Art Eye View

จิตรกรรมฝาผนัง ณ เมืองกรุงเก่า วิกฤตหนัก ได้เวลาสร้าง ‘นักอนุรักษ์ซ่อมสงวน’

Pinterest LinkedIn Tumblr

แม้แต่นรกยังถูกทำลาย
ART EYE VIEW—ในจำนวนจิตรกรรมฝาผนัง กว่า 700 แห่ง ตามวัดต่างๆทั่วประเทศ ที่สภาพกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต และรอคอยการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน

อ.สมศักดิ์ แตงพันธ์ ผู้คลุกคลีอยู่กับ แวดวงการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังมานานและเป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด ได้ให้ข้อมูลว่า หากเจาะจงลงไปเฉพาะบ้านเกิดของตน ขณะนี้มีจิตรกรรมฝาผนังมากถึง 30 แห่งที่เปรียบเหมือนผู้ป่วยหนักที่รอคอยหมอไปช่วยเยียวยา

ตลอดมานอกจากปัจจัยอันเกิดจากหลังคารั่ว, ความชื้นภายในอาคารและการเป็นที่อาศัยหรือทางเดินของสัตว์ อาทิ ค้างคาว, มด,ปลวก ฯลฯ ที่ส่งผลให้จิตรกรรมฝนัง อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี มีสภาพทรุดโทรม

ปัจจัยอันเกิดจากคนก็มีความสำคัญไม่น้อย นับตั้งแต่ การใช้เทคนิคที่ไม่ถูกต้องของช่างที่เข้ามาทำการอนุรักษ์ในแต่ละครั้ง และการขาดการดูแลอย่างถูกต้องของผู้มีหน้าที่ดูแลจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้

“บางแห่งพระท่านไม่เข้าใจ ก็จะใช้เป็นสถานที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่นทำเป็นที่พักพักอาศัย เดินสายไฟ ไปโดนภาพจิตรกรรม เอานาฬิกา เอาปฏิทินไปแขวนทับ เอาตู้เย็นไปตั้งไว้ใกล้ๆ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปทำความสะอาดผนัง ด้วยการเอาผ้าชุบน้ำไปเช็ดไปถู เพื่อเอาฝุ่นละออง”

ยังไม่นับรวมพวกผู้ใหญ่มือบอน และเด็กมือซน ที่เอาปากกาและดินสอไปขีดไปขีดไปเขียน บ้างสลักชื่อตัวเองลงไป จนปรากฏหลักฐานให้ได้เห็นในจิตรกรรมฝาผนังสำคัญหลายแห่ง แต่ที่หนักไปกว่านั้น คือการถูกทุบทิ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใหม่

“กรรมการหรือหมู่บ้าน อาจจะเห็นพ้องกันว่าอยากได้ใหม่ จากเดิมที่เป็นชุมชนเล็กมีฐานะน้อย พอระยะหลังมีฐานะดี ชุมชนใหญ่ขึ้น มีเงินมากขึ้น พอเห็นโบสถ์มันเล็กไป เขาก็อยากได้โบสถ์ที่มันใหญ่ขึ้น แทนที่จะสร้างใหม่ขึ้นมา คนละจุด ก็ไปสร้างตรงเก่า ก็เลยต้องมีการเอาของเก่าออกไป ทำของใหม่ขึ้นมา ได้ใหม่เสียเก่า”

>>>ทุบทิ้ง 'สร้างใหม่' สร้างผลงานมากกว่า 'ซ่อม'

เพราะในแง่หนึ่งการทำเช่นนี้ เป็นการสร้างผลงานให้เจ้าอาวาสหรือผู้ดูแลได้มากว่า

“เพราะการพยายามอนุรักษ์ให้อยู่ในภาพใกล้เคียงของเดิมในอดีต เหมือนว่าพระท่านไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีผลงาน ในการที่จะส่งผลให้ได้มาซึ่งความดีความชอบ เพราะคะแนนที่จะให้ความดีความชอบถูกให้กับพระที่สร้าง ไม่ใช่ซ่อม เช่น องค์นั้นองค์นี้ได้สร้างศาลาการเปรียญนี้ และมีชื่อท่านติดกับตัวอาคารนั้นเลยว่า ท่านได้สร้าง พระหลายท่านก็เลยค่อนไปทาง สร้างใหม่ เพราะถ้าสร้างใหม่ มันก็จะมีอะไรเข้ามาเยอะ ทั้งเรื่องตำแหน่ง ทรัพย์สินเงินทอง”



เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 54 ยิ่งเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมสภาพย่ำแย่ที่มีอยู่เดิมของจิตรกรรมฝาผนังแต่ละแห่งในอยุธยา
แม้ว่าในแต่ละปี พื้นที่อยุธยาจะเกิดน้ำท่วมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่หนักถึงขนาดท่วมถึงตัวจิตรกรรมฝาผนัง สำหรับบางวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำและมีเรือสัญจรผ่าน อาทิ วัดเชิงท่าเชิง ตลอดระยะเวลาสองเดือนที่น้ำท่วมขังจิตรกรรมฝาผนัง ผู้มีความห่วงใยในศิลปกรรมของชาติจึงทำได้เพียงปิดประตูหน้าต่างไม่ให้แรงกระเพื่อมของน้ำจากการสัญจรของเรือไปกระทบชิ้นงานจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มขึ้นไปอีก

“ปกติแม้ไม่มีน้ำท่วม จะค่อยๆมีปัญหานู้นปัญหานี้ อยู่แล้ว แต่เปอร์เซ็นต์ของความรุนแรงอาจจะพอสู้ได้ แต่พอน้ำท่วม มันไม่ใช่แค่ความชื้นแต่กลายเป็นความเปียกที่มันสร้างปัญหาให้มากกว่า บางที่น้ำขึ้นสูงระดับจิตรกรรมเลย พอน้ำลดตอนแรกเราก็ดีใจว่าจิตรกรรมฝาผนังยังอยู่ เหมือนกับแป้งที่มันยังติดอยู่กับใบหน้าของเรา ขณะที่หน้าเรายังชื้นอยู่
แต่พอผ่านเวลาไป ความชื้นเหล่านั้นมันระเหยไป หลายเดือนเข้ามันก็แห้ง เหมือนกับแป้งที่ติดอยู่หน้าเราที่มันจะร่วงแล้ว หลังน้ำท่วมจิตรกรรมฝาผนังหลายๆแห่งมันเป็นอย่างนั้น ซึ่งค่อนข้างน่าตกใจ”


>>>ขาดแคลน 'งบประมาณ' และ 'นักอนุรักษ์'

ผู้หนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นอุปสรรคและปัญหาในขั้นตอนของการเยียวยาผู้ป่วยที่ชื่อว่า ‘จิตรกรรมฝาผนัง’ ได้เป็นอย่างดีคือ

ขวัญจิต เลิศศิริ นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งก็เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิดเช่นกัน

โดยหลังน้ำท่วมเมื่อปี 54 เธอเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในการเข้าไปสำรวจว่า จิตรกรรมรอบเกาะเมืองของอยุธยามีวัดไหนบ้างที่อยู่ในขั้นวิกฤต ต้องทำการอนุรักษ์เร่งด่วน

“ปรากฏว่าเราสำรวจพบว่ามี 30 กว่าวัดที่เป็นปัญหา มีประมาณ 15 วัดที่วิกฤตหนัก”

หนึ่งในนั้นมี วัดสุวรรณดาราราม วัดประจำราชวงศ์จักกรี รวมอยู่ด้วย ซึ่ง ขวัญจิต บอกเล่าว่าสภาพวัดในขณะน้ำท่วมนั้น น้ำมีระดับสูงท่วมมิดหัว จนสามารถพายเรือข้ามกำแพงแก้วได้

จากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตัวตั้งแต่ยังไม่ได้รับมอบหมาย กระทั่งได้รับมอบหมายและดำเนินการอนุรักษ์ เธอได้สะท้อนให้ฟังว่า อุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งในการอนุรักษ์คือ งบประมาณ

