Celeb Online

ขาย “ลิขสิทธิ์หนังสือไทย” หนทางยาวไกล เหตุ…ไร้คนเริ่มต้น


 
น่าดีใจที่ได้เห็นบูทประเทศไทยในงานไต้หวันบุ๊กแฟร์ ณ กรุงไทเป ที่จัดไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค.-2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในโลกนี้ งานบุ๊กแฟร์ใหญ่ๆ ที่สำนักพิมพ์ทั่วโลกจะต้องมาประชันขันแข่งกัน นอกจากที่แฟรงค์เฟิร์ต โบลอนญา ญี่ปุ่น เกาหลี งานที่ไทเปก็ติดอันดับด้วย

ถ้าว่าไปแล้ว การขายลิขสิทธิ์หนังสือของประเทศอื่นๆ เขาทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งการตกแต่งบูท การจัดโชว์หนังสือ การจัดเจ้าหน้าที่บริการเพื่ออธิบายตัวสินค้าและปิดการขาย เขาทำกันอย่างพิถีพิถัน บางประเทศอย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น มีสำนักพิมพ์และเอเยนต์มาออกบูทเองไม่ต่ำกว่า 5-6 บูท ทำให้บรรยายกาศคึกคัก ไม่เดียวดาย เหงาเศร้า อย่างบูทของประเทศไทย

หนังสือภาษาไทยที่สำนักพิมพ์ต่างๆ นำไปขายลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ พบว่าเป็นหนังสือนิทานภาพกว่า 90% นอกนั้นมีนวนิยายที่ชนะรางวัลประกวด และที่เด่นกว่าใครก็มีการ์ตูนความรู้ ของสำนักพิมพ์อีคิวพลัส ที่กระตือรือร้นจัดทำเอกสาร โบรชัวร์ นำไปวางเผยแพร่ให้ผู้คนผ่านไปผ่านมาได้หยิบอ่าน

ด้านคนซื้อที่เข้ามาติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือภาษาไทยนั้น สนใจหนังสือนิทานภาพของ สำนักพิมพ์ห้องเรียน มากที่สุด (4-5 ปก) เช่น นิทานอีสป นิทานโลกตะวันตก นิทานโลกตะวันออก ซึ่งหนังสือเหล่านี้ นอกจากสีจะเด่น ภาพสวยแล้ว เนื้อหาของหนังสือยังต้องเป็นสากล เพื่อที่นักอ่านทุกชาติทุกภาษา จะได้เข้าใจได้โดยไม่มีกรอบของวัฒนธรรมมาขวางกั้น และที่น่าสนใจอีกเล่มคือเรื่อง “ไม่อยากเป็นควาย” โดย ดร.สายสุรี จุติกุล ที่มีสำนักพิมพ์เกาหลีสนใจเอาไปแปลเพื่อให้เด็กๆ เกาหลี รู้จักควายที่ใช้ไถนา ไม่ใช่รู้จักแค่รถแทรกเตอร์ไถนาเพียงอย่างเดียว และการ์ตูนความรู้ เรื่องไดโนเสาร์ ก็เรียกร้องความสนใจของเด็กเกาหลีจนร้องขอให้แม่ซื้อแม้จะอ่านภาษาไทยไม่ออกก็ตาม

วรพันธ์ โลกิตสถาพร อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้กล่าวว่า “การขายลิขสิทธิ์หนังสือภาษาไทยนั้น ขณะนี้ มีแค่สมาคมฯ เท่านั้นที่ดูแล ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง หากรัฐบาลใส่ใจมองว่า หนังสือคือสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเหมือนข้าว ที่สามารถทำรายได้ให้ไม่น้อยหน้ากว่าสินค้าอื่นๆ ของประเทศ และให้การสนับสนุน วงการหนังสือบ้านเราก็จะเติบโต เพียงแต่ว่าตอนนี้รัฐบาลอาจจะยังไม่สนใจเพราะยังไม่รู้ตัวเลขที่เป็นมูลค่าการขายอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้เรายังไม่สามารถหาตัวเลขนั้นได้ แต่การขายลิขสิทธิ์หนังสือ ไม่เพียงเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศแล้วยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างแยบยลอีกทางหนึ่ง เหมือนที่ทั่วโลกกำลังฮิตเกาหลี ในขณะนี้ เกาหลีก็เริ่มเข้าถึงคนทั่วโลกด้วยหนังสือและภาพยนตร์”

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า การนำหนังสือไทยไปขายลิขสิทธิ์ยังต่างแดนแบบนี้ สิ่งสำคัญคือเนื้อเรื่องที่เป็นสากล ผู้อ่านไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน วัฒนธรรมอย่างไร ก็อ่านเข้าใจ เข้าถึงอารมณ์ของเรื่องได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ แปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะจะสามารถเสนอขายให้เอเยนต์หรือสำนักพิมพ์ที่สนใจซื้อได้อ่าน ดู และตัดสินใจได้ จึงอยากให้การขายลิขสิทธิ์ ทำเป็นนโยบายของรัฐบาล

ในเมื่อรัฐบาลประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ ตามติดมาด้วยต้องการรณรงค์ให้อ่านอย่างต่อเนื่อง ในแคมเปญ ทศวรรษการอ่าน จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านนานกันถึงสิบปี แต่ก็น่าตกใจที่สถิติการอ่านหนังสือของเด็กไทยกลับลดลงเรื่อยๆ คือ ปีละ 6-7 บรรทัดเท่านั้น แน่นอนผลสะท้อนตรงนี้ คงจะไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมกันสร้างชาติให้ได้

เรื่องนี้ก็อยากจะวอนขอให้รัฐ หันกลับมาพัฒนานักเขียน นักแปล (ต้นน้ำของการอ่าน) โดยตั้งงบประมาณส่งเสริมการแปลหนังสือที่ดี เพื่อที่จะสร้างนักเขียนไทยให้ไปอวดฝีมือในต่างประเทศกันได้บ้าง ไม่ใช่ให้นักเขียนต้องออกเงินค่าแปลเอง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะขายหนังสือได้หรือไม่ หรือช่วยรับรองหรือการันตีหนังสือเล่มนั้นๆ ว่ารัฐบาลสนับสนุนเพื่อให้ความเชื่อมั่นกับเอเยนต์ จัดงบโรดโชว์ให้นักเขียนไปพบนักอ่านประเทศต่างๆ เหมือนที่ การท่องเที่ยวฯ ทำโรดโชว์ไปเชิญชวนประเทศอื่นๆ มาเที่ยวไทย ขอสนับสนุนลดหย่อนภาษีค่าลิขสิทธิ์ เพื่อให้นักเขียนได้เงยหน้าอ้าปากไม่ใช่นักเขียนไส้แห้ง ที่ต้องรอแค่ค่าลิขสิทธิ์จากการพิมพ์งวดแรก (3,000 เล่ม)

ตอนนี้ก็ต้องทนรอกันไปก่อน… เพราะยังไม่มีใคร (ในรัฐบาล) เริ่ม (ก้าว) เข้ามาพัฒนาอย่างจริงจังสักที