Celeb Online

16 ปี "โพเอ็ม" ในสมรภูมิแฟชั่น จาก “ชุดเอวสับ” ที่โดนใจคนดัง!


เอ่ยชื่อ “โพเอ็ม” (POEM) แบรนด์ไทยในฝันของผู้หญิงหลายคน ที่มีเอกลักษณ์ คือ “ชุดเข้าเอว” หรือบางคนเรียกติดปากว่า “ชุดเอวสับ” ที่ช่วยให้ผู้หญิงมีสรีระน่ามอง จนเหล่าคนดังจากหลากหลายวงการ ต่างเทใจเลือกใส่ออกงานเป็นประจำ

แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ เส้นทางของแบรนด์ไทยที่ปลุกปั้นโดย “ฌอน-ชวนล ไคสิริ” ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของโพเอ็มไม่ได้สวยหรู แต่เต็มไปด้วยความท้าทาย ตั้งแต่การแจ้งเกิดแบรนด์ในฐานะน้องใหม่ ที่มาพร้อมแรงบันดาลใจในการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร แถมยังต้องเจอกับปัญหาโดนก็อปปี และสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ตั้งแต่วิกฤตการเมืองมาจนถึงภาวะโรคระบาด

แล้วโพเอ็มมีวิธีปั้นแบรนด์อย่างไร? ให้ฝ่าสมรภูมิแฟชั่นที่แข่งเดือด จนยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งเข้าสู่ปีที่ 16 Celeb Online จะพาไปสำรวจยานแม่โพเอ็ม ตั้งแต่ก้าวแรกพร้อมกัน


:: จุดแพสชันจากละครคณะฯ

ย้อนกลับเมื่อปี 2006 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ฌอนตัดสินใจสร้างแบรนด์โพเอ็มขึ้น ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เรียนจบมาด้านแฟชั่น เพราะเลือกตามความฝันวัยเด็กที่อยากเป็นสถาปนิก ด้วยการสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แต่เพราะตอนที่ทำละครคณะได้มีโอกาสไปช่วยงานฝ่ายคอสตูม ทำให้เขาค่อยๆ ค้นพบเส้นทางอาชีพสายใหม่ที่ไม่คาดฝัน

“ด้วยความที่คุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อ สมัยเด็กเราจะนั่งทำการบ้าน กินข้าวบนโต๊ะแพตเทิร์นของแม่ ข้อดีของการได้เห็นแพตเทิร์นทุกวันคือ ทำให้ซึมซับและค่อยๆ เรียนรู้ว่า เส้นแต่ละเส้นที่เห็น ถ้านำไปตัดเย็บจะออกมาเป็นแบบไหนได้เอง โดยที่คุณแม่ไม่ได้มานั่งสอน”

แต่ถึงอย่างนั้น การเป็นช่างตัดเสื้อก็ไม่ใช่อาชีพในฝันของฌอน เพราะตั้งแต่ยังไม่ 10 ขวบ เขาก็ตั้งใจอยากเป็นสถาปนิก เพราะเคยไปเที่ยวออฟฟิศของญาติที่เป็นภูมิสถาปัตย์ แล้วเห็นห้องทำงานของเขาที่มีอุปกรณ์วาดรูป มากกว่าร้านขายเครื่องเขียนที่เคยไปเลือกซื้ออุปกรณ์เสียอีก ด้วยความชอบวาดเขียนและศิลปะเป็นทุนเดิม จึงประทับใจและตั้งใจว่าโตขึ้นอยากเป็นสถาปนิกบ้าง เลยมุ่งมั่นจนสามารถสอบเข้าคณะสถาปัตย์ฯ ได้

“ตอนที่เรียนก็โอเคแต่พอได้ไปทำละครคณะฯ แล้วได้มาอยู่ฝ่ายคอสตูม เพราะที่บ้านเป็นช่างตัดเสื้อ เวลาได้โจทย์มาเราก็จะให้คุณแม่ช่วยตัดเย็บให้ มันทำให้เราค้บพบว่า The dress speaks for itself หรือพูดง่ายๆ ว่า เสื้อผ้ามันสามารถสื่อสารหรือเล่าเรื่องของตัวเองได้ จุดนั้นมันทำให้เราเริ่มเห็นคุณค่าของงานที่คุณแม่ทำมากขึ้น จนเรานำมาใช้เป็นแก่นในการทำแบรนด์ของเรามาจนถึงวันนี้”

อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าโชคหรือบังเอิญ ฌอนบอกว่า ละครคณะฯ ที่เขาทำทุกปีเป็นละครพีเรียดทั้งหมด เพราะฉะนั้น หนึ่งในเสื้อผ้าชิ้นสำคัญที่ต้องมี ก็คือ “คอร์เซ็ต”

“ปีแรกทำเรื่อง ปริศนา ซึ่งเล่าถึงผู้หญิงยุค 1940-1950 ที่ต้องใส่คอร์เซ็ต ตอนจะทำชุดเราก็ต้องมาทำการบ้าน ไม่ใช่แค่ในเรื่องการตัดเย็บ แต่ตีความไปถึงในเชิงวัฒนธรรม เพราะภาพจำของผู้หญิงกับการสวมคอร์เซ็ตคือ หนึ่งในสัญลักษณ์ของการกดขี่ แต่หลังจากค่อยๆ ศึกษา ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ร่วม 20 ปี ฌอนยิ่งตกผลึกว่า คอร์เซ็ตไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเพศ หรือการข่มขี่ แบบที่เราติดภาพจากการนำเสนอของหนังหรือละคร ที่ผู้หญิงต้องทนใส่คอร์เซ็ตในวันที่จะไปเลือกคู่ หรือมีแต่ผู้หญิงที่เป็นนางโชว์ที่ใส่ เพื่อโชว์รูปร่าง แต่จริงๆแล้ว คอร์เซ็ตเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมการตัดเย็บ หรือของอารยธรรมมนุษย์ที่ทรงคุณค่าและมีความลุ่มลึก

ดังนั้น ตอนที่โพเอ็มเลือกนำคอร์เซ็ตมาใช้ เราไม่ได้เน้นเรื่องเซ็กซ์ หรือสื่อสารว่าผู้หญิงต้องใส่คอร์เซ็ตไปให้ผู้ชายดู แต่เรานำเสนอในอีกมิติของการใส่คอร์เซ็ต ทั้งในเชิงกายภาพ ที่คอร์เซ็ตช่วยให้สรีระผู้หญิงมีเส้นโค้ง มีอก เอวสะโพก ขณะที่ ในเชิงนามธรรม คอร์เซ็ตช่วยสร้างความพึงพอใจ ความมั่นใจ และ Empower ให้ผู้หญิง”


:: “คอร์เซ็ต” สะท้อนมิติใหม่ของการแต่งตัว

ในมุมมองของฌอน คอร์เซ็ตมีคุณค่ากว่าที่คิด เพียงแต่การจะสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกไป อาจจะไม่ง่าย และเป็นโจทย์ที่โพเอ็มพยายามย่อยและนำเสนอออกไป

“ตอนที่เราเริ่มทำแบรนด์ ดีไซเนอร์ไทยส่วนใหญ่ยังโฟกัสผู้หญิงที่เป็น Girly ไม่ได้เน้นเรื่องอก เอว สะโพก ฉะนั้น Reference ผู้หญิงของโพเอ็ม จะต่างจากดีไซเนอร์คนอื่น ภาพของเรา คือ Dita Von Teese นักเต้นชื่อดัง ที่มีลุคผู้หญิงแบบสุดโต่ง สามารถตะโกนความเป็นผู้หญิงออกมา โดยไม่ต้องทำอะไรมาก”

พอโจทย์เป็นแบบนี้ เลยทำให้ช่วงเริ่มต้นทำแบรนด์ ฌอนต้องทำการบ้านและพยายามพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพื่อสะท้อนตัวตน สื่อสารว่า ผู้หญิงของโพเอ็มเป็นอย่างไร เขาใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะพาแบรนด์มายืนอยู่ในแฟชั่นกระแสหลัก

