Celeb Online

2 ศิลปินแห่งชาติ จับคู่แสดงผลงานศิลป์ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


สองเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยศิลปากร อ.นนทิวรรธน์ จันทะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 2549 และ ศ.เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพพิมพ์และสื่อผสม) ปี 2551 ร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส 82 พรรษา ด้วยการจับคู่แสดงผลงานศิลปะ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า และจะมีงานเปิดนิทรรศการในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ.2553 เวลา 18.00 น.ที่จะถึงนี้

ผลงานของ อ.นนทิวรรธน์ ที่จะนำมาจัดแสดงเป็นผลงานประติมากรรม ภายใต้แนวคิด “ไกลจากทุคติ” จำนวน 9 ผลงาน มีความหมายว่า “ห่างจากความหม่นหมอง ความเศร้า ความโลภ ความโกรธและความหลง”

อาทิ ผลงานชื่อ “ปิติสุข” สร้างสรรค์ขึ้นในปีนี้ พ.ศ.2552 เทคนิคปูนปลาสเตอร์ ขนาดความ สูง 50 ซ.ม. ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกที่ได้รับในยามที่ไหว้พระ เมื่อนึกถึง พระพุทธเจ้าทำให้เรารู้สึกเป็นสุข

ผลงานชื่อ “พืชพันธุ์แห่งความเจริญงอกงาม” เทคนิคปูนปลาสเตอร์ ความสูง 15 ซ.ม. สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงความเจริญงอกงาม ของความรู้สึกเป็นสุข

ผลงานชื่อ “ฤดูแห่งความผลิบาน” เทคนิคปูนปลาสเตอร์ทาสีทอง ความสูง 25 ซ.ม. แรงบันดาลใจเกิดจากการที่จิตใจเป็นสุข ยามอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

ขณะที่ผลงานของ ศ.เดชา เป็นผลงานสื่อผสม ภายใต้แนวคิด “ไกลความจริง” จำนวน 82 ผลงาน

อาทิ ผลงานชื่อ “กรุงเทพ” ศ.เดชาได้บรรยายถึงแนวคิดการสร้างผลงานชิ้นนี้ว่าด้านบนที่เป็นสีเข้มหมายถึงท้องฟ้า มองเหมือนมีดาว มีพลุแตกกระจาย เหมือนการเฉลิมฉลองวันที่เป็นมงคล ส่วนที่เป็นโลหะ หมายถึง วัตถุที่แสดงความเหมายของการเป็นเมือง “กรุงเทพ” ที่มีความเจริญผสมผสานระหว่างวัตถุกับจิตใจ

ผลงานชื่อ “ชีวิตในวงกลม” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการได้เห็นผู้หญิง 2 คนที่เอาท้องชนกัน จุดประกายความคิดให้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อให้เห็นถึงความความกลมของไข่ และความกลมของชีวิต

ผลงานชื่อ “ไม่มีชื่อ 1” และ ผลงาน “ไม่มีชื่อ 2” ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องวัตถุกับจิตใจ และความล่องลอยและความเวิ้งว้างในอวกาศที่เป็นอิสระ ตลอดจนผลงานชื่อ “น้ำ” ที่แสดงให้เห็นถึงเส้นสายและลีลาของสายน้ำ








ประวัติ 2 ศิลปินแห่งชาติ

อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน

ประวัติการศึกษา

พ. ศ. 2505 – 2507 วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร (ปวช.)

พ. ศ. 2508 – 2513 คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

พ. ศ. 2522 – 2523 อบรมเทคนิคการแกะสลักหินอ่อน เมืองคาราคา ประเทศ อิตาลี (Dip I.P.S.I.A.M Carrara)

ประวัติการทำงาน

พ. ศ. 2514 อาจารย์ภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

พ. ศ. 2538 – 2542 คณะบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร

พ. ศ. 2526 – ปัจจุบัน นายกสมาคมประติมากรไทย

การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม

– ผลงานประติมากรรมได้รับเลือกให้ขยายเป็นขนาด 4 เมตร เพื่อติดตั้งใน อุทยานเบญจสิริ เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

– เป็นผู้ออกแบบ และทำต้นแบบเหรียญ “พระมหาชนก” ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว

– เป็นผู้ออกแบบ และทำต้นแบบเหรียญ “Agricola” ของ F.A.O. เพื่อถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

– เป็นผู้ออกแบบ และทำต้นแบบเหรียญ “Telefood” ของ F.A.O เพื่อถวายแด่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ

พ. ศ. 2549 ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ประติมากรรม)

………………………………………………..

ศาสตราจารย์ เดชา วราชุน

ประวัติการศึกษา

ป.ป.ช. โรงเรียเพาะช่าง

ศ.บ.ภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

ศม. ภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทสโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

รางวัลและเกียรติคุณ

พ. ศ. 2551 ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์และ สื่อผสม)

พ. ศ. 2542 นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หอศิลปแห่งชาติ

พ. ศ. 2525 ได้รับเลือกเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทภาพพิมพ์จากการแสดง ศิลปกรรมแห่งชาติ

พ. ศ. 2524 ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยประจำปี 2524 ธนาคารกสิกรไทย

พ. ศ. 2520 การแสดงศิลปะภาพพิมพ์นานาชาติ ครั้งที่ 12  ยูโกสลาเวีย

พ. ศ. 2519 การแสดงศิลปะภาพิมพ์นานาชาติ ครั้งที่ 4 เยอรมัน