ภาพถ่ายในนิทรรศการ “Patterns, Passages & Prayers: Traditional Cultures of the Golden Triangle – สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของโรงแรมแทมมารินวิลเลจ เชียงใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของภาคภาคเหนือ คือผลงานของนักวิจัยชาวอเมริกัน วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงศักดิ์ศรีและความมีชีวิตชีวา ตลอดจนความงดงามของวัฒนธรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่า ซึ่งกำลังเลือนหายไปอย่างรวดเร็วในโลกที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังมีสิ่งของเครื่องใช้ที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่ออันหลากหลายของชนเผ่าต่างๆ เช่น คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าเมี่ยน เครื่องแต่งกายสำหรับใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ผ้าทอ ผ้าปักลวดลาย ฯลฯ ซึ่งล้วนสื่อถึงวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของชนเผ่า
วิกทอเรีย วอร์ไรเทอร์ เป็นนักไวโอลินคลาสสิก,นักวิจัยและอาจารย์ที่คณะดนตรีของมหาวิทยาลัยเดอพอล ในเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเริ่มให้ความสนใจกับบทบาทของเครื่องดนตรีในวัฒนธรรมพื้นบ้านเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเดินทางมายังพื้นที่อันห่างไกลในประเทศไทย ลาว จีน และพม่า เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาเกี่ยวกับดนตรีของชนเผ่าเหล่านี้อย่างละเอียดลึกซึ้งในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเป็นเวลากว่า 4 ปี และในปี พ.ศ. 2552 หนังสือประกอบภาพที่สวยงามชื่อ บทเพลงแห่งความทรงจำ (Songs of Memory ) ได้รับการตีพิมพ์พร้อมกับแผ่นซีดีเพลงของชนเผ่าต่างๆ ที่เธอรวบรวมไว้
“ชนเผ่าที่อยู่บนภูเขาซึ่งยากจะเข้าไปถึงในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำนี้ มีชีวิตผ่านมานับร้อยปีโดยการถ่ายทอดความรู้ ประวัติศาสตร์ ประเพณีและความเชื่อต่างๆ ด้วยการบอกเล่าปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น แต่ก็ไม่รู้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่ เป้าหมายในการทำงานของดิฉันคือช่วยรักษาความยิ่งใหญ่ของขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายไป” วิกทอเรียกล่าว
ภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ เน้นไปที่ความงดงามของกิจวัตรประจำวันที่เรียบง่ายของชนเผ่า เช่น การทอผ้า เก็บเกี่ยวผลผลิต เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพิธีกรรมตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีแนวคิดหลักมาจากปัจจัย 3 ประการ ซึ่งเป็นเสมือนจิตวิญญาณที่กำหนดวิถีชีวิตของชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ Patterns หรือลวดลายซึ่งมีความหมายโดยแสดงออกผ่านเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ อันเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆ และยังเชื่อมโยงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สวมใส่ด้วย, Passages หรือช่วงชีวิตที่ดำรงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และนำมาซึ่งพิธีกรรมต่างๆ ในวาระสำคัญของชีวิต เช่น การเกิด การแต่งงาน และการตาย และ Prayers หรือบทสวด สื่อถึงความเชื่ออันลี้ลับและจิตวิญญาณ ซึ่งแต่ละชนเผ่าแสดงออกผ่านทางดนตรี การขับร้อง รวมไปถึงการบูชาและการรักษาโรค อันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ
………………..
นิทรรศการภาพถ่าย “Patterns, Passages & Prayers: Traditional Cultures of the Golden Triangle–สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำ” จัดแสดงหว่างวันนี้- 30 เม.ย. 53 ณ โรงแรมแทมมารินวิลเลจ เชียงใหม่ สอบถามโทร.089-478 -8350 และ 089-484 -9894