“ผ่านไป 4 ปี เรามาถึงจุดที่ตัวตนเริ่มนิ่ง ได้เจอคนที่เป็น Muse ของแบรนด์ นั่นก็คือ จูน-สาวิตรี โรจนพฤกษ์ และทำให้แบรนด์ไปสู่มิชชั่นต่อไปคือ การย้ำภาพของผู้หญิงโพเอ็มให้ชัดและทำให้คนเห็นแบรนด์มากขึ้น”

ด้วยดีไซน์และกลยุทธ์ที่ใช่ ทำให้โพเอ็มก้าวสู่แบรนด์แถวหน้าของเมืองไทย ที่มีเซเลบริตีและคนดังมากมากจากหลายวงการที่เลือกสวมชุดโพเอ็ม

ถ้าถามว่า ฌอนประทับใจใครมากที่สุด นอกจาก คุณช่อ-พรรณิการ์ วานิช ที่ใส่ชุดโพเอ็มไปร่วมประชุมสภา จนทำให้ไทยดีไซเนอร์ไปอยู่ในพื้นที่การเมือง อีกคนที่ฌอนประทับใจคือ Dita Von Teese ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจมาตั้งแต่ตอนเริ่มทำแบรนด์

“ตอนปี 2018 เราไปเที่ยวซานฟรานซิสโก ไปดูโซว์ที่ Dita Von Teese ระบำเปลือยอก พอหลังงานได้ไปร่วม Meet and Greet หลังเวที เลยนำชุดกระโปรงของโพเอ็มไปให้เป็นของขวัญ ผ่านไป 4-5 เดือน เขา Direct Message มาหาทางอิสตาแกรม บอกว่าฉันใส่กระโปรงของคุณแล้วนะ เป็นอะไรที่ภูมิใจมาก และถ้าเป็นไปได้ก็อยากเห็นเขาใส่โพเอ็มแบบโททัลลุค คงเหมือนฝันที่เป็นจริง”

ส่วนคนที่ฌอนจินตนาการว่า อยากให้ใส่ชุดโพเอ็มอีกคน คือ จาง ม่านอวี้ นักแสดงหญิงชาวฮ่องกงที่ชอบมาตั้งแต่เด็ก เพราะมองว่าเป็นผู้หญิงที่มีคาแรกเตอร์ที่สามารถเล่าเรื่องในเชิง Oriental Glamour ได้ดีในแบบที่ไม่เหมือนใคร

ถามว่า ทำแบรนด์มานาน มองว่าจุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่าแบรนด์มาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ ฌอนหยุดคิดก่อนเฉลยว่า จุดที่เริ่มถูกก็อปปี้

“เดี๋ยวนี้ไม่ได้ก็อปแค่ดีไซน์ แต่ก็อปแม้กระทั่งชื่อแบรนด์ อย่างร้านที่ขายของปลอม หรือให้เช่าชุด เขาจะใช้วิธีซื้อของจริงไปปนกับทำแบบของปลอมขึ้นมา ลูกค้าที่ไม่ได้ติดตามแบรนด์จริง ก็ไม่รู้ว่าพวกนี้เอาของปลอมมาเบลนด์อิน แล้วให้เช่าราคาเนียนไปกับของจริง”

“ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกเสียใจที่ถูกก็อป เพราะแปลว่าเราทำอะไรมาถูกทางแล้วชอบ หรือการที่แม้กระทั่งชื่อแบรนด์ก็ถูกเอาไปใช้ มันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเรามีแบรนด์ดิ้งที่สตรอง ขายได้ ศักดิ์สิทธิ์ในระดับที่ให้คนอื่นไปทำรายได้ ทำอาชีพ แต่ถามว่าเห็นแล้วรู้ไหม ฌอนบอกว่าต่อให้ไม่ต้องเห็นของจริง แค่ดูสัดส่วน หรือไซส์ก็รู้ เพราะบางทีแค่วิธีการนำเสนอการใช้คำก็ไม่ใช่แล้ว”


:: โพเอ็มกับการบุกตลาดต่างประเทศ

ตลาดไทยสตรองแล้ว มาถึงกลยุทธ์การบุกตลาดต่างประเทศกันบ้าง ฌอนบอกว่า ก่อนหน้าจะเกิดโรคระบาด โพเอ็มมีลูกค้าต่างชาติที่เป็นชาวเอเชียอย่าง จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวันอยู่แล้ว เพราะด้วยจุดแข็งเรื่องโครงสร้างของชุดโพเอ็ม ที่หากเป็นสาวหมวยซี่โครงเล็ก ใส่ชุดชั้นในไซส์ 65-70 จะค่อนข้างเข้ารูปพอดีตัวในแบบที่แบรนด์ยุโรปไม่สามารถตอบโจทย์ เพราะส่วนใหญ่จะทำเริ่มต้นที่ชุดชั้นในไซส์ 75

“ก่อนจะเกิดโรคระบาด ด้วยทำเล เกษร พารากอน เรามีนักท่องเที่ยวมาชอปต่อเนื่องอยู่แล้ว บวกกับตอนนั้นยังไม่ได้ทำช่องทางออนไลน์ อย่าง ลูกค้าจีนนอกจากวอล์กอินมาที่ร้าน เขาจะมี Buyer ที่เป็นคนจีน มารับพรีออเดอร์ ข้อดีของ Buyer เหล่านี้คือ เขาไม่ได้แค่สื่อสารกับลูกค้าจีนได้ แต่เขามีความรู้เรื่องแบรนด์ดิ้งและแฟชั่น กึ่งๆ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เวลามาเขาจะไลฟ์ผ่าน Wechat, Weibo มาลองชุดให้ดูว่ามีคอลเลกชันใหม่อะไรมาลง อันไหนน่าสนใจ”

กระทั่งเกิดโควิด เกมเปลี่ยน ทำให้นอกจากจะต้องมาบุกตลาดออนไลน์จริงจัง ยังตัดสินใจเปิดแฟล็กชิปที่เซี่ยงไฮ้ ตอนเดือนสิงหาคม ปี 2020

“เราเริ่มบุกตลาดจีนจากการไปร่วมงาน Xi'An International Fashion Week 2019 ตอนนั้นเรามีพาร์ตเนอร์ที่จีนแล้ว แต่ยังไม่มีไอเดีย ว่าจะไปเปิดตลาดที่โน่นอย่างไร จนช่วงกลางปี 2020 เป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มมีนโยบายผ่อนคลาย ถือว่าเป็นโอกาสทองสำหรับดีไซเนอร์ไทย ที่จะเข้าไปเพราะ ถ้าจะเข้าไปก่อนหรือหลังจากนั้นยากมาก เราเริ่มจากไปเปิดแฟล็กชิปที่เซี่ยงไฮ้”

สำหรับการเข้าไปในตลาดจีน ฌอนยอมรับว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ ถึงขนาด ตี่ลี่เล่อปา นักแสดงชื่อดังที่คนไทยคุ้นชิน ยังเคยวอล์กอินมาซื้อชุดกำมะหยี่สีแดงไปใส่ แล้วยืนถือหน้าหอไข่มุก ซึ่งเหมือนเป็นแลนด์มาร์คของเมืองเซี่ยงไฮ้ หลังจากนั้น ก็ยังสวมชุดของโพเอ็มอีกหลายชุด

“ด้วยจุดเด่นเรื่องโครงสร้างไซส์ที่เข้ารูปสวยกับสาวเอเชีย บวกกับดีไซน์ที่มีความวินเทจและความร่วมสมัยเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ช่วงแรกที่เข้าไปบุกตลาดจีน เราแทบไม่มีคู่แข่งเลย ที่สำคัญ ชุดของโพเอ็มสามารถใส่ไปอีเวนต์ได้สบาย เพราะไม่ได้ดูเหมือนแต่งตัวอยู่ในละครพีเรียด หรือดูเป็นแบบ Avant-garde ซึ่งตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์ที่จีน ช่วยทำการตลาด ดูทั้งช็อปและออนไลน์ ส่วนเราดูเรื่องซัปพลาย การผลิต และการตัดเย็บทั้งหมด”

