหรอ อันนี้นอกจากจะไม่ช่วยแล้ว ยังซ้ำเติมอีก”

นอกจากจะต้องปรับทัศนคติ และคอยสอดส่องสัญญาณอันตรายในการฆ่าตัวตายแล้ว หากเกิดภาวะการพยายามฆ่าตัวตายขึ้นจริงๆ คุณหมอแนะให้พาไปรักษาและเยียวยาด้วยความเข้าใจ

“สมมุติว่าเขาฆ่าตัวตาย แล้วญาติไปเจอ เขายังไม่ตาย ก็กลับไปที่ข้อแรก อย่างที่บอกคือ ปรับทัศนคติ อย่าตำหนิ อย่าท้าทาย ประมาณว่าทำไมไม่เอาให้ตายไปเลย ซึ่งบางคนเห็นในละคร แล้วมันมีบทอย่างนี้แล้วไปพูด แบบนี้มันไม่ช่วยอะไรเลย ที่ควรทำคือ ให้ใจเย็นๆ พาเขาไปตรวจสภาพร่างกายก่อน มีบาดแผลมั้ย ต้องไปล้างท้องมั้ย คือ ต้องให้ความช่วยเหลือทางกายให้เห็นว่าปลอดภัยก่อน อย่าเอาเขากลับไปบ้านเฉยๆ ต้องรู้เลยว่า โอกาสการฆ่าตัวตายซ้ำยังมี ตรงนี้ญาติต้องเข้าใจตรงนี้ อย่าคิดว่า อ๋อ ช่วยทันแล้ว โล่งอกไปทีอย่างนี้ไม่ใช่ คือ ความเสี่ยงมันยังอยู่ หลังจากพาเขาไปตรวจ พักฟื้นนอนโรงพยาบาลรักษาเบื้องต้นแล้ว ให้เฝ้าระวัง ถ้ามีการท้าทาย มันก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนไข้ทำซ้ำได้

ในส่วนของคนที่ฆ่าตัวตายแล้วไม่สำเร็จ หรือที่เรียกว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตาย จริงๆ ควรจะนำไปพบจิตแพทย์ และอย่างน้อยให้เราประเมิณความเสี่ยงว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้เขาฆ่าตัวตาย ตอนนี้มันหายไปหรือยัง ตอนนี้ยังมีเหตุจูงใจอยู่มั้ย เช่น ถ้าคนไข้ยังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ หรือเป็นเพราะว่าตอนนั้นติดเหล้าแล้วฆ่าตัวตาย อย่างนี้ก็ต้องไปแก้ที่เหตุก่อน ไม่ใช่ว่าปล่อยกลับบ้าน หรือหายแล้วส่งกลับบ้านนั่งรถแท็กซี่กลับไปคนเดียว” แพทย์หญิงอภิสมัยให้ความรู้ปิดท้ายเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

Comments are closed.

Pin It