Celeb Online

ผลงาน แนวคิด และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยนิสิต ในงาน Ctrl+O


>>ผ่านไปแล้วสำหรับงาน Ctrl+O หรือ นิทรรศการนวัตกรรมสื่อสารนิพนธ์ ของนิสิตชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่จัดขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพให้กับผู้ที่สนใจได้รับชมผลงาน แนวคิด สื่อดิจิตอล และนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของนิสิตแต่ละคนตามสาขาวิชา

ถ้าพูดถึงงานศิลปะดีไซน์ ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่บนผืนผ้าใบและสร้างสรรค์ด้วยเส้นสีน้ำหรืออคิลิคเท่านั้น ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เราได้สัมผัสกับงานศิลปะในรูปแบบสื่อดิจิตอล ที่ทำให้งานศิลป์เป็นสิ่งที่เข้าถึงและจับต้องได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อใส่เรื่องราวเข้าไปรวมกับเทคนิคคอมพิวเตอร์ ก็จะทำให้งานดีไซน์ดูมีชิวิตขึ้นมา Celeb Online จะพาไปชมศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีการคิดค้นและสร้างสรรค์ในการรวมเอาศิลปะ ประโยชน์การใช้งาน และเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน ถึงแม้จะเป็นเพียงผลงานของนิสิตชั้นปีที่ 4 แต่คุณค่าของชิ้นงานก็ไม่ต่างอะไรกับมืออาชีพ

ผลงานแรกเป็นของน้องอรสุภัค ผัดวัง ซึ่งผลงานของเธอคือ “การ์ตูนแอนิเมชั่นสองมิติแสดงเจตนาโบราณอุบายในชีวิตประจำวันสำหรับเด็ก” เรื่อง “อุษณีย์ไขอุบาย” ซึ่งเป็นแอนิเมชันสองมิติที่ผู้ชมจะได้ความรู้ในสิ่งที่เป็นโบราณอุบายต่างๆ เช่น ห้ามตัดเล็บกลางคืน ที่จริงแล้วนั้นเป็นเพราะอะไร? เราได้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลและขั้นตอนการทำงานรวมทั้งความประทับใจเพื่อให้เห็นถึงแนวคิดของเธอ

:: อะไรคือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้
แรงบันดาลใจมาจากชีวิตประจำวันเลยค่ะ สมัยก่อนที่คุณยายของหนูยังมีชีวิตอยู่ คุณยายจะมีข้อห้ามเยอะมาก อย่างเช่นเรื่องตัดเล็บกลางคืนค่ะ ทุกคนก็น่าจะเคยได้ยินมาคล้ายๆกันว่าเป็นการตัดกระดูกผีบรรพบุรุษ หรือบางครอบครัวอาจจะบอกว่าจะทำให้เห็นผี หรือเป็นการแช่งพ่อแม่ ซึ่งถ้าเป็นตอนเด็กๆก็เชื่อค่ะ แต่พอโตขึ้นมาเราจำเป็นต้องตัดจริงๆ และเราก็จะเริ่มสงสัยว่ามีเหตุผลอะไรที่มันน่าเชื่อกว่าการตัดถูกกระดูกผีบ้างไหม หรืออย่างบางเรื่องเช่นการห้ามสวมแหวนที่หัวแหวนหายหรือชำรุด เมื่อถามกลับไปว่าทำไม คุณยายก็ตอบไม่ได้ค่ะ ตอบแต่เพียงว่าโบราณเขาเชื่อกันมาอย่างนี้ หนูก็เลยคิดว่าข้อห้ามทุกอย่างจะต้องมีเหตุผลของมัน ก็เลยสนใจเรื่องนี้และประกอบกับเราเรียนออกแบบสื่อปฎิสัมพันธ์และมัลติมีเดีย ก็เลยคิดว่าน่าจะทำสื่อที่แสดงเจตนาที่แท้จริงของอุบายสมัยโบราณค่ะ

:: ช่วยเล่าขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานของคุณให้เราฟังหน่อย ว่ามีความยากง่ายอย่างไร ลำดับความคิด และใช้เทคนิคหรือเครื่องมืออะไรในการพัฒนา
เริ่มจากการศึกษาเรื่องโบราณอุบายต่างๆค่ะ อย่างเช่นเรื่องห้ามทักเด็กว่าน่ารักน่าชังให้ทักว่าน่าเกลียดน่าชัง เรื่องการผิวปากกลางคืน แล้วหนูก็คิดเนื้อเรื่อง คิดตัวละครที่จะต้องเข้ากับเรื่องต่างๆของโบราณอุบายได้ ตัวละครกับฉากแก้มา2-3รอบค่ะ ครั้งแรกออกแบบมาแล้วรู้สึกว่าหน้าตาตัวละครดูธรรมดา ฉากก็ดูธรรมดา แล้วก็พัฒนาหน้าตาตัวละครให้ดูไทยๆนิดหนึ่ง แต่การแต่งกายนี่ไม่ไทยค่ะ เป็นการแต่งกายในยุคปัจจุบัน และฉากก็อยากให้ออกมาดูเป็นกึ่งสมัยก่อนกึ่งปัจจุบัน คือไม่อยากให้ออกมาดูสมัยก่อนมากจนเกินไป หรือล้ำสมัยมากจนเกินไป จึงเลือกฉากที่มีเฟอร์นิเจอร์หรือโทนสีเป็นแบบในเพลินวานหรือตลาดสามชุกค่ะ คือยังคงรักษาความเป็นไทยเดิมอยู่ เมื่อคิดเนื้อเรื่อง ออกแบบตัวละครและฉากแล้ว ก็ลงมือทำแอนิเมชั่นเลยค่ะ ก็ใช้โปรแกรมAdobe Illustratorในการวาดคาแรกเตอร์และฉาก และใช้โปรแกรมAdobe Flashในการทำแอนิเมชั่นค่ะ จริงๆก็สามารถวาดในFlashได้เหมือนกัน แต่โปรแกรมIllustratorจะวาดรูปได้ถนัดกว่า

:: ความประทับใจ ข้อความ หรืออารมณ์ความรู้สึกแบบไหนที่คุณอยากให้ผู้ชมหรือผู้ใช้งานได้รับจากงานชิ้นนี้
อยากให้ผู้ชมชอบและรู้สึกว่างานน่าสนใจ แค่ผู้ชมพูดว่าชอบ ก็ดีใจมากเเล้วค่ะ ก็มีผู้ชมบางคนพูดเหมือนกันว่าน่าสนใจเพราะยังไม่เคยมีใครทำเรื่องโบราณอุบายเลย คืออาจจะมีหรือเปล่าหนูก็ไม่ทราบ แต่เท่าที่เห็นก็ยังไม่มีใครทำสื่อที่เผยแพร่เรื่องเจตนาที่แท้จริงของโบราณอุบายนะคะ

:: ในความคิดของคุณเอง อะไรที่ทำให้งานชิ้นนี้มีความพิเศษขึ้นมา
สิ่งที่พิเศษจริงๆในงานชิ้นนี้คือการแสดงเจตนาที่แท้จริงของโบราณอุบายสมัยก่อน เพราะบางคนเมื่อได้ชมสื่อนี้แล้วก็บอกว่า เพิ่งจะรู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วที่เขาห้ามๆกันมา เหตุผลจริงๆแล้วคืออะไร

ในงาน Ctrl+O นี้ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นเช่น Application on iPad ของ นางสาวนลินรัตน์ ตระการลือชัย กับผลงานชื่อ Creating Interactive Media for Children's Tales in the Form of Electronic Paper Art Book (การสร้างสื่อปฏิสัมพันธ์นิทานสำหรับเด็กในรูปแบบอิเล็คทรอนิคเปเปอร์อาร์ทบุ๊ค) เป็นแอพพลิเคชั่นหนังสือนิทานบนไอแพดที่สามารถสร้างจินตนาการและความสนุกสนานให้กับเด็กได้มากกว่าหนังสือนิทานแบบเดิมๆ

Interactive Media ของ นาวสาวกัณทิมา อุบัติสิงห์ กับผลงาน Multimedia for Big Tree Project (สื่อมัลติมีเดียเพื่อสนับสนุนโครงการ Big Trees Project) เป็นงานออกแบบเว็บไซต์และอินโฟกราฟฟิกแอนิเมชั่นเพื่อสนับสนุน Big Trees Project รณรงค์รักษาต้นไม้ใหญ่ในเมืองใหญ่ และนำเสนอ 9 คุณประโยชน์ของต้นไม้ในรูปแบบอินโฟกราฟฟิกแอนิเมชั่น

Motion Graphic ของ นางสาวสุพรรณนภา แพประสิทธิ์ กับผลงาน Motion Graphics and 2D Animation in Order to Publicize the Important Roles of Women Through Sofia Coppola's Film (โมชั่นกราฟฟิกและแอนิเมชั่นสองมิติเพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่อันสำคัญของผู้หญิงผ่านงานภาพยนตร์ของ โซเฟีย คอปโปล่า) 

Interactive Media ของ นาวสาวธัญญารัตน์ พึ่งผลัด กับผลงาน Interactive Wall for Relaxation (การสร้างสื่อปฏิสัมพันธ์เพื่อการผ่อนคลายความเครียด) :: Text by FLASH

 
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net หรือ App Store ได้แล้วที่ celeb online ipad edition