Celeb Online

รวมของดี 4 ชุมชนโบราณของไทย


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม จัดงาน “ตลาดยอดฝีมือ ตำนานชุมชนเลื่องลือ” รวมที่สุดของชุมชนยอดฝีมือทั่วประเทศ มาถ่ายทอดความรู้ความสามารถทางวัฒนธรรมและฝีมือที่สั่งสมมาแต่ครั้งโบราณกาล โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ 4 ชุมชนโบราณทั่วกรุงเทพฯ และ 16 ผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อมาร่วมกัน สานสุข สานภูมิปัญญา สานความยั่งยืน


ภายในงานเนรมิตพื้นที่ให้มีอารมณ์ความเป็นชุมชน ประกอบไปด้วย พื้นที่เวิร์กชอป นิทรรศการจากวัสดุท้องถิ่น เสมือนให้ผู้มาเยือน รู้สึกเหมือนได้เดินเยี่ยมชมในชุมชนนั้นๆ ผสมการตกแต่งผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เข้าถึงเสน่ห์ของแต่ละท้องถิ่นจริงๆ


สินค้าที่ได้รับความสนใจ เดินมาทางจากย่านต่างๆ เพื่องานนี้โดยเฉพาะ อาทิ บางพลัด ขนมไทยชุมชน, ขนมกระยาสารท บางอ้อ หรุ่ม กุหลาบยำบู กรอกจิ้มคั่ว แกงต่างๆ เนื้อสะเต๊ะ สินค้าเกษตรมะนาวและผักปลอดสาร กุฏีจีน ขมมฝรั่ง และของที่ระลึกพิพิธภัณฑ์บ้านกุฏีจีน เจริญนคร สาคูไส้เนื้อ ซาลาเปา กะหรี่ปั๊บตำรับมุสลิม ท่าดินแดง หมี่กรอบ วัดกัลยาณ์ ก๋วยเตี๋ยวแกง ชุมชนวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ ข้าวหมูทอด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ตัวแทนชุมชนโบราณมาเผยเคล็ดลับการสืบสานฝีมือทางช่างให้สืบทอดรุ่นสู่รุ่น และเสน่ห์ของงานศิลปะ รวมทั้งเผยฝีมือการทำอาหารของชุมชน ที่ไม่มีใครเหมือน


ซารีนา นุ่มจำนงค์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มอาหารสานใจ จาก ชุมชนมัสยิดบางอ้อ และอุไร มูฮัมหมัด กรรมการมัสยิดบางอ้อ เล่าถึงมนต์เสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้ว่า บรรพบุรุษอพยพมาอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาแตก มาตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำ และตั้งชื่อว่า “มัสยิดบางอ้อ” จากเดิมอยู่บนแพ พอสมัยรัชกาลที่ 5 จึงยกเรือนแพมาอยู่บนพื้นดิน และที่แห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ที่ค่อนข้างมีฐานะดี ในปี พ.ศ. 2461จึงสร้างมัสยิดแบบปูนและแล้วเสร็จในปีต่อมา ปัจจุบันมัสยิดที่ชุมชนมัสยิดบางอ้อจึงมีอายุครบ 102 ปีแล้ว ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าเพราะงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบผสม


ซารีนาเล่าว่า ปัจจุบันสืบทอดมาสู่รุ่นที่ 5 แล้ว มีสมาชิกในชุมชนราว 1,200 คน นอกจากสืบทอดการนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ยังสืบทอดวัฒนธรรมการกิน เช่น “หรุ่มไส้กุ้ง” อาหารโบราณเก่าแก่ เมนูนี้จะใช้รับรองแขกในบ้านที่ค่อนข้างมีฐานะ เช่น เสนาบดี หรือเมนู “กุหลาบยำบู” แป้งผสมนมวัวมีกลิ่นหอมของดอกกุหลาบ คล้าย ๆ อาหารอินเดีย “กรอกจิ้มคั่ว” แผ่นแป้งนุ่มกินคู่กับแกงไก่ เมนูอาหารว่างกินระหว่างมื้อ ตำรับเมนูอาหารสืบทอดนับร้อยปี


เคล็ดลับการดำรงคงอยู่ในวัฒนธรรมการกินนี้สืบทอดไปชั่วลูกหลานนับ 100 ปี ซารีน่าบอกว่า เดิมอาหารของมุสลิมนี้คนชุมชนอื่นยังไม่รู้จัก เธอจึงร่วมกับพี่น้องในชุมชนมัสยิดบางอ้อทำโครงการ “อาหารสานใจ” เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนและผู้ใหญ่มีกิจกรรมทำร่วมกันคือสอนและเรียนการทำอาหาร ถือเป็นการช่วยสืบทอดเมนูอาหารคาวหวานของมัสยิด และยังสอนเมนูการทำข้าวอาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน การกวนข้าวอาซูรอเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิม สะท้อนถึงความรักและสามัคคีกันในชุมชน ซึ่งหากินยากมาก จะได้กินกันปีละครั้งเท่านั้น


ด้าน ชุมชนวัดเทพากร เขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี ที่ถือเป็นชุมชนที่สืบสาน การทำ “หัวโขน” งานหัตถ์ศิลป์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชั้นสูงของไทย ที่เผยแพร่ให้คนในชุมชนได้รู้โดยไม่คิดสตางค์โดยมีผู้บุกเบิกคือ ครูสถาพร เลี้ยงสอน ปัจจุบันในวัย 84 ปีจึงส่งถ่ายวิชาการทำหัวโขนที่มีความวิจิตรสวยงามให้ทายาทสืบสานมรดกไทย ศูนย์ฝึกอาชีพบางพลัด จรัญ 68 ให้กับลูกสาว ครูพัชนี เลี้ยงสอน ได้สืบสานและถ่ายทอดให้คนที่มีใจรักด้านศิลปะได้มาเรียนการทำหัวโขนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย