ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีก่อน คนรุ่นคุณน้าคุณอาคงไม่มีใครไม่รู้จัก “คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช” นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย ในฐานะเจ้าแม่บิ๊กโปรเจกต์ที่ทำแคมเปญดังระดับโลก อย่าง โครงการ “ตาวิเศษ” ที่มีเพลงฮิตติดปากทุกคนว่า “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง” แต่แล้วโครงการนี้ก็หายหน้าหายตาไปนานร่วม10 ปี กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว คุณหญิงชดช้อย เจ้าแม่ตาวิเศษคัมแบคอีกครั้ง กับโฉมใหม่ภายใต้โลโก้ตาวิเศษอันเดิม เพียงคุณหญิงเติมคำว่า “เรานะ…ตาวิเศษ” เข้าไปในสโลแกนให้ดูไฉไลเข้าไปอีก
คุณหญิงได้ใช้ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) อันเป็นสถานที่ตั้งของโครงการตาวิเศษ ให้ทีม Celeb Online ได้เข้าไปพูดคุยถึงความสำเร็จของโครงการตลอด 35 ปีที่ผ่านมา
คุณหญิงชดช้อยเล่าถึงการกลับมาอีกครั้งของโครงการตาวิเศษ ที่ห่างหายไปนานกว่า 10 ปีว่า เพราะราคาค่าโฆษณาทางสื่อทีวีที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้โฆษณาตาวิเศษค่อยๆ เลือนหายไป แต่พันธมิตรผู้สนับสนุนโครงการตั้งแต่วันก่อตั้งจนถึงวันนี้ ยังเป็นชุดเดิมเพิ่มเติมคือพันธมิตรกลับเพิ่มขึ้น
“ช่วงนั้นค่าโฆษณาในสื่อโทรทัศน์สูงมาก เพราะคนมีโทรทัศน์กันแทบทุกบ้าน ตอนนั้นราคาค่าโฆษณานาทีละสี่ถึงห้าแสนบาท และทางผู้โฆษณาเองก็ต้องซื้อเป็นสล็อต ทำให้ไม่มีใครปันช่วงเวลาให้ตาวิเศษได้อีก ส่งผลให้โฆษณารณรงค์ของตาวิเศษค่อยๆ หายไปจากหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อหลักของเราในสมัยนั้น จนสุดท้ายก็หายไปจากโทรทัศน์ถาวร แต่คณะกรรมการโครงการของเราตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ยังเป็นชุดเดิม และทีมผู้สนับสนุนร่วมโครงการของเราเพิ่มมากขึ้นจากเดิมอีกหลายหน่วยงาน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เรายังมีกำลังใจในการดำเนินโครงการต่อไป”
ทว่า ตลอดระยะเวลา10ปีที่ผ่านมา แม้ไม่ได้ปรากฏภาพการทำงานผ่านหน้าจอหลักอย่างที่ผ่านมา แต่โครงการตาวิเศษยังมีการขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่อง โดยใช้บ้านพักของคุณหญิงย่านสุขุมวิทเป็นที่ทำการโครงการ กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้มาพบบ้านหลังใหม่ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จึงใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานและประชาสัมพันธ์โครงการ ที่ทุกคนสามารถเดินเข้ามาเรียนรู้เรื่องรีไซเคิล หรือมาทำกิจกรรมดีไอวายต่างๆ ได้สะดวก
“เหตุผลที่เราเลือกสถานที่แห่งนี้เป็นที่ทำการของโครงการ เพราะเราอยากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น เพราะคนอายุเกิน 30 ขึ้นไปคงไม่มีใครไม่รู้จักโครงการของเรา แต่เด็กๆ รุ่นใหม่ยังไม่มีใครรู้จักและหอศิลปวัฒนธรรมมีความหลากหลาย ในแต่ละร้านเราจึงคิดว่าเด็กที่มากับคุณพ่อคุณแม่ ก็คงอยากวิ่งเข้ามาทำกิจกรรมที่ทำการของเรา หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่เองก็คงอยากมาประดิษฐ์ของใช้สวยๆ จากวัสดุเหลือใช้”
คุณหญิงเล่าต่อว่าภายในที่ทำการของโครงการนั้น มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทุกคนมาร่วมมากมาย ทั้งงาน DIY และงานประดิษฐ์ต่างๆ
“กิจกรรมภายในศูนย์เรียนรู้ก็จะมีเพนต์กระเป๋า ทำภาพพิมพ์ สกรีนเสื้อยืดหรือกระเป๋า ซึ่งสามารถนำมาจากที่บ้านได้ สายคล้องคอ และร้อยลูกปัด เป็นต้น ซึ่งวัสดุทั้งหมดล้วนเป็นวัสดุเหลือใช้แล้วทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และรู้วิธีการคัดแยกขยะ อันเป็นการลดการปล่อยของเสียออกไปภายนอก”
หายไปร่วม10 ปี ตาวิเศษกลับมาผงาดครั้งนี้ ย่อมไฉไลกว่าเดิม ภายใต้โลโก้ตาวิเศษอันเดิม เพียงคุณหญิงเติมคำว่า “เรานะ…ตาวิเศษ” เพิ่มเข้ามา
