ฮ่องกงถือเป็นเมืองแห่งเอกลักษณ์ที่ผสานรวมความทันสมัยเข้ากับประเพณีอันล้ำค่า แม้เมืองแห่งนี้จะมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การเงิน และความพร้อมสรรพด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการด้านสุขภาพที่ไม่เคยตกยุค แต่ฮ่องกงก็ยังรักษาเสน่ห์ของสิ่งเล็กๆ อย่างอาหาร งานฝีมือ และวัฒนธรรมไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าคุณจะเป็นคนฮ่องกงแท้ๆ แต่ดั้งเดิม นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่ลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองแห่งนี้ คุณก็ย่อมมีสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นประเพณีโดยแท้ของฮ่องกงติดตราตรึงใจอยู่แน่นอน
ร้านรวง เข่งไม้ไผ่ และไพ่นกกระจอก
ลินด์เซย์ วาร์ตี (Lindsay Varty) เป็นนักเขียน นักข่าว และนักรักบี้ แม้จะเป็นลูกครึ่งมาเก๊า-อังกฤษโดยกำเนิด แต่ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าเธอมีความเป็นชาวฮ่องกงอยู่เต็มหัวใจ และได้ฝากผลงานการเขียนไว้กับหนังสือชื่อ “Sunset Survivors” ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการค้าและเหล่าช่างฝีมือของฮ่องกง สำหรับเธอแล้วสิ่งที่จะทำให้เราได้ดื่มด่ำกับรสชาติที่แท้จริงของฮ่องกงก็คือการได้ไปเยือน ถนนต่ายผ่ายตอง (Dai Pai Dong)
“ร้านอาหารอันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้มักจะตั้งอยู่ตามตรอกซอกซอยและลานโล่ง โดยกางกันสาดคลุมด้านบน ตั้งโต๊ะเก้าอี้กันง่ายๆ ใต้กันสาด และเสิร์ฟอาหารฮ่องกงสุดคลาสสิกทุกประเภท ตั้งแต่ขนมปังฝรั่งเศสไตล์ฮ่องกง ไปจนถึงน้ำซุปมะเขือเทศเคี่ยวสำหรับทานคู่กับมักกะโรนีที่อร่อยจนวางไม่ลง”
ลินด์เซย์ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยเดินทางไปแล้วทั่วโลก เชื่อว่าอาหารและการตกแต่งที่เรียบง่ายนี้คือสิ่งที่ทำให้ร้านรวงในฮ่องกงมีความพิเศษและแตกต่างจากร้านอาหารที่คุณอาจพบตามที่ต่างๆ ทั่วโลก “ฉันขอแนะนำให้ทุกคนไปเที่ยวที่ ต่ายผ่ายตอง! ถ้าได้ไปแล้ว ต้องอย่าพลาดร้านแซงเฮิ้งหยูน (Sing Heung Yuen) ในย่านเซ็นทรัล (Central) เพราะอาหารและการบริการที่นี่เรียกได้ว่าชั้นยอด แถมเจ้าของร้าน ไอรีน ลี (Irene Lee) ยังเป็นเพื่อนของฉันเองค่ะ!”
หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตท่ามกลางอาหารเลิศรสและของอร่อยนับไม่ถ้วนในฮ่องกง ลินด์เซย์ยอมรับว่าเธอเป็นแฟนตัวยงของติ่มซำ (ใครบ้างล่ะที่จะไม่ชอบติ่มซำ?) ติ่มซำมักจะนึ่งในเข่งไม้ไผ่ ที่มักผลิตในประเทศจีน แต่ถ้าหากคุณอยากสัมผัสเข่งไม้ไผ่ในรูปแบบศิลปะท้องถิ่นที่หาไม่ได้จากที่ไหน ขอให้คุณได้แวะเวียนไปที่บริษัท Tuck Chong Sum Kee Bamboo Steamer ในไซ้เหย่งผู่น (Sai Ying Pun) เพราะนอกจากจะได้สิทธิพิเศษในการมองดูการสานเข่งของช่างฝีมือแบบใกล้ๆ ผ่านหน้าต่างบานเล็กๆ ของร้าน คุณจะอยากหิ้วเข่งไม้นี้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วยซ้ำ! ลินด์เซย์เล่า
“อาจารย์เรย์มอนด์ แลม บริหารธุรกิจครอบครัวนี้มานานกว่า 40 ปี! โดยเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นที่ 5 เขาทำงานทุกวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำเพื่อผลิตเข่งไม้ไผ่ให้กับโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า และครัวเรือนต่างๆ ทั่วฮ่องกง รวมถึงผู้ประกอบการในต่างประเทศ” ลินด์เซย์สังเกตว่า ผู้คนเริ่มมองว่าเข่งไม้เหล่านี้เป็นงานศิลป์ แทนที่จะนำไปใช้นึ่งติ่มซำแบบปกติ หลายคนจึงนำไปใช้เป็นเชิงเทียนบ้าง โคมไฟบ้าง ภาชนะเก็บของบ้าง หรือแม้แต่นำไปประดับผนัง
เธอยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “เป็นเรื่องที่ดีมากที่ได้เห็นว่าผู้คนหันมาอนุรักษ์งานชิ้นนี้ด้วยการนำไปใช้ ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็ตาม เพราะมันเป็นการทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของความงามและความพิเศษของวัฒนธรรมฮ่องกง อย่างไรก็แล้วแต่ฉันคิดว่าผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังคงจะนำไปใช้นึ่งอาหาร เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ไม่ให้สูญไปค่ะ”
เมื่อพูดถึงการนำเครื่องจักรมาแทนที่งานฝีมือของมนุษย์แล้ว สิ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือการทำ ไพ่นกกระจอก การเล่นไพ่นกกระจอกเป็นที่นิยมมากในฮ่องกง หลายๆ คนมักจะเล่นกันทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ทราบหรือไม่ว่า ในปัจจุบัน ไพ่นกกระจอกพลาสติกราคาถูกกำลังมาแทนที่ไพ่นกกระจอกทำด้วยมือแบบดั้งเดิม
“การวาดภาพมักใช้เวลาและต้องใช้ความพยายามสูง แถมไพ่นกกระจอกทำมืออาจมีราคาสูงถึงประมาณ 4,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 16,000 บาท) หนึ่งในนักวาดไพ่นกกระจอกแบบดั้งเดิมที่ยังมีชีวิตอยู่คือ อาจารย์ชวง ชุน คิง หรือ “ลุงคิง” ที่เรามักเรียกกัน เขาทำงานที่ Biu Kee Mahjong ในจอร์แดน ทุกๆ วันเขาจะแต่งแต้มชุดไพ่นกกระจอก บรรจงลงสีอย่างประณีต และแกะสลักไพ่แต่ละตัวด้วยตัวเองโดยใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษของเขามาหลายชั่วอายุ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์คิงไม่ทราบวิธีการเล่นไพ่นกกระจอกด้วยซ้ำ เขาบอกว่าเขาต้องอยู่กับไพ่พวกนี้ทั้งวัน ก็เลยไม่อยากจะต้องมานั่งจ้องมันอีกเวลาอยู่ที่บ้าน”
หากคุณสนใจการวาดลวดลายไพ่นกกระจอกแบบดั้งเดิม อย่าลืมมาร่วมเวิร์กชอปกันดูสักครั้ง เพราะศิลปะนี้กำลังค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมา คุณสามารถติดต่อไปที่ลุงคิง หรือคาเรน อารูบา (Karen Aruba) ได้โดยตรง มาร่วมบ่มเพาะความสัมพันธ์ของคุณกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของฮ่องกงไปพร้อมกัน
ขนมกินเล่น กะปิ และเครื่องลายคราม
