โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ความวิตกกังวล เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งแน่นอนที่สุด แต่เมื่อเกิดแล้วคนส่วนใหญ่จะห้ามมันเอาไว้ได้ไม่ให้มันมารุกรานรบกวนชีวิตถึงขั้นเสียคุณภาพไป
แต่ก็มีคนอีกส่วนหนึ่งไม่อาจห้ามมันได้
เพราะในกลไกของความกังวลผิดปกตินั้นมีเรื่องทางกายเข้ามามีส่วนด้วย ซึ่งส่วนสำคัญคือ เรื่องของจิตใจที่เกี่ยวข้องกับสมอง โดยเฉพาะกับสารเคมีหลายชนิดร่วมกับระบบประสาทอัตโนมัติ ที่สามารถควบคุมชีวิตเราได้
ทำให้เกิดโรคหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า “ใจตระหนก (Panic Disorder)”
โดยโรคนี้ถูกเรียกอย่างลำลองในหลายชื่อเช่น “หัวใจอ่อน”, “โรคประสาทหัวใจ” หรือที่แปลตรงตัวเลยว่า “ตื่นตระหนก” ซึ่งชื่อที่ว่ามามีบางส่วนชวนให้คนไข้เข้าใจว่าเป็น “โรคหัวใจ” ซ้ำตัวโรคเองก็มีอาการที่พาให้คนไข้เกือบ 50% พาตัวเองเข้าผิดหมออยู่แล้ว โดยไปเข้าแผนกโรคหัวใจเลย อยากขอเรียกใหม่ว่าโรคใจตระหนก
คนไข้จะได้เคลียร์และไม่เสี่ยงเข้าผิดแผนก
เพราะถ้าตรวจแยกความเสี่ยงโรคอื่นๆได้หมดแล้ว โรคใจตระหนกนี้คือ อาการทางจิตเวชที่ถ้าหาถูกหมอแล้วรักษาได้ครับ ซึ่งในเรื่องนี้มีสิ่งที่เป็นภาพรวมง่ายๆ เพื่อให้เห็นสารพัดสิ่งที่เกิดขึ้นในดวงใจของคนเป็นแพนิคครับ
>>10 ความจริงของโรคใจตระหนก
1) เกิดได้แบบเซอร์ไพรส์ บางครั้งปุบปับไม่ทันตั้งตัว ซึ่งโดยปกติโรคนี้จะมีความรู้สึกเตือนให้เจ้าตัวรู้ก่อนแต่ในบางครั้งก็เป็นฉุกเฉินขึ้นมาแบบเอาแน่ไม่ได้
ทั้งใจสั่น, ตัวสั่น, เหงื่อแตก, จุกอก, หายใจขัด, ตัวชา ในดวงใจที่ว้าวุ่นจะรู้สึก “เหมือนจะตาย”, “ควบคุมตัวเองไม่ได้” และ“กระวนกระวาย” ไม่กล้าอยู่คนเดียว
ความทุกข์นี้จะเข้มข้นในดวงจิตราวกับหายนะมาเยือน โดยในรายที่เป็นหนัก จะถึงขนาดมีอาการกำเริบซ้ำ (Panic attack) หลายครั้งต่อวันก็ได้ครับ
2) ทรมานนานนับ 10 นาที สำหรับผู้เป็นใจตระหนกส่วนใหญ่ อาการจะขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ในเวลาไม่กี่นาทีและอาจอยู่นานนับ 10 นาทีของความกังวลสุดขีด
เรื่องนี้จะน่าสงสารอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับคนอายุน้อยหรือ “เด็ก” วัยรุ่นที่ยังไม่มีประสบการณ์เหมือนผู้ใหญ่ ทำให้หนูน้อยหลายคนตกใจกลัวปานโลกจะถล่มทลายกลัวจะเป็นโรคหัวใจและกำลังจะตาย
ซึ่งสิ่งที่น่าเห็นใจอีกประการหนึ่งคือ อาการแพนิคทั้งหลายที่แสนทรมาน ที่ว่าจะรุมกันมาแล้ว อาจอยู่ได้อ้อยอิ่งนาน แม้จะหมดเรื่องเครียดไปแล้วก็ได้
3) มีผู้ร้ายหลายปัจจัย ในสมองมี “สารเคมีธรรมชาติ” ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติไปได้เรียกว่าเมื่อเกิดอาการกำเริบก็จะมี “เคมีตระหนก” ออกมาให้คนป่วยเกิดอาการอึดอัดหัวใจจะเป็นจะตายกัน
เคมีสำคัญที่นิยมพูดกันคือ “ซีโรโทนิน” กับ “นอร์เอพิเนฟริน” ร่วมกับประสาทอัตโนมัติไวเกินไป ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ อาการน่าเห็นใจที่เผยให้ตัวเองและโลกรู้
4) ยีน + เครียด = ใจตระหนก โรคแพนิคเป็นมรดกในครอบครัวได้แต่รูปแบบนั้นไม่แน่นอนจึงไม่จำเป็นว่าลูกหลานต้องเป็น ที่สเปนมีการวิจัยจนพบว่ายีน (NTRK3) ในตัวเราที่ทำให้มีแนวโน้มโรคใจตระหนก เพียงแต่ว่าต้องมีปัจจัยอื่นร่วมกระตุ้นด้วยเช่นซึมเศร้า, ติดเหล้าและโรคกลัว
