Art Eye View

Art Learning เพิ่มวิตามิน C และ E ให้เด็กๆประถม สาธิตจุฬาฯ

Pinterest LinkedIn Tumblr

น้อง ป.1 ครับ ถ่ายภาพกับผลงานพี่ชาย
ทะเลสีดำ ไม่มีแสงไฟ
มองไม่เห็นทาง… เธอกลัวหรือไม่
ได้ยินเสียงเธอ จะกลัวอะไร
จับมือฉันไว้ ฉันก็อบอุ่นหัวใจ

ART EYE VIEW—เสียงเพลง “ทะเลสีดำ” ที่เคยได้รับความนิยมและเราเคยคุ้นหูในฐานะเพลงประกอบละครอยู่ระยะหนึ่ง ถูกขับร้อง คลอเสียงกีตาร์ ให้ฟังกันสดๆ โดย ต้า Paradox และเด็กหญิงชายวัยที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาหลายคน

นอกจากจะสร้างความสุขให้กับผู้ที่ได้รับฟัง และอดยิ้มไปด้วยไม่ได้กับภาพปรากฎอยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นภาพที่เด็กๆได้ใช้เวลาแห่งความสุขร่วมกันกับนักร้อง,นักดนตรีของวงที่มีชื่อเสียงวงหนึ่งของไทย และยังมีสถานภาพเป็นครูสอนศิลปะ ศิษย์เก่าของโรงเรียน รุ่นพี่ของเด็กๆด้วย ทันทีที่เพลงจบลง ผู้ปกครองหลายคนที่ยืนชมและเชียร์อยู่ใกล้ๆ จึงอดไม่ได้ที่จะตะโกนออกไปหน้าเวทีว่า “เอาอีก เอาอีก”

คือบรรยากาศส่วนหนึ่งของพิธีปิด โครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) ปีการศึกษา 2557และมอบสัมฤทธิบัตรแก่นักเรียนในโครงการ ที่ผ่านมาเมื่อวันจันทร์นี้ ณ ชั้น 4 อาคารบริหารและปฏิบัติการ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม

ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียน ศิลปินที่ถูกเชิญมาเป็นวิทยากรในโครงการฯ หัวหน้าโครงการฯ อาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียนหลายร้อยคนมาร่วมงาน ท่ามกลางการจัดแสดงผลงานศิลปะของนักเรียน อันเป็นผลมาจากการได้เข้าร่วมโครงการตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา
 
 


เรียนรู้ศิลปะ แค่ในชั้นเรียนคงไม่พอ
 
สมใจ จงรักวิทย์ อาจารย์สอนศิลปะ และประธานโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) บอกเล่าว่า โครงการฯ ได้เริ่มต้นขึ้นเล็กๆ เมื่อประมาณปี 2554 โดยการคัดเลือก นักเรียน จำนวน 15 คน ซึ่งเรียนศิลปะกับตน และมองว่ามีแววทางด้านศิลปะ มาเรียนรู้ศิลปะเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน ซึ่งมองว่ายังไม่เพียงพอ

“ตอนนั้นเรากำลังจะเตรียมงานศิลปะของนักเรียน เพื่อไปแสดงที่หอศิลป์ และได้คุยกับผู้ปกครองของนักเรียน คุณแม่ท่านหนึ่งได้ถามว่า อาจารย์ไม่เปิดสอนพิเศษศิลปะบ้างหรือคะ ซึ่งดิฉันก็เคยคิดอยู่แหมือนกัน แต่ยังไม่มีเวลา แต่คิดมากกว่านั้นคือ เราน่าจะพัฒนาเด็กในกลุ่มที่เขามีความสนใจศิลปะจริงๆ ให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปะ ในขั้นที่สูงขึ้นไป เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากรู้อยากลอง เพราะการเรียนศิลปะ ในเวลาเรียนปกติ มันยังไม่พอ เขาน่าจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมหลังเลิกเรียน อะไรประมาณนี้

แรกเริ่มดิฉันคัดเลือกเด็ก ป.4 กับ ป.6 ที่ตัวเองมีหน้าที่สอน มาเรียนรู้ก่อน โดยคัดจากคะแนนสัมฤทธิ์ผลการเรียน และความสนใจเกี่ยวกับศิลปะของพวกเขา ซึ่งมีอาจารย์ท่านอื่นๆร่วมประเมินด้วย