ในขณะที่ลินด์เซย์เติบโตในฮ่องกง คริสติน แคปปิโอ (Christine Cappio) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวฝรั่งเศสได้บินลัดฟ้ามาตามเสียงหัวใจ หนังสือของเธอ “Gweimui’s Hong Kong Story” บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของหญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่ได้พบเห็นตลาดสดต่างๆ การตกแต่งสีสันสดใส และอาหารที่น่าทึ่ง และแม้ว่าเธอจะยืนกรานว่าไม่ใช่นักกิน (แต่เป็นนักออกแบบเครื่องเคลือบมืออาชีพ) แต่เธอก็ไม่สามารถห้ามใจที่จะไม่ตกหลุมรักไปกับประเพณีด้านอาหารมากมายในเมืองแห่งนี้ได้เลยสักครั้ง
“ฉันชอบเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารของฮ่องกงและการใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น อาหารจานพิเศษอย่างหนึ่งที่ฉันชอบทำมากเลยก็คือ ขนมเมีย (Wife Cake)”
ตำนานเกี่ยวกับขนมชิ้นนี้เล่าว่า มีภรรยาที่ยอมขายตัวเองเป็นทาสเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเธอ ผู้เป็นสามีจึงเริ่มขายพายชิ้นเล็กๆ สอดไส้แตงโมหวานและอัลมอนด์ จนกระทั่งได้เงินมาพอที่จะนำไปไถ่ตัวของเธอคืน ลองคิดภาพตามกันดูว่า ขนมที่เบานุ่มเช่นนี้จะอร่อยขนาดไหน! ขนมอบดั้งเดิมสไตล์กวางตุ้งนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านเบเกอรี่ฮ่องกง แต่เราขอแนะนำให้คุณเก็บไว้ทานเป็นของว่างคู่กับน้ำชาร้อนๆ สักแก้ว
สิ่งที่คริสตินชอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ “เมื่อสองสามปีก่อนฉันได้เรียนทำขนมแป้งนึ่งที่เรียกว่า Tea Cake ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของชาวฮากกา (หรือ “จีนแคะ”) พวกเขาตั้งรกรากอยู่ทางตอนใต้ของผืนแผ่นดินจีนมายาวนาน และเผยแผ่วัฒนธรรมอาหารมาถึงฮ่องกง อาหารชนิดนี้เป็นแป้งนึ่งชิ้นเล็กๆ ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว สอดไส้คาวหรือหวานแล้วนำไปนึ่งบนใบตอง โดยแต่ละชิ้นจะแต้มด้วยถั่วลิสงหรือถั่วแดงอยู่ด้านบน”
ขนมแป้งนึ่งมักจะมาในรูปแบบพร้อมทาน และจะเป็นที่นิยมกันในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง หรือเทศกาลเก้าคู่ (Double Ninth) แม้ว่าขนมแป้งนึ่งของชาวจีนแคะจะไม่ได้เป็นที่นิยมทานกันทั่วไปเหมือนขนมเมีย แต่คุณก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขนมหวานในไทโอ หรือโรงอาหารในตลาดไทโป
ฮ่องกงมักจะมีความเชื่อมโยงกับอาหารทะเลอยู่เสมอ และส่วนประกอบพื้นฐานในเมนูอาหารมากมาย นับตั้งแต่ข้าวผัดไปจนถึงผัดผักก็คือซอสกะปิรสโอชา แม้ว่าจะเคยเป็นที่นิยมในฮ่องกงอยู่ช่วงหนึ่ง แต่การทำซอสกะปิได้ค่อยๆ สูญไปหลังจากการลากอวนกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 2556 เนื่องจากทางการต้องการปกป้องทรัพยากรมีค่าทางทะเล ซอสกะปิจึงถือเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2557
“ณ วันนี้ ยังมีผู้ผลิตท้องถิ่นอีกสองสามรายที่ยังผลิตซอสจากกุ้งเคยที่จับได้จากในท้องถิ่นทั้งหมด และ Sing Lee Shrimp Sauce & Paste Manufacturer ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวอันมีประวัติยาวนานกว่า 80 ปี ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยธุรกิจนี้ตั้งอยู่ในไทโอ อดีตหมู่บ้านชาวประมงที่โด่งดังในเรื่องบ้านไม้ยกสูง หรือบางครั้งเราก็จะเรียกกันว่าลิตเติลเวนิสแห่งฮ่องกง”
“ถ้าคุณมีโอกาสได้เดินทางไปที่ไทโอในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม คุณก็จะได้เห็นถังสีน้ำเงินที่ปริ่มไปด้วยซอสกะปิเข้มข้น รวมถึงถาดหวายขนาดใหญ่ที่บรรจุซอสข้นและก้อนสีชมพูตากแห้ง กลิ่นคาวปลานั้นช่างทรงพลังจนคุณจะรู้เลยล่ะว่าคุณมาถูกที่แล้วแน่!”
