ART EYE VIEW—“ณัฐเดินทางมาแล้วหลายประเทศ จะว่าไปได้ถ่ายภาพบ้านเกิดเมืองนอนตัวเองน้อยมาก ถ้าไม่ได้เดินทาง ไม่ได้ไปไหน เราก็จะถ่ายแค่ภาพธรรมชาติที่เรารู้สึกชอบ ภาพต้นไม้ ภาพแสงสวยๆ แต่หลังจากที่พระองค์ท่านสวรรคต เรารู้สึกว่าการที่คุณมีทักษะในการถ่ายภาพ คุณน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้นสิ มากกว่าที่เราเคยทำ
เราเคยเห็นเหตุการณ์สูญเสียหลายๆเหตุการณ์ ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้ทำอะไรได้มากไปกว่า การรวบรวมเงินบริจาค ณัฐเคยรับรู้มาด้วยว่าการถ่ายภาพของพระองค์ท่านไม่ได้เป็นไปแค่ความสนุกสนาน จึงบอกตัวเองว่าการถ่ายภาพของเรามันต้องเป็นประโยชน์ได้มากกว่านั้นสิ ก็เลยออกไปถ่ายภาพ ไปในที่ที่ช่างภาพเขาไปกัน”
ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559
ณัฐสุดา จันทระ จึงเป็นหนึ่งในจำนวนช่างภาพหลายๆคนที่ไม่รีรอที่จะไปปักหลักบันทึกภาพอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช
หนึ่งในจำนวนภาพที่เธอเลือกบันทึกไว้ในวันนั้น คือภาพที่ผู้คนต่างอยู่ในภาวะเศร้าโศก เงยหน้าซึ่งเปื้อนน้ำตา มองขึ้นไปบนตึกของโรงพยาบาล คล้ายยังไม่ยอมรับความจริง รอให้เกิดปาฏิหาริย์ และอยากให้พระราชาของพวกตนได้รับรู้ว่า ประชาชนของพระองค์ยังรอรับเสด็จฯอยู่ข้างล่างนี้
ต่อจากนั้น วันที่ 14 ตุลาคม 2559 วันที่มีพระราชพิธีเคลื่อนพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราช อัญเชิญมายังพระบรมมหาราชวัง แม้จะไม่สามารถแทรกตัวไปอยู่ใกล้จุดที่ขบวนรถอัญเชิญพระบรมศพเคลื่อนผ่าน แต่เธอก็ไม่พลาดที่จะไปรอบันทึกภาพบรรยากาศเหตุการณ์ในวันนั้น บนถนนราชดำเนิน โดยเฉพาะภาพของผู้คนจำนวนมากที่มารอส่งเสด็จฯ
“สิ่งที่ได้สัมผัสคือ ถนนราชดำเนินเงียบมาก แม้แต่เสียงลั่นชัตเตอร์ยังได้ยิน พอขบวนรถอัญเชิญพระบรมศพเคลื่อนผ่าน อารมณ์ของผู้คนนิ่งสงบเหมือนมารอรับเสด็จฯ ไม่ใช่มาส่งเสด็จฯ ทุกคนมองไปยังขบวนรถ โดยไม่ทราบว่าพระบรมศพของพระองค์ท่านจะมารถคันไหนด้วยซ้ำ แต่พอเห็นรถคันแรกมาแล้วทุกคนก็รู้สึกว่าใช่ เป็นบรรยากาศที่ณัฐไม่ได้เห็นมานานมาก ที่ถนนราชดำเนินมีความนิ่งเงียบ”
กระทั่ง วันที่ 22 ตุลาคม 2559 วันที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึก เพราะเป็นวันที่ประชาชนชาวไทยหลายแสนคน เดินทางมารวมตัวกันเพื่อร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ณ ท้องสนามหลวง
นอกจากพยายามเตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้มากที่สุด ช่างภาพหญิงเช่นเธอยังต้องปีนป่ายขึ้นไปยังตู้ไฟของทีมถ่ายทำภาพยนตร์ของท่านมุ้ย เพื่อจะให้ได้ภาพอย่างที่ตัวเองต้องการ ภาพในมุมองมองแบบพาโนรามา ซึ่งมีฉากหน้าเป็นประชาชนจำนวนมากกำลังชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช และมีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง เพราะเธอต้องการให้ภาพถ่ายของตัวเองภาพนี้สอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ว่า
….ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือ คนไทย ทั้งปวง…