“ต้องยอมรับว่าเงินอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง เราได้น้อยมาก เงินบริจาคน้ำท่วมส่วนใหญ่จะไปลงกับอาคารโบราณสถาน ในส่วนที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ซะมาก แต่จิตรกรรมฝาผนัง ค่อนข้างที่จะได้รับความสนใจน้อย

เป็นเพราะว่าหลายคนก็ยังไม่เข้าใจถึงเรื่องคุณค่า คิดว่าจิตรกรรมฝาผนังเป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งอาคาร แต่จริงๆแล้ว คุณค่ามันมีมากกว่านั้น เพราะว่าจิตรกรรมฝาผนัง มันก็เหมือนกับจดหมายเหตุที่จะบันทึกเรื่องราวของอดีตเอาไว้”

และอีกอุปสรรคที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การขาดผู้ลงมือปฏิบัติ

“เราหาคนที่จะทำงานด้านนี้ค่อนข้างจะยาก หนึ่งด้วยเรื่องของผลตอบแทนที่น้อย คนที่จบศิลปะมาส่วนหนึ่งก็มุ่งไปทำงานศิลปะที่มันทำเงิน ยิ่งนักศึกษาที่จบใหม่ เขาก็ยิ่งไม่ค่อยที่จะสนใจเข้ามาทำงานตรงนี้ การทำงานอนุรักษ์เป็นอะไรที่ต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างจะนาน ต้องละเอียดและมีความอดทนสูง

ตอนที่เปิดโครงการใหม่ๆ ดิฉันขอความร่วมมือไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาอยุธยา ที่ตัวเองเคยเรียน แล้วก็ขอไปที่วิทยาลัยเพาะช่าง เนื่องจากดิฉันเป็นศิษย์เก่าที่นั่นด้วย ขอไปยังอาจารย์ประจำภาควิชาภาพจิตรกรรมไทย ว่ามีเด็กที่จบการศึกษาแล้วแต่ยังไม่มีงานทำไหม ขอคนที่มีคุณสมบัติเหมาะที่จะมาทำงานตรงนี้ มีความรักในงาน มีความอดทน และยินดีที่จะเข้ามาทำงาน ปรากฏว่าได้เด็กจากอาชีวะอยุธยามาคนเดียว

เด็กยุคหลังๆหาคนที่จะทำงานด้วยใจยาก เขาอยากจะไปทำอะไรที่มันทำเงินได้ อยากไปสร้างสรรค์ผลงาน อยากเป็นศิลปิน ดีกว่าที่จะมานั่งซ่อมงานเก่าๆ ก็เลยกลายเป็นปัญหา ขณะนี้เราก็วิกฤตแล้ว ในอนาคตอีกสัก 5 ปี เราจะขาดแคลนอย่างหนัก คนที่จะมาสืบต่องานอนุรักษ์”


>>>ปัญหาศิลปกรรมของชาติ แก้ให้ตก ต้องบูรณาการทั้ง 'ศาสตร์' และ 'ศิลป์'

ในขณะที่ จิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง รวมถึงงานศิลปกรรมในด้านอื่นๆของเมืองไทย อยู่ในสภาพที่ต้องการ การดูแลอย่างเร่งด่วน แต่ขาดทั้งงบประมาณ และผู้ลงมือปฏิบัติ มิหนำซ้ำผู้ลงมือปฏิบัติจำนวนไม่น้อยยังขาดความรู้ความเข้าใจ ต้องอาศัยวิธีครูพักลักจำและการไปดูงานเพื่อกลับมาทำงานอนุรักษ์แบบตามมีตามเกิด

รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน อาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความรู้ว่า ในระดับสากลและในหลายประเทศ ได้มีพัฒนาการไปถึงขั้นสร้างนักอนุรักษ์เพื่อมาทำงานด้านนี้โดยตรง

“หลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ได้มีความคิดว่า การอนุรักษ์ที่ถูกต้องคือ การรักษาสภาพ ณ ปัจจุบันของงานศิลปะให้คงอยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์จะมีความระมัดระวังมากเลยที่เดียว ยกตัวอย่างเช่น วัสดุต้องใช้ที่มีความใกล้เคียงกับวัสดุเดิมให้มากที่สุด เช่น กาว หรือสีที่ใช้ในการซ่อม ต้องเป็นสีที่สามารถลบหรือเอามันออกโดยที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับส่วนที่ของดั้งเดิม เขาเรียกว่ากาอนุรักษ์แบบนี้ว่า การอนุรักษ์ซ่อมสงวน (Preventive Conservation)

โดยหน่วยงานที่ดูแล เป็นหน่วยงานของรัฐ เหมือนกรมศิลปากรของบ้านเรา แต่ว่าความแตกต่างจากบ้านเราคือ อาชีพนี้ได้รับการต่อสู้จนมีความสำคัญเทียบเท่ากับอาชีพอื่นๆ และมีการเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และเอก ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เรียน แค่ประมาณระดับ ปวช.หรือ ปวส.เท่านั้นเอง แต่เดี๋ยวนี้ถูกยกวิทยฐานะให้สูงขึ้น มีการเรียนในมหาวิทยาลัย มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ผ่านการทดลองค้นคว้ามาเรียบร้อยแล้ว แล้วก็แน่ใจว่า ใช้แล้วจะไม่สร้างความเสื่อมหรือความเสียหายให้กับงานศิลปะ เพราะฉะนั้นวิชาชีพมันก็เลยมีความสำคัญ จะต้องมีการเรียนอย่างจริงๆจังๆ ไม่ใช่เรียนแบบครูพักลักจำต่อไป

และการทำงานหรือการอนุรักษ์งานชิ้นหนึ่งเนี่ย มันจะประกอบไปด้วยคนจากหลายสาขาอาชีพที่เป็นการบูรณาการศาสตร์หลายสาขาและศิลปะเข้าด้วยกัน และเขาพัฒนาจนกระทั่งมีหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับที่จะสร้างคนในสายงานอาชีพขึ้นมา ในขณะที่บ้านเรา จริงอยู่ แม้เราจะมีการอนุรักษ์แต่ว่าคนที่อนุรักษ์กลับเรียนจบมาจากสาขา จิตรกรรมมาบ้าง ประติมากรรมบ้าง แล้วคนเหล่านี้เวลาเข้ามาทำงานในกรมศิลปากรก็จะอาศัยภูมิความรู้จากรุ่นพี่ หรือไม่ก็ได้มาจากการไปดูงาน แล้วก็เรียนรู้ด้วยตัวเองจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการอนุรักษ์งานศิลปะ เพราะฉะนั้นจะต่างกับต่างประเทศตรงที่ว่า เรายังไม่มีสาขาวิชานี้เรียนในประเทศไทยเลย ดังนั้นเราควรจะเริ่มมี”

เพื่อที่ว่าเมืองไทยจะได้ได้มีนักอนุรักษ์ที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง มาช่วยแก้ไขปัญหาด้านศิลปรรรมของชาติให้ตกผลึก

(จากซ้าย) รศ.ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน,ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ วิจิตรเวชการ ,ขวัญจิต เลิศศิริ และ อ.สมศักดิ์ แตงพันธ์
>>> วิศวะฯ ม.ศิลปากร ร่างหลักสูตร สร้าง 'นักอนุรักษ์ซ่อมสงวน'

จากการได้รับรู้ข้อมูลจาก รศ.ดร.กฤษณา บ่อยครั้งเข้า เป็นแรงบันดาลใจให้ ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ วิจิตรเวชการ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เกิดแรงบันดาลใจในการร่างหลักสูตรเพื่อให้มีการเรียนการสอนเพื่อสร้าง ‘นักอนุรักษ์ซ่อมสงวน’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ขณะที่เกิดความคิดร่างหลักสูตร เมื่อปี 54 ยังจัด สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘การอนุรักษ์ซ่อมสงวนภาพจิตรกรรมฝาผนังจากการถูกทำลายด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อม' พร้อมกับนำผู้เข้าร่วมสัมมนาลงพื้นที่เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตรกรรมฝาผนัง ในวัด 7 แห่ง ของ จ.เพชรบุรีและสมุทรสงคราม

