มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ขอเชิญชม นิทรรศการศิลปะ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี นิทรรศการใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่จะนำผู้ชมร่วมค้นหาความหมายแห่งสุนทรียศาสตร์จากผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์อันทรงคุณค่ากว่า 40 ชิ้น ของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร จิตรกรหญิงชาวไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานอันเปี่ยมล้นด้วยตัวตนและจิตวิญญาณ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน ถึง 23 ธันวาคม พ.ศ.2561 เวลา 09.00-18.30 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)
ในแวดวงศิลปะ ผลงานจิตรกรรมของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธ์ บริพัตร ล้วนได้รับการยกย่องทั้งในแง่ของความละเอียดอ่อน มีจินตนาการ และใช้ภาพสัญลักษณ์ที่แฝงปรัชญาผสมผสานรวมกันจากแนวคิดทั้งตะวันออกและตะวันตก ที่ผ่านมามูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้จัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้ามารศีฯ ในประเทศไทยมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2553 และ พ.ศ. 2556 ภายใต้แง่มุมและหัวข้อที่แตกต่างกัน โดยในครั้งที่ 3 นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ภัณฑารักษ์นิทรรศการได้เลือกหยิบมุมมองเกี่ยวกับการตีความเรื่องสุนทรียศาสตร์ในผลงานของหม่อมเจ้ามารศีฯ มานำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ตลอดจนภาพวาดเส้น วัตถุสิ่งของ หนังสือ และภาพยนตร์สารคดีส่วนพระองค์ เพื่อสะท้อนให้เห็น ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi โดยตีความออกมาเป็นคำสำคัญ 4 คำ ผ่านการจัดแสดง 4 ห้องหลัก ได้แก่
1) ความงาม (Beauty) การสร้างความเข้าใจ และตีความผลงานในด้านความงาม แบบหม่อมเจ้ามารศีฯ ผ่านสัญลักษณ์ ภาพแทนจากดอกไม้ สัตว์เลี้ยง คน รวมถึงตัวบทวรรณกรรม
2) ความน่าเกลียด (Ugliness) แสดงผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ภาพสัญลักษณ์ของความน่าเกลียด ความตาย ความอัปลักษณ์ของรูปกายที่ไม่จีรัง โครงกระดูก ภาพครึ่งคนครึ่งสัตว์ ราวกับการสร้างอุปลักษณ์ให้ ปรากฏในภาพจิตรกรรม
3) เส้นทางศิลปะของหม่อมเจ้ามารศีฯ (Chronology of Marsi and Art History) แสดงเนื้อหาพัฒนาการในด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะของท่าน ด้วยการเทียบลำดับเวลาของเหตุการณ์ ศิลปิน ปรากฏการณ์ทั้งในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโลก เป็นการสร้างการเรียนรู้ ให้เข้าใจว่างานของท่านจัดอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นให้สนใจศึกษาเปรียบเทียบงานในเชิงลึกต่อไป
4) สัจจะ (Truth) แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่หม่อมเจ้ามารศีฯ ได้พิสูจน์ให้เห็น “สัจจะ” ในเส้นทาง เลือกที่จะเป็น “ศิลปิน” จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และผลงานของท่านแสดงให้เห็นถึง “สัจจธรรม” ของชีวิตมนุษย์ที่มีทั้งความรัก ความสุข ความตาย
นอกเหนือจากผลงานศิลปะในงานที่เปิดให้เข้าชมแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมส่งเสริมด้านศิลปศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเสวนาประเด็นเรื่องความงามและความน่าเกลียด (Beauty and Ugliness) ที่ปรากฏในผลงานหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร กิจกรรมเวิร์กชอป ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Flynow III ร่วมถ่ายทอดจินตนาการดังกล่าวผ่านแฟชั่นและผลิตภัณฑ์คอลเลกชันพิเศษ