>>ในบรรดาการบริการของ แมนเนเจอร์ แล็ป คลินิกเทคนิคการแพทย์ (Man Nature Lab) ศูนย์ดูแลสุขภาพแนววิถีใหม่ ที่ใช้แนวคิดผสมผสานหลักธรรมชาติบำบัด หรือศาสตร์การแพทย์ทางเลือก กับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการวิจัยผลพิสูจน์รองรับ โดยใช้การตรวจเลือดเพื่อหาถึงสาเหตุของอาการเจ็บป่วยและแนวโน้มของการเกิดโรคในอนาคต ซึ่งมีทั้งการตรวจภูมิแพ้อาหาร, การตรวจหาโลหะหนัก และการถอดรหัสพันธุกรรม การตรวจที่ดูจะได้รับความสนใจมากที่สุด ต้องยกให้กับการตรวจการถอดรหัสพันธุกรรม ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักหรือเข้าใจอย่างถ่องแท้นัก วันนี้ Celeb Online จึงจะพาคุณไปทำความเข้าใจการตรวจอันแสนล้ำสมัยนี้กันให้ดียิ่งขึ้น
นวัตกรรมการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อการตรวจหาโรคนี้ มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ไม่มากนัก เนื่องด้วยเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่ โดยมีสถานที่บริการรับตรวจการถอดรหัสพันธุกรรมเพียงไม่กี่แห่งในโลก โดยทาง แมนเนเจอร์ แล็ป คลินิกเทคนิคการแพทย์ ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยได้มือหนึ่งทางด้านการถอดรหัสพันธุกรรมของประเทศไทยอย่าง “รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร” นักวิทยาศาสตร์สาขาชีวเคมีระดับโลก ซึ่งเป็นผู้ที่เปิดบริการแล็บการถอดรหัสพันธุกรรมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ดูแลควบคุมการดำเนินงาน
การตรวจการถอดรหัสพันธุกรรม เป็นการตรวจจากโลหิตซึ่งจะใช้ส่วนของพลาสมาอาร์เอ็นเอ และพลาสมาดีเอ็นเอ นำมาวิเคราะห์เพื่อหาการกลายพันธุ์ของยีนอันเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ซึ่งเพียงแค่การตรวจสอบจากเลือดจะสามารถตรวจพบได้สารพัดโรค แต่ที่แมนเนเจอร์ แล็ป คลินิกเทคนิคการแพทย์ จะเน้นที่การตรวจหาโรคมะเร็งอันเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งของสุขภาพคนไทย
“การสังเกตรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งต่างๆ ว่ามีจุดไหนที่เกิดการกลายพันธุ์หรือเสียหาย จะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกได้ว่าเจ้าของรหัส DNA นั้นเป็นโรคมะเร็งหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งอะไรบ้าง สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นก็จะได้หาวิธีการป้องกัน ปรับเปลี่ยนวิถีดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ที่สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งแล้ว การตรวจนี้จะช่วยให้ข้อมูลได้ว่า ควรจะรับการรักษาด้วยวิธีไหน ว่าจะใช้ยา ใช้คีโม ฉายแสงหรือเลือกการแพทย์ทางเลือก อย่างธรรมชาติบำบัด ว่าสิ่งใดจะเหมาะสมกับสภาวะโรคและร่างกายคุณที่สุด” อาจารย์คล้ายอัปสร กล่าวให้เราเข้าใจถึงความจำเป็นในการถอดรหัส DNA
โดยอาจารย์คล้ายอัปสรก้าวเข้าสู่โลกแห่งการถอดรหัสพันธุกรรม เนื่องจากเธอสนใจในเรื่องพันธุศาสตร์ และชีวเคมี ซึ่งเธอจบการศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกทางชีวเคมีโดยตรง
“การถอดรหัสพันธุกรรมต้องอาศัยความเข้าใจในด้านชีวเคมีเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ประกอบกับการวิจัยด้านนี้ยังไม่ค่อยมีคนทำ และเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เราจึงเลือกศึกษาทางด้านนี้ โดยตอนแรกเริ่มจากการถอดรหัสยีนเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจากผลการวิจัยนั้นทำให้ได้รับรางวัลพร้อมทั้งได้จดสิทธิบัตรผลงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน”
จากความสำเร็จตรงจุดนั้น ทำให้อาจารย์คล้ายอัปสร ซึ่งปกติทำงานแต่ด้านการวิจัย ทำแล็บการทดลอง เริ่มเล็งเห็นว่าควรจะนำเอาผลงานวิจัยออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์
“ทำงานด้านแล็บ สอนพวกนักศึกษา และก็เขียนผลงานวิจัยตีพิมพ์มาเยอะ รู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์ได้แค่ด้านทฤษฏี เพราะถึงแม้เราจะเข้าแล็บจริง ลงมือทำจริง ถอดรหัสได้ผลออกมาจริงๆ แต่สุดท้ายมันก็ไปอยู่ในหนังสือ อยู่ในวิทยานิพนธ์ แล้วก็เอาไปเก็บใส่ตู้ เอาไว้บนหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เลยเกิดแนวคิด “จากหิ้งสู่ห้าง” คือเอางานวิจัยพวกนั้นมาทำประโยชน์ ทำเป็นการบริการรักษาโรคจริงๆ จึงเกิดไอเดียในการทำแล็บตรวจคนไข้ขึ้น ซึ่งถือเป็นแล็บถอดรหัสพันธุกรรมแห่งแรกในอาเซียนก็ว่าได้”
โดยในช่วงแรกนั้นเป็นการทำแล็บร่วมทุนกับบริษัทของมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความเห็นที่แตกต่าง “ถ้าเราทำในเชิงพาณิชย์มาก นวัตกรรมมันจะต่อยอดไม่ได้ และก็ไม่อยากทำแบบนั้น แต่ในเชิงของการเป็นบริษัท มันจำเป็นต้องเน้นเชิงพาณิชย์เพื่อความอยู่รอด ทำให้ตัดสินใจแยกตัวออกมาทำเอง โดยช่วงนั้นก็รับตรวจเป็นรายเคสพร้อมๆ กับเดินทางบรรยายเกี่ยวกับการตรวจ DNA เพื่อแนะนำให้คนรู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพราะในตอนนั้นเรื่องนี้นับเป็นสิ่งใหม่มาก คุณหมอด้วยกันเองบางคนก็ยังไม่รู้จัก”
แต่ด้วยความที่คนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยกลัวเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงไม่ค่อยมีใครสนใจในเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรมนี้มากนัก “จนมีคุณหมอที่รู้จักก็แนะนำว่าให้ทำด้านมะเร็งสิ คนน่าจะสนใจกว่า เราก็เลยปรับมาเป็นการตรวจหามะเร็งแทน ก็มีคนให้ความสนใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะในตอนนั้นใช้วิธีการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมจากการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งยุ่งยาก และเป็นการส่งต่อเคสจากคุณหมอท่านอื่นที่พบว่าคนไข้เป็นมะเร็ง แล้วจึงมาตรวจที่เราต่อ เป็นการตรวจยีนเลือกยา เพื่อให้ได้การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดกับคนไข้ ซึ่งมีคุณหมอรู้จักการตรวจนี้ไม่มากนัก”
และจุดเปลี่ยนสำคัญก็เริ่มขึ้น เมื่อราวต้นปีพุทธศักราช 2552 “มีเพื่อนที่เป็นหมอเขาส่งเคสคนไข้รายหนึ่งมาให้ คือ เขาเคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ขั้นที่ 4 แล้วก็ได้มีการรักษาด้วยการตัดลำไส้ไป แล้วก็ทำการรักษาด้วยการใช้ยาต่อเนื่องมา เขาอยากทราบว่ายาที่ใช้มันแก้ปัญหาถูกจุดไหม รักษาได้หรือเปล่า จึงอยากเข้ามาตรวจกับเรา แต่เนื่องจากว่าเขาไม่มีชิ้นเนื้อเพราะยังไม่สามารถขอตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลที่รักษาได้ จึงใช้วิธีการตรวจหาด้วยการตรวจเลือดแทน