“นอกจากนี้ณัฐยังนึกไปถึงประโยค …ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน...ที่ประชาชนคนหนึ่งเคยตะโกนบอกในอดีต ตอนที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และประโยคของพระองค์ท่านที่ว่า …..ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร…..ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันที่พระองค์ท่านสวรรคต พระองค์ท่านก็ไม่เคยทิ้งประชาชน และประชาชนก็ยังไม่ทิ้งพระองค์ท่าน มารวมตัวกันร้องเพลงเพื่อบอกรักพระองค์ท่าน”
ณัฐสุดาไม่ใช่ช่างภาพสังกัดหน่วยงานใด แต่เป็นคนไทยรักในหลวงคนหนึ่งที่อยากจะบันทึกเหตุสำคัญเก็บไว้ เป็นอดีตคนทำงานโฆษณา,คนทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน และนักเดินทาง ที่รักการถ่ายภาพ
เมื่อปี 2558 เธอเคยส่งภาพถ่ายเข้าประกวด ได้รับรางวัล “ภาพถ่ายแห่งดิน” รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในระยะหลัง เป็นหนึ่งในจำนวนช่างภาพที่ร่วมทำกิจกรรมในหลายๆโครงการของกลุ่ม สห+ภาพ โดยการชักชวนของ เกรียงไกร ไวยกิจ ช่างภาพรุ่นใหญ่ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม
จากตอนแรกที่ไม่ได้คาดหวังว่าภาพถ่ายของตัวเองซึ่งบันทึกเหตุการณ์หลังการสวรรคต จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ผ่านกิจกรรมใด ในความเป็นจริงกลับถูกนำไปใช้ในหลายๆกิจกรรม ได้แก่ เป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายชุดแรกที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ “ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ,เป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายที่ร่วมแสดงในนิทรรศการ “ในหลวง ในดวงใจ ไทยนิรันดร์” ภายในงาน Photo Fair 2016 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และขณะนี้ภาพถ่ายส่วนหนึ่งย้ายมาจัดแสดงให้ชม ณ ห้องศิลป์ สห+ภาพ ถ.พระสุเมรุ และส่วนหนึ่งกำลังจะนำไปจัดแสดงที่ Sony Store สาขาสยามพารากอน
รวมถึงการที่เธอถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในทีมช่างภาพ นำทีมโดย วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพถ่าย) บันทึกภาพเพื่อเก็บเข้าหอจดหมายเหตุ
“ช่างภาพทุกคนจะต้องส่งภาพให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นระยะ จนกว่าถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยช่างภาพทุกคนสามารถเก็บภาพได้อย่างอิสระ แล้วทยอยส่งเข้าไป เวลานี้ณัฐเพิ่งส่งไปไม่กี่ภาพ”
นอกจากนี้ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์หลังการสวรรคต ยังจะถูกตีพิมพ์ไว้ใน “ปฐมบทแห่ง สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล” หนังสือรวมภาพถ่ายที่ฉายอัตลักษณ์แห่งสยามผ่านทัศนศิลป์แห่งภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็น งานศิลปกรรม การแสดง สถาปัตยกรรม ความเชื่อ ฝีมือเชิงช่าง วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ที่ยังคงสืบทอดรวมถึงงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นฐานรากอันแข็งแกร่ง แต่แรก “สยาม” สู่ “ไทย” ในปัจจุบัน และส่งผ่านต่ออนาคต
หนังสือพิมพ์ 2 ภาษาในเล่มเดียวกัน ปกแข็งขนาด 28×28 ซม. ความหนา 276 หน้า ตีพิมพ์ผลงานภาพถ่ายของช่างภาพไทย 7 คน และณัฐสุดาเป็นหนึ่งในจำนวนนี้ โดยช่างภาพอีก 6 ท่าน ได้แก่ เกรียงไกร ไวยกิจ,อัครินทร์ อัศววารินทร์,ชฎาธาร ฉายปุริยานนท์,กัมพล คุ้มวงษ์,ชัชวาล ดาจันทร์ และพญ.วรรธนี อภิวัฒนเสวี
