>>ปัจจุบันมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นมากมายกับมนุษย์เรา ทั้งเกิดขึ้นจากตัวเราเอง หรือโรคที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แล้วมนุษย์เราก็หันไปใช้วิธีการรักษาที่ผิดจากความเป็นจริง วันนี้จึงพาไปไขความลับปัญหาโรคต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยกัน
Q : ทำไมสมัยนี้ถึงนิยมทำดีท็อกซ์ และการใช้สเต็มเซลล์กันมากขึ้น มันได้ผลและน่าเชื่อถือหรือไม่?
A: ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ตอบว่า ปัจจุบันมีการนำวิชาการทางการแพทย์ไปใช้ในทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงโทษและผลกระทบข้างเคียงจำนวนมากที่จะเกิดขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีการอ้างสรรพคุณเกินจริงและหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
อย่างเช่น การทำดีท็อกซ์ลำไส้ใหญ่และตับ ปัจจุบันธุรกิจด้านนี้มีเงินหมุนเวียนในระบบเป็นพันล้านบาท มีศูนย์อยู่ 7,000 แห่งทั่วประเทศ อัตราการเกิดลำไส้ทะลุจากการสวนอุจจาระคือ 4 ใน 1,000 ครั้ง การสวนอุจจาระถูกใช้ในทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้สูงอายุที่ขับถ่ายยากมากๆ เท่านั้น หากทำเพียง 3 ครั้ง ร่างกายจะเกิดความเคยชินไม่สามารถขับถ่ายได้เอง
ส่วนเรื่องการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งในทางทฤษฎีสเต็มเซลล์สามารถเข้าไปช่วยสร้างเส้นเลือดใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันเรายังหาวิธีควบคุมสเต็มเซลล์นั้นให้กลายเป็นหลอดเลือดไม่ได้ ฉะนั้น สเต็มเซลล์สามารถรักษาได้เพียงโรคเลือดเท่านั้น
ด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ในปัจจุบันมีการแอบอ้างสรรพคุณเกินจริง ใช้รักษาโรคได้สารพัด โดยใส่สารอาหารที่องค์กรอาหารและยาไม่ระบุว่าเป็นยารักษาโรค เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และไม่ถูกควบคุมการโฆษณาอีกด้วย
Q : ทำไมโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอัมพฤกษ์อัมพาต ถึงเกิดขึ้นบ่อย!?
A : ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ตอบว่า โรคหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นโรคที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งดังในตอนนี้เพราะว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งปกติคนเราหัวใจจะเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ส่วนการเต้นผิดจังหวะคือหัวใจห้องบนสั่น (เต้นระริก) ไม่บีบเป็นจังหวะ จึงไม่สัมพันธ์กับหัวใจห้องล่าง ทำให้เกิดเลือดที่ผนังหัวใจแล้วเกิดเป็นลิ่มเลือดในที่สุด
โดยปกติลิ่มเลือดที่ผนังหัวใจไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าหลุดผ่านไปหัวใจห้องล่าง แล้วหัวใจห้องล่างบีบขึ้นคอขึ้นศีรษะจะไปอุดเส้นเลือดในสมองทำให้เป็นสโตรก มีอาการสังเกต 4 อย่าง คือ ปากเบี้ยว, พูดไม่ชัด, อ่อนแรง และชาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปัจจุบันมีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ 2 วิธี คือ การให้ยา ซึ่งเป็นวิธีง่ายที่สุด ยาจะช่วยให้เลือดแข็งตัวยาก ไม่กลายเป็นลิ่มเลือด อีกวิธีคือการสอดสายเข้าไปที่หัวใจเพื่อให้จุดที่เป็นปัญหา และรักษาด้วยการปล่อยคลื่นวิทยุ หรือที่เรียกว่า “ขี้ไฟฟ้าหัวใจ”
Q : จะมีวิธีป้องกันโรคอีโบลาอย่างไร?
A : ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี ผู้รั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ตอบว่า ปัจจุบันอีโบลา คือโรคติดต่อร้ายแรงตามพระราชบัญญัติฯ กระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจควบคุมผู้ที่เป็นได้ แต่มาตรการควบคุม 21 วันนั้นค่อนข้างรุนแรง แนะให้คนที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังคอยรายงานสถานการณ์ตนเองเป็นระยะๆ แทน หากยังไม่มีไข้ก็ยังไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น หากเริ่มมีไข้ต้องรีบแจ้งทางการทันที เพื่อรีบทำการรักษา
Q : โรคธาลัสซีเมียเกิดขึ้นได้อย่างไร?
A : ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ตอบว่า คนไทยมียีนธาลัสซีเมียประมาณ 5-10% ซึ่งไม่เป็นอันตรายใดๆ สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ ยกเว้นในกรณีแต่งงานแล้วเกิดเป็นพาหะกันทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย 25% หรือ 1 ใน 4 ตั้งครรภ์ทุกครั้งต้องเช็ก โดยการนำเนื้อเยื่อปากมดลูกมาเช็กยีน ถ้าเกิดเป็นแบบรุนแรง ทางการแพทย์สามารถทำแท้งให้ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องทำเมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์
Q : โรคมะเร็งมีทางที่จะรักษาหายหรือไม่?
A : ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ตอบว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาหายขาดได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งมดลูก, มะเร็งไทรอยด์, มะเร็งเต้านม, มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีโอกาสรักษาหายขาดได้ถึง 90% หากรักษาเร็ว ในอนาคตโรคมะเร็งจะไม่น่ากลัวเหมือนปัจจุบัน เพราะวิทยาการการรักษาก้าวหน้าไปมาก
Fact File
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2526 โดยใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย” ต่อมาในปี พ.ศ.2528 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย”
การริเริ่มก่อตั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นองค์กรอันทรงเกียรติที่เป็นศูนย์รวมอายุรแพทย์สาขาต่างๆ ของประเทศไทย มาจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของเหล่าบูรพคณาจารย์ ที่แต่ละท่านเปรียบเสมือนเสาหลักของการแพทย์ทางด้านอายุรศาสตร์ของประเทศไทย ได้แก่ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ นายแพทย์กมล สินธวานนท์ นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ แพทย์หญิงคุณหญิงศรีจิตรา บุนนาค นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ นายแพทย์วิศิษฎ์ สิตปรีชา นายแพทย์ชาญ สถาปนกุล นายแพทย์รจิต บุรี และแพทย์หญิงคุณสุภา ณ นคร ซึ่งท่านบูรพคณาจารย์เหล่านี้ ถือเป็นคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ วาระเฉพาะกาล
โดยทำหน้าที่พัฒนาอายุรศาสตร์ไทยประกอบด้วยยุทธศาสตร์การดำเนินการด้านการพัฒนาเครือข่ายและบทบาทต่อสังคมโดยรวม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบการประเมินผลและเครือข่ายการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ และการพัฒนากลไกให้เอื้อต่อการธำรงสภาพการประกอบวิชาชีพอายุรแพทย์ :: Text by FLASH