คอลัมน์ : Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี ค.ศ 1960-1970 เมื่อความรู้สึกหลงใหลในเรื่องราวของสัตว์ป่าของผมมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมจำได้ว่า ตอนนั้นเคยอ่านเจอจากนิตยสารท่องเที่ยวว่า มีอุทยานแห่งชาติในทวีปอัฟริกาสองแห่ง ที่ยังรักษาสภาพแวดล้อมเดิมของสัตว์ป่าไว้ได้และมีสัตว์ป่าให้ดูอย่างหลากหลาย นั่นคือที่ อุทยานมาไซมาร่า แห่งเคนย่า และอุทยานกรูเกอร์ แห่งอัฟริกาใต้
ผมเคยฝันไว้เสมอว่า ภายในชาตินี้ ผมจะต้องหาโอกาสไปเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติของทั้งสองประเทศให้ได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องไปให้เห็นสักแห่ง ด้วยตาของผมเอง
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ทวีปอัฟริกาได้นำจุดเด่นของแต่ละประเทศมาจัดตั้งเป็นวนอุทยานและสร้างเขตอนุรักษ์คุ้มครองสัตว์ป่าขึ้นเพื่อการทัศนะศึกษาอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันนี้ มีวนอุทยานและเขตคุ้มครองสัตว์ป่ามากกว่า 350 แห่งจนทั่วทั้ง 54 ประเทศของทวีปอัฟริกา
อย่างไรก็ตาม อุทยานมาไซมาร่า และอุทยานกรูเกอร์ ก็ยังคงครองความเป็นที่สุดของสถานที่ ที่เหมาะสมต่อการเที่ยวชมซาฟารีของอัฟริกาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ หากจะมีใครถามว่า ระหว่างอุทยานทั้งสองแห่งนี้ ที่ไหนดีที่สุดกว่ากัน ผมว่ามันน่าจะตอบได้ยากมากครับ เพราะมันคงจะต้องขึ้นอยู่ตรงที่ว่า คุณได้รับประสบการณ์พิเศษจากตรงไหนมากกว่า
ผมสามารถทำความฝันของผมให้เป็นความจริงได้ในปี ค.ศ 2006 เมื่อผมไปเยี่ยมชมอุทยานมาไซมาร่า ที่เคนย่ากับครอบครัวเป็นครั้งแรก และเมื่อมีโอกาสอีกครั้งในปี ค.ศ 2011 ผมจึงเลือกไปที่อุทยานกรูเกอร์ อัฟริกาใต้ เพราะผมอยากจะได้เห็นและต้องการมีประสบการณ์แตกต่างจากทั้งสองแห่ง
แต่เมื่อซื้อตั๋วแล้ว ผมก็ต้องแบกรับความรู้สึกหวั่นใจเล็ก ๆ ไปด้วย เพราะผมเพิ่งจะศึกษาข้อมูลของอุทยานกรูเกอร์มาว่า สภาพแวดล้อมของมันเป็นพงหญ้าสูงและมีแนวป่าไม้ค่อนข้างหนาทึบ การที่จะสามารถมองเห็นตัวสัตว์ โดยเฉพาะพวกแมวใหญ่ในระยะชัดเจน เป็นไปได้ยากมาก และที่ผมอุตส่าห์วางแผนจะไปเก็บภาพพวกแมวใหญ่ที่อุทยานกรูเกอร์นี่ ผมอดคิดไม่ได้ว่า มันอาจจะเป็นการเดินทางไกลที่เสียเที่ยวหรือเปล่า
ผมเล่าความกังวลใจที่มีให้เพื่อนคนอัฟริกาใต้ฟัง เขาเลยแนะนำให้ผมเข้าพักที่เขตคุ้มครองสัตว์ป่าซะด้วยเลยสักสามวัน มันเป็นเขตอนุรักษ์ที่คอยช่วยเหลือพวกลูกสัตว์กำพร้า โดยเฉพาะพวกสัตว์ตระกูลแมว และกลายเป็นว่า นั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของผมในทริปนั้นเลยล่ะครับ
ที่เขตุอนุรักษ์ ผมได้เก็บภาพสิงโต เสือดาว เสือชีตาร์ และคิงชีตาร์ อย่างใกล้ชิด ผมมีช่วงเวลาที่น่าจดจำกับสัตว์หลายตัว แต่มีอยู่ตัวหนึ่งที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผมได้มากกว่าตัวอื่น มันคือลูก “แมวป่าคาราเคิ้ล” อายุ 6เดือนที่อยู่ในภาพทั้งหมดที่คุณกำลังชมอยู่ในอาทิตย์นี้ครับ
“คารู” คือชื่อของแมวป่าตัวนี้ มันถูกแม่ทิ้ง เจ้าหน้าที่ของเขตอนุรักษ์ได้เก็บมาเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด มันจึงเชื่อง คุ้นเคยกับมนุษย์ และขี้เล่นไม่ต่างจากแมวบ้านขี้อ้อนตัวหนึ่ง ผมได้ใช้เวลากับเจ้าคารูตั้งแต่เช้าตรู่ของวัน เก็บภาพความน่ารักน่าชังของมัน แสงอบอุ่นในยามเช้าและแสงแดดยามบ่ายคล้อยช่วยทำให้ภาพถ่ายของผมดึงความงามตามธรรมชาติของคารูออกมาได้อย่างชัดเจน ผมได้เล่นและเก็บภาพของคารูจนแสงอาทิตย์แห่งอัฟริกาเริ่มจะเปลี่ยนเป็นสีทอง มันเป็นวันที่ผมมีความสุขมาก
