ART EYE VIEW— “ความเก่งมันเป็นเรื่องที่นามธรรมมาก เวลาเราไปบอกกับใครว่า คนๆนั้น เก่งอย่างนั้นเก่งอย่างนี้
เพราะคนเรายังติดที่รูปธรรมมากกว่านามธรรม
เราคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจคนพิการได้อย่างรวดเร็วว่า พวกเขาเก่งอย่างไร”
คือคำกล่าวของ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ หนึ่งในจำนวน “คนพิการตัวอย่าง” ผู้ไม่เพียงจะต่อสู้ชีวิต จนทำให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและสง่าผ่าเผย แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆทั้งที่เป็นคนปกติและคนพิการ อีกเป็นจำนวนมาก
นับตั้งแต่ได้รับกำลังใจจาก มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ซิสเตอร์ตาบอดชาวอเมริกัน( ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนสอนเด็กตาบอด ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทย ) ผู้พยายามพร่ำสอนให้ ศ.วิริยะเชื่อว่า “คนตาบอดทำอะไรได้มากกว่าใครคิด”
ศ.วิริยะ เรียนจบนิติศาสตร์บัญฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,เนติบัญฑิตไทย จากเนติบัณฑิตยสภา, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายแพ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ปริญญาโทสาขากฎหมายภาษีอากร(LLM. IN TAXATION) จากมหาวิทยาลัย HARVARD ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นพระอาจารย์สอนวิชากฏหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ฯลฯ
และเคยเขียนหนังสือ “สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” ขึ้นมาให้กำลังใจผู้คน ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สังคมไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 และนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือมาก่อตั้ง “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ”
หลายปีที่ผ่านมาหนึ่งจำนวนงานที่มูลนิธิฯและ ศ.วิริยะ คิดทำเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะคนพิการ คือการเป็นผู้ก่อตั้ง “หอศิลป์ยิ้มสู้” หอศิลป์ฯ ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปะของคนพิการจากทั่วประเทศ
ภายหลังจากที่ ศ.วิริยะ ได้ตระเวนไปถ่ายทำรายการ “ยิ้มสู้” ตามภูมิภาคต่างๆ รายการสารคดี ที่นำเสนอชีวิตของคนพิการที่มีความสามารถโดดเด่นและอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์เพื่อเป็นการปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่คนตาบอด มาใช้เป็นเพลงประกอบรายการ จึงทำให้ได้พบกับคนพิการจำนวนมากที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ (เร็วๆนี้รายการจะกลับมาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อีกครั้ง หลังจากที่หยุดออกอากาศไปหลายปี)
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผลงาน พิภพ เกียรติอำไพ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โปลิโอขาขวา,พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช ผลงาน ‘มนุษย์เพนกวิน’ เอกชัย วรรณแก้ว ผู้พิการไร้แขน,พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ ผลงาน ประณต วัฒนาสวัสดิ์ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อัมพาตท่อนล่าง,พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และภาพนกกระเรียนคู่ ผลงาน ทนง โคตรชมภู ผู้วาดภาพด้วยปาก พิการทางการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาตตั้งแต่คอลงมา,พระสาทิสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ผลงาน วัง แช่มช้อย ผู้วาดภาพด้วยฝีศอก พิการทางร่างกาย ไม่มีมือและเท้า เดินด้วยหัวเข่า,ภาพดอกบัว ผลงาน ลอนสัน โหล่คำ ผู้วาดภาพด้วยเท้า พิการทางกาย ไม่มีแขนทั้งสองข้าง,ภาพหนุมานกับนางเมขลา ผลงาน สมโภชน์ นาคบัว ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อัมพาตท่อนล่าง,ภาพกลางวันและกลางคืน ผลงาน อนันต์ ประภาโส ผู้พิการทางร่างกาย,ภาพรอยพระพุทธบาท ผลงาน นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภณ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อัมพาตท่อนล่าง เกิดจากมะเร็งไขสันหลัง,ไม้แกะสลักเป็นรูปช้างและป่าหิมพานต์ ผลงาน ครอบครัวคนหูหนวก จ.เชียงใหม่
