วิภาส ศรีทอง เจ้าของผลงาน “คนแคระ” ในงานพบปะนักเขียนซีไรต์ประจำปี 2555 สีหน้าอิดโรยอย่างเห็นได้ชัด บอกว่า หลังจากทราบว่าตัวเองได้รับรางวัลก็อดดีใจไม่ได้ “เป็นเรื่องปกติที่ดีใจ สำหรับตัวผมเองไม่มีอะไรเปลี่ยน ไม่มีอัตตาเพิ่มขึ้นมา (หัวเราะ) แต่ไม่ค่อยสงบเท่าไร ก็ดีในแง่ที่หนังสือจะได้ขายดีขึ้นด้วย”
วิภาส เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนิยายเล่มนี้ว่า ถ้าให้พูดถึงมามันเป็นอะไรที่พูดลำบาก มันค่อยๆ ตะล่อมขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อนนามธรรมอะไรสักอย่างจนชัดเจนขึ้นถึงจุดที่ต้องเขียน แต่ถ้าจะหาตาน้ำเริ่มต้น ก่อนจะเป็นต้นธารความคิดในภายหลัง น่าจะเริ่มจากการได้พบคนแคระนิสัยดีท่านหนึ่งในดึกคืนหนึ่งที่แถวบางลำพูเมื่อสัก 6-7 ปีที่แล้ว ที่ตอนแรกตั้งใจทำเป็นหนังสั้น แต่ก็ไม่ได้ทำ สุดท้ายเขาจึงนำคนแคระคนนั้นมาในใส่ในหนังสือ
คนแคระ คือ นวนิยาย ที่วิภาสตั้งใจเขียนให้คนอ่านเข้าถึงแก่นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครก่อน จากนั้นจึงชี้ให้เห็นถึงสภาพสังคมศีลธรรมจรรยาในแต่ละผู้คน
“ผมอยากสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความเหลวแหลกของสังคม คนแคระของผมคือผ้าขาว ความที่เป็นคนแคระ มันดูไม่โหดเกินไป ถ้าจับคนแคระเพราะคนแคระเป็นอะไรที่ไม่ชัด ไม่มีสัญญาลักษณ์ตายตัว ไม่สำเร็จรูปของความเป็นมนุษย์ หนึ่ง เด็กหรือผู้ใหญ่ มองแล้วก้ำกึ่ง ให้ความรู้สึกกระอักกระอ่วน เหมือนคนสองเพศน่ะ เพราะฉะนั้นการมองคนแคระมันจับอะไรไม่ได้หรอก น่ามอง แต่ก็น่ารังเกียจไปพร้อมๆ กัน”
วิภาสใช้เวลากับคนแคระนานกว่า 2 ปี ตั้งแต่เขียนเสร็จในช่วงปีครึ่งและแก้ไขอีกครึ่งปี จนสมบูรณ์ ตีพิมพ์ ก่อนจะคว้ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนปีล่าสุดไปครอง “ผมส่งให้เพื่อนนักเขียนหลายคนอ่าน มีคนบอกต้องแก้เยอะ ให้ไปเขียนใหม่หมดหรือไม่ก็โยนทิ้งไปเลย ผมยอมรับเสียความมั่นใจ แต่ตัดสินใจตัดเรื่องไปเยอะ ตัดไปประมาณเกือบร้อยหน้า ผมก็เสียความมั่นใจนะ”
ในฐานะนักเขียนซีไรต์คนใหม่ วิภาสก็ต้องพบกับชีวิตใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย จากคนที่เงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัวไม่เป็นที่รู้จักของสื่อมวลชนมากนัก ชีวิตที่เคยสบายๆ กลายเป็นคนที่ถูกสังจับจ้อง คิวขอสัมภาษณ์จากสื่อมวลชนทุกแขนงยาวเหยียด รวมถึงการขุดคุ้ยประวัติของเขา
“ผมมองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่แปลกใจ เพราะประวัติน่ะใช่ มีปัญหาจริง แต่ซีไรต์เป็นการประกวดรางวัลหนังสือ เขาตัดสินกันที่หนังสือ ผมมองมันเหมือนรางวัล booker prize เพราะลักษณะอะไรหลายอย่าง เช่นการมีลองลิสต์ ช็อตลิสต์ เข้าใจนะว่าสังคมบ้านเรามีจารีต แต่ก็ดีเพราะจะได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกัน”
ท่ามกลางข่าวดีก็มีข่าวร้ายให้ต้องปวดหัว โดยกระแสสังคมนักอ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรม จากประเด็นข่าวงานเขียนเขาไปคล้ายกับนวนิยายเรื่อง Misery
“ผมไม่เคยอ่าน Misery เคยดูหนังและก็จำพล็อตได้ไม่ชัด แค่ระลึกความรู้สึกได้เพียงว่าหนังสือสนุกมากแต่ตอนนี้ผมอยากอ่านขึ้นมาจริงๆ เท่าที่ไปค้นจากเน็ต ก็ทำให้ทราบพล็อตเรื่อง คือ ถ้าไม่นับเรื่องการลักพาตัว ผมมองไม่เห็นว่ามันจะพ้องตรงไหน นิยายเรื่อง Misery มีลักษณะของความเป็น Genre สยองขวัญชัดเจน ขณะที่ประเด็นคนแคระพูดถึงเสรีภาพ อิสรภาพ นิยายพยายามทะลวงคำตอบพร้อมกับโยนคำถาม ถามถึงความเป็นมนุษย์ให้แก่คนอ่าน แต่ Misery มันแทบไม่แตะอะไรเหล่านี้เลย” วิภาสกล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
เมื่อถามถึงอนาคตและผลงานหลังจากนื้ วิภาส บอกว่า “ที่เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว “หมาหัวคน” ครับ รอตีพิมพ์อยู่ ตอนนี้กำลังวางโครงนิยายอีกเรื่อง คงลงมือได้หลังจากนี้ เป็นนิยายที่ผมสนุกกับตัวละครคล้ายคนแคระ ในส่วนของอนาคตไม่ได้วางแผนอะไรเลยครับ เอาแค่เขียนนิยายเรื่องนี้ให้จบ ทำให้ดีที่สุดไม่พอ ต้องทำให้ดีกว่าหรืออย่างน้อยก็ให้เสมอตัวกับเรื่องที่ทำมาแค่นั้นพอครับ”
หากคุณ คือ หนึ่งในผู้ที่ยังไม่ได้อ่านผลงาน “คนแคระ” เล่มนี้ และอยากรู้ว่าเหตุใด นวนิยายเล่มนี้ถึงฉีกแนวจากนวนิยายเล่มอื่นๆ ที่ส่งเข้าประกวด จนสามารถแตะตากรรมการจนคว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2555 ไปครองได้นั้น ต้องแนะนำให้รีบไปหานวนิยายเล่มนี้มาอ่านโดยเร็วพลัน แล้วคุณจะรู้ว่าเสน่ห์ของเรื่องนี้มีอยู่จริง
Text by : ASTV ผู้จัดการรายวัน: สังคม-สตรี
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net