ถ้าเปิดดูโปรไฟล์ของผู้บริหารมาดเท่ “ตุ้ย–วิทยา สินทราพรรณทร” รับรองได้ว่าทุกคนต้องประทับใจ กับประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วจากองค์กรใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย แต่ละแห่งล้วนระดับท็อปของประเทศ อย่าง ไมเนอร์ ซัมซุง คิง เพาเวอร์ TMB ฯลฯ แถมยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดโครงการของ MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของวงการ
เรียกได้ว่า ตุ้ยคือหนึ่งในตัวแทนของพนักงานมืออาชีพ ที่มีความสุขกับการเติบโตในสายงานที่รัก
“ผมทำงานด้านการตลาดและการพัฒนาธุรกิจมาตลอด เพราะจบปริญญาตรีสายการตลาด พอปริญญาโทก็ยังเรียนด้านการบริหารธุรกิจ และธุรกิจระหว่างประเทศ ผมทำงานมาหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่สายคอนซูเมอร์โปรดักส์ รีเทล แบงก์กิ้ง สุขภาพ เรียลเอสเตท IT&Mobile หรือแม้แต่ภาครัฐ อย่าง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ”
การได้เข้าไปเปิดโลก ได้เรียนรู้คลุกคลีในหลากสายงาน เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองเสมอ ตุ้ยย้ำว่า “แต่ละที่ที่ผมทำงาน นอกจากการได้เรียนรู้สิ่งใหม่แล้ว ผมจะพยายามใช้ประสบการณ์เดิมที่มีให้เป็นประโยชน์กับองค์กร ผมยังให้ความสำคัญกับการ contribute ให้องค์กร ผมมองว่าข้อดีของการทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม คือทำให้เราไม่ได้มีความรู้แค่เชิงลึกในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ยังทำให้เราได้ความรู้ความชำนาญในแนวกว้าง เพราะในอนาคตหลังเกษียณ ผมแพลนจะผันตัวไปเป็นที่ปรึกษา ซึ่งต้องการองค์ความรู้ที่รอบด้าน”
อย่างไรก็ตาม ตราบที่โลกไม่หยุดหมุน ความรู้และวิทยาการต่างๆ ก็ก้าวล้ำไปตลอดเวลา ตุ้ยยอมรับว่า วิชาการตลาดที่เคยใช้ได้ผลเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญของการเป็นนักการตลาด คือต้องพร้อมอัปเดตความรู้ใหม่ๆ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพื่อก้าวให้ทันกับเมกะเทรนด์โลก”
ในฐานะที่คร่ำหวอดในฐานะนักการตลาดมานาน ถ้าให้ประเมินว่าอะไรคือจุดเด่นของตัวเอง เขามองว่า จุดที่มักได้รับการยอมรับคือ เรื่อง Strategic Thinking การคิดค้นพัฒนากลยุทธ์ต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากจินตนาการของตัวเอง หรือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เรายึดเอาความต้องการ และ pain points ของลูกค้าเป็นจุดตั้งต้นเสมอ ผนวกกับการเอาเทรนด์ต่างๆ มาประกอบการพิจารณา และต้องมีการคาดการณ์ไปข้างหน้าด้วย เพราะบางครั้งข้อมูลในตลาดหรือลูกค้าอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ ยิ่งถ้าเราอยากจะเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียว จากการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาด บางครั้งเราต้องสร้างดีมานต์ให้เกิดขึ้น และที่ขาดไม่ได้คือ เรื่องของการนำนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ในกระบวนการทำงานและการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ
“ผมเองสนใจเรื่องนวัตกรรมอยู่แล้ว บวกกับเป็นคนชอบเรียนรู้ เลยตัดสินใจไปเรียนปริญญาเอก สาขา Innovation and Industrial Management ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง คิดว่านอกจากจะได้ความรู้ ยังเป็นประโยชน์มากๆ ถ้าในอนาคต ผมคิดจะไปเป็นอาจารย์หรือรับงานที่ปรึกษา เพราะทุกวันนี้ก็เป็นอาจารย์พิเศษมากว่า 20 ปีแล้ว หลังจากได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ให้สอนนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่สมัยทำงานที่ทีเส็บ จนได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษให้อีกหลายมหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ส่วนตัวผมชอบงานนี้มากนะ เวลาได้ไปแชร์ความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะกับนักศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งมีทั้งนักศึกษาไทยและต่างชาติ เพราะเป็นโอกาสให้เราได้แชร์ความรู้และแลกเปลี่ยนไอเดียต่างๆ กับเด็กรุ่นใหม่ หลายครั้งผมก็ได้ไอเดียดีๆ จากนักศึกษากลับมาต่อยอดในการทำงานด้วย”
มาถึงงานปัจจุบันกับการมาร่วมงานกับ MQDC ตุ้ยบอกว่าได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่ให้มาช่วยงานการตลาดดูแลหลายๆ โปรเจกต์ ทั้งที่สร้างเสร็จแล้ว กำลังก่อสร้าง และที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาคอนเซ็ปต์ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้ทำงานในอุตสาหกรรมที่ไม่เคยจับมาก่อน ยังได้มีโอกาสดูแลหลายๆ โปรเจกต์ที่มีคอนเซ็ปต์ที่ยูนีค แตกต่างจากโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด และยังเป็นหนึ่งเดียวในโลก ไม่ว่าจะเป็นโครงการ The Aspen Tree The Forestias, โครงการ Cloud 11 และโครงการอื่นๆ ที่กำลังอยูในขั้นตอนการพัฒนาคอนเซ็ปต์ตั้งแต่เริ่มต้น
โดยเฉพาะ โครงการ The Aspen Tree The Forestias โครงการนี้ไม่ใช่โครงการอสังหาฯ ทั่วไป แต่เป็นโครงการที่ผสมผสานทั้งที่พักอาศัย พร้อมด้วยการบริการดูแลแบบองค์รวมตลอดชีวิตแบบครบวงจร ด้วยมาตรฐานระดับโลกสำหรับวัย 50+ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์และฟังก์ชั่นที่สะดวกสบายปลอดภัยไร้กังวล กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน การช่วยเหลือดูแลตลอด 24 ชั่วโมง บริการอาหารเช้าทุกวัน บริการดูแลทำความสะอาดทุกสัปดาห์ รวมถึงการให้ประกันสุขภาพในวงเงิน 40 ล้านบาทต่อปี จนถึงอายุ 99 ปี นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ที่จะช่วยเหลือผู้พักอาศัย พร้อมบริการทางการแพทย์ที่ตั้งอยู่ภายในโครงการ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงวัยในบ้านเราได้เป็นอย่างดี
“หลักๆ ผมเข้ามาช่วยสร้างแบรนด์ ทำให้คนรู้จักและเข้าใจคำว่า Lifetime Care คืออะไร มีความหมายกับการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ดี และสวยงามที่สุดในช่วง 40-50 ปีสุดท้ายของชีวิตอย่างไร ซึ่งด้วยวัยผมก็ถือว่ากำลังอินมากกับเรื่องนี้ และผมเชื่อว่าคนวัยกำลังจะ 50 หรือ 50+ ก็เริ่มมีคำถามกับชีวิตของตัวเองในอนาคตนะ แต่อาจจะยังไม่มีคำตอบให้ตัวเอง ซึ่งผมคิดว่า วันนี้ The Aspen Tree คือคำตอบจริงๆ ที่สำคัญสำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่า จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้อย่างถาวรหรือไม่ ทางโครงการก็มีแพกเกจทดลองอยู่แบบระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี ที่ช่วยตอบโจทย์คนที่มีความสนใจในการวางแผนอนาคตทั้งของตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และไม่ใช่แค่คนอายุ 50 ที่ต้องคิดถึงเรื่องนี้ ผมว่าทุกเจนเนอเรชันต้องมีความเข้าใจและตระหนักถึง Life Cycle เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
นอกจากนี้ เขายังได้รับมอบหมายให้ดูแลการตลาดของโครงการ Cloud 11 ซึ่งเป็นโครงการอาคาร mixed-use ที่ตั้งใจให้เป็นฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการผลักดัน ยกระดับ และสร้างระบบนิเวศน์ครบครันของวงการครีเอเตอร์ เพื่อดึงศักยภาพของเหล่าบรรดานักสร้างสรรค์ให้เติบโตได้ไกลระดับโลก รวมถึงอีกหลายหลายโปรเจกต์ที่อาจจะยังเปิดเผยไม่ได้ แต่เรียกได้ว่าเป็นอีกความท้าทายในการทำงาน ที่จะได้ก้าวข้าม Comfort zone ของตนเอง
