หากเปรียบเทียบเส้นทางชีวิตของ “โฟม-คีตา วงศ์กิตติพัฒน์” เป็นบทเพลง คงเปี่ยมไปด้วยท่วงทำนองที่หลากหลาย บางตัวโน๊ตอาจจะดูแตกแถวไปบ้าง แต่เมื่อร้อยเรียงเป็นบทเพลงชีวิตแล้ว กลับไพเราะและน่าฟังอย่างไม่น่าเชื่อ!
ไม่ใช่เพราะความบังเอิญที่เพียงแค่ชื่อ “คีตา” ก็สามารถถ่ายทอดตัวตนที่มีเสียงดนตรีเป็นดั่งลมหายใจของเธอได้อย่างไร้ที่ติ แต่ด้วยความที่เป็นลูกสาวคนเดียวของคุณพ่อนักดนตรี อย่าง ศุภชัยและคุณแม่ณัฐศมน ทำให้คุณพ่อเลือกตั้งชื่อนี้ให้กับลูกสาว และปูทางให้เธอเติบโตมาพร้อมกับเสียงดนตรี
ชีวิตที่หล่อหลอมด้วยเสียงดนตรี
“โฟมเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่ 4 ขวบ ผ่านโมเมนต์ที่ซ้อมไปร้องไห้ไปมาแล้ว (หัวเราะ) เวลาซ้อม คุณพ่อจะมานั่งเฝ้าเลยว่าซ้อมครบตามเวลาหรือเปล่า จะว่าไปก็ต้องขอบคุณคุณพ่อที่ทำให้โฟมมีวันนี้ เพราะถ้ามีใครเดินมาถามว่าจะสอนเปียโนอย่างไรให้ได้ดี โฟมจะบอกเลยว่าต้องบังคับ (หัวเราะ) เพราะถ้าไม่ชอบจริงๆ ก็จะได้รู้ตัวเลย แต่ถ้าชอบก็จะทำได้ดีไปเลย นอกจากเปียโนโฟมยังเรียนไวโอลิน กีตาร์ กลองแล้วก็หัดแต่งเพลงด้วย จนพอจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกเรียนต่อด้านดนตรีทั้งที่คุณพ่อไม่ได้บังคับ” สาวสวยบอกเล่าถึงที่มาเส้นทางดนตรีที่แสนจริงจัง โดยโฟมคว้าปริญญาตรี เอกเปียโนคลาสสิก จากคณะศิลปศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนจะลัดฟ้าไปต่อปริญญาโทด้านดนตรีแจ๊สที่ Leeds College of Music ประเทศอังกฤษ
“จริงๆ ถ้าไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นอาจารย์ ไม่ต้องเรียนต่อปริญญาตรีด้านดนตรีตอนมหาวิทยาลัยก็ได้ เพราะดนตรีเป็นเรื่องของการฝึกซ้อมและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โฟมเองก็ไม่ได้วาดฝันว่าจะเป็นอาจารย์ แต่เรียนเพราะชอบและอยากมีวุฒิด้านดนตรี”
ช่วงที่เรียนปริญญาตรี โฟมมีโอกาสสร้างผลงานในวงการมากมาย ผลงานแจ้งเกิดคือ การเรียบเรียงเพลง Still On My Mind และเล่นเปียโนแจ๊สในงาน H.M.BLUES concert ร้อง บรรเลง เพลงของพ่อ โดยมี เจนนิเฟอร์ คิ้มเป็นคนขับร้อง โดยโฟมถือเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานที่อายุน้อยที่สุด (ตอนนั้นอายุ 18 ปี) และยังได้ออกอัลบัมแรก “Breeze up By FOAM” ร่วมกับค่ายเพลง LIVIN'G จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นำเพลงแจ๊สในยุค 60-70 มาถ่ายทอดใหม่และเรียบเรียงด้วยเปียโน หลังจากนั้นก็ยังทำอัลบัม Foam Difference ซึ่งโฟมแต่งเพลง เรียบเรียง ขับร้องและบรรเลงเองทั้งหมด
“จริงๆ ไทม์มิงช่วงออกอัลบัมอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะพอออกอัลบัมเสร็จก็ไปเรียนต่อเมืองนอกเลย ดังนั้น ถึงจะมีคนติดต่อให้ไปเล่นคอนเสิร์ต เราก็ไปไม่ได้อยู่ดี ก็เสียดายเหมือนกัน แต่อย่างน้อยการไปเรียนต่างประเทศก็ทำให้ได้เปิดโลก เพราะทักษะและวิธีคิดของนักดนตรีไทยกับต่างชาติก็ค่อนข้างแตกต่าง”
หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทย โฟมยังโลดแล่นในสายงานที่รักด้วยการตระเวนเล่นดนตรีตามโรงแรมต่างๆ และเป็นฟรีแลนซ์แต่งเพลงให้กับแกรมมี่ แต่ทำได้อยู่เกือบปี ก็พบว่าแม้จะได้ทำในสิ่งที่ชอบ แต่กลับไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์
“โฟมเป็นคนนอนเร็ว สี่ทุ่มก็เข้านอนแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาต้องไปเล่นดนตรีตามโรงแรมช่วงค่ำๆ ก็รู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ หรือต่อให้ได้คิวไปเล่นดนตรีช่วง Afternoon Tea โฟมก็รู้สึกว่าไม่อินกับการเล่น เพื่อสร้างบรรยากาศด้วยเสียงเพลง เพราะชอบเล่นดนตรีแบบมีคนฟังมากกว่า เลยคิดว่าน่าจะมองหางานประจำอย่างอื่น แล้วเก็บงานดนตรีที่รักไว้เป็นงานเสริม”
ผจญภัยในเส้นทางที่ไม่เคยคาดฝัน
จากเส้นทางสายดนตรีที่โปรไฟล์แน่น การันตีความสามารถได้อย่างไร้ข้อกังขา แต่พอคิดจะข้ามสายงานที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง แถมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ถือเป็นโจทย์หินที่แสนท้าทายสำหรับโฟมไม่น้อย
“ไปสมัครงานหลายที่มาก ไม่มีคนรับ เพราะโฟมมีวุฒิแต่ด้านดนตรี จนมาสมัครเป็นพีอาร์ที่เคทีซี โชคดีว่าผู้ใหญ่ให้โอกาส เพราะมองว่างานพีอาร์ไม่ว่าเรียนอะไรมาก็ต้องนับหนึ่งใหม่อยู่ดี สิ่งสำคัญคือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งด้วยความที่โฟมแต่งเพลง เล่นดนตรีมา ผู้ใหญ่มองว่าน่าจะเป็นประโยชน์เลยให้โอกาสมาทำงาน ทำได้ปีกว่าโฟมก็ไปเรียน MBA ที่จุฬาฯ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยจนจบปริญญาโท ด้วยความที่สนใจงานด้านการตลาด ชอบเรื่องโปรโมชันเลยขอย้ายมาทำงานส่วนนี้”
ในขณะที่ กำลัง Learning By doing ประตูแห่งโอกาสบานใหม่ก็เข้ามาทักทาย เมื่อโฟมได้รับการชักชวนให้มาเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บัตรเครดิต กรุงศรีซิกเนเจอร์ “สารภาพตามตรงตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หน้าที่นี้ต้องทำอะไร แต่ก็ลองไปคุยดู ปรากฏว่าคุยไปคุยมาได้ เลยลาออกจากเคทีซีมาทำ จากที่เคยทำแต่เรื่องโปรโมชัน คราวนี้ต้องมาลงเรื่องโอเปอเรชัน การวางแผนเชิงกลยุทธ์มากขึ้น เพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้าที่ถือบัตรกรุงศรีฯ ซึ่งถือว่าเป็นบัตรที่พรีเมียมที่สุด ดูแลการจัดกิจกรรม อีเวนต์ต่างๆ
หลังจากสั่งสมประสบการณ์อยู่หลายปี โฟมก็ได้รับโอกาสใหม่อีกครั้งให้มาร่วมงานกับ เชลล์ “ตอนแรกโฟมเข้ามาดูในส่วนของ Payment จำได้เลยว่าตอนที่มาสัมภาษณ์ พอได้ยินว่าเนื้องานต้องทำอะไรบ้าง โฟมก็พูดตรงๆ เลยว่าเนื้องานที่บริษัทให้โฟมมาทำ โฟมทำได้แค่ 50% เท่านั้น คือในส่วนของการดีลกับธนาคารเพื่อทำโปรโมชัน แต่ในส่วนของไอทีที่เกี่ยวข้องกับระบบจ่ายเงินต้องมาเรียนรู้ ซึ่งบริษัทก็ให้โอกาส”
