Celeb Online

“ไหว้พระ ๙ วัดกรุงรัตนโกสินทร์” เสริมสิริมงคลรับปีใหม่


>>นอสตร้า แมพ ไทยแลนด์ แอปพลิเคชันแผนที่นำทางบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดย บริษัท โกลบเทค จำกัด จัดทำแผนที่พิกัดตำแหน่ง 9 พระอารามหลวงคู่กรุงรัตนโกสินทร์ชวนสักการะขอพร 9 พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสริมสิริมงคลรับปีระกา 2560 พร้อมพรั่งด้วยเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาเพื่อให้ “การเริ่มต้นปีใหม่ 2560 นี้ เป็นไปด้วยความสิริมงคล ส่งผลยังความผาสุขสบายใจตลอดทั้งปี” จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยร่วมเสริมสิริมงคลชีวิตรับปีใหม่นี้ ด้วยการสักการะ 9 พระอารามหลวงเพื่อความก้าวหน้า และส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

๙ พระอารามหลวงในข้อมูลของ NOSTRA MAP ประกอบไปด้วย

1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

นับเป็นอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 พร้อมการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งประเทศ ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง การสักการะพระแก้วมรกตจะส่งผลให้ “จิตใจสะอาด ดุจรัตนตรัย อธิษฐานสิ่งใดจะได้สมปรารถนา”

2. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

ชวนกราบสักการะพระประธานพระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ และกราบสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ “จะทำให้ชนะทุกสิ่งทุกอย่าง มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง” ที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นโทอันเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าให้บูรณะวัดเพื่อเทิดเกียรติแก่เหล่าทหารอันเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ใน “สงครามเก้าทัพ” และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม”

3. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงกรุงรัตนโกสินทร์ให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนราชธานีเก่า กรุงศรีอยุธยา และได้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี ที่เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย โดยชะลอลงมาด้วยแพล่องตามลำน้ำเมื่อปี พ.ศ.2351 กราบสักการะพระศรีศากยมุนีในปีใหม่นี้ ตามคติที่ว่า “ไหว้พระสุทัศน์ วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่คนทั่วไป”

4. วัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงมาโดยตลอด ด้วยเป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ จึงถือว่าเป็น “วัดแห่งราชวงศ์จักรี” ทั้งยังเป็นวัดที่เป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปที่สำคัญได้แก่ พระสุวรรณเขต และพระพุทธชินสีห์ อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง และสวยงามมากที่สุดพระองค์หนึ่ง เมื่อได้มาสักการะจะ “พบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต”

5. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้สร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สักการะขอพรพระบรมสารีริกธาตุ “เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล”

6. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือ วัดหลวงพ่อโต มีที่มาจากการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด จึงได้ชื่อ “วัดระฆัง” ตั้งแต่นั้นมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 พระประธานยิ้มรับฟ้าในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ เมื่อมาไหว้สักการะ “พระวัดระฆัง จะมีคนนิยมชมชื่น มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี”

7. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)

พระปรางค์วัดอรุณ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองทางศิลปกรรมแห่งรัชสมัยรัตนโกสินทร์ เดินเวียนเทียนทักษิณาวัดรอบองค์พระปรางค์ 3 รอบ จะดลให้ “ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน” วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอกนอก เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีเสด็จกรีธาทัพล่องลงมาทางชลมารค ถึงหน้าวัดมะกอกนอกเมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น “วัดแจ้ง” ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ การกราบสักการะพระปรางค์วัดอรุณช่วยให้ “ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน”

8. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วัดพระเชตุพนฯ เดิมชื่อ วัดโพธาราม เป็นวัดเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาวัดโพธารามนี้ใหม่ใน พ.ศ. 2331 และที่ใต้พระแท่นประดิษฐาน พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน ด้วยเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงถือเป็นพระราชประเพณี ที่จะทรงบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ทุกรัชกาล ทั้งยังถือว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย มีพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศอีกด้วย เมื่อมากราบสักการะขอพรที่วัดนี้ จะทำให้ “ร่มเย็นเป็นสุข”

9. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

สักการะพระพุทธไตรรัตนนายก หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกง พระประธานในพระวิหาร จะทำให้ “เดินทางปลอดภัยพบแต่มิตรไมตรีที่ดี” วัดกัลยาณมิตร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร สร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า

การได้ไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตนั้น สามารถไปนมัสการได้ทุกเมื่อตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดความสบายกายสบายใจ ทั้งยังเป็นกุศโลบายที่สร้างความเชื่อมั่นในการพาชีวิตก้าวเดินต่อไปในอนาคต ด้วยสัญญาใจที่ให้ไว้กับตัวเอง และเป็นเวลาทองที่ได้ซึมซับความสงบสุข ความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเองอีกด้วย แต่ทั้งหมดนั้น การกระทำอันใดคงไม่สำคัญเท่าการกระทำอันเกิดจากตนเอง ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ คิดดี ทำดี รักษาศีล 5 เพื่อความผาสุข ร่มเย็นแก่ชีวิตในภายภาคหน้า…

สำหรับการเข้าใช้งาน ทำได้ง่ายๆ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแผนที่ NOSTRA Map Thailand ที่ให้บริการฟรี ทั้งบนระบบ iOS, Android เลือกเปิดชั้นข้อมูลพิเศษ “๙ พระอารามหลวง” หรือ “The 9 Royal Temples” ก็สามารถดูชั้นข้อมูลและตำแหน่งที่ตั้งของพระอารามหลวงทั้ง 9 พร้อมเดินทางด้วยฟังก์ชันนำทาง (Navigation) ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางแบบรถส่วนบุคคล จักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือ เดินเท้า รวมทั้งรองรับการนำทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส หรือการเดินทางโดยเรือ
โหลดใช้งานได้ฟรีที่ https://map.nostramap.com/mobile รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nostramap.com