แล้วจัดกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปะให้แตกต่างจากที่เรียนในชั้นเรียน มีวัสดุอุปกรณ์และเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงานมาให้เด็กๆ เลือกใช้มากขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของการทำงานศิลปะให้มากขึ้น

ช่วงแรกๆเราก็สอนกันเองก่อน หลังจากนั้น ประมาณปี 55-56 ก็เชิญวิทยากร ซึ่งเป็นอาจารย์และศิลปิน ผู้มีความรู้ในด้านเทคนิคการทำงานศิลปะในขั้นสูง หมุนเวียนมาช่วยสอน และปรับการสอนให้เหมาะกับเด็กๆ”


ศิลปะเด็กประถม แต่ระดมวิทยากรมืออาชีพ

จากนักเรียนจำนวน 15 คน ในระยะเริ่มต้น ปัจจุบัน มีนักเรียนที่สนใจและผู้ปกครองยินดีให้เข้าร่วมโครงการฯ มากถึง 150 คน โดยเป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 2 -6 ซึ่งบางคนนั้นเข้าร่วมโครงการมาตั้งยังเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 2 กระทั่งเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ยังเข้าร่วมโครงการอยู่

เพราะนอกจากนักเรียนจะได้เรียนรู้ศิลปะหลากหลายวัสดุและเทคนิคเพิ่มเติม ในช่วงหลังเลิกเรียน กับวิทยากรหลายท่าน ยังได้มีโอกาสไปวาดภาพนอกสถานที่ และชมผลงานศิลปะตามหอศิลป์ต่างๆ โดยมีวิทยากรที่มีความรู้เป็นผู้นำชม

ตัวอย่างวิทยากร 6 ท่าน ที่ถูกเชิญมาเป็นวิทยากรของโครงการในปีการศึกษา 2557 ได้แก่

รองศาสตราจารย์สัญญา วงศ์อร่าม จากภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความรู้ในด้านลายไทย จิตรกรรมไทยและประติมากรรมไทย วัยกว่า 70 ปี และยังเป็นประติมากรที่มีชื่อเสียงในด้านการปั้นครุฑที่ใช่เป็นสัญลักษณ์ของอาคารสำคัญๆของทางราชการหลายแห่ง ซึ่ง รศ.สัญญา ได้นำกิจกรรมศิลปะไทยมาสอนนักเรียน เช่น การลอกลายไทยแบบโบราณ การเขียนลายไทยด้วยพู่กันหนวดหนู การลงรักปิดทอง เป็นต้น ทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ใหม่ๆทางด้านศิลปะ และเห็นคุณค่าความสำคัญของศิลปะไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดไว้

“ท่านอาจารย์สัญญา มาสอน ไม่น่าเชื่อว่าเด็กให้ความสนใจมาก ถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น จดจำได้ และพูดถึง”

รองศาสตราจารย์สมโภชน์ ทองแดง จากภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมไทย เป็นผู้สอนวิชาวาดเส้น และวาดเส้นขั้นสูง วิชาจิตรกรรมและจิตรกรรมขั้นสูง วิชาศิลปะวิจารณ์ทั้งในระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิต โดย รศ. สมโภชน์ได้มาสอนนักเรียนเกี่ยวกับการเขียนภาพด้วยสีอะคริลิคบนผ้าใบและการเขียนภาพด้วยสีชอล์คฝุ่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิชาต พลประเสริฐ จากภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมและภาพพิมพ์ เป็นผู้สอนวิชาภาพพิมพ์สำหรับครูและวิชาเกี่ยวกับศิลปะอื่นๆทั้งทฤษฎีและปฏิบัติในระดับปริญญาตรี,โท และเอกในหลักสูตรไทยและนานาชาติ ผศ.ดร.อภิชาติ ได้มาสอนนักเรียนเกี่ยวกับการพิมพ์ภาพ และการวาดภาพตามแนวทางศิลปิน

อาจารย์ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเขียนภาพด้วยสีน้ำ ทั้งภาพทิวทัศน์ และภาพบุคคล รวมทั้งการสอนสีน้ำสำหรับเด็ก อ.ศุภวัฒน์ ได้มาสอนนักเรียนเรื่องการวาดภาพสีน้ำ

อาจารย์ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ภัณฑารักษ์ที่มีชื่อเสียงในด้านการบรรยายและนำชมงานศิลปะ ซึ่งได้นำนักเรียนในโครงการฯนำชมงานศิลปะและบรรยายเกี่ยวกับงานศิลปะให้นักเรียนได้ชมและฟังอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะและสามารถพัฒนาการรับรู้ในด้านสุนทรียะได้เป็นอย่างดี

และอาจารย์อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา หรือ ต้า แห่งวงดนตรี Paradox นักร้อง, นักดนตรี ซึ่งเป็นศิษย์เก่าสาธิตจุฬาฯ จบการศึกษาจากภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเคยเป็นอาจารย์ที่สาธิตจุฬาฯหลายปี ซึ่งได้มาสอนศิลปะให้กับนักเรียนในโครงการฯ ให้มีความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน ด้วยการบูรณาการและผสมผสานศิลปะและดนตรีเข้าด้วยกัน
 
สนับสนุนศิษย์เก่าโดดเด่น เป็นต้นแบบ

“ตัวต้าเองเรียนศิลปะมา และปัจจุบันก็ยังวาดรูปค่ะ งานศิลปะอยู่ในตัวเขาอยู่แล้ว และเขาทำงานเพลงเหมือนทำงานศิลปะ เขาไม่ถึงกับเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปศึกษา แต่ตัวเขาเองมีศิลปะอยู่ในตัวเอง

การเชิญเขามา สวนหนึ่งเราต้องการให้เค้าได้เป็นต้นแบบของนักเรียน และตอนเด็กๆ เขาได้รางวัลทางศิลปะเป็นประจำ ทั้งจากกระทรวงและนานาชาติ เราอยากให้เห็นว่าตัวตนของต้าเป็นศิลปะ เขาทำดนตรี แต่พื้นฐานเขามีศิลปะ

แล้วตอนเขามาสอนศิลปะเขาทำได้อย่างดีนะคะ เขาคิดหัวข้อที่เด็กๆชอบ น่าสนใจ มีการเพิ่มเติมเรื่องของเพลงเข้ามา เด็กๆก็ผ่อนคลาย เป็นครั้งแรกที่ต้ามาสอน”

อาจารย์สมใจ ผู้บอกว่าเคยเป็นอาจารย์ของต้า นับตั้งแต่ที่นักร้องหนุ่มยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วย กล่าวเพิ่มเติม และบอกด้วยว่าโครงการในปีการศึกษาต่อไป อาจารย์ต้าก็ยังจะถูกเชิญมาเป็นวิทยากรของโครงการ ขณะที่อาจารย์ต้าก็ได้บอกกับนักเรียนและผู้ปกครองในวันปิดโครงการฯ ด้วยว่า

“ศิลปะอยู่ทุกที่ น้องๆสามารถเอาศิลปะไปใช้กับอย่างอื่นก็ได้ โครงการศิลปะฯ ในปีนี้ แม้จะจบไปแล้ว แต่เราก็ยังสามารถวาดภาพได้ วาดอะไรก็ได้ อย่างทุกวันนี้พี่ต้าก็ยังวาดภาพอยู่ วาดไปเรื่อยๆ แล้วอยากฝากผู้ปกครองด้วยว่า ให้เก็บภาพของเด็กๆไว้ให้ดี เพราะในอนาคตจะเป็นภาพที่มีคุณค่ามากๆ”


Art Learning เพิ่มวิตามิน C และ E

ตลอดมาแนวทางการเรียนรู้ศิลปะของของนักเรียนในโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ (Art Learning) ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการแข่งขัน แต่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการสร้างสรรค์และอารมณ์ ซึ่งตรงกับสิ่งที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทินกร บัวพูล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวว่า เป็นโครงการที่ช่วยเติมวิตามิน C และ E ให้กับนักเรียน นั่นคือ Creative และ Emotion

และที่ผ่านมาผลงานของนักเรียนเคยถูกนำไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการทั้งที่หอศิลป์จามจุรีและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“เราไม่ได้เน้นเรื่องการแข่งขัน แต่หวังว่า ความชื่นชม หรือการแสดงความยินดีที่นักเรียนได้รับจากผู้อื่นจะทำให้เด็กๆพัฒนาตัวเอง ในด้านความมั่นใจ อารมณ์ สังคม เราเน้นว่าเรียนรู้แล้วมีความรัก มีความสุข สนุกสนาน

รวมทั้งพาไปชมหอศิลป์ และวาดภาพนอกสถานที่ เช่น ไปวาดภาพที่ริมแม่น้ำ วาดภาพในวัด เพราะต้องการให้เขาซึมซับ บรรยากาศ สภาพแวดล้อม ก่อนจะลงมือทำงานศิลปะ”

