Celeb Online

“พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” สืบสานวัฒนธรรมผ่านดอกไม้ของ…สกุล อินทกุล


ก็บความฝันพร้อมกับแอบซุ่มสานฝัน เพื่อสืบสานการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านไม้ดอก ที่ตนรักกลายมาเป็น “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” ที่ สกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ระดับนานาชาติ พร้อมแล้วกับการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค. 55 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ด้วยทรงเป็นนักอนุรักษ์พรรณพืช เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ
สกุล เปิดเผยพร้อมอธิบายว่า ภายในพิพิธภัณฑ์จะเป็นที่แสดงชิ้นงาน หลักฐาน ภาพถ่ายไปจนถึงไม้ดอกไม้ใบ ซึ่งรวบรวมมาจากทุกทวีปในตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ในฐานะศิลปินนักจัดดอกไม้ โดยได้เดินทางไปลงมือสัมผัสและคลุกคลีอยู่ใน “วัฒนธรรม” ต่างๆ ทั่วโลกด้วยตนเอง

ตัวอาคารซึ่งตั้งอยู่บริเวณศรีย่าน เป็นบ้านโบราณสไตล์โคโลเนียลอายุราว 100 ปี แบ่งออกเป็นห้องจัดนิทรรศการทั้งชั้น 1 และชั้น 2 รวม 7 ห้อง หนึ่งในนั้นจัดแสดงเอกสารเก่าแก่ เช่น “ตำราลับแห่งการจัดดอกไม้แบบโชกะของอิเคโนโบะ” หนังสือม้วนโบราณอายุราวปี ค.ศ.1756 ซึ่งเทียบเท่าสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และยังเป็นที่รวมของภาพถ่ายเกี่ยวกับวัฒนธรรมดอกไม้ ที่ค้นคว้ามาได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมถึงอุปกรณ์และภาพถ่ายเกี่ยวกับวัฒนธรรมดอกไม้ของอินเดีย จีน ญี่ปุ่น บาหลี พม่า ลาว เนปาล ธิเบต ไปจนถึงฮาวาย อียิปต์ กรีก อังกฤษ และฝรั่งเศส

ที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์ยังรวมเอามรดกทางวัฒนธรรมของการจัดดอกไม้ไทย มาจัดแสดงไว้อย่างครบถ้วน ชิ้นงานที่ไม่ควรพลาดคือ ภาพร่างผลงานชิ้นต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของ สกุล อินทกุล ซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่ ชิ้นงานดอกไม้สำหรับงานพระราชทานเลี้ยงในพระบรมมหาราชวัง เมื่อครั้งเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2549 และผลงานจากหนังสือดัง “ดอกไม้ไทย” ซึ่งสกุลได้จัดทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา ในปี 2552
นอกจากนั้น ยังมี “Living Exhibition” หอจัดแสดงงานมีชีวิต ที่ร่มรื่นไปด้วยไม้ใบไม้ดอกมงคล ที่ปลูกตามความเชื่อของไทยโบราณ บริเวณโดยรอบพื้นที่พิพิธภัณฑ์ กว้างทั้งหมด 1 ไร่ ซึ่งสกุลลงทุนปลูกขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด

สกุล บอกว่า “การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของหลายประเทศ แต่ที่นี่จะเน้นไทยและเอเชีย ให้ได้เห็นว่ามีการใช้ดอกไม้อย่างไร ดอกไม้อยู่ในวิถีชีวิตอย่างไร ซึ่งปัจจุบันความผูกพันของดอกไม้กับวิถีชีวิตของคนนั้นเริ่มน้อยลง นี่จึงเป็นที่มาว่าเหตุใดจึงต้องมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนได้เรียนรู้ได้เข้าใจ”

“ผมเป็นคนชอบท่องเที่ยว สิ่งแรกที่ผมทำเวลาเดินทางไปถึงแต่ละแห่งคือ ไปชมตลาดดอกไม้ เนื่องจากผมมีหลักคิดว่า ก่อนจะสร้างสรรค์ออกมาเป็นงานจัดดอกไม้ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง เราจำเป็นต้องไปศึกษาให้เข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละสถานที่ก่อน ตัวอย่างเช่น งานดอกไม้ไทย หากเรายกออกนอกบริบทของวัฒนธรรม ก็ถือว่าไม่ได้ งานดอกไม้จำเป็นต้องอยู่ในบริบทวัฒนธรรมของคนไทยเสมอ เช่น พวงมาลัยเอาไว้ให้ เอาไว้เป็นของขวัญ เอาไว้บูชาพระ และเอาไว้ตกแต่งโต๊ะอาหาร เป็นต้น” สกุล กล่าวเสริม

ในอนาคต สกุล ตั้งเป้าให้พิพิธภัณฑ์เป็นเสมือนหนึ่งสถาบัน ซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมดอกไม้ มีเวิร์กชอปสอนจัดดอกไม้ ทั้งยังมีการให้ทุนเพื่อให้นักศึกษาได้ไปทำวิจัยต่อไป
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ (The Museum of Floral Culture) ตั้งอยู่ที่ 315 ซ.องครักษ์ 13 ถ.สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ เปิดให้ชมทุกวัน (เว้นวันจันทร์) เวลา10.00-18.00 น. บัตรราคา 150บาท สอบถาม โทร. 0-2669-3633 แฟกซ์. 0-2669-3632