นอกจากนั้นการบริโภคสารบางอย่างก็มีส่วนกระตุ้นอย่าง “กาแฟ”, “ชา”, “น้ำอัดลม”, “ช็อคโกแลต” ที่มีคาเฟอีนมีความเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นอาการ (Anxiogenic effects) ได้
5) ใจตระหนกแถมพกซึมเศร้า มีการศึกษาทางจิตเวชศาสตร์หลายงานเผยว่าโรคใจตระหนกอาจมาพร้อมซึมเศร้ารุนแรง (Major depression) ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ถ้ารู้ไว้จะช่วยคนไข้ได้มากครับ
เพราะภาวะเศร้าหดหู่รุนแรงอาจเป็นแรงกระตุ้นให้คนไข้ “คิด” หรือ “ลงมือ” จบชีวิตตัวเองได้ ซ้ำในเวลาที่มีอาการใจตระหนกขึ้นมาก็อาจกลบอาการซึมเศร้าจนไม่รู้ได้
ซึ่งถ้าเราทราบว่า 2 โรคนี้อาจมาเป็นคู่ร้าย (Comorbidity) ด้วยกันแล้ว ก็จะช่วยให้จัดการรับมือกับมันได้ดีขึ้นครับ
6) กลัวอยู่คนเดียว เรื่องนี้ต้องย้ำอีกที เพราะคนที่ไม่เข้าใจก็จะว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจทั้งที่เป็นเรื่อง “น่าเห็นใจ” มากกว่า เพราะเป็นอาการของโรคในสมองที่เรียกร้องในคนไข้ต้องมีคนดูแลใกล้ชิดให้ความมั่นใจ
ด้วยในโรคแพนิคนี้หลายคนไม่กล้าอยู่ในที่ปิดเพียงคนเดียว (Agoraphobia) รวมถึงที่คนเยอะ ด้วยเกรงจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้ “ติดคน” ไม่อยากแยกจากคนใกล้ตัวไปโดยปริยายเพื่อลดความกังวล
7) สร้างวงจรแสนทุกข์ โรคใจตระหนกสร้างวัฎจักรของตัวเองขึ้นมาได้ (Panic cycle) ดังที่เล่าไปว่ามันจะกำเริบขึ้นเมื่อมีความเครียดถึงจุดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยใจตระหนกจะสร้างความวิตกขึ้นมาเองว่าเมื่อเป็นขึ้นมาแล้วจะเป็นอีกเมื่อไร
คล้ายกับระแวงจนตัวเองเครียด แล้วสิ่งนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดกำเริบ (Panic attack) ขึ้นมาอีกเป็นวงจรเช่นนี้ร่ำไปอย่างน่าเห็นใจ
8) หลับไม่สุข โรคนี้ยังให้เกิดความทุกข์ไปจนถึงเรื่องนิทรา ขออย่าคิดว่าอาการใจตระหนกจะเกิดขึ้นตอนตื่นเท่านั้น แม้ในยามหลับพักผ่อนก็อาจเกิดได้และไม่ใช่แค่เหมือนฝันร้ายยามค่ำคืนเท่านั้น
เพราะโรคแพนิคจะสร้างความฝันเสมือนจริงขึ้น จนทำให้เกิดอาการใจตระหนกตกใจ ตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการผวาเต็มที่เหมือนขณะอาการกำเริบยามตื่นเลยครับ
9) ไม่หายแบบสั่งได้ ในกรณีที่พบแล้วว่าเป็นโรคใจตระหนกแน่ๆไม่ต้องตกใจครับ ขอให้รู้ว่ามีทางรักษาแต่ว่าทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ในเรื่องบำบัดจิตใจต้องไม่ใจร้อนครับ
บางทีอาจดีขึ้นเร็วกว่าที่คิดก็ได้ ใครจะรู้ เพราะต้องอดูความหนัก-เบาของอาการเป็นหลัก ถ้าหนักอาจต้องคุมยาเอาไว้หลายปี
10) อย่าขาดยา พบโรคใจตระหนกนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายครับ โดยในมนุษย์ทุกๆ 100 คนบนโลกเราอาจพบได้ตั้งแต่ 1-9 คน
แต่กระนั้นเมื่อเป็นแล้วก็สามารถจัดการสยบความตระหนกด้วยตัวเองได้ถึง 70% ทีเดียวครับ ส่วนอีก 30% นั้นก็รับมือกับมันได้เพียงแต่ต้องมีผู้ที่ห่วงใยคอยช่วยด้วย
ซึ่งการรักษามีทั้งในช่วงฉุกเฉินที่มียาออกฤทธิ์เร็วช่วยรับมือกับอาการให้สบาย กับรักษาในระยะคุมอาการไว้หลังผ่านวิกฤตไปแล้ว ซึ่งข้อสำคัญของการป้องกันไม่ให้ “ตระหนกซ้ำ” คือ ต้องไม่ขาดยาครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net