สำหรับไลฟ์สไตล์วันว่าง เขาจะให้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่ และหาเวลาท่องเที่ยวเดินทางด้วยกันทั้งครอบครัว ประเทศที่ไปบ่อยคือ ญี่ปุ่น เพราะไม่ไกล อาหารอร่อย อากาศดี มีหลายเมืองให้ไปได้ไม่ซ้ำ บางทริปก็เช่ารถขับ บางทริปก็นั่งรถไฟ
“โชคดีที่ผมกับภรรยาไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน ชอบเดินทางไปเรื่อยๆ แบบสบายๆ ไม่รีบ ใช้เวลาอยู่แต่ละที่นานๆ ไม่ได้เน้นลุยหรือผจญภัยมากนัก เวลาจัดทริปครอบครัว ผมยึดหลักทุกคนต้องเอ็นจอย ไม่ใช่ต้องตามใจลูกไปสวนสนุกทุกวัน ต้องมีวันของพ่อแม่บ้าง ผมถือว่าเป็นการฝึกให้เขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ต้องรู้จักอดทน รอคอย ส่วนเรื่องความโรแมนติก ส่วนตัวเราทั้งคู่ก็หมั่นคอยเติมเต็มความรักและดูแลกันอย่างดีในทุกๆ วัน และค่อนข้างให้ความสำคัญกับเทศกาลพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด วันวาเลนไทน์ วันครบรอบแต่งงาน ต่างฝ่ายไม่ได้มองว่าเป็นหน้าที่ แต่เป็นความตั้งใจและเต็มใจที่อยากจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแฮปปี้ ว่าเรายังนึกถึงกัน เป็นวันพิเศษของกันและกัน เป็น surprise โมเมนต์เล็กๆ ภายในครอบครัว ที่เดี๋ยวนี้มีลูกเป็นส่วนร่วมตลอด”
สำหรับเป้าหมายการเกษียณ ตุ้ยบอกว่า ถ้าสมัยตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ เคยตั้งเป้าว่าอยากเกษียณตอน 40 ปี แต่พอมีลูกตอนอายุ 44 ปี เลยคิดว่าแผนเกษียณคงไม่มี (หัวเราะ) ถ้าไม่ได้ทำงานประจำแล้ว ก็อยากเป็นอาจารย์หรือทำงานด้านที่ปรึกษา เพราะสนุกกับการได้เจอคน ได้เรียนรู้ตลอดเวลา หรืออาจจะเอาดีด้วยการเป็นยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยว รีวิวสินค้าและบริการที่เหมาะสำหรับคนสูงวัย เพราะเป็นเซกเมนต์ที่เติบโตเร็วและจะใหญ่มากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต”
สุดท้ายนี้ ในฐานะที่สวมบทมนุษย์เงินเดือนมาเกือบทั้งชีวิต ถามว่ามีมุมมองอย่างไร กับเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้ประกอบการ
“ผมมองว่าเป็นเรื่องทัศนคติ ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีถูกผิด เหมือนกับผมสอนลูก ผมมองว่าคนเราแต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน เด็กบางคนทำงานหาเงินได้ตั้งแต่ 7-8 ขวบ อะไรทำแล้วมีความสุข ทำได้ดี ก็โอเค follow your passion ให้เต็มที่ สิ่งสำคัญต้องหาตัวเองให้เจอและเร็ว แล้วเปลี่ยน passion into action ไปให้สุดทาง ทำให้เต็มที่ ต้องรู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายที่ชัดเจน และตั้งใจที่จะทำสิ่งๆ นั้นให้ดีที่สุด”
ส่วนค่านิยมของเด็กยุคใหม่ ที่มักเลือกอยากเป็นผู้ประกอบการมากกว่ามนุษย์เงินเดือน ผมมองว่า เป็น personal preference ที่รักที่จะเป็นนายตนเอง ปั้นธุรกิจของตัวเองจาก Day 1 และเฝ้ามองการเจริญเติบโต แต่ส่วนตัวผมเองผมชอบที่จะเป็นมือปืนรับจ้างมากกว่า (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ครอบครัวผมเองก็ทำธุรกิจจิวเวลรีมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า ผมเป็นเจนฯ 3 สมัยเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ให้พวกเรา 3 พี่น้องไปช่วยงานของครอบครัวโดยตลอด แต่พวกท่านก็ไม่เคยกดดันว่า ต้องกลับไปทำธุรกิจที่บ้าน แต่จะปลูกฝังว่า อะไรมีความสุขก็ทำไป แต่ขอให้พยายามทำให้ดีที่สุดครับ”