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างผลงานศิลปะของศิลปินผู้พิการ ซึ่งติดแสดงภายในหอศิลป์ฯ (ไม่นับรวมผลงานฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก)โดยมี มณี สุขพูลผลเจริญ ภรรยาของ ศ.วิริยะ ทำหน้าที่เป็นผู้คัดสรรผลงานศิลปะ เนื่องจาก ศ.วิริยะ มองไม่เห็น
และส่วนใหญ่ซื้อมาเพื่อติดแสดง ไม่จำหน่าย นอกจากผลงานศิลปะบางส่วนที่มีราคาไม่แพงซึ่งศิลปินผู้พิการนำมาฝากขาย
“เพราะหัวใจสำคัญของหอศิลป์ฯ คือ เพื่อให้คนพิการและคนทั่วไปที่มาชม ได้เห็นว่า คนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และกระตุ้นให้เขาได้ทำในเรื่องที่ท้าทายไม่เช่นนั้น ศักยภาพที่พวกเขามีอยู่ในตัวก็จะถูกกดเอาไว้ แต่ก็ควรเป็นเรื่องท้าทายที่พวกเขาชอบด้วย
เพราะคนเราถ้าชอบอะไรแล้ว จะทำสิ่งนั้นได้ประสบความสำเร็จและทำตามหลักอิทธิบาท 4 ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฉันทะ(ความพอใจ) วิริยะ(ความขยันหมั่นเพียร) จิตตะ(ตั้งใจมั่น) วิมังสา (หมั่นคิดตริตรอง)”
ศ.วิริยะผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ไม่ปฏิเสธว่าศรัทธาในหลักธรรมหลายอย่างของพระพุทธศาสนา กล่าว
แม้แต่ชื่อ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซึ่ง ศ.วิริยะ ก่อตั้งขึ้น เพื่อทำงานช่วยเหลือคนพิการในหลายส่วน รวมถึงหอศิลป์ฯ
ก็ยังมีนัยยะที่ต้องการจะบอกด้วยว่า มูลนิธิฯ ต้องการทำงานร่วมกับคนทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา
“และหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ก็ยังได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ตั้งกล่องทอดผ้าป่า ที่วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร เพื่อหารายได้มาช่วยเหลือคนพิการ”
ใครที่แวะไปชมผลงานศิลปะของผู้พิการที่หอศิลป์ยิ้มสู้ ระหว่างนี้อาจจะพบว่าสถานที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง มีผลงานศิลปะหลายชิ้น ที่ยังไม่สามารถหาพื้นที่แขวนหรือติดตั้งได้ เนื่องจากหอศิลป์ ยังอยู่ในระหว่างการต่อเติมพื้นที่ และการต่อเติมบางส่วนตั้งใจจะทำเป็นห้องเพื่อจัดแสดงผลงานของศิลปินผู้พิการบางท่านโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภณ
และหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 หอศิลป์ ก็ไม่ต่างจากหลายๆสถานที่ ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งที่ช่วงเวลานั้นเพิ่งเปิดหอศิลป์ได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ที่นี่ถือได้ว่าเป็นหอศิลป์ที่มีผลงานของศิลปินผู้พิการให้ชมมากที่สุด
“เรามีผลงานศิลปะของคนพิการแทบทุกประเภท ยกเว้นคนตาบอด ที่ผลงานภาพวาดของพวกเขาอาจจะยังไม่ถึงเกณฑ์ดีเท่าคนพิการประเภทอื่น งานศิลปะของคนตาบอดส่วนใหญ่จะเป็นงานปั้น และงานฝีมืออย่างงานถักทอ ร้อยลูกปัด ฯลฯ แล้วโดยทั่วไปคนตาบอดที่เราพบ จะมีความสามารถโดดเด่นทางด้านดนตรีมากกว่า
แต่คนพิการประเภทอื่น ผลงานภาพวาดของพวกเขาฝีมือสู้ต่างชาติได้เลย ตัวอย่างผลงานของ ทนง โคตรชมภู มีพิพิธภัณฑ์ขอยืมไปจัดแสดงที่สวิตเซอร์แลนด์”
และแม้เวลานี้จะมีผลงานศิลปะของศิลปินผู้พิการเก็บไว้มากพอแล้ว ศ.วิริยะ บอกว่า หอศิลป์ฯ ยังคงไม่หยุดที่จะซื้อหาผลงานศิลปะมาเพิ่มเติม เนื่องจากในอนาคตมีความตั้งใจจะไปเปิดหอศิลป์ยิ้มสู้ในต่างจังหวัดด้วย เพราะยังมีคนพิการอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ และคนทั่วไปยังไม่มีโอกาสได้เห็นผลงาน
“และงานศิลปะเหล่านี้ยังจะไปช่วยเสริมกับงานอื่นๆที่มูลนิธิฯ เรากำลังทำ นอกเหนือจาก ฝึกให้เขาเรียนรู้เรื่องไอที และการลงทุน นั่นก็คือการฝึกให้ผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ”
ร้านกาแฟ ที่กิจการอยู่ในช่วงเริ่มต้น ร้านอาหารที่กำลังก่อสร้าง ใครที่แวะเวียนไปหอศิลป์ยิ้มสู้และสังเกตเห็น ขอให้รู้ว่านี่แหล่ะคือ ก้าวแรกเล็กๆของการฝึกให้ผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ ตามที่ ศ.วิริยะ บอกเล่าให้ฟัง
หอศิลป์ยิ้มสู้ เลขที่ 27/5 ซอยอรุณอมรินทร์ 39 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทร.0-2886-1188
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews