Celeb Online

นิทรรศการภาพถ่ายตามรอยเสด็จ ร.5 โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน


เพราะความหลงใหลในประวัติศาสตร์ การเดินทาง และการถ่ายภาพ ทำให้ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ตัดสินใจออกเดินทางตามรอยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์เมื่อปี พ.ศ. 2450 แม้การเดินทางจะห่างกันเกินกว่าศตวรรษ หากแต่ภูมิทัศน์ดินแดนไวกิ้งอันแสนงาม ลึกลับและทรงพลัง ยังคงเป็นประจักษ์พยานให้มนุษย์ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ยืนหยัดข้ามกาลเวลา จึงเป็นที่มาของนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ที่จัดแสดงขึ้น ณ ศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) ย่านเจริญกรุง ในระหว่างวันที่ 1-9 ก.พ. 63 ซึ่งถือป็นหนึ่งในไฮไลต์ สำคัญของงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 หรือ Bangkok Design Week 2020”


จากความชอบในการถ่ายภาพและการเดินทางเป็นงานอดิเรก อีกทั้งยังให้ความสนใจในด้านประวัติศาสตร์ของไทย โดยเชื่อว่า การเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรนอร์เวย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้าหลวงในครั้งนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ จึงได้ศึกษาค้นคว้าพระราชหัตถเลขา ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดาองค์ที่ 3 ที่ทรงเป็นราชเลขานุการิณีในสมเด็จพระราชบิดา


ในพระราชหัตถเลขาได้เล่าถึงเรื่องราวเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยเสด็จเยือนประเทศนอร์เวย์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการเล่าทำนองการบันทึกประจำวัน มีทั้งความรู้และเรื่องราวต่างๆ รวมถึงการเสนอแนวพระราชดำริ และพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ต่อเหตุการณ์มากมาย รวมทั้งสำรวจตรวจสอบภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนออกเดินทางตามเส้นทางธรรมชาติ ชมภูมิทัศน์ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงร้อยเรียงเรื่องราวผ่านพระอักษร และภาพทรงถ่ายไว้อย่างดีวิเศษยิ่ง


ร่วมค้นหาร่องรอยแห่งกาลเวลาที่อาจยังถูกพิทักษ์รักษาในอ้อมกอดของธรรมชาติภายในนิทรรศการ Hundred Years Between ซึ่งเป็น “ครั้งแรก” ที่สาธารณชนจะได้เข้าชมงานนิทรรศการภาพถ่าย ณ อาคารหลังประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครอย่าง “ศุลกสถาน” ที่ตัวอาคารถูกออกแบบเป็นศิลปโรมันคลาสสิกผสมผสานระหว่างนีโอคลาสสิกกับปัลลาดีโอ ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ริมแม่น้ำเจ้าพระยามานานกว่า 136 ปี ถือเป็นอาคารเก่าแก่ซึ่งอยู่คู่กับย่านเจริญกรุง และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในอดีต ปัจจุบันอาคารแห่งนี้อยู่ระหว่างการบูรณะ คาดว่าจะใช้เวลาถึง 6 ปี และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเฉพาะช่วงการจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 นี้เท่านั้น