Celeb Online

หนีตาย! “สมชาย แก้วทอง” ปรับตัวสู้โควิด ปั้นแบรนด์ลูก “ไข่ แกลอรี่” ขายทุกสิ่งผ่านออนไลน์


เมื่อ 2 ปีที่แล้ว วงการแฟชั่นเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เสนอชื่อ “สมชาย แก้วทอง” ให้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ในสาขาทัศนศิลป์ การออกแบบแฟชั่น ซึ่งถือเป็นสาขาใหม่ล่าสุดและเจ้าตัวก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติเป็นคนแรกของสาขานี้ สร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองอย่างที่สุด อีกทั้งยังเป็นการยกระดับศักดิ์ศรีของวงการแฟชั่นไทย ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง


“ยอมรับว่าดีใจและยังปลื้มใจที่คนในแวดวงแฟชั่นอย่างเราได้รับการยอมรับ” อาจารย์ไข่-สมชาย แก้วทอง ในวัย 73 ปี แห่ง “ไข่ บูติก” (Kai Boutique) กูตูริเยร์ระดับตำนานของเมืองไทย เริ่มเปิดใจเล่าถึงความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติเป็นคนคนแรกใน สาขาทัศนศิลป์ การออกแบบแฟชั่น เพราะตลอดระยะเวลากว่า 52 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่น ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จนทำให้ผลงานของไข่บูติก ได้รับการยกย่องว่ามีความประณีตงดงาม โดยเฉพาะ ชุดแต่งงานซึ่งเป็นที่ใฝ่ฝันของเจ้าสาว ผลงานทุกชิ้น เสื้อผ้าทุกตัว เขามองว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญ


“ความฝันของเราคือทำให้ผู้หญิงหลายคนมีฝันเป็นจริง คือการได้ใส่ชุดที่งดงาม เป็นมรดกที่ส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่ว่าวงล้อแฟชั่นจะหมุนไปข้างหน้าในทิศทางใด ผลงานของเราก็ยังคงอยู่กับผู้สวมใส่ตลอดเวลา” ศิลปินแห่งชาติเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส


เมื่อกาลเวลาที่หมุนผ่านไป มีบริษัทออแกไนซ์รับจัดพิธีวิวาห์ ซึ่งรวมไปถึงการเช่าชุดแต่งงาน ประกอบกับ บ่าวสาวเริ่มให้ความสำคัญกับพิธีการมากกว่าการลงทุนตัดชุดเจ้าสาว จึงทำให้ ไข่ บูติก ต้องเริ่มปรับตัวและเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดเสียใหม่

“เมื่อก่อนลูกค้าของเราจะเป็นลูกค้าระดับไฮเอนด์ มันจึงทำให้แบรนด์ของเราดูแพงจนลูกค้ากลุ่มอื่นไม่กล้าเดินเข้ามาที่ร้าน ดังนั้น เราจึงต้องทำชุดเดรสสำหรับใส่ทำงานหรือใส่อยู่บ้านในราคาที่คนทั่วไปจับต้องได้ ซึ่งราคาก็เริ่มต้นชุดละ 1,800-4,500 บาท ก็ทำให้คนวัยทำงานหรือคนชั้นกลางรู้จักเรามากขึ้น”


แต่ที่ต้องทำให้อาจารย์ไข่ ปรมาจารย์ด้านแฟชั่นเหนื่อยสุดๆ ก็คงหนีไม่พ้นช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาดในประเทศไทย ทำให้เขาต้องปรับแผนการต่อสู้ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้แบรนด์ “ไข่ บูติก” อยู่รอดท่ามกลางสภาวะวิกฤต ด้วยการปั้นแบรนด์ลูก อย่าง “ไข่ แกลอรี่” ที่ขายสินค้าทุกอย่าง ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ผ่านช่องทางออนไลน์

“มันเริ่มมีสัญญาณเตือนเรามาก่อนหน้านี้ ประมาณปีสองปีแล้ว ถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี เราก็ค่อยๆ ปรับตัวมาตลอด แต่ที่มาหนักสุดคือช่วงที่ไวรัสระบาดในประเทศไทย เรามีค่าใช้จ่ายเท่าเดิมในขณะที่รายได้เราลดลงไปมาก เราต้องพยุงแบรนด์ ไข่ บูติก ให้อยู่รอดให้ได้ ดังนั้น เราจึงหันมาทำแบรนด์ลูก อย่าง ไข่ แกลอรี่ เพื่อขายสินค้าทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์หลักของแบรนด์ ไข่ บูติก ซึ่งเราขายทุกอย่างตั้งแต่ชุดเดรสเพื่อใช้อยู่บ้าน เครื่องประดับ หมวก สร้อยคอ กระเป๋า หน้ากากอนามัย ไปจนถึงของกิน อย่าง มันทอด ของทุกอย่างยกเว้น มันทอด เราจะเป็นผู้ออกแบบแล้วจ้างโรงงานข้างนอกตัดเย็บให้ ซึ่งมันก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ในการหาเงินมาจ่ายค่าเช่าร้านและเงินเดือนพนักงานทุกคนให้อยู่รอดต่อไปได้” อาจารย์ไข่เล่าด้วยน้ำเสียงสุขใจ


ประสบการณ์ในแวดวงแฟชั่นที่ผ่านมา ได้สอนให้กูตูริเยร์เมืองไทยเรียนรู้ว่า “ตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน”

“ตลอดระยะเวลาของการทำแบรนด์ มีสิ่งหนึ่งที่คนเป็นเจ้าของกิจการต้องท่องจำให้ขึ้นใจคือ เราต้องทำทุกอย่างให้เป็น เพราะพนักงานทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ ในหนึ่งเดือน 30 วันเขาไม่สามารถทำงานให้เราครบหรอก เขาต้องมีธุระส่วนตัวและครอบครัวบ้าง ดังนั้นในหนึ่งเดือนเขาจะทำงานให้เราได้เพียง 15 วัน แต่เมื่อเรารับงานจากลูกค้ามาแล้ว ทุกอย่างมันต้องดำเนินต่อไป ถ้างานส่วนไหนที่พนักงานลาหยุด เราก็ต้องลงไปทำเอง ตั้งแต่งานตัด งานเย็บ ไปจนถึงการรับโทรศัพท์แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับลูกค้า ทุกกิจการเชื่อเถอะว่า ถ้าเจ้าของเป็นผู้ลงมือทำเองแล้วอย่างไรก็ไปรอด”


ไม่ว่าจะทุ่มเทและมุ่งมั่นกับงานมากแค่ไหนก็ตาม แต่ใน 1 ปี ที่มี 365 วัน อาจารย์ไข่จะแบ่งเวลาไปพักผ่อนชาร์ตแบตให้ตัวเอง 40 วัน

“เราเป็นคนไม่ชอบออกเดินทางท่องเที่ยวพร้อมๆ กับคนอื่น เพราะไม่อยากไปเบียดเสียดแออัดกันตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อย่าง วันหยุดยาวเราก็จะหยุดแค่วันสงกรานต์และวันปีใหม่ โดยเราจะปิดร้านไปก่อนคนอื่นประมาณหนึ่งสัปดาห์ และกลับมาช้ากว่าอีกหนึ่งสัปดาห์ รวมแล้วประมาณเทศกาลละ 20 วัน อย่าง วันหยุดเมื่อปีที่ผ่านมา เราก็จะบินไปเที่ยวฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น อยู่ชื่นชมธรรมชาติและนั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองอื่นๆ ต่ออย่างสบายๆ การท่องเที่ยวก็ถือเป็นการเพิ่มพลังให้กับตัวเอง อีกทั้งยังเป็นการเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการแฟชั่น


สำหรับ “ตลาดนัดโกกุ่ย สัญจรมาบ้านโกไข่” นั้น กระแสตอบรับดีเกินคาด ตั้งร้านยังไม่ทันเสร็จเปิดบิลเกือบหมื่น

“ความจริงโกกุ่ยเขาใช้บ้านเขาเปิดเป็นตลาดนัดอยู่แล้ว แต่เปิดขายเพียงแค่วันเสาร์ เราก็เลยลองชวนเขามาสัญจรเปิดตลาดนัดที่บ้านเรา คือหน้าหมู่บ้านสัมมากร ซึ่งตรงนั้นเป็นหมู่บ้านใหญ่ และตลาดนัดก็ตั้งอยู่ทางเข้าหน้าหมู่บ้านพอดี พอเขาสัญจรมาได้สักสองสัปดาห์ ปรากฏว่าขายดีเกินคาด บางร้านยังตั้งร้านไม่เสร็จก็สามารถเปิดบิลได้แล้วเป็นหมื่น เมื่อผลตอบรับดีจึงย้ายตลาดนัดโกกุ่ยมาไว้ที่หน้าหมู่บ้านสัมมากรเลย และเปิดขาย เสาร์-อาทิตย์ โดยใช้ชื่อตลาดว่า ตลาดนัดโกกุ่ยสัญจรมาบ้านโกไข่”


อีกหนึ่งบทเรียนชีวิตที่อาจารย์ไข่ อยากให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาไว้เป็นบทเรียนชีวิตว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน จงอย่าใช้ชีวิตบนความประมาท อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา

“เชื่อไหมว่าพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของที่ตลาดนัดโกกุ่ย ส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นคนที่ผมรู้จักเกือบหมด บางคนเป็นสไตลิสต์แมกกาซีนดัง เคยทำงานมีเงินเดือนดีๆ บางคนได้เงินเดือนละเป็นแสน แต่ก็อย่างว่า ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน พอกิจการปิดตัวลงถูกเลิกจ้าง ก็ต้องมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัด หางานอื่นมาทำเพื่อประคับประคองชีวิตและครอบครัว ผมถึงอยากจะฝากบอกเด็กเยาวชนรุ่นใหม่ทุกคนว่า ให้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เมื่อพ่อแม่ส่งมาเรียนหนังสือก็ต้องขยันศึกษา เรียนให้จบและหางานมีรายได้ที่มั่นคง เก็บเงินเพื่อมาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป เพราะชีวิตคนเราไม่มีอะไรที่จริงแท้และแน่นอน” คนรุ่นเก่าฝากถึงคนรุ่นใหม่ให้ชวนคิด

IG : kai_boutique