Celeb Online

ซึมซับจีนวิทยาผ่านพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


>>สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรักใคร่และผูกพันกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จนได้รับพระสมัญญานามให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยและศึกษาภาษาจีน จีนวิทยา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมจีนหลากหลายแขนงอย่างลึกซึ้งถึงแก่น ผ่านการจดบันทึกจนกลายเป็นบันทึกอันทรงคุณค่า อีกทั้งพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์ ที่พระองค์ทรงหยิบนวนิยายเรื่องดังของจีนมาแปลเป็นภาษาไทย เผยแพร่ให้ชาวไทยได้ศึกษาและชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย

ในครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษอีกครั้งที่นักอ่านชาวไทยจะได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์และการแปลถึง 2 เล่ม คือ “เมื่อข้าพเจ้าเขียนย่ำแดนมังกร” และ “ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลี้ลับริมฝั่งน้ำ”

“เมื่อข้าพเจ้าเขียนย่ำแดนมังกร” เป็นคำบรรยายพระราชนิพนธ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงบรรยายเรื่อง ย่ำแดนมังกร แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฟังเมื่อปี พ.ศ. 2533 ว่าทำไมถึงเขียน ‘ย่ำแดนมังกร’ (พระราชนิพนธ์เล่มแรกที่ทรงประพันธ์) ซึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ เยือนเมืองจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524 เนื้อหาภายในเปี่ยมด้วยข้อพินิจทรงคุณค่า แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. ผู้อ่านจะได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์จีนที่พระองค์ทรงบรรยายให้ฟังคร่าวๆ ได้รู้ว่าในสมัยนั้นพระองค์มีความคิดเห็นและกลวิธีอย่างไรในการเขียนบันทึก

2. บทวิเคราะห์ของอาจารย์สุวรรณา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้วิเคราะห์งานเขียนเล่มนี้ของพระองค์ท่าน ซึ่งทำให้ทราบว่าพระองค์ทรงมีกลวิธีในการเขียนหนังสืออย่างไร

3. เป็นคำถามที่นิสิตชั้นปีที่ 1 5 คนทูลถามคำถามพระองค์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถด้านจีนวิทยาอย่างถ่องแท้ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนแต่ละครั้งได้ทอดพระเนตรศิลปวัตถุที่จัดแสดงตามสถานที่สำคัญ รวมถึงวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของประเทศจีนในแง่มุมต่างๆ คำบรรยายที่ทรงแสดงในครั้งนั้น จึงไม่ได้มาจากการศึกษาเนื้อหาความรู้จากตำรับตำราทั่วไป หรือจากการได้เห็นได้ชมมามากอย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่เป็นคำบรรยายของผู้ที่ทั้งได้ศึกษา ได้เห็น และมีประสบการณ์ความเข้าใจประเทศจีนอย่างแจ้งชัด

ซึ่งนอกจากผู้อ่านจะได้รู้จักสถานที่สำคัญ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของประเทศจีนในแง่มุมต่างๆ แล้ว ยังได้รู้เทคนิคการเขียนบันทึกสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย

“…ไปต่างประเทศ สภาพแวดล้อมต่างๆ แปลกจากเดิมที่เคยพบเคยเห็นก็จดบันทึกไว้ แล้วได้มาอ่านมาคิด จะดีกว่าพอเห็นอะไรแล้วปล่อยทิ้ง ไม่บันทึก พอผ่านไปแล้วก็ลืม ไม่มีประโยชน์อะไรเลย…”

ในขณะที่ “ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลี้ลับริมฝั่งน้ำ” เป็นพระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถยิ่งด้านอักษรศาสตร์ มีเนื้อหาสะท้อนความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีของสังคมจีนจากอดีตถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยวรรณกรรมจีน 4 เรื่องของ 3 นักเขียนชื่อก้องในวงวรรณกรรมจีนร่วมสมัย ประกอบด้วย ‘ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลี้ลับริมฝั่งน้ำ’ โดย ฉือจือเจี้ยน ‘คำไว้อาลัยหมา’ โดย มั่วเหยียน ‘ซุปที่อร่อยช่างน่ากลัวยิ่ง’ และ ‘กินหม้อไฟในหน้าร้อน’ โดย ซูเฉี้ยว

ผู้อ่านจะได้ซึมซับทั้งอรรถรสความงามด้านภาษา และความงดงามของความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์เลี้ยง และมนุษย์กับอาหาร รวมทั้งความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีของสังคมจีนจากอดีตถึงปัจจุบันผ่านเรื่องราวของตัวละครหลักในเรื่อง

เรื่อง ไป๋อิ๋นน่า ของ ฉือจื่อเจี้ยน เป็นนวนิยายสมัยใหม่อันใช้สัญลักษณ์งดงามยิ่งจากฉากธรรมชาติที่พิเศษเข้มข้น ทั้งงดงามและโหดร้ายในเวลาเดียวกันมาอธิบายสัจธรรมในหัวใจมนุษย์ ชื่อของ ‘ไป๋อิ๋นน่า’ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ต้นแม่น้ำเฮย์หลงเจียง หมู่บ่านนี้เล็กเสียจนไม่ปรากฏบนแผนที่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมง ยามถึงฤดูจับปลาคนทั้งหมู่บ้านจะไม่สนใจอย่างอื่น แม้โรงเรียนก็ยังปิดเพื่อไปจับปลากันตั้งแต่เช้ายันดึกไว้กินและขาย ปีนี้มีปลามากมาย เมื่อพ้นฤดูจับปลามีปลากองเต็มบ้าน พ่อค้าขายของชำจึงตั้งราคาเกลือไว้สูงลิบลิ่ว ทำให้จากที่ชาวบ้านเคยดีใจที่จับปลาได้มากมาย กลายเป็นความโกรธเกรี้ยว จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม จากหมู่บ้านที่เรียบง่ายสงบสุข กลับแฝงไว้ด้วยปัญหาจากกิเลสมนุษย์

“…ลับลี้ใจคนใครหยั่งได้…โลกอันประณีตซับซ้อนในหัวใจคนจะทำให้ซาบซึ้งในความขัดแย้ง ความกลมกลืนของชีวิตมนุษย์ อันเป็นสัจธรรมสากลดำรงอยู่เหนือกาลเวลา…”

ส่วนเรื่องสั้นร่วมสมัยอีก 3 เรื่อง คือ คำไว้อาลัยหมา ของ มั่วเหยียน ซุปที่อร่อยช่างน่ากลัวยิ่ง และ กินหม้อไฟหน้าร้อน ของ ซูเฉี้ยว ก็เป็นเรื่องสั้นที่สร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านได้อย่างละเมียดละไม เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยง หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอาหารล้วนเป็น “แผนที่” ให้ผู้อ่านเดินทางเข้าสู่โลกอันประณีต ซับซ้อนในหัวใจของแต่ละคน ทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งในความขัดแย้ง ความกลมกลืนของชีวิตมนุษย์ อันเป็นสัจธรรมสากลดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

ร่วมสัมผัสวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และศิลปะอันงดงามของจีน ผ่านพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ควรค่าแก่การมีไว้ครอบครอง ใน “เมื่อข้าพเจ้าเขียนย่ำแดนมังกร” ราคา 145 บาท และ “ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลี้ลับริมฝั่งน้ำ” ราคา 195 บาท วางจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสั่งซื้อผ่านทาง 0-2662-3000 กด 0 www.nanmeebooks.com และ www.facebook.com/nanmeebooksfan