และไม่เพียงแต่นักเรียนจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการฯ แม้แต่อาจารย์ที่ร่วมทำโครงการฯ ก็พลอยได้รับประสบการณ์ใหม่ๆเพื่อนำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนศิลปะของตัวเองต่อไป

“นอกจากทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ครูเองได้ประสบการณ์การสอนใหม่ๆ หรือบางทีก็ได้รับจากวิทยากรที่เชิญมาด้วย

เพราะสมัยที่ยังไม่ได้ทำโครงการฯ เราไม่เคยได้นำเด็กไปดูงานที่หอศิลป์ แต่พอได้ทำ เราจึงคิดว่า ต่อไปนี้เราต้องหาโอกาสพาเด็กไปดูนะ มันมีหลายอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามา รู้สึกว่าการสอนศิลปะมันสมบูรณ์ขึ้น จากปกติที่สอนแค่ขั้นพื้นฐาน แต่พอมีโครงการฯ ขึ้นมา เรารู้สึกว่าเราให้เด็กได้รอบด้าน ให้เด็กได้เต็มที่”

เสียงสะท้อนจากนักเรียนและผู้ปกครอง

ด.ช.ชัยธรภัทร์ ศุภเกียรติบัญชร หรือ น้องเบสบอล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/5 เจ้าของรอยยิ้มฟันกระต่าย นอกจากอวดภาพวาดนกของตัวเองให้ชม ยังบอกถึงความสนุกที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ

“ได้เรียนรู้เรื่องการวาดภาพสิ่งต่างๆที่แตกต่างไปจากปกติที่เคยวาด เพราะก่อนหน้านี้ ผมวาดแต่ภาพการ์ตูน แต่โครงการฯ นี้ พาไปวาดภาพธรรมชาติ ตัวอย่างเช่นภาพนกภาพนี้ และพาออกไปวาดนอกสถานที่”

ขณะที่ ด.ช.นัทพล โกมลารชุน หรือ น้องกาโม่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/7 บอกว่าชอบกิจกรรมพาดูงานศิลปะตามหอศิลป์ต่างๆมากที่สุด

“เพราะได้ชมงานศิลปะและ มีวิทยากรบรรยายให้ความรู้ เช่นตอนที่ไปชมศิลปะที่ MOCA และ BACC”

นอกจากนี้ในวันปิดโครงการฯน้องกาโม่ยังวาดภาพมามอบเป็นของขวัญให้ครูต้าด้วย เมื่อถามว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไร เด็กชายตอบว่า

“ผมวาดภาพพี่ต้า เป็นหุ่นยนต์เพราะผมชอบวาดภาพหุ่นยนต์และเวลาไปออกงานตามที่ต่างๆ ผมชอบรับจ้างวาดภาพรูปคนให้เป็นหุ่นยนต์”

ด้าน ศุภณัฐ โกมลารชุน คุณพ่อของน้องกาโม่ บอกด้วยว่า เวลานี้น้องกาโม่ยังมีหน้าเพจ facebook เพื่อนำเสนอผลงานชื่อ Kamo Gallery

และเร็วๆนี้น้องจะไปนั่งเปิดหมวกวาดภาพให้กับผู้สนใจที่ ตลาดนัดศิลปะ ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยไปเปิดหมวกวาดภาพในงาน ตลาดนัดดำเนินสนุก ของโรงเรียน และงาน Thai Animator

การที่สนับสนุนให้ลูกชายได้เข้าร่วมโครงการฯ คุณพ่อบอกว่า เนื่องจากตลอดมาเห็นว่าลูกชายชอบวาดภาพจึงอยากส่งเสริม และไม่เคยคาดหวัง

“ผมไม่เคยคาดหวังกับลูกเลย แค่อยากให้ศิลปะเป็นเครื่องมือผลักดันให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ กล้าที่จะแสดงออก ไม่ได้คาดหวังให้เขาวาดภาพได้สวย เหมือนที่อาจารย์บางท่านพูดว่า เด็กพวกนี้ขาด วิตามิน C และ E แต่วันหนึ่งเขาอยากจะเอาดีด้านนี้ อยากเป็นศิลปินก็แล้วแต่เขา