“แคมเปญนี้ได้เริ่มคิดทำไว้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเราได้ติดต่อไปยังกลุ่มเซเลบที่เติบโตมากับตาวิเศษ ให้มาช่วยเป็นแอมบาสเดอร์ของตาวิเศษ ที่สำคัญ ยังได้ เวย์ ไทยเทเนียม (ปริญญา อินทชัย) ที่มาช่วยแต่งและร้องเพลงตาวิเศษเวอร์ชันใหม่ในสไตล์ดนตรีฮิปฮอป ซึ่งแผนเดิมเราจะเปิดแคมเปญนี้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่เพราะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงต้องชะลอไปก่อน”
แม้จะติดช่วงโควิด แคมเปญใหญ่ที่กำลังจะเปิดตัวต้องชะลอไปก่อน แต่คุณหญิงและทีมงานทุกคนก็ลงพื้นที่ทำกิจกรรมรณรงค์การคัดแยกขยะ รวมถึงบริการอาหารฟรีเป็นเวลา 3 เดือน ให้แก่ในชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนประวัติศาสตร์ริมคลองแสนแสบ ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ตั้งโครงการ โดยคุณหญิงคาดหวังว่า กิจกรรมนี้จะเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ลดปริมาณการใช้พลาสติกตามมา
“ช่วงโควิด-19 ระบาด หลายโครงการเราต้องหยุดไว้ก่อน และดิฉันกับเพื่อนเรี่ยไรเงินกันได้จำนวนหนึ่ง และได้ทำอาหารไปบริการฟรีชาวบ้านในชุมชนบ้านครัวเหนือ ซึ่งเราจะจ้างร้านค้าในชุมชนจำนวน 15 ร้าน ให้มาทำอาหารแจกชาวบ้านวันละ 5 ร้าน หมุนเวียนกันไปจนครบ 3 เดือน และมีข้อแม้ว่าคนที่จะมารับบริการแจกอาหาร ต้องนำภาชนะมาใส่เองเพื่อลดปริมาณกล่องโฟม ปรากฏว่าผ่านไป 3 เดือน ชาวบ้านในชุมชนใช้ภาชนะนำไปใส่ของ จนกลายเป็นนิสัยเป็นจำนวนมากขึ้น และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็จะลงไปทำกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ รวมถึงการทาสีสนามกีฬา โดยเริ่มที่ชุมชนบ้านครัวเหนือก่อนเป็นที่แรก แล้วจึงขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด”
คุณหญิงชดช้อยในวัย 73 ปี ฐานะหัวเรือใหญ่ของโครงการ รู้สึกภาคภูมิใจที่ทุกวันนี้เวลาไปไหนมาไหน ยังมีคนจดจำตาวิเศษได้ แม้โครงการจะก่อตั้งมานานกว่า 35 ปีแล้วก็ตาม อีกทั้งยังได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรเรื่องการบริหารจัดการขยะที่ต่างประเทศอีกด้วย อันเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ประเทศในการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลกอยู่ในขณะนี้
“เวลาที่เราไปต่างจังหวัดก็จะดีใจมาก เมื่อมีคนมาทักทายเราว่าเป็นเจ้าแม่ตาวิเศษใช่ไหม และมีคนมาขอถ่ายรูปกับเราเยอะมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังมีคนจำเราได้ และสมัยที่โครงการตาวิเศษได้รับความนิยม ดิฉันเคยได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องการคัดแยกขยะที่ประเทศฟิลิปปินส์ และอีกหลายประเทศในแถบอาเซียน ที่เชื้อเชิญให้ไปบรรยาย ไม่เว้นแม้แต่ ประเทศบราซิล ที่ติดต่อขอใช้โลโก้ของโครงการตาวิเศษ แต่ก็แนะนำไปว่า โลโก้ตาวิเศษอาจจะไม่เหมาะกับประเทศเขา ดังนั้น บราซิลจึงใช้ตามนุษย์หุ่นยนต์ที่มีลักษณะตากลมๆ แทน”
การรณรงค์ร่วมกันลดปริมาณขยะ คุณหญิงไม่ได้ทำแค่เพียงภายนอกบ้านเท่านั้น หากแต่ภายในบ้านเอง คุณหญิงก็ปลูกฝังลูกๆ และหลานแฝดทั้งสอง ให้มีจิตสำนึกร่วมกันในการลดปริมาณขยะ โดยเป็นผู้ตั้งกฎเหล็กขึ้นมาว่า ห้ามนำพลาสติก กล่องโฟมทุกชนิดเข้าบ้านโดยเด็ดขาด
“ดิฉันจะสอนลูกๆ ทุกคนมาตั้งแต่เด็กว่า ห้ามนำกล่องโฟมเข้าบ้าน ต้องพกกล่องอเนกประสงค์ติดรถไว้ตลอดเวลา รวมไปถึงแก้วน้ำส่วนตัวด้วย โดยเฉพาะ หลานๆ ซึ่งอยู่ในวัยเด็กและกำลังอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ เราก็จะบอกเขาเสมอว่า ต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ คัดแยกขยะทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง ซึ่งเขาก็จะทำตามเรา ทุกวันนี้หลานๆ ทั้ง 2 คน เขาก็จะสนุกกับการคัดแยกขยะ และพกขวดน้ำส่วนตัวไปไหนมาไหนด้วยทุกครั้ง” คุณหญิงทิ้งท้ายอย่างภาคภูมิใจ