ส่วนอนาคต ณอนบอกว่ากำลังดูว่าจะเปิดที่ไหนเพิ่ม เพราะจีนเป็นประเทศที่ใหญ่ สภาพอากาศทางตอนเหนือกับใต้อากาศต่างกันมาก ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดของคอลเลกชันโพเอ็มที่ยังเป็นแนว Tropical ไม่ได้มี Winter Wear เลยอาจจะต้องรอศึกษาความเป็นไปได้ให้ดีก่อน


นอกจากการขยายตลาดไปต่างประเทศ การทำตลาดออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางสำคัญของโพเอ็ม โดยเฉพาะ ในช่วงโควิด

“ถ้าไม่มีตลาดออนไลน์ช่วงล็อกดาวน์คือตายเลย เพราะเป็นทางรอดสุดท้าย เราทำออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนเปิดแฟล็กชิปที่จีน ด้วยความที่มีฐานฟอลโลเวอร์ทั่วโลก การทำออนไลน์เลยไม่ยาก แต่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การหาไซส์ เพราะลูกค้าไม่สามารถมาลองชุดด้วยตัวเอง ในขณะที่ กระโปรงโพเอ็มมีให้เลือกถึง 8 ไซส์ การจะหาไซส์ที่พอดีเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และต้องทำการบ้านเยอะเหมือนกัน จะว่าไป โครงสร้างไซส์ อาจเป็นจุดเด่นในตลาดต่างประเทศ แต่ในแง่การขาย ทำให้การทำงานของเราเจออุปสรรคเยอะมาก

มาถึงวันนี้ ฌอนยอมรับว่า นับตั้งแต่สร้างแบรนด์จนถึงวันนี้ ต้องเจอกับมรสุมหลายลูก คลื่นลูกแรกที่ทำให้ไทยดีไซเนอร์หายไป คือตอนปี 2010 เหตุการณ์เผาเมือง ครั้งที่สองคือ โควิด ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการบริหารจัดการทั้งเรื่อง กระแสเงินสด ความยืดหยุ่น ในการที่แบรนด์ๆ หนึ่งจะอยู่รอดภายใต้การดิสรัปชั่น

“สิ่งที่ทำให้อยู่ในรอดในเกมโควิดคือ ความยืดหยุ่น ทั้งในเชิงครีเอทีฟ และการสร้างแบรนด์ดิง ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเปิดตัวว่า ทำชุดแต่งงาน แต่มีลูกค้าเจ้าสาวมาตลอด โพเอ็มจะเน้นทำชุดสำหรับ Red carpet หรือออกงานมากกว่า รวมไปถึงชุดปาร์ตี้เดรส หรือชุดสำหรับใส่ไปงานแต่งงาน แต่พอเกิดโรคระบาด เราเห็นเทรนด์การแต่งงานที่เปลี่ยนไป จากงานกลางคืน ที่แขกหลักพัน เปลี่ยนมาเป็นงานกลางวัน แขกหลักสิบ ดังนั้น ชุดที่เจ้าสาวมองหาก็เปลี่ยนไป เราเลยทำแคมเปญ New Normal Wedding เปลี่ยนจากปาร์ตี้เดรสที่ไม่มีสีขาวมาเป็นสีขาว เพื่อตอบโจทย์เจ้าสาวในช่วงล็อกดาวน์ ที่ต้องการชุดที่ใส่แล้วยังรู้สึกพิเศษ ถ่ายรูปขึ้นโซเชียลได้”

นอกจากนี้ หลายคนอาจจะคุ้นกับชุดแบบเรดีทูแวร์ (Ready-to-Wear) สำหรับผู้หญิง แต่โพเอ็มยังมีไลน์เสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2010 เพราะเวลาเจ้าสาวพาเจ้าบ่าวมาลองชุด ก็อยากหาชุดให้คุณผู้ชายด้วย โพเอ็มเลยมีบริการตรงนี้แต่เป็นแบบวัดตัวตัด

