Celeb Online

กว่าจะมาเป็นซีอีโอ สมุนไพรสุภาภรณ์ “อัคเรศ สุขตลอดชีพ” ผ่านมาแล้วทุกบททดสอบกับแบรนด์ที่มีอายุกว่า 50 ปี


เห็นลุคดูเป็นหนุ่มหล่อ แถมหน้าใสกิ๊งก็จริง แต่ถ้าพูดถึงเรื่องแพสชั่นและไอเดียในการทำธุรกิจของ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-CEO) อย่าง “มะตูม-อัคเรศ สุขตลอดชีพ” ทายาทรุ่นที่สาม แห่งอาณาจักรสมุนไพรสุภากรณ์ ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 50 ปี ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะแม้โจทย์ของธุรกิจครอบครัว ที่เป็นโปรดักต์สกินแคร์ที่ทำจากสมุนไพร อาจจะทำให้หลายคนคิดว่า ไม่เข้าทางคนหนุ่มรุ่นใหม่ แต่จำใจต้องกลับมาบริหาร เพราะครอบครัวกดดัน

งานนี้ มะตูมถือโอกาสเฉลยตรงนี้เลยว่า กลับมาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะคลุกคลีกับธุรกิจนี้มาตั้งแต่เด็ก จนมีแพสชั่นว่า อยากเข้ามาสานต่อธุรกิจที่ปลุกปั้นมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า พร้อมสยายปีกธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่แน่นอนว่า ถนนสายธุรกิจไม่มีคำว่า “หมู” แถมกลับได้ไม่ทันไร ก็เจอรับน้องด้วยวิกฤตโควิดที่ทำเอาหลายธุรกิจล้มทั้งยืน


“ผมเพิ่งกลับมารับหน้าที่ Co-CEO ได้ 2 ปีครึ่ง จำได้ว่ามาทำงานได้ 2 อาทิตย์ ก็เจอโควิด-19 เลย ก็หนักหน่วงพอสมควร เพราะแผนที่วางไว้ต้องเปลี่ยนหมด และต้องอาศัยการปรับตัวให้เร็ว โชคดีที่มีเมนเทอร์คนสำคัญคือ คุณอรพรรณ สุขตลอดชีพ (อาโกว) ซึ่งเป็น Co-CEO คอยให้คำแนะนำ บวกกับอาศัยประสบการณ์และความรู้ที่มี จนนำพาองค์กรผ่านพ้นมรสุมครั้งใหญ่มาได้

“ผมเรียนจบด้าน International Business Management ซึ่งเน้นเรื่องการค้าขายกับต่างประเทศอยู่แล้ว ปริญญาโทก็ไปเรียนเกี่ยวกับ Sustainability Management ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย พอเรียนจบก็หางานทำที่นั่น ได้มีโอกาสไปทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ที่ Law firm แห่งหนึ่ง ทำอยู่สักระยะ อายุ 22 ปี ก็ลงขันกับพาร์ตเนอร์เปิดเอเจนซีเพื่อส่งเด็กไทยไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งยังทำอยู่จนถึงตอนนี้”


แม้หน้าที่การงานจะไปได้สวย แต่เพราะมีเป้าหมายในใจอยู่แล้วว่า วันหนึ่งอยากเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเกือบ 10 ปี มะตูมเลยก็ตัดสินใจนำความรู้และประสบการณ์ที่มีกลับมาเมืองไทย ค่อยๆ เรียนรู้ จนได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมานั่งตำแหน่ง Co-CEO

“จริงๆ ต้องบอกว่า อาโกว ซึ่งเป็นผู้บริหารเจนฯ สอง ที่บริหารอยู่ ก็เก่งอยู่แล้ว บริหารธุรกิจมาได้ดีตลอด แต่ผมมองว่าในช่วงที่โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คงถึงเวลาแล้วที่ผมจะกลับมาช่วย ซึ่งหน้าที่หลักของผมคือดูภาพรวมก็จริง แต่ผมก็จะไปช่วยโฟกัสเรื่องการติดต่อนำสินค้าไปวางจำหน่าย ในประเทศแถบเอเชียและตะวันออกกลาง ควบคู่ไปกับการเปิดตลาดออนไลน์ ช่วยวางกลยุทธ์การตลาดของสินค้าทั้งหมดในเครือ ผลิตสินค้าใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลมากขึ้น รับผลิตและพัฒนาสินค้าสมุนไพร (OEM) ส่งต่างประเทศ เพิ่มรายได้หลักให้กับบริษัท”


อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้ามาเป็นผู้บริหารในยุคโควิด-19 แต่มะตูมยังคิดบวกว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ต่อให้ตอนนั้น โปรเจกต์สร้างโรงงานมูลค่าหลายร้อยล้านของบริษัทจะต้องชะงัก เพราะมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงแรก แต่ผลจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายในองค์กร ตั้งแต่ทีมบริหารไปจนถึงพนักงานอีกกว่า 200 ชีวิต ทำให้ปีโควิดกลายเป็นปีที่บริษัทสามารถทำยอดขายได้ดีที่สุด นับตั้งแต่เปิดกิจการมา 55 ปี

“ตอนแรกเราก็กังวลว่า เกิดโรคระบาดแบบนี้กำลังซื้อจะหายไปไหม แต่โชคดีที่เราเป็นสินค้า FMCG และ Personal care อย่าง สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ผงมาส์กหน้า ครีมมาส์กหน้า ที่ราคาไม่เกิน 60 บาท ดังนั้น ต่อให้คนเครียดแค่ไหนก็ยังต้องซื้อสบู่ ยาสีฟัน เลยกลายเป็นว่าเรายังขายได้ดี มีการทำตลาดค่อนข้างเยอะ บวกกับเริ่มขยายไปตลาดต่างประเทศ”


ผลจากการปรับตัวที่ไวต่อวิกฤต เมื่อบวกกับการปรับตัวอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ทำให้ในเครือมีแบรนด์สินค้าใหม่ๆ เพื่อจับตลาดลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ สมุนไพรปทุมมาศ และสมุนไพรไอศิกา และยังมีการขยายไปสู่ธุรกิจรับผลิตสินค้า (OEM) รับผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์สกินแคร์และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากให้กับ SMEs และบริษัทต่างๆในประเทศไทยในราคาที่จับต้องได้ ทำให้ในปีโควิดธุรกิจก็ยังไปได้ดี

“จะเห็นว่า ชื่อแบรนด์ของเราจะเน้นความเป็นไทย เพราะจุดยืนของแบรนด์คือ เราเป็นแบรนด์ไทยที่ใช้สมุนไพรไทย โดยเราจะนำชื่อสมาชิกในครอบครัวมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ อย่าง สุภาภรณ์ เป็นชื่อคุณย่า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ ส่วน ปทุมมาศ และไอศิกา ก็เช่นกัน เป็นชื่อของสมาชิกในครอบครัว

สำหรับเป้าหมายในการทำธุรกิจ มะตูมบอกว่า นอกจากจะเน้นต่อยอดสินค้าภายใต้เครือสุภาภรณ์กรุ๊ป ผลักดันให้สมุนไพรไทยครองใจคนไทย “เราพยายามสื่อสารให้เห็นว่า ของดีไม่ได้อยู่ไกล เพราะอยากให้คนไทยหันมาเห็นคุณค่าของสมุนไพรไทย ซึ่งจะเห็นว่าหลังๆตลาดนี้ก็มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีรายได้”


เมื่อต้องมาทำงานกับผู้ใหญ่ในบริษัท ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างเจนฯ หรือไม่ มะตูมยอมรับว่า มีบ้าง ที่ไม่เข้าใจกัน ต้องอาศัยการปรับจูนเพื่อหาตรงกลาง แต่โชคดีที่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้ เลยหาจุดที่ลงตัวได้ไม่ยาก

ชวนอัปเดตเรื่องงานมาพอสมควร เลยถือโอกาสเปลี่ยนบรรยากาศมาชวนคุยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของหนุ่มโสด ที่เพิ่งแยกมาอยู่บ้านหลังใหม่ ที่เขาตั้งใจเลือกให้เป็นสไตล์โมเดิร์นคลาสสิก เพราะมองว่าเข้ากับไลฟ์สไตล์คนหนุ่มรุ่นใหม่ ส่วนเฟอร์นิเจอร์เน้นเป็นสไตล์วินเทจ มีสั่งมาจากฝรั่งเศส คุมโทนสีดำและน้ำเงิน


“ผมภูมิใจที่พูดได้เต็มปากว่า เป็นบ้านที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของเราเอง ไม่ใช่ที่บ้านซัพพอร์ต เราทำงานเก็บเงินมาจนสามารถซื้อบ้านของตัวเอง ถึงตอนนี้จะยังต้องผ่อนนะครับ (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็กคุณย่าจะสอนมาตลอด ให้รู้คุณค่าของเงิน ฉะนั้น ต่อให้ที่บ้านจะสปอยเรื่องการศึกษา แต่ถ้าอยากซื้อของมีราคาและอาจไม่มีความจำเป็น ก็ต้องเก็บเงินซื้อเอง