เขาเข้าโครงการฯ ตั้งแต่ ป.2 สิ่งที่เขาได้คือ ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ได้เรียนรู้เพิ่มเติม เรื่องผลงานของศิลปินทั้งระดับชาติและระดับโลก ตัวอย่างงานของ Van Goh เป็นต้น และอาจารย์ยังพาไปดูงานในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ผมก็เลยมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี

แพทย์หญิงโสฬพัทธ์ เหรัญชโรจน์ ผู้ปกครองของ ด.ญ.สุพิชญาณ์ เหรัญชโรจน์ หรือ น้องพริม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปี 4/2 เป็นผู้ปกครองอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนให้ลูกเข้าร่วมโครงการ

“ยอมรับว่า ตนเองไม่ได้ส่งเสริมเขามาตั้งแต่แรก จนเขาได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการระบายสี ตอนอยู่อนุบาล

แล้วพอมาทดสอบกับอาจารย์สมใจ ตอนเขาเรียน ป.1 เพื่อเข้าโครงการฯ ตอน ป.2 เราก็เลยเริ่มส่งเสริมเขาอย่างจริงจัง และหมอคิดว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่ทำให้คนมี EQ ที่ดี แล้วจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต อีกทั้งถูกใจที่กิจกรรมของโครงการฯมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมวาดภาพสีน้ำ วาดภาพสถาปัตยกรรม ฯลฯ ทำให้เขาพัฒนาความรู้ทางศิลปะได้เร็วมาก”

ดังนั้นคุณหมอจึงยินดีที่จะจัดสรรเวลาเพื่อให้ลูกได้ทำกิจกรรมเต็มที่ “เช่นถ้ามีกิจกรรมที่ต้องทัศนศึกษากับทางโครงการฯ เราพยายามที่จะสนับสนุนเขามากๆ เพราะเราไม่มีโอกาสที่จะให้กับเขาด้วยตัวเราเองได้ เป็นกิจกรรมที่หาได้ยากมากที่เราจะทำเอง

โดยสิ่งที่หมอมองว่าลูกได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเข้าร่วมโครงการฯและการวางแผนเพื่อเป็นการส่งเสริมคือ

“ความรักในศิลปะ เขาได้รับสิ่งนี้มากที่สุด และยังพัฒนาต่อยอดด้วยตัวเองไปเรียนรู้สิ่งอื่นได้เร็วมาก ตัวอย่างเช่น เวลาเห็นคนถักโครเชต์ หรือนิตตติ้ง ความรักและอยากเรียนรู้ศิลปะที่ต่อยอดไปเรื่อยๆของเขาฝังแน่นเลยค่ะตอนนี้

อยากให้เขาเข้าโครงการไปเรื่อยๆ เขาอาจจะเรียนเป็นวิชาชีพในอนาคตก็ได้ แต่ว่าก็แล้วแต่เขา อย่างไรก็ตามทุกวันนี้หมอพอใจ เพราะเขานำศิลปะมาใช้ในชีวิตประจำวันเยอะมาก เช่น เวลาทำการบ้าน วิชาอะไรก็ตาม เขาวาดรูปได้สวยมาก วาดเป็นนิทานได้เลย และสามารถวาดภาพเพื่อสื่อความในใจของเขาออกมาได้เร็วมาก และตอนนี้หมอกำลังฝึกให้เขาทำ Mind Map เพราะคนที่วาดรูปเก่งจะทำ Mind Map ได้สนุกมาก”

ด้านน้องพริม บอกเล่าว่า ชอบกิจกรรมตอนออกไปสเก็ตซ์ภาพเรือนพระรถราชา ซึ่งเป็นเรือนไทยในจุฬาฯ มากที่สุด ซึ่งคุณแม่เสริมว่า

“เขาจะตื่นเต้นมาก เวลาที่ขับรถผ่าน และยังเล่าถึงอยู่บ่อยๆว่าตรงนี้เคยมาสเกตซ์ภาพนะ ตอนแรกเขาคิดว่ายาก แต่พออาจารย์มาช่วยแนะนิดนึง เขาดูตื่นเต้นขึ้นมากเลยค่ะที่ได้ทำ”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น้องพริมถนัดและชอบวาดมากที่สุดคือ การวาดการ์ตูน โดยเฉพาะวาดภาพคุ้กกี้รัน “เพราะรายละเอียดน้อย” เด็กหญิงบอก และได้แนะนำเพื่อนๆที่อยากสนุกกับการวาดภาพเหมือนตนว่า

“วาดอะไรก็ได้ที่ตัวเองชอบ ค่อยๆฝึกวาดไปเรื่อยๆ”


