ART EYE VIEW—ในยุคที่คนจำนวนไม่น้อย ต่างมีกล้องถ่ายภาพและโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ และเหตุการณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวันเก็บไว้ได้อย่างง่ายดาย แต่การจะมีภาพถ่ายสักใบเพื่อเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ในจำนวนนี้รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่ง ณ ท้องสนามหลวง ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ เพื่อรอต่อแถวรับบัตรคิวก่อนที่จะได้เข้าไปถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขา เพราะคือการได้มาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินที่พวกเขารักเป็นครั้งสุดท้าย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2559 วันที่ผู้คนต่างหลั่งไหลมายังท้องสนามหลวง เพื่อร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ ก่อนที่ภาพประวัติศาสตร์ในวันนั้นจะถูกนำไปจัดทำเป็นภาพยนตร์และวิดีทัศน์สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ
การได้พบกับคุณตาคุณยายคู่หนึ่งที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ไม่ได้พกกล้องถ่ายภาพ ,โทรศัพท์มือถือ และไม่ได้มีชีวิตข้องเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ใดๆ แต่อยากจะได้ภาพถ่ายสักใบเป็นที่ระลึกของการเดินทางมากรุงเทพฯครั้งนี้ เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน กลับบ้านไปด้วย
เป็นแรงบันดาลใจให้คุณแม่ท่านหนึ่ง ซึ่งในวันนั้นพาลูกเดินทางมายังท้องสนามหลวงเพื่อร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเช่นกัน ริเริ่มกิจกรรมจิตอาสา ด้วยการชักชวนเพื่อนฝูงมาช่วยกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกให้กับประชาชนที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ
และล่าสุดภาพถ่ายกว่า 500 ภาพ (บันทึกเมื่อวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2559 วันที่สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพ ) ซึ่งเป็นภาพของประชาชนหลากวัยสวมใส่ชุดดำ ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขา ยืนอยู่กลางท้องสนามหลวง โดยมีฉากหลังไกลๆเป็นพระบรมมหาราชวัง ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านหน้าเพจ Facebook เที่ยววิถีแม่ พร้อมข้อความบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดกิจกรรมจิตอาสาเพื่อคนรักพระเจ้าแผ่นดินในครั้งนี้
“ตั้งแต่จำความได้ ไม่มีใครเคยสอนให้รักพระองค์ท่าน เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน วันที่เราสองคนแม่ลูกไปร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวง เราเจอคุณตาคุณยายเดินทางมาจากต่างจังหวัด แกอยากมีรูป..และคุยกันว่าไม่มีรูปถ่ายกลับไป แกจะทำอย่างไรดี… ไม่มีกล้อง ไม่มีมือถือ ไม่รู้จักเฟสบุคหรือไอจี แม่กับลูกยืนตรงนั้น พยายามช่วย ไม่มีหนทางช่วยแกได้เลย
กลับบ้านวันนั้น แม่นอนคิดถึงเรื่องนี้ทั้งคืน ในฐานะคนเมืองธรรมดาอย่างเรา เอาน่ะ ลองดูนะ แม่ตัดสินใจลองชวนเพื่อนๆ พี่น้อง บอกไปว่า เราไปถ่ายรูปให้คนที่มาสนามหลวงเสาร์นี้กันไหม ถ่ายเสร็จแล้วปริ้นท์ให้ตรงนั้นเลย แล้วถ้าเลือกได้ เราให้โอกาสชาวบ้านต่างจังหวัดก่อนนะ ไม่มีใครสักคนลังเล ไม่มีสักคนที่ปฏิเสธการชวนครั้งนี้ ไม่มีใครสักคนที่บอกว่าขอคิดดูก่อน ทุกคนพร้อมมาก และมาด้วยหัวใจดวงเดียวกัน ลุงเปิ้ล พี่ตำลึง แอน ไก่ น้องเอ มลลี่ โบ้ท แหม่ม คริสตัล แอพ แม่และเพลิน รวมเป็นกลุ่มเล็กๆ เราคุยกันว่าเราจะทำทุกอย่างให้เรียบง่ายที่สุด และเราจะทำอย่างตั้งใจที่สุด ดีที่สุด เพื่อให้ทุกคนมีรูปถ่าย
รูปถ่ายที่บันทึกครั้งหนึ่งในชีวิตก่อนกลับบ้าน สำหรับชาวบ้านบางคนแล้ว อาจจะเป็นรูปถ่ายเดียวในชีวิตที่ได้ถ่าย เมื่อมาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งสุดท้าย”
ภาพถ่ายที่ดูเรียบง่ายธรรมดา และอาจจะดูแสนเชยสำหรับใครหลายคน นอกจากจะสร้างความอิ่มเอมใจให้กับเหล่าช่างภาพจิตอาสาผู้ริเริ่มกิจกรรม ยังได้รับความชื่นชมจากคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ จำนวนไม่น้อย
รวมถึง ทอม โพธิสิทธิ์ หรือ ธีระฉัตร โพธิสิทธิ์ นักถ่ายภาพเชิงแฟชั่นและศิลปะ เจ้าของผลงานภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงหลายชุด และผู้ริเริ่มโครงการที่น่าสนใจหลายโครงการ อาทิ โครงการ “บินรอบโลก รวมใจ เพื่อในหลวง” (ทำงานในฐานะผู้ช่วยนักบินและช่างภาพเพื่อรวบรวมโปสการ์ดคำถวายพระพรจากคนไทยในกว่า 40 ประเทศทั่วโลกเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในช่วงที่ทรงพระประชวร ปี พ.ศ 2551- 2554), ภาพถ่ายชุด The Last FareWhale (การถ่ายภาพแฟชั่นกับวาฬเสียชีวิตที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อเดือน กรกฎาคม 2557),ภาพถ่ายชุด “สีสันมหาสงกรานต์”,ภาพถ่ายชุด ANATOMY 101 (ร่วมงานกับ สุรชัย แสงสุวรรณ เพื่อรณรงค์ให้คนทั่วไป บริจาคอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) และล่าสุด SKYfALL : น้ำตามหากาฬ (เพื่อชุมชนป้อมมหากาฬที่กำลังต่อสู้กับการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสวนสาธารณะ) มีเสียงชื่นชมต่อกิจกรรมจิตอาสานี้ด้วยว่า
“ภาพถ่ายที่ดีไม่จำเป็นต้องมีเครื่องทรงอะไรมากมาย ภาพถ่ายที่ดีคือภาพที่ได้บันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์และบุคคล ในขณะนั้น ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ภาพถ่ายชาวบ้านที่มาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินของเราเป็นครั้งสุดท้ายนี่ทรงพลังมาก เป็นแนวคิดเรียบง่ายที่ทรงคุณค่าและดีมากๆ กราบทีมงานทุกๆท่าน”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews