ART EYE VIEW—บุคลิกภายนอกที่ดูเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง ใช่ว่าใครบางคนจะกล้าแสดงออกในทุกสิ่งที่ใจปรารถนา ต่อสาธารณชน
เขาหรือเธอจึงต้องเก็บซ่อนปรารถนานั้นๆไว้เบื้องหลัง และ เปิดโอกาสให้มันได้ปรากฎตัว คล้ายดั่งเงาที่ติดตามร่างกายไปไปทุกหนทุกแห่งเพียงเท่านั้น
แม้บ่อยครั้งที่พร้อมจะแสดงตัวตนบางอย่าง แต่ก็มีบ่อยครั้งอีกเช่นกันที่บางคนต้องหยุดชั่งใจตัวเองว่าการกระทำนั้นๆถูกหรือควร เหตุเพราะวิธีการเลี้ยงดูและวัฒนธรรมที่ถูกหล่อหลอมมา
ศิลปะถูก โอปอล์ – กฤษฎางค์ อินทะสอน ศิลปินรุ่นใหม่ วัย 27 ปี ใช้เป็นสื่อในการเปิดเผยความปรารถนาที่ตนเองเคยเก็บซ่อน หมายรวมถึงความปรารถนาในฐานะเพศที่ 3 คนหนึ่งด้วย
เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่ของปรารถนาทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นของเธอเอง และพร้อมจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัส ได้รับชม ผ่าน 'บุษบาซ่อนเงา' นิทรรศการแสดงเดี่ยวศิลปะครั้งแรกของเธอ
“งานชุดนี้ คือตัวตนและจินตนาการภายในของเรา ที่ไม่สามารถเปิดเผยหรือแสดงออกได้ ต่อสังคมในโลกของความเป็นจริง ซึ่งถูกล้อมกรอบด้วยกฎเกณฑ์บางอย่างของวัฒนธรรมเก่าๆ หรือสิ่งที่เราเคยถูกปลูกฝังมา เป็นสิ่งที่เราอยากจะเปิดเผย เป็นจินตนาการที่เรารู้สึกกับมัน และได้แสดงออกผ่านงานชุดนี้”
>>>บุษบาบันลือโลก
โอปอล์เลือกนำรูปแบบงาน 'จิตรกรรมพื้นบ้านของล้านนา' ที่ตนมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเป็นคนเชียงราย มาใช้นำเสนอเรื่องราวที่ต้องการสื่อ อีกทั้งในช่วงที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอได้สัมผัสและศึกษางานจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนา ที่ปรากฎให้เห็นในหลายจังหวัดของวัดทางภาคเหนืออย่างลึกซึ้ง ไม่เฉพาะแต่ที่บ้านเกิดของตนเอง
“คุณพ่อเป็นสล่ารับเหมาสร้างวัดสร้างวิหาร เราก็เลยผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นความผูกพันที่มันค่อยๆซึมซับเข้ามา ไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง บวกกับยุคสมัยที่เราเจริญเติบโตขึ้นมา มีเรื่องของสื่อ เทคโนโลยี และการ์ตูนเข้ามา เราก็เลยเอาความสนุกสนานที่เราซึมซับผ่านสื่อต่างๆ มาผสมผสาน สร้างเป็นผลงาน”
ดังนั้นผลงานชุดนี้ของเธอ (ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่สอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร จนถึงปัจจุบัน) จึงอาจกล่าวได้ว่า คือรูปแบบ 'งานจิตรกรรมไทยภาคเหนือร่วมสมัย' เพราะเป็นการนำรูปแบบการนำเสนองานของคนในยุคก่อนมาถ่ายทอดเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
'ตัวนาง' ที่ปรากฏในภาพแต่ละภาพ คือ ' บุษบา' ที่ศิลปิน เขียนขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของตัวเอง ในภาคที่กล้าเปิดเผยตัวตนภายในออกมา
เธอจึงอาจไม่เรียบร้อยดังเช่นตัวนาง ที่เคยพบในภาพจิตรกรรมฝาผนัง 'ปู่ม่านย่าม่าน' ณ วัดภูมินทร์ จ.น่าน ซึ่งนักท่องเที่ยวพากันเรียกติดปากว่า 'ภาพกระซิบรักบันลือโลก'
อีกทั้งยังกล้าสักลายลงไปบนเนื้อตัว ซึ่งโอปอล์กล่าวว่าไม่ใช่วิถีที่หญิงสาวล้านนาในสมัยก่อนจะนิยมทำกัน
“ผู้หญิงล้านนาเมื่อก่อน เขาจะไม่นิยมสัก การสักลายลงไปบนตัวไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง แต่เป็นเรื่องของชายชาตรี แต่ในผลงานชุดนี้ เขียนลายสักลงบนตัวนาง เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้หญิงที่มีความกล้าแกร่งหรือมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่
เพราะผู้หญิงซึ่งเป็นตัวหลักในผลงาน คือตัวแทนของเราเอง แต่เป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งหนึ่ง ที่ซ่อนอยู่ภายใน ไม่ได้แสดงออกต่อสังคม แต่แสดงออกผ่านผลงาน”
และหากจะถามว่าหญิงสาวในภาพมีบุคลิกหรือนิสัยใจคอที่ศิลปินจินตนาการให้เป็นอย่างไรบ้าง เหล่านี้คือคำนิยามคร่าวๆเกี่ยวกับเธอ
“เป็นตัวตนอีกด้านหนึ่งที่มันขัดแย้งกับตัวจริงของเรา ซึ่งจะเป็นคนนิ่งๆเงียบๆ มากกว่า และ ค่อนข้างจะมีความคิดหัวโบราณนิดๆ ถึงแม้ว่าการแต่งตัวจะดูเปรี้ยว เราอาจจะติดมาจากสิ่งที่เราเคยถูกสอนถูกเลี้ยงดูมา ก็เลยทำให้เรามีความคิดแบบนั้น ซึ่งมันจะแตกต่างจากตัวนางในผลงาน ที่เป็นผู้หญิงที่ดูสนุกสนาน น่ารักๆ แรดๆนิดนึง
ตัวตนของเราเป็นคนนิ่งๆเงียบๆแต่ความจริงภายในเราก็อยากจะสนุกสนาน อยากจะไปแรดๆแบบนี้มั่ง แต่มันทำไม่ได้ที่อยู่ดีๆจะไปกระโดดเกาะผู้ชาย เราก็เลยสื่อออกมาผ่านงานดีกว่า”
>>>ภาพวาดบนแผ่นไม้ สานต่อกลิ่นอาย จิตรกรรมพื้นบ้านล้านนา
การเลือกนำรูปแบบจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนา มานำเสนอเรื่องราว ด้านหนึ่ง ศิลปินอยากจะร่วมอนุรักษ์ศิลปกรรมที่มีคุณค่าของคนในยุคก่อนเอาไว้ ให้กลิ่นอายยังหลงเหลือตกทอดไปยังคนอีกหลายรุ่น
“ กาลเวลาทำให้งานศิลปกรรมเหล่านี้ มันบุบสลายไปเรื่อยๆ มันเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพัฒนาต่อเพื่อไม่ให้ถูกหลงลืมไป เราก็เลยเลือกเอารูปแบบงานจิตรกรรมพื้นบ้านของล้านนา มาใช้เล่าเรื่อง
อยากจะดึงให้เด็ก เยาวชน หรือคนยุคเราหันมาสนใจจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนามากขึ้น ไม่ใช่ไปปลูกฝังเขาด้วยคำพูดแค่ว่าบ้านเรายังมีของเก่าอยู่นะ พยายามเอายุคสมัยหรือว่าสิ่งที่เราดำเนินชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบัน ผสมเข้าไป เพื่อที่เขาเกิดความสนใจ
หรืออย่างพวกตัวอักษรล้านนาที่เขียนลงไปในภาพ เดี๋ยวนี้ก็หายากแล้ว คนที่จะอ่านออกเขียนได้ ตัวอักษรเป็นส่วนหนึ่งที่เราอยากทำให้คนสงสัยหรืออยากรู้ว่าเราเขียนอะไรลงไปแต่ไม่บอกความหมายไว้ เป็นเหมือนอุบายให้เขาเกิดความสนใจ ถ้าอยากรู้ ต้องไปศึกษาเพิ่ม”
ผลงานบางชิ้นถูกเขียนลงบนแผ่นไม้ เพราะต้องการให้ผู้ชมนึกถึงหรือสัมผัสกลิ่นอายของงาน จิตรกรรมพื้นบ้านล้านนาบางแห่งที่คนยุคเก่าฝากไว้ และส่วนหนึ่ง เพราะศิลปินได้หวนนึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งวัยเด็กของตัวเองที่เติบโตมาในบ้านไม้
“เคยเห็นงานจิตรกรรมบนแผ่นไม้เยอะมาก เช่น วัดที่ลำปาง และเป็นความผูกพันที่เราเคยอาศัยอยู่บ้านไม้มาด้วย บ้านซึ่งมีช่องลมที่ฉลุเป็นรูปดาว หรือประตูบานพับต่างๆที่ทำจากไม้ มันเป็นสิ่งที่เราผูกพัน ซึมซับมา เราก็เลยนำมาใช้”
ลายเส้นที่ปรากฎในผลงาน สะท้อนว่าศิลปินได้ผ่านการฝึกฝนการวาดเส้นมาเป็นอย่างดีและได้รับอิทธิพลจากยุคสมัยที่เติบโตมา
“ส่วนหนึ่งมันคือลายเส้นของการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะเราโตมากับสื่อเหล่านี้ ตื่นเช้ามาก็ดูการ์ตูนแล้ว และหัดวาดมาตั้งแต่เด็ก จำความได้ก็จับปากกาวาดการ์ตูนเลย เห็นการ์ตูนอยู่ในทีวีก็จะจำได้วาดได้ มันทำให้เรามีความมั่นใจ ลายเส้นของคนอื่นเขาอาจจะค่อยๆเขียนให้เนี๊ยบๆค่อยๆบรรจง แต่ของเราจะดูฉับพลัน กระชากเส้นตามอารมณ์และความรู้สึกของเรา”
ส่วนสีที่ใช้ ได้รับอิทธิพลมาทั้งจากจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนา และการ์ตูนที่เคยดู
“สีที่ใช้จะหนักไปทางจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้านล้านนา คนโบราณเมื่อก่อนจะมีสีใช้อยู่ไม่กี่สี มีสีแดงชาดจากประเทศจีน ,สีน้ำเงินเฉดอุลต้ามารีน,เขียวสนิมทองแดง ,สีเหลืองหรดาน ,สีขาว และ สีดำ มีเท่านี้แหล่ะที่เราเคยศึกษามา ซึ่งโทนสีพวกนี้มันมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ในงานจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนา เราก็เลยดึงมาใช้ในงานเป็นหลัก
ส่วนสีสันอื่นๆที่ดูสนุกสนาน เช่น สีเขียวแปร๊ดๆ, สีเหลือง, สีส้ม ฯลฯ มันก็มาจากพวกตัวการ์ตูน ซึ่งเขาใช้เทคนิคการลงสีเป็นระนาบ ไม่เน้นให้เป็นสามมิติ เน้นแค่เป็นตัวการ์ตูนสองมิติ ที่สามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้”
>>>เป็นฉันมันผิดตรงไหน?
นี่คือผลงาน จิตรกรรมไทยภาคเหนือร่วมสมัย ที่สร้างสรรค์ขึ้น ในฐานะ ”ฉันก็เป็น… ศิลปินคนหนึ่ง” ของ โอปอล์- กฤษฎางค์ อินทะสอน
และเหมือนจะตั้งคำถามไปด้วยในตัวว่า “เป็นฉันมันผิดตรงไหน ?” เพราะ แม้สังคมไทยในปัจจุบัน จะเริ่มเปิดใจยอมรับในเพศที่ 3 แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว โอปอล์มองว่าคนกลุ่มนี้ ยังถูกต่อต้านอยู่ลึกๆ
“อาจจะมีบ้างที่เขาให้การยอมรับ แต่ว่าบางทีมันก็ยังมีการแอนตี้หรือต่อต้านอยู่ลึกๆในจิตใจของคนบางกลุ่ม บางครั้ง เพศที่ 3 ก็ยังถูกนำไปล้อเลียน หรือเป็นสัญลักษณ์ของความตลกขบขัน
มีบางเหตุการณ์ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน เราจึงพยายามแสดงออกผ่านงาน เพื่อยืนยันถึงความมีตัวตนของเราอยู่”
Text : ฮักก้า Photo : วารี น้อยใหญ่
นิทรรศการ บุษบาซ่อนเงา (The Mysterious Flower)
โดย กฤษฎางค์ อินทะสอน วันนี้ – 31 สิงหาคม พ.ศ.2556
ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ อาคาร เดอะสีลมแกลเลอเรีย กรุงเทพฯ โทร.0-2630-2523
รู้จัก… กฤษฎางค์ อินทะสอน
เกิดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการศึกษากฤษฎางค์ ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการต่างๆมากมาย เช่น นิทรรศการ“การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ” ,นิทรรศการ “จิตรกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค”, นิทรรศการ ”จิตรกรรมเอเชีย พลัส“,นิทรรศการ “พันธนาการ กับคำลวงที่หอมหวาน” ณ One East Asia art space ประเทศสิงคโปร์,นิทรรศการ “ศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต”, นิทรรศการ “ศิลปกรรม ปตท.”
และได้รับรางวัลต่างๆมากมายหลายเวที อาทิ รางวัลสนับสนุน โดยธนาคารกรุงไทย, รางวัลที่ 2 “ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 59,รางวัลดีเด่น“จิตรกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค ครั้งที่ 15”,รางวัลดีเด่นการประกวด“จิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 3”,รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 “จิตรกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค ครั้งที่ 14 , รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง “จิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 34”,รางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน “ศิลป์ พีระศรี ศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 28
นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาดูงานศิลปะ นิทรรศการเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลีและเคยเป็นตัวแทนนักเรียนแลกเปลี่ยน ระหว่างคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ The college of arts, Hue university เมือง Hue ประเทศเวียดนาม
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.