ผลงานที่โฟมภูมิใจคือ เข้ามาช่วยในการเปลี่ยนเครื่องรูดบัตร EDC ทั้งหมด เดินหน้าระบบการจ่ายเงินด้วย QR code และ Line pay โดยหลังจากทำมา 3 ปี บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กร ล่าสุด เธอถูกโยกย้ายมาเป็น Business Development Manager ดูเรื่องการสร้างธุรกิจใหม่ของเชลล์
“โฟมมองว่าทุกสเต็ปในโลกการทำงานของโฟม เป็นการเปิดโอกาสให้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งโฟมไม่กลัว และพร้อมที่จะคว้าโอกาสนั้นเสมอ โชคดีที่โฟมเป็นคนเรียนรู้เร็ว ชอบความท้าทาย แต่การที่ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้นๆ มาก่อน ก็อาจจะทำให้ต้องไฟท์มากกว่าคนอื่น”
อย่างไรก็ตาม แม้จะเต็มที่ในการทำงานประจำ แต่โฟมมีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างงานกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัว “ส่วนใหญ่ถ้ากลับบ้านแล้วจะไม่ทำงานแล้ว ยกเว้นมีงานด่วนเข้ามาหรือช่วงที่ต้องทำงานที่บ้าน โฟมพยายามบริหารเวลา ไม่ทำงานดึก แล้วเอาเวลาที่เหลือจากการทำงานมาเล่นดนตรี ทำเพจ ขายคุกกี้ที่ชอบ โฟมมองว่าการทำงานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต อย่างงานประจำที่ทำอยู่ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ เพราะโฟมจะไม่เลือกทำในสิ่งที่ไม่ชอบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าชอบอะไรมากกว่ากัน
โฟมเป็นคนชอบเที่ยว ชอบกิน ชอบดนตรี อย่าง สามีก็เล่นกีตาร์ บางทีก็ชวนเขามาเล่นกับคุณพ่อด้วย ซึ่งเล่นกีตาร์เหมือนกัน โฟมเป็นคนร้องแล้วก็อัดคลิปลงยูทูบช่อง Foamkeeta เพิ่มเติมจากปกติที่ทำคลิปสอนเล่นเปียโนอยู่แล้ว เวลาไปเที่ยวเราก็ทำบล็อกมาลงเพจ Foamkeeta จนช่วงโควิด-19 มีเวลาว่างก็หาสูตรทำซอฟต์คุกกี้ขายแบบพรีออเดอร์ อาทิตย์หนึ่งเปิดเตา 1 ครั้ง ใครสนใจก็สั่งซื้อได้นะคะทางเฟซบุ๊กชื่อ Foamhomemade”
บอกเล่าชีวิตในหลากหลายแง่มุมมาแล้ว มาอัปเดตสเตตัสเจ้าสาวหมาดๆ กันบ้างว่า ต้องปรับตัวอย่างไรในการใช้ชีวิตคู่ “ค่อนข้างลงตัวค่ะ รู้สึกดีที่มีคนดูแลเราอีกคน แต่ช่วงแรกๆ ก็อาจจะต้องปรับตัวและเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น ส่วนแผนการอนาคต โฟมอยากทำธุรกิจของตัวเอง จริงๆ ก็คิดมาสักพักแล้ว พยายามค้นหาตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบ อย่าง การขายคุกกี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความฝันที่อยากจะทำคาเฟ่ เช่นเดียวกับงานเพลงที่ยังคิดถึง และมีคนถามเยอะ เพราะโฟมก็ไม่ได้ทำเพลงใหม่มานานแล้ว เลยคิดว่ามีจังหวะที่ใช่ก็อยากจะทำ” โฟมทิ้งท้าย