ผลักดัน กิจกรรมศิลปะเด็ก เชื่อมสัมพันธ์อาเซียน

ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน รศ.สุพร ชัยเดชสุริยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวถึงผลที่น่าพอใจ และแนวทางในการสนับโครงการฯ ว่า

“จริงๆทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีโครงการเล็กหรือโครงการใหญ่เกิดขึ้น เราจะจัดให้มีการประเมินผลตลอด ซึ่งจะทำให้เราทราบว่า ต่อไปเราจะต้องปรับปรุงอะไรบ้าง โครงการนี้ก็เช่นกัน เรามีการประเมินผลโดยการแจกแบบสอบถามไปที่นักเรียนรวมถึงผู้ปกครองทุกคน ที่เข้าร่วมโครงการ จึงทำให้เราได้ทราบว่าเด็กๆมีการพัฒนาอย่างไรบ้าง เพราะเราจะได้นำมาปรับปรุงเรื่องการจะดำเนินการต่างๆ เพราะกิจกรรมในโครงการฯ เราต้องมีการนำเด็กๆ ไปทัศนศึกษาข้างนอกด้วย ต้องคอยคิดว่าผู้ปกครองจะลำบากไหม เด็กๆจะชอบไหม ต้องให้กลับมาเล่าให้ฟัง

ซึ่งโครงการนี้ผู้ปกครองประทับใจมากเลยค่ะ อยากให้มีต่อเนื่องไปทุกปี เพราะปัจจุบันการที่ผู้ปกครองจะไปทำกิจกรรมลักษณะนี้ด้วยตัวเอง พาไปนอกสถานที่ มีวิทยากรมีคอยให้ความรู้เด็กๆโดยเฉพาะ ก็ยากอยู่

โครงการนี้จึงทำให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง อาจารย์ เด็กๆ และผู้ปกครอง เพราะบางกิจกรรมผู้ปกครองเด็กๆบางส่วนก็จะตามไปดูด้วย

และคิดว่าต่อไปในอนาคต ถ้าเรามีความสัมพันธ์ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันแล้ว โรงเรียนน่าจะมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมวาดภาพของเด็กๆไม่ใช่แลกเปลี่ยนในเรื่องของภาษาอย่างเดียว

เพราะศิลปะเป็นภาษาสากล สามารถใช้สื่อสารกันได้ทั้งโลกอยู่แล้ว เราจึงน่าจะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยน”

นอกจากนี้ รศ.สุพร เห็นว่า โครงการฯน่าจะมีส่วนส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้ให้

“อยากให้เด็กๆมองไปยังสังคม รู้จักการให้ อาจจะโดยการบริจาคภาพที่วาด ไปเพื่อกิจกรรมที่สามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ไปช่วยเหลือสังคม เช่น นำไปมอบให้สภากาชาดไทย”

ถึงบรรทัดนี้คงจะพอเข้าใจแล้วว่า เหตุใด รองศาสตราจารย์สมโภชน์ หนึ่งในวิทยากร จึงกล่าวว่า อิจฉานักเรียนมาก ที่ได้มีโอกาส เพราะสมัยตนเป็นเด็ก ต้องฝึกวาดภาพด้วยแท่งถ่าน

แต่นักเรียนในโครงการนี้ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน อย่างมีบูรณาการ โดยหลายๆคนรอบตัวเด็ก ทั้งอาจารย์ วิทยากร และผู้ปกครอง

ทำความรู้จักโครงการ Art Learning เพิ่มเติมที่…

Web Blog http://artlearning.satitchula.com และ Fanpage https://www.facebook.com/artlearning.satitchula

TEXT : อ้อย ป้อมสุวรรณ PHOTO : ปวริศร์ แพงราช
รศ.สุพร ชัยเดชสุริยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม มอบช่อดอกไม้ให้ศิษย์เก่า ต้า Paradox


สมใจ จงรักวิทย์ อาจารย์สอนศิลปะ และประธานโครงการเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ  (Art Learning)

ด.ช.นัทพล โกมลารชุน  หรือ น้องกาโม่ และคุณพ่อ ถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์ต้า

ด.ญ.สุพิชญาณ์  เหรัญชโรจน์  หรือ น้องพริม



• ต้องการข้อมูลโครงการ Art Learning เพิ่มเติม Web Blog http://artlearning.satitchula.com หรือ www.facebook.com/artlearning.satitchula

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It