ต่อเนื่องมาถึงปี 56 จึงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อเดียวกันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการนำผู้เข้าสัมมนาลงพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตรกรรมฝาผนัง ในวัด 9 แห่งของ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ๆมีความร่ำรวยในด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ ของพื้นที่ๆมีจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกทำลาย ด้านหนึ่งเพราะเพิ่งผ่านช่วงเวลาของการถูกทำลายเพราะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 มาได้ไม่นาน

ผศ.ดร.เจษฎาวรรณ ได้กล่าวถึงจุดเริ่มของการร่างหลักสูตร เทคโนโลยีการอนุรักษ์ซ่อมสงวน’ และความคืบหน้าว่า

“คณะเราเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แต่เป็นคณะที่อยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิศวกรรมมีตั้ง 70 แห่งในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เราจึงพยายามที่จะมองหาอัตลักษณ์ของตัวเอง หาจุดยืนของตัวเองว่าจะฉีกแนวออกไปทางแนวไหน ซึ่งดูไปดูมาก็ไม่พ้นว่าเราอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร จุดเด่นของมหาวิทยาลัยศิลปากรก็รู้ๆกันอยู่ก็คือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทางศิลปะ เราก็เลยคิดว่า หลักสูตรที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์กับศิลป์เข้าด้วยกัน

เผอิญว่าเราได้แรงบันดาลใจจาก รศ.ดร.กฤษณา ท่านก็ได้เปรยๆว่า เมืองไทยยังไม่เคยมีหลักสูตรที่สร้างนักอนุรักษ์ที่มีความรู้ความเข้าใจตามหลักสากล ต่อมาจึงได้เกิดร่วมมือกันของอาจารย์จากหลายภาควิชา ที่มีใจรัก และเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ศิลปกรรรมทั้งหลาย อาทิ วิศวกรรมโยธา, เทคโนโลยีชีวภาค, จุลชีววิทยา, สถาปัตย์ ,ทฤษฎีศิลป์ ฯลฯ มารวมกลุ่มกัน ทำหลักสูตรชื่อว่า ‘เทคโนโลยีการอนุรักษ์ซ่อมสงวน’ ซึ่งคิดว่า จะเปิดในระดับ ปริญญาโทมหาบัณฑิต ก่อน

ขณะนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศิลปากรเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้กำลังยกร่างอยู่ มีคณะกรรมการร่างหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว กำลังทำการยกร่าง คาดว่าจะเปิดสอนปี 2557 หรือถ้าไม่ทันจริงๆ ก็จะเปิดในปี 2558 แน่นอนค่ะ”

กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้ เปิดกว้างให้กับทั้งผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปะที่ต้องการศึกษาเพิ่มทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในเรื่องการอนุรักษ์ รวมทั้งคนที่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์แต่สนใจทางด้านอนุรักษ์อยากจะศึกษาเพิ่มเติม

“ดิฉันคิดว่าหลักสูตรนี้จะเป็นจัดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์ซ่อมสงวนอย่างถูกต้อง เพราะอย่างที่บอกไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน และนักอนุรักษ์ที่เรามีอยู่ ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องการอนุรักษ์ค่อนข้างสูงมาก หลายๆคนมีความหวังดี อยากจะอนุรักษ์ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง กลับกลายไปทำลาย และประการที่สอง พอพูดถึงการอนุรักษ์ศิลปกรรมคนก็มักจะมองว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของศาสตร์ทางด้านศิลปะล้วนๆ แต่ในความเป็นจริงการอนุรักษ์ที่ทำจะทำให้เกิดประสิทธิผล คือ มีการผนวกเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนยีเข้ามาใช้ด้วย และ ในต่างประเทศการเรียนการสอนในเรื่องนี้จะอยู่ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่ด้านศิลปะ”

**ขอบคุณ ภาพน้ำท่วมอยุธยา โดย ขวัญจิต เลิศศิริ



รอยจารึกของ นายปรีชามือบอน


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It