ประชากรของแมวป่าคาราเคิ้ล ยังมีเหลืออยู่อีกมากตามธรรมชาติ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ระบุให้คาราเคิ้ลเป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์” (LC) สามารถพบเจอพวกมันได้ทั่วไปตลอดทวีปอัฟริกา ในบางส่วนของตะวันออกกลาง และอาจจะพบเห็นพวกมันบ้างในอินเดีย แต่ไม่มากนัก
ลักษณะพิเศษที่แยกคาราเคิ้ลออกมาจากแมวป่าพันธุ์อื่น คือขนบนปลายหูที่ขึ้นเป็นพู่แหลมชี้ตั้งขึ้นตรง คาราเคิ้ลอาจจะมองดูคล้าย แมวป่าสเปน (Lynx pardinus) หรือแมวป่าคานาเดี้ยน(Lynx Canadensis) จุดสังเกตที่จะแยกคาราเคิ้ลออกมา คือพวกแมวป่าสเปนและแมวป่าคานาเดี้ยนจะมีใบหน้าที่มีเส้นขนยาว ๆ ปกคลุมทั่วไปทั้งแก้ม ส่วนใบหน้าของคาราเคิ้ลจะเป็นขนเกรียนสั้น เช่นเดียวกับขนบนตัวของมัน
ขาหน้าของคาราเคิ้ลจะสั้นกว่าขาหลังของมัน ธรรมชาติสร้างคุณลักษณะเช่นนี้เพื่อให้คาราเคิ้ลสามารถกระโดดขึ้นตรงในอากาศได้สูงถึง10 ฟีต สามารถตะปบจับนกที่กำลังบินอยู่เป็นอาหารได้ นอกจากพวกนก คาราเคิ้ลยังกินกระต่าย สัตว์จำพวกหนู และสัตว์มีเขาขนาดเล็ก เป็นอาหารอีกด้วย
คาราเคิ้ลเป็นสัตว์ที่รักสันโดษ และมักจะออกหากินตอนกลางคืน นั่นเป็นเหตุผลอีกข้อที่น้อยคนนักจะพบเห็นคาราเคิ้ลในตอนกลางวัน
คนที่มีโอกาสได้ไปท่องซาฟารีในอัฟริกา ต่างก็ต้องมีสถานที่สุดประทับใจของตัวเอง แต่ละวันในผืนป่าของแต่ละคนให้ประสบการณ์ทีต่างกันออกไป ไม่มีการยืนยันรับรองว่าวันไหนคุณจะได้เห็นอะไรบ้าง สำหรับตัวผมเอง อุทยานมาไซมาร่า ได้มอบโอกาสที่หลากหลายกว่าให้กับผม ผมจึงรู้สึกประทับใจและต้องกลับไปเยือนเคนย่าอีกครั้ง
ในขณะที่คุณกำลังอ่านคอลัมน์นี้อยู่ ผมคงกำลังตามรอยและเก็บภาพสัตว์อยู่ที่ไหนสักแห่งในในมาไซมาร่า การเดินทางรอบนี้ของผมคงใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว ผมเขียนบทความนี้ไว้ก่อนการเดินทาง ผมจะเดินทางไปพร้อมกับความหวังว่า พระแม่ธรณีแห่งสรรพสิ่งจะทรงเมตตาผมอีก ผมภาวนาให้ท่านได้โปรดจงมอบโอกาสให้ผมได้เห็นและสามารถเก็บภาพชีวิตจากการโอบอุ้มคุ้มครองของท่านออกมาเพื่อแบ่งปันให้พวกเราได้รับรู้เรื่องราวของสัตว์ร่วมโลกและเกิดการภาคภูมิใจในมรดกนี้ร่วมกัน
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมภาพถ่ายและที่ติดตามอ่านบทความของผมด้วยนะครับ ผมขอให้ทุกท่านมีวันและคืนที่สวยงามตลอดทั้งอาทิตย์ และพบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ
รู้จัก…แอชลีย์ วินเซนต์
ชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอล ที่ผันตัวเองจากการทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มาทำงานเป็นช่างภาพถ่ายภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน นอกจากเปิดร้าน Nature Impressions จำหน่ายผลงานของตัวเอง ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่กล่าวกันว่า เป็นสวนสัตว์เปิดที่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เขายังทำงานให้กับสวนสัตว์แห่งนี้ ในฐานะอาสาสมัครเก็บภาพสัตว์ป่าไปพร้อมกันด้วย
ผลงานภาพถ่าย “บุษบา” เสือโคร่งเพศเมีย ถ่ายจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ของแอชลีย์ได้รับการประกาศให้เป็น สุดยอดภาพถ่าย National Geographic 2012
เสมือนบอกย้ำให้กำลังใจช่างภาพหลายๆ คนว่า “ภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ดี ไม่ต้องไปถึงเคนยา”
ติดตามอ่าน …Nature Impressions โดย แอชลีย์ วินเซนต์ ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.