สมัยเด็กผมต้องรับจ้างล้างรถให้ที่บ้านคันละ 50 บาท เพราะอยากได้เงินไปซื้อมือถือโนเกียเครื่องละหมื่นกว่าบาท แต่ทำไปทำมาคิดว่า เมื่อไหร่จะครบ พอส่องกระจกเห็นหน้าตาเราพอได้อยู่ (หัวเราะ) เลยตัดสินใจเขียนจดหมายไปหาโมเดลลิง จนได้ถ่ายโฆษณาเนสท์เล่ตอนอายุ 13 ปี ได้เงินมา 1 หมื่นไปซื้อโทรศัพท์”


“พอโตขึ้นมาหน่อย ถ้าปิดเทอมแล้วไม่ได้ไปซัมเมอร์ต่างประเทศ คุณย่าก็จะให้ไปเรียนรู้งานที่โรงงาน จำได้ว่าอายุ 17 ปี ผมก็ขึ้นรถส่งของไปเจอลูกค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว เลยได้ซึมซับเรื่องธุรกิจมาตั้งแต่ตอนนั้น ผมมองว่า การที่เราถูกสอนเรื่องธุรกิจ เรื่องการรับผิดชอบตัวเอง หรือ แม้แต่การเห็นคุณค่าของเงินตั้งแต่เด็ก เป็นประโยชน์มากตอนโต เพราะถ้าเรายังไม่สามารถดูแลหรือบริหารจัดการเรื่องตัวเองได้ เราจะมาบริหารบริษัทหรือสร้างครอบครัวได้อย่างไร”

อีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่เขานำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจคือ คนเราต้องรู้จัก Give and Take “แนวคิดในการทำธุรกิจของครอบครัวเราคือ เน้นความยั่งยืน จะเห็นว่า คู่ค้าของเราส่วนใหญ่ค้าขายกันมาเป็นสิบปี เราเน้นความซื่อสัตย์เวลาเจอปัญหาอะไรก็แก้ด้วยกัน”


สำหรับเป้าหมายชีวิตจากนี้ ในแง่การทำงาน มะตูมบอกว่า การมานั่งเป็นซีอีโอของเขา ไม่ใช่เพราะเป็นลูกหลาน แต่ต้องผ่านบททดสอบมากมาย และต่อให้วันนี้จะมานั่งตำแหน่งซีอีโอ เขาก็ไม่ได้ยึดติดว่าต้องอยู่ตรงนี้ตลอดไป ต่อเมื่อมีคนที่เหมาะสมกว่า ก็พร้อมจะหลีกทางเพื่อไปทำอย่างอื่น

“ถ้าอนาคตผมสามารถทำให้ธุรกิจครอบครัวมั่นคง ผมคงเกษียณแล้วไปทำในสิ่งที่ชอบ อย่าง การสอนหนังสือ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยไปลองสอนภาษาให้เด็กๆ ในต่างจังหวัด เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข ทุกครั้งที่เห็นว่าเราได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้ชีวิตคนๆ หนึ่งดีขึ้น ได้ทำอะไรให้สังคมดีขึ้น ถึงรายได้ที่เป็นตัวเงินอาจจะไม่ดีมาก แต่รายได้ความสุขเยอะ หัวใจพองโต”


อย่างไรก็ตาม เส้นทางกว่าจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ ดังนั้น สิ่งที่เขาโฟกัสตอนนี้คือ บทบาทตรงหน้า ที่ต้องทำให้เต็มที่ ควบคุมไปกับการบริหารชีวิตให้มี Work-Life Balance

“ผมอาจจะยังบาลานซ์ไม่ได้เต็มที่ แต่ก็พยายามแบ่งเวลา เพื่อเคลียร์สมอง คลายเครียดไปกับงานอดิเรกที่ชอบ ที่นอกจากจะสะสมของแนวแฟนตาซี ที่ทำให้เหมือนหลุดไปอีกโลก อีกกิจกรรมที่ชอบคือ การแต่งรถวินเทจ อย่างเวลาคิดอะไรไม่ออก แทนที่จะคิดวนไปวนมา ผมจะเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการพาน้องหมาไปเดินเล่น ไปหาคุณย่า หรืออาจจะไปหาข้อมูล หรือตระเวนซื้อของมาค่อยๆ แต่งรถวินเทจที่มี” มะตูมทิ้งท้าย