“Ready-to-Wear ผู้ชาย ก็เคยคิดจะทำ แต่อาจจะเป็นอนาคต เพราะอยากโฟกัสฝั่งผู้หญิงให้เข้าที่ก่อน ส่วนคอลเลกชันรองเท้า เริ่มทำตอนปี 2016 เราไม่ได้ทำขายเป็นหลัก แต่ทำเพื่อคอมพลีตลุคมากกว่า”


:: มองแบรนด์ไทยในเวทีโลก

สำหรับอนาคตของแบรนด์ไทยในตลาดโลก ฌอนเชื่อว่า แบรนด์ไทยมีจุดเด่นที่ชัดเจน และมีช่างฝีมือในการตัดเย็บ แต่อาจจะต้องเพิ่มมุมมองเรื่องธุรกิจ การหารายได้ และเข้าใจเรื่องความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ เพราะส่วนใหญ่แบรนด์ไทยจะไม่มีคอลเลกชันวินเทอร์

“อย่าง โพเอ็ม มีช่วงหนึ่งเราพยายามไปบุกตลาดอาหรับ แต่พอไปจริง เราเจอปัญหาเรื่องไซส์ คือผู้หญิงที่โน่นหุ่นนาฬิกาทรายก็จริง คือเอวเล็กแต่สะโพกใหญ่ ไซส์ s ของเขาคือ xl ของเรา ทำให้บางครั้งต้องปรับดีไซน์ หรือด้วยวัฒนธรรมมุสลิม ที่ต้องใส่เสื้อผ้าแบบปิดๆ เพราะฉะนั้น ดีไซน์ของเราที่ขายในไทย เขาอาจจะใส่ไม่ได้ มันก็เป็นจุดที่ทำให้รู้ว่า การที่เราจะไปบุกตลาดที่ไหนก็ต้องศึกษาตลาดให้ดี เพราะไม่มีแฟชั่นไหนจะตอบโจทย์ไปทุกสถานที่ ทุกภาษา ทุกภูมิอากาศ”

ฉายภาพให้เห็นจุดเริ่มต้นและการเดินทางของแบรนด์มาพอสมควร มาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกันบ้าง งานนี้ฌอนปิดท้ายด้วยข่าวดี เพราะกันยายนนี้ โพเอ็มจะมีแฟชั่นโชว์ แต่ยังไม่เฉลยว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่อยากให้ติดตาม

แฟชั่นโชว์เป็นสิ่งที่ช่วยถ่ายทอดไอเดียของดีไซเนอร์ได้ดีที่สุด เพราะการทำแฟชั่นโชว์แต่ละครั้งคือ การสื่อสารมุมมองของแบรนด์ผ่านการทำโชว์ ที่นอกจากจะมีลุคใหม่ๆ ให้ชม ยังอาจจะสะท้อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเปลี่ยนแปลงมุมมองของคนในเจนฯ นี้”

แต่ถ้าใครที่อดใจรอไม่ไหว ฌอนถือโอกาสเชิญชวนให้แวะมาดู นิทรรศการ Made to Measure Magic ที่ เกษรวิลเลจจับมือกับโพเอ็ม ทำ Installation Art ที่จะจัดต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม

“แรงบันดาลใจในการทำ Installation Art ครั้งนี้ เราตีโจทย์สิ่งที่โพเอ็มและเกษรให้ความสำคัญเหมือนกัน นั่นคือความแม่นยำและความพิถีพิถัน เราจึงเลยเลือกใช้อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ แต่สำคัญที่สุดในการทำงานที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ สายวัดตัว 2 สี ที่ได้รับการยอมรับจากช่างตัดเย็บทั่วโลก ว่าเป็นสายวัดตัวที่มีความเที่ยงตรงที่สุด ทำให้สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าออกมาด้วยความแม่นยำ สเกลไม่เพี้ยนมาขยายส่วน สร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ เพื่อสะท้อนตัวตนของแบรนด์” ฌอนทิ้งท้าย