หากคุณมาเที่ยวที่ไทโอ อย่าลืมซื้อซอสกะปิ (ในโหลแก้ว) และเคย (เป็นก้อนห่อด้วยพลาสติกใส) ของร้าน Sing Lee และเจ้าอื่นๆ ไปฝากคนที่บ้านจากร้านขายของชำแบบดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ในตัวเมือง
สำหรับนักออกแบบเครื่องเคลือบอย่างคริสติน ฮ่องกงนับว่าเป็นสถานที่ที่น่าอัศจรรย์ใจ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องลายครามสวยสดจำนวนมากจัดเรียงรายอยู่ในร้านต่างๆ ทั่วเมือง
“ฉันชอบเครื่องลายครามฮ่องกงหรือที่เรียกว่ากวางโจวมากค่ะ ย้อนกลับไปก่อนยุค 60 ที่ฮ่องกงมีผู้ผลิตเครื่องลายครามเจ้าใหญ่อยู่ 4 เจ้า ที่ผลิตงานทำมือ แต่ตอนนี้ Yuet Tung China Works เป็นเจ้าเดียวที่เหลืออยู่”
Yuet Tung China Works ก่อตั้งขึ้นในฮ่องกงเมื่อปี 2471 โดยตระกูลโซที่อพยพมาจากกวางโจว วันนี้โรงงานได้ดำเนินการมาจนถึงผู้สืบทอดรุ่นที่สามนามว่า โจเซฟ โซ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ลวดลายของเครื่องลายครามจะสร้างสรรค์ผ่านการพิมพ์โดยใช้ตรายางและการติดสติกเกอร์ทีละชิ้น (ไม่มีการวาดมืออีกแล้ว) โดย Yuet Tung ส่งมอบบริการประทับใจให้กับลูกค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักวาติกัน ราชวงศ์ และข้าราชการในต่างประเทศ แถมยังผลิตสินค้าตามสั่งให้กับโรงแรม องค์กร และบุคคลที่มีชื่อเสียงจากทั่วทุกมุมโลกมาจนถึงทุกวันนี้
คริสตินบอกเล่าเรื่องราวถึงเอกลักษณ์และชิ้นงานอันทรงคุณค่า “ศิลปะกวางโจวเป็นงานฝีมือแบบดั้งเดิมและเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของฮ่องกง ภายในร้านจะอัดแน่นไปด้วยสินค้ามากมาย (ทั้งแบบกวางโจวและแบบโมเดิร์น) และถ้าหากคุณลองใช้เวลาในการค่อยๆพินิจสินค้าเหล่านี้ คุณจะต้องได้พบกับสิ่งที่โดนใจของคุณอย่างแน่นอนอย่างเช่น งานกวางโจววาดมือที่รังสรรค์โดยคุณปู่ของโจเซฟ โซ! แถมคุณยังสามารถลงมือทำของขวัญที่มีชิ้นเดียวในโลกได้ด้วยการออกแบบลายและสั่งพิมพ์พิเศษลงบนจานหรือเครื่องเคลือบอื่นๆ ซึ่งฉันชอบมากเลยล่ะค่ะ!”
อยากลองดูไหม? หลายๆ คนหันมาวาดภาพเครื่องเคลือบเป็นงานอดิเรก และตอนนี้คุณก็สามารถหากิจกรรมเวิร์กชอปแบบนี้ในฮ่องกงได้ง่ายๆ และหนึ่งในนั้นคือเวิร์กชอปสอนการวาดภาพลงบนเครื่องเคลือบตามสถานที่ต่างๆ ทั่วฮ่องกง (ทั้งเดี่ยวและกลุ่ม) โดยภรรยาของโจเซฟ โซ