“แรงบันดาลใจในการทำหนังสือรวมภาพถ่ายเล่มนี้ เริ่มมาจากการได้อ่านโพสต์นึงของ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา ประมาณว่า…. คุณรู้ไหมว่า ครั้งหนึ่ง 1 บาทของเรา มันเกือบจะเท่า 1 ปอนด์สเตอร์ลิง (มาตราเงินของอังกฤษ) เลยนะ… ณัฐอ่านแล้วรู้สึกขนลุกอะ เฮ้ย…การที่ค่าเงินมันขนาดนั้น มันสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ทางสังคมหลายๆอย่าง เราก็เลยอยากจะทำอะไรที่พูดถึงความเกรียงไกรของประเทศไทย ของสยามประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็เลยปรึกษากับพี่เกรียง(ไกร)และช่างภาพอีกคนว่า เรามีไอเดียแบบนี้นะ และแทนที่ภาพถ่ายของเราจะนำเสนอแค่เรื่องของศิลปวัฒนธรรมที่ทุกคนรู้จัก ทำไมเราไม่เล่าถึง ผืนแผ่นดินที่เก่าแก่ของเราตั้งแต่ก่อนห้วงกาลเลย ตั้งแต่แผ่นดินยกตัวเก่าแก่มากี่พันปี มีอารยธรรมหลากสมัย
คือเราจะไม่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ เพราะเรารู้ว่าข้อมูลประวัติศาสตร์มีการถกเถียงเยอะ ไม่จบสิ้น เราอยากบอกให้รู้ว่า ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้ค้นคว้าต่อ หรือจะถักทอเป็นอะไรต่อก็แล้วแต่”
รวมถึงภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์หลังการสวรรคต ที่ถูกตีพิมพ์ไว้ในหนังสือนอกจากความภาคภูมิในพระราชาของตน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยจำนวนไม่น้อย ได้หยุดคิดว่า จะทำอย่างไรให้การประกอบหน้าที่การงานและการดำเนินชีวิตของตนนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป มีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติไปในทิศทางที่ดีงาม
แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆแต่เมื่อหลอมรวมกันเข้า จะกลายเป็น “พลังแผ่นดิน” แทนพระราชาผู้ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์
“การเสด็จสวรรคตของพระองค์ท่าน มันเป็นจุดที่ทำให้ทุกคนได้หันกลับมามองตัวเองว่า คุณทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน มีช่วงนึงหลายคนเรียกร้องผ่าน Facebook ว่าให้ทำพิพิธภัณฑ์ของพระองค์ท่าน แต่จากที่ณัฐได้เดินทางไปในหลายๆที่ทั่วประเทศ รวมถึงที่ที่พระองค์ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนินไป และมีโครงการของพระองค์ท่านตั้งอยู่
ทำให้ณัฐรู้สึกว่า พิพิธภัณฑ์ของพระองค์ท่านคือที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันไม่มีที่ไหนที่จะบรรจุเรื่องราวของพระองค์ท่านได้ดีที่สุดเท่ากับทุกที่บนผืนแผ่นดินไทยที่พระองค์ท่านเคยเสด็จพระราชดำเนินไป พิพิธภัณฑ์ของพระองค์ท่านมันมีอยู่แล้ว เราแค่ต้องไปให้ถึง แล้วไม่ใช่แค่ไปเพื่อทำในสิ่งที่คุณเคยทำ แต่ไปให้รู้จักที่ตรงนั้น”
หมายเหตุ:จะมีงานเปิดตัวหนังสือรวมภาพถ่าย “ปฐมบทแห่ง สยาม-ไทย ณ ห้วงกาล” และเปิดนิทรรศการ “ในหลวง ในดวงใจ ไทยนิรันดร์” ในวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องศิลป์ สห + ภาพ ถ.พระสุเมรุ
รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews