นิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนธันวาคม พบกับ
Architecture of Sufficiency Theory สถาปัตยกรรมพอเพียงที่ในหลวงทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบ
ความพอเพียงในการดำรงชีวิต คือ ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ตรัสสอนแก่เราชาวไทยและทรงถือปฏิบัติอยู่เสมอ พระองค์ทรงถือแนวคิดนี้และทรงปรับใช้กับพระราชกรณียกิจในทุกด้าน ไม่เว้นแต่ในด้านสถาปัตยกรรม เมื่อเราศึกษาแนวทางพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสถาปัตยกรรมนั้น ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นด้วยพระราชดำริของพระองค์ล้วนแต่เพื่อพัฒนาประเทศ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทยในด้านต่างๆ ทั้งยังทรงทำนุบำรุงสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทนของศิลปวัฒนธรรมไทยในลักษณะสถาปัตยกรรมพอเพียง เรียบง่าย ปราศจากความฟุ้งเฟ้อ ชี้ให้เห็นประโยชน์สูงสุดของสถาปัตยกรรมชิ้นนั้นๆ อาทิ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี, โรงเรียนจิตรลดา, วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก, ศาลหลักเมือง, สะพานภูมิพล เป็นต้น
Their Inspiring King 5 บุคคลผู้ประสบความสำเร็จ ที่ได้แรงบันดาลใจจากพ่อหลวงรัชกาลที่ 9
สมบัษร ถิระสาโรช – ตั้งแต่เกิดมาเตี่ยกับแม่ก็สอนให้ตือรักในหลวงแล้ว เตี่ยกับแม่สอนเสมอว่า ที่ครอบครัวของเรามีทุกวันนี้ได้เพราะในหลวง เตี่ยกับแม่เป็นคนจีน ย้ายจากเมืองจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่าน เราต้องรักประเทศนี้และรักในหลวงให้มากๆ ซึ่งตือเชื่อฟังและปฏิบัติตามมาโดยตลอด และพูดคำว่า ทรงพระเจริญ จนติดปากมาถึงทุกวันนี้
ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ – ก่อนที่คนเราจะขับเคลื่อนจากจุด A ไปจุด B หรือพูดอะไรสักประโยคหนึ่งต้องเริ่มต้นจากความคิดก่อนจริงไหมครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบเก็บสะสมพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2004 พระองค์ท่านตรัสไว้ว่า “ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง”
ปรีชา ตรรกพงศ์ – ในหลวงทรงเป็นแรงบันดาลใจของผมมาตั้งแต่สมัยเด็ก อย่างเรื่องการเรียนหนังสือ เป็นที่ทราบกันดีว่าการได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ท่านถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลเป็นอย่างสูง ผมจึงตั้งใจเรียนหนังสือจนสอบเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเมื่อเรียนจบเข้าสู่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรผมรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจมาก ผมจดจำช่วงเวลานั้นได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมอยู่ใกล้ในหลวงที่สุด
ภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ – ผมเกิดและเติบโตมาในช่วงเวลาที่ทันได้เห็นในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามสถานที่ต่างๆ ตอนเด็กผมดูข่าวในพระราชสำนักทุกวัน รู้สึกว่าพระองค์ท่านทรงดูแลประชาชนมากมายและทรงทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง ตอนนั้นผมเกิดความสงสัยอยู่ในใจว่าทำไมในหลวงถึงทรงงานเยอะขนาดนี้
จิตต์สิงห์ สมบุญ – ผมเริ่มต้นวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงตอนใกล้เรียนจบจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร วาดเพราะได้ศึกษาเรื่องราวของพระองค์ท่านมากขึ้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและอยากสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับในหลวง ประกอบกับช่วงเวลานั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจัดการประกวดงานศิลปกรรม ในหลวงของเรา ขึ้น