ในตอนนั้นก็ไม่อยากรับเนื่องจากว่า แล็บเรายังไม่เคยตรวจด้วยวิธีการตรวจเลือดมาก่อน ก็ลองทำตามทฤษฎี ตามบทความวิจัยที่มีการตีพิมพ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แถมไม่รู้ด้วยว่าผลออกมาจะแม่นยำแค่ไหน แต่ทางลูกค้าเขามีทุนทรัพย์พร้อมจ่ายและขอลองเสี่ยง ตอนนั้นถอดรหัสจากเลือดจำนวน 20 ซีซี ซึ่งก็ได้ผลออกมาว่าพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งจะรักษาด้วยการฉายแสง และการใช้ยาเคมีบางกลุ่มไม่ได้ผล”
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่อาจารย์คล้ายอัปสรหันมาทำการถอดรหัสพันธุกรรมจากเลือด “เพราะเมื่อภายหลัง คนไข้สามารถขอชิ้นเนื้อมาได้สำเร็จ ทีมงานเราก็ทำการถอดรหัสพันธุกรรมด้วยชิ้นเนื้ออีกครั้ง และผลที่ได้รับก็ไม่แตกต่างจากผลการถอดรหัสพันธุกรรมด้วยเลือดที่ได้มาก่อนหน้าแต่อย่างใด”
หลังจากนั้นอาจารย์คล้ายอัปสรก็เริ่มพัฒนาการตรวจรหัสพันธุกรรมให้ละเอียดขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ตรวจหาแนวโน้มของการเกิดโรคในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคได้ด้วย “ตัดสินใจปรับการตรวจให้ละเอียดมากขึ้น ด้วยการปรับความไวของระบบ คือถึงมีเซลล์ผิดปกติน้อยมากเพียงแค่ 1 เซลล์จากใน 100,000 เซลล์ ก็ยังสามารถตรวจพบได้ ทำให้สามารถนำมาใช้ตรวจในผู้ที่ยังไม่เป็นโรค แต่มีแนวโน้มในการเกิดโรคเพื่อทำการป้องกันล่วงหน้าได้…
ตอนนั้นก็ตื่นเต้นกันมาก เพราะเราได้เห็นถึงการกลายพันธุ์จริงๆ ตั้งแต่ตอนยังไม่เป็นโรค ไม่แสดงอาการ แต่ใช้วิธีการสังเกตทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการใช้วิธีการเปรียบเทียบด้วย DNA ของเม็ดเลือดขาว และ DNA ของบุคคลอื่นๆ ที่มีวัยและคุณสมบัติใกล้เคียงกันเป็นตัวเปรียบเทียบหาการกลายพันธุ์ พร้อมทั้งเทียบกับฐานข้อมูลกลางของ องค์กรถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ เพื่อจะได้เห็นว่ามันผิดไปจากปกติตรงไหนบ้าง จะส่งผลต่อการเกิดโรคใดได้บ้าง”
จากเทคนิคการตรวจใหม่นี้ที่สามารถใช้ตรวจในกรณีของผู้ที่ยังไม่ได้เป็นมะเร็งได้ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นในแวดวงสุขภาพมาก มีผู้สนใจเข้าใช้บริการมากขึ้น และยิ่งเมื่ออาจารย์คล้ายอัปสรได้ร่วมงานกับ “อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” เปิดแมนเนเจอร์ แล็ป คลินิกเทคนิคการแพทย์ ยิ่งเปิดกว้างเรื่องราวของการถอดรหัสพันธุกรรมสู่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น
“ทุกวันนี้มีคนเข้ารับบริการเดือนละหลายสิบราย คนให้ความสนใจกันมาก ติดต่อเข้ามาเยอะ จนตอนนี้ต้องจองคิวกันนับเดือน เนื่องจากแล็บของเราในแต่ละเคสให้เวลาค่อนข้างนาน และบุคลากรเราไม่ได้มีเยอะมาก หาผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้และพร้อมจะอึดสู้งานหนักได้น้อยราย เพราะวิธีการตรวจของเราแตกต่างจากแล็บตรวจเลือดหรือตัวรหัสพันธุกรรมอื่นๆ ที่มักจะใช้แบบตรวจสำเร็จรูป ซึ่งไม่สามารถตรวจแบบถอดรหัสอย่างเราได้
การตรวจของเรา ใช้ระบบเดียวกับแล็บวิจัยในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอก เป็นงานวิจัยชั้นสูง มีความละเอียดมาก ซึ่งต้องทำการออกแบบการตรวจขึ้นมาใหม่เฉพาะในแต่ละเคส เนื่องจากพันธุกรรมของคนเราไม่เหมือนกัน การตรวจในแต่ละคนจึงต้องการการออกแบบที่แตกต่างกันออกไป การแปรผล การอ่านผลก็ต่างกัน ดังนั้นจะต้องใช้ความละเอียดและเวลาค่อนข้างนานในแต่ละราย ที่สำคัญเราจะทำการตรวจซ้ำหลายรอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ผลที่แม่นยำที่สุด
นี่คือเรื่องสำคัญ เพราะมันไม่เหมือนการทดลองงานวิจัยวิชาการทั่วไป นี่คือชีวิตคน ผลการตรวจของเรา จะส่งผลต่อการตัดสินอนาคตได้เลยนะ เป็นแผนที่ชีวิตในการดูแลสุขภาพต่อไป มันเป็นความรับผิดชอบที่สูงมาก ทุกอย่างต้องถูกต้องที่สุด”
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งแล้ว การตรวจวิธีนี้จะช่วยหาหนทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ดูว่าเหมาะกับยาตัวไหน หรือการฉายแสง การทำคีโมจะช่วยรักษาได้หรือไม่ และในส่วนของผู้ที่ยังไม่ป่วยก็สามารถบอกได้ว่าจะมีแนวโน้มในการเป็นที่จุดไหน และมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด แต่นั่นไม่ใช่ประโยชน์เพียงอย่างเดียวของการถอดรหัสพันธุกรรม เพราะการตรวจวิธีนี้ยังสามารถปรับใช้ตรวจหาได้อีกสารพัดโรค ด้วยการดีไซน์วิธีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป
ที่สำคัญยังสามารถทำการตรวจที่ละเอียดขึ้น โดยการตรวจหายีนที่แฝงมากับกรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาในตระกูล ซึ่งการตรวจนี้ต้องใช้ความละเอียดและยุ่งยากมากขึ้นไปอีกหลายเท่า แต่ผลการตรวจสามารถบ่งบอกล่วงหน้าได้แม้จะยังไม่เจอยีนที่กลายพันธุ์โดยตรง เป็นการป้องกันการเกิดโรคล่วงหน้า เหมือนอย่างในกรณีของ แองเจลิน่า โจลี่ ที่เคยทำการป้องกันโรคด้วยการผ่าตัดเต้านมเนื่องจากตรวจพบเซลล์ต้นตอการก่อเกิดมะเร็งเต้านม ที่เป็นข่าวดังไปเมื่อปีกลาย ก็มาจากการตรวจถอดรหัสหายีนกรรมพันธุ์นี่เอง
:: TP53 กุญแจสำคัญของรหัสพันธุกรรม
ในร่างกายของคนเราจะมียีนสำคัญที่ชื่อว่า TP53 ซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรมที่ทำหน้าที่คล้ายกับวิศวกร คือเมื่อไหร่ที่พันธุกรรมของเรามีการกลายพันธุ์ เจ้าตัว TP53 จะทำหน้าที่ซ่อมแซมให้เป็นปกติ หรือถ้าไม่สามารถซ่อมให้กลับมาเป็นปกติได้ TP53 จะกำจัดพันธุกรรมนั้นทิ้ง แล้วทำการสร้างใหม่ขึ้นมาทดแทน TP53 จึงเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกายเรา
ดังนั้น ถ้า TP53 เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติไม่สามารถทำหน้าที่ได้ การจะซ่อมแซมหรือดูแลพันธุกรรมจึงจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นสำหรับคนที่เป็นมะเร็ง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตรวจหาให้พบว่าเจ้า TP53 นี้ทำงานได้อย่างเป็นปกติหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจรักษา
อย่างในกรณีที่ถ้าผู้ป่วยตัดสินใจรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด ถ้า TP53 ของผู้ป่วยไม่ปกติ การเลือกวิธีนี้จะยิ่งไปทำให้อาการมะเร็งร้ายแรงขึ้น เนื่องจากหลักการทำเคมีบำบัด คือการไปเร่งให้รหัสพันธุกรรมกลายพันธุ์เสียหายมากยิ่งขึ้น เพื่อทำการกระตุ้นให้ TP53 ได้เข้าไปทำหน้าที่ กำจัดเซลล์นั้นทิ้งและสร้างเซลล์ใหม่ เมื่อผู้ป่วยที่ TP53 ไม่ปกติก็เสมือนว่าไปเร่งเติมอาการให้ทรุดลงโดยไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ป่วยรายนี้ก็ควรจะเลือกใช้วิธีการรักษาด้วยแนวทางอื่นแทนจึงจะเห็นผล
การถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อให้เข้าใจร่างกายของคุณให้มากยิ่งขึ้น จึงเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยให้คุณดูแลสุขภาพและรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
:: ธรรมชาติบำบัดคือทางออก
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการตรวจด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมนี้ คือหลักจริยธรรม ที่เมื่อตรวจแล้วต้องช่วยหาทางออกให้เขาได้ คือเมื่อรู้ผลแล้วต้องแนะนำต่อได้ ว่าควรจะดูแล ป้องกัน หรือรักษาตัวอย่างไร ไม่ใช่ตรวจรู้ผลแล้วไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น กลายเป็นเครียดล่วงหน้าไปเปล่าๆ ดังนั้น ธรรมชาติบำบัดจึงนับเป็นส่วนสำคัญของการตรวจถอดรหัสพันธุกรรม
“ในการตรวจผู้ที่ยังไม่ได้เป็นโรค เมื่อพบความเสี่ยงของการเกิดโรค การหาทางออกด้วยวิถีทางการแพทย์สมัยใหม่ไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่ได้เป็นโรค ยังไม่มีอาการหรือความเจ็บป่วยใดๆ ให้รักษา จะไปทำเคมี ฉายรังสี หรือทานยาก็ไม่ได้ การใช้แพทย์ทางเลือกหรือธรรมชาติบำบัดนับเป็นทางออกเดียว ที่จะช่วยป้องกันโรคได้…
ก่อนหน้านี้พี่ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องธรรมชาติบำบัดสักเท่าไร สนใจแต่ในเรื่องงานแพทย์สมัยใหม่ จนเมื่อช่วงที่เริ่มปรับมาทำการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมด้วยโลหิตใหม่ เจอเคสผู้ป่วยที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวแทบทุกรายเป็นโรคมะเร็งลำไส้เสียชีวิต และผลตรวจของตัวเขาเองก็พบว่ามีการกลายพันธุ์ของ DNA ที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้สูงมาก ได้ดูแลตัวเองด้วยวิถีธรรมชาติบำบัดอย่างจริงจัง ด้วยเวลาเพียง 6 เดือน เมื่อกลับมาตรวจอีกครั้งกลับพบว่าการกลายพันธุ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด”
นั่นเป็นจุดที่ทำให้อาจารย์คล้ายอัปสรหันมาสนใจเรื่องธรรมชาติบำบัดอย่างจริงจัง และเมื่อเธอได้ค้นคว้าข้อมูลก็ทำให้พบว่า ธรรมชาติบำบัดมีบทความ งานวิจัยและผลการทดลองมากมายรองรับอยู่ เพียงแต่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ
“พอทำการศึกษาอย่างจริงจังแล้ว รู้ว่าธรรมชาติบำบัดเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก อย่างเรื่องอาหารต่างๆ พืชพรรณเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างทางเคมีซ่อนอยู่อย่างมหาศาล และพวกนี้ก็คือยาตามธรรมชาติดีๆ นี่เอง ซึ่งถ้าเรารู้จักรับประทานอย่างถูกต้อง และมันเข้าไปจับคู่กับเอนไซม์ต่างๆ ได้ถูกจุด จะช่วยส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว”
ใครที่อยากเรียนรู้ร่างกายของตนเองให้ดีขึ้น เพื่อเริ่มต้นการรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แมนเนเจอร์ แล็ป คลินิกเทคนิคการแพท์ ที่ตั้ง 102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 หรือโทรศัพท์ 09-6